เขียนโดย : จอห์น แดรพเปอร์

ในปี ๒๕๕๔ ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๓ โดยเรียงตามลำดับจังหวัด ได้เปิดเผยสู่สาธารณะเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการจัดการทดสอบนี้ขึ้น ซึ่งนักเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ลำดับที่ไม่ดีนัก บทความนี้จะกล่าวถึงเหตุผลการศึกษาตกต่ำ โดยเน้นไปที่วิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาราชการ และวิชาภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศหลักที่ใช้ในประเทศไทย (ทั้งสองวิชาต่างไม่ได้กำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ) นักเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังถูกทอดทิ้ง ไม่ใช่เพียงเพราะพวกเค้าขาดทรัพยากร หรือขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมอง แต่เป็นเพราะว่าพวกเขากำลังเรียนผิดภาษา

ONET-2010-Thai-298x1024

สามารถดูข้อมูลที่กล่าวถึงในบทความได้ {a href=” https://theisaanrecord.co/wp-content/uploads/2011/12/Thai-and-English-Language-ONET-Test-Results-2006-and-20101.pdf “}ที่นี่{/a}

สถิตินั้นค่อนข้างชัดเจนและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับผู้ปกครองและบุคลากรทางการศึกษา ผลสอบวิชาภาษาไทยในปี ๒๕๔๘ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้คะแนนภาษาไทยสูงสุดคือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้ลำดับที่ ๔๖ จากทั้งหมด ๗๖ จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดที่ได้คะแนนภาษาไทยต่ำสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งได้ลำดับที่ ๗๓ และตามมาด้วยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือยะลา นราธิวาส และปัตตานี (ตามลำดับ) คะแนนกึ่งกลางของทั้งภาคคือ จังหวัดเลยซึ่งอยู่ลำดับที่ ๖๒ เพียงสี่ปีหลังจากนั้นซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ใช้งบประมาณอย่างน้อยกว่า ๓๐๐ล้านบาท ใช้ไปกับการอบรมครูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้คะแนนสูงสุดยังคงเป็นจังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้ลำดับที่ ๔๓ ขยับขึ้นมาเพียงสามอันดับเท่านั้น จังหวัดที่มีคะแนนภาษาไทยต่ำสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ยังคงเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์เช่นเคย ซึ่งจะเห็นว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย และยังคงอยู่ในลำดับที่ ๗๓ จุดกึ่งกลางของคะแนนภาษาไทยทั้งภาคคือจังหวัดมหาสารคม อยู่ลำดับที่ ๖๑ หรือพูดง่ายๆ คือนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนในชนบทของภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างจะมีปัญหากับการการอ่านภาษาไทย

ในส่วนของภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องมีสำหรับการประกอบอาชีพที่ได้รับความเชื่อถือ เช่น แพทย์ ทันตะแพทย์ เภสัชกร และวิศวกร สถานการณ์ก็น่าเป็นห่วงยิ่งนัก ตัวอย่างเช่น ในปี ๒๕๔๙ จังหวัดที่มีคะแนนภาษาอังกฤษมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือจังหวัดอุดรธานี ได้ลำดับที่ ๓๖ จากทั้งหมด ๗๖ จังหวัดทั่วประเทศ และในปี ๒๕๕๓ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีคะแนนภาษาอังกฤษสูงสุดยังคงเป็นจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเลื่อนขึ้นมาอยู่ลำดับที่ ๓๕ หรืออาจพูดอีกนัยหนึ่งว่า นักเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ยังประสบปัญหากับระบบการศึกษาแบบสองมาตรฐานซึ่งเห็นได้จากภาษาอังกฤษ และมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในรอบห้าปี

ดังนั้นจึงอาจสรุปได้สองอย่างดังนี้ เหตุผลที่หนึ่ง คือลักษณะของภูมิภาค โดยไม่นับรวมจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งโรงเรียนกว่าพันโรงเรียนได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอย่างหนักทั้งโรงเรียนและครู ค่าคะแนนเฉลี่ยกลาง แสดงให้เห็นว่าการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีระบบการศึกษาที่ต่ำที่สุดในการสอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนเหตุผลที่สอง ลำดับของผลการสอบไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากในรอบห้าปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่มีการใช้เงินกว่าร้อยล้านบาทในการอบรมบุคลากรครู

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว มีสามเหตุผลที่เป็นไปได้สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย คือหนึ่ง คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนลาว) มีสติปัญญาต่ำ (ซึ่งหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่มักจะเขียนออกอย่างนั้น ถึงแม้ว่าจะโจ่งแจ้งก็ตาม) เหตุผลที่สอง เด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบจากการขาดสารอาหาร ซึ่งจากรายงานของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติได้บักทึกในปี ๒๕๔๖ ว่า ร้อยละสิบของเด็กอายุต่ำกว่าห้าปี ประสบปัญหานี้ และเหตุผลที่สาม เด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบจากระบบการศึกษาที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะเกิดจากการขาดทรัพยากรหรือการฝึกอบรมครูที่ไม่ได้มาตรฐาน

ในประเด็นที่เกี่ยวกับระดับสติปัญญา บทความของหนังสือพิมพ์เนชั่น เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ รายงานว่า “ระดับเชาว์ปัญญาของนักเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ๙๕.๙๙ ซึ่งต่ำที่สุด… ส่วนนักเรียนในกรุงเทพฯ มีระดับความฉลาดทางด้านปัญญาอยู่ที่ ๑๐๔.๕” สิ่งที่อันตรายอย่าหนึ่งคือเชื่อมโยงระดับสติปัญญาที่ต่ำกับระบบการศึกษาที่ไม่ดีและไม่ทำอะไรเลยซักอย่าง ที่จริงแล้วนี่เคยเป็นความผิดพลาดของกลุ่มคนชