ขอนแก่น – ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยังคงดำเนินการล่าช้าในการรับรองการเป็นส.ส.ของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนเสื้อแดงในจังหวัดขอนแก่นก็รอคอยอย่างอดทน

เช่นเดียวกับการรวมตัวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชนบททั่วไปในภาคอีสาน การรวมตัวของหมู่บ้านคนเสื้อแดงในเขตตัวเมืองจังหวัดขอนแก่นก็ได้เริ่มจากการรวมกันของชาวบ้านอย่างเงียบๆ  อย่างไรก็ตามหมู่บ้านเสื้อแดงในตัวเมืองขอนแก่นเหล่านี้ก็ไม่ได้มีการเฉลิมฉลองเปิดตัวเป็นทางการอย่างเอิกเกริกเช่นเดียวกับหมู่บ้านเสื้อแดงในพื้นที่ชนบทของหลายจังหวัดในภาคอีสาน แต่กระนั้นชาวบ้านในชุมชนแออัดของตัวเมืองขอนแก่นก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองไปให้กลายเป็นหมู่บ้านคนเสื้อแดง โดยการผ่านกระบวนการอภิปรายและถกเถียงทางการเมือง เกี่ยวกับความฝันและความหวังที่พวกเขามีร่วมกัน

สำนักข่าวรอยเตอร์ได้เคยรายงานก่อนหน้านี้ว่า มีหมู่บ้านเสื้อแดงเป็นจำนวนถึง 320 แห่งด้วยกัน ทั้งในจังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี ซึ่งได้ทำการลงทะเบียนอย่างเป็นทางการกับตัวแทนของกลุ่ม นปช.ในส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ขบวนการก่อตั้งหมู่บ้านคนเสื้อแดงนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เลยแต่อย่างใด เพราะในช่วงประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งได้เริ่มรวมกลุ่มและเรียกขานตนเองว่า “ชุมชนของคนเสื้อแดง” และหลายชุมชนเหล่านั้นก็มิได้ทำการลงทะเบียนกับทาง นปช. แต่อย่างใด

ทางสำนักข่าวรอยเตอร์ยังเคยรายงานอีกว่ามีหมู่บ้านคนแดงอยู่ถึง 100 แห่ง ในจังหวัดขอนแก่น แต่ทั้งนี้ทางผู้ประสานงานฝ่ายสื่อสารมวลชนของ นปช.รายหนึ่งนั้น ได้ให้ข้อมูล ว่า แท้จริงแล้ว ทางหมู่บ้านคนเสื้อแดงในขอนแก่นนี้มีจำนวนมากกว่านั้นหลายเท่าตัวนั่นคือ จากหมู่บ้านทั้งหมดนั้นราวๆ 2,000 แห่งของจังหวัดขอนแก่นมีหมู่บ้านที่ได้เรียกตนเองว่า “หมู่บ้านคนเสื้อแดง” ไปแล้วถึง 500 หมู่บ้าน

ธงแดงปลิวไสว ณ หมู่บ้านตะวันใหม่

ธงแดงปลิวไสว ณ หมู่บ้านตะวันใหม่

คุณอำนวย วรยศ แกนนำสตรีของหมู่บ้านตะวันใหม่ หมู่บ้านคนเสื้อแดงแห่งหนึ่งในตัวเมืองขอนแก่น ซึ่งไม่ได้ลงทะเบียนกับ นปช.ได้ให้สัมภาษณ์ ว่า มีหมู่บ้านเสื้อแดงจำนวน 92 แห่ง ถือกำเนิดขึ้นมาในตัวเมืองแห่งนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่อีกหนึ่งแกนนำร่วมของหมู่บ้านคนเสื้อแดงแห่งเดิมนั้นก็ได้ยืนยันว่า  หมู่บ้านของพวกตนไม่มีอะไรแตกต่างไปจากหมู่บ้านคนเสื้อแดงในเขตชนบท ซึ่งก็ต่างได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและมีการลงทะเบียนกับกลุ่ม นปช.

ณ ปัจจุบัน สิ่งที่คนเสื้อแดงในหมู่บ้านแห่งนี้ และหมู่บ้านคนเสื้อแดงในที่อื่นๆ ต่างกำลังเฝ้ารอ ก็คือ การฉลองการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่นเอง

“เรายังไม่เฉลิมฉลองอะไรทั้งนั้น เพราะคุณยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้ขึ้นตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี” แกนนำหมู่บ้านคนเสื้อแดงคนแรกกล่าว “ตอนนี้เรารู้เพียงแค่ว่าพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงสูงสุดในการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เราจะเฉลิมฉลองกันก็ต่อเมื่อคุณยิ่งลักษณ์นั้น ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแท้จริงแล้วเสียก่อน”

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่รับรองการเป็นส.ส. ให้กับส.ส. จำนวน 142 คน ซึ่งรวมถึง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ที่คาดกันว่าจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศ ทางกกต. จะทำการประกาศผลครั้งต่อไปในวันอังคารที่จะถึงนี้

คุณอำนวยอธิบายเพิ่มเติ่มว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนขนาด 145 ครัวเรือนของเธอเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายมาเป็นหมู่บ้านคนเสื้อแดง ก็คือ โครงการ “บ้านมั่นคง” ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ทำการเปลี่ยนอดีตชุมชนแออัดแห่งนี้ให้กลายเป็นชุมชนที่มีความปลอดภัยและมีสภาพที่พักอาศัยซึ่งได้มีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

“โครงการบ้านมั่นคงทำให้ฝันของเรานั้นได้กลายเป็นจริงแล้ว” คุณอำนวยกล่าว “พวกเราไดประกาศตัวเป็นชุมชนคนเสื้อแดง เมื่อคุณทักษิณต้องหลบหนีออกนอกประเทศเมื่อ 2 ปีก่อนนี้ เพราะว่าพวกเรารักเขาจากใจจริง และตอนนี้ เราก็มีบ้านช่องที่ใหญ่โตขึ้นมาก และยังสามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคไดมากขึ้น”
แกนนำสตรีผู้นี้ประมาณไว้ว่า 90% ของชาวบ้านตะวันใหม่เป็นคนเสื้อแดง และเฉกเช่นเดียวกันกับทางหมู่บ้านคนเสื้อแดงจำนวนมาก”ธงแดง” ได้ถูกติดตั้งไว้อยู่ที่หน้าบ้านเรือนของชุมชนแห่งนี้ เคียงคู่ไปกับสัญลักษณ์สำคัญอื่นๆ เช่น ธงชาติไทย เป็นต้น

แม้ชุมชนคนเสื้อแดงอีกหลายๆแห่งในขอนแก่นนั้น อาจจะยังไม่ได้มีสภาพแวดล้อมของที่พักอาศัยที่ดีมากขึ้นจากนโยบายของคุณทักษิณแต่กระนั้นพวกเขาก็ได้คาดหวังว่า รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์นั้นจะช่วยสรรค์สร้างโอกาสแบบดังที่กล่าวไปแล้วให้แก่พวกตนบ้าง

คุณบรรจง ชาวบ้านสตรีอีกรายหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกของหมู่บ้านคนเสื้อแดงอีกแห่ง ที่ยังมีสภาพเป็นชุมชนแออัดข้างทางรถไฟในตัวเมืองขอนแก่น กล่าวว่า เธอและบรรดาเพื่อนบ้านของเธอต่างก็ได้เชื่อมั่นในตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ เพราะ “เขามีนโยบายที่ช่วยเหลือคนยากคนจน”และเธอเชื่อเหมือนกันว่า ว่าที่นายกฯยิ่งลักษณ์ จะมีจุดมุ่งหมายในการทำงานแบบเดียวกันกับพี่ชาย และเฝ้ารอความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับชุมชนแออัดของเธอในเร็ววันนี้

“เราไม่ต้องใช้ธงแดงเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน เพราะหัวใจของเราได้เปลี่ยนแปลงเป็นสีแดงไปแล้ว” คุณบรรจงกล่าว พร้อมประเมินว่า สมาชิกราวร้อยละ 90 ในชุมชนของเธอเป็นคนเสื้อแดง

เธอได้กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้าที่ทักษิณจะได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนในชุมชนแห่งนี้ไม่ได้มีความสนิทสนมกันมากนักเลย แต่หลังจากอดีตนายกฯ ต้องเดินทางออกนอกประเทศ สมาชิกในชุมชนต่างก็เริ่มได้มาจับกลุ่มพูดคุยสนทนากันเกี่ยวกับเรื่องของการเมืองและความใฝ่ฝันในอนาคตกันมากขึ้น จนกระทั่งได้ตัดสินใจรวมตัวเป็นชุมชนคนเสื้อแดงเมื่อหลายปีที่แล้วนั่นเอง

“เราได้รอเวลานี้กันมานานมาก และเราก็รอมาเกือบๆ 5 ปีแล้ว กับความต้องการที่จะให้นักการเมืองที่เราชื่นชอบนั้นได้รับชัยชนะ” ชาวบ้านผู้นี้กล่าวเมื่อถูกถามถึงประเด็นการรับรองการเป็นส.ส. โดย กกต.

ด้าน นายกฤชวรรธน์ โล่ห์วัชรินทร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ลักษณะของหมู่บ้านคนเสื้อแดงเหล่านีได้รับอิทธิพลมาจากนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งถูกเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 2530

ในปี พ.ศ.2537 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้เข้ามามีบทบาทในฐานะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนับแต่นั้น ทุกหมู่บ้านทั้งทั่วประเทศต่างก็ต้องเลือกตัวแทนของตนเองหมู่บ้านละ 2 คน (มีวาระ 4 ปี)  นั้นเข้าไปเป็นปากเป็นเสียงในเรื่องความเดือนร้อนของชาวบ้านและเรื่องงบประมาณในสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

“ก่อนหน้านั้น ชาวบ้านจะต้องรอคอยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของจังหวัดหรืออำเภอ ซึ่งจะเดินทางมาพบปะกับพวกเขาได้ไม่บ่อยครั้งนัก แต่ปัจจุบันนี้ การปกครองท้องถิ่นผ่าน อบต.ได้ลงลึกไปถึงระดับหมู่บ้านแล้ว และทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นไป เพราะมีการเลือกตั้งจากระดับท้องถิ่นภายในชุมชนของพวกเขา” อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

นายกฤชวรรธน์ยังกล่าวเสริมไว้ด้วยว่า นโยบาย “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” (โอท็อป) และนโยบายส่งเสริมการลงทุนขนาดย่อมในยุคทักษิณนั้น ได้ช่วยให่มีการส่งเสริมนโยบายการกระจายอำนาจมีความสมบูรณ์มากขึ้นไปอีกด้วย โดยผ่านการฝึกฝนให้ชุมชนทั่วประเทศนั้นได้เรียนรู้ที่จะจัดการระบบการเงินของตนเอง

จากการเคลื่อนไหวของหมู่บ้านคนเสื้อแดงที่กำลังเกิดขึ้นคนเสื้อแดงทั้งในเขตชนบทและเขตเมืองของภาคอีสานนี้ ต่างก็แสดงให้เห็นว่า พวกเขามิได้มีความสามารถเพียงแค่จะจัดการชุมชนของตนเองผ่านเรื่องการเงินหรืองบประมาณเท่านั้นแต่พวกเขายังมีความสามารถในการจัดการชุมชนผ่านปัจจัยเรื่องอุดมการณ์อีกด้วย

ในช่วงเวลาที่ กกต. ยังไม่ได้ประกาศรับรอง คุณยิ่งลักษณ์ เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อนั้น สมาชิกของหมู่บ้านคนเสื้อแดงในตัวเมืองขอนแก่นนั้นก็ต่างพากันจับตามองในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดพวกเขานั้นโทรศัพท์ติดต่อกันเพื่อที่จะรายงานข่าวคราวความคืบหน้าและวางแผนที่จะรวมตัวกันหากจำเป็นต้องทำ

คุณบรรจง สมาชิกหมู่บ้านคนเสื้อแดงในชุมชนแออัดข้างทางรถไฟที่ตัวเมืองขอนแก่นกล่าวทิ้งท้ายว่า “ในตอนนี้ เราทำได้แค่รอ เรากำลังรอคอยให้รัฐบาลชุดใหม่นี้ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการเสียที และเราต้องการจะรอดูว่า นปช.จะออกมาเคลื่อนไหวเช่นไร (หลัง กกต. ประกาศแขวน น.ส.ยิ่งลักษณ์) จากนั้น เราถึงพร้อมจะเคลื่อนไหวตามแนวทางของพวกเขาเอง และเราพร้อมจะไปรวมตัวกัน”

image_pdfimage_print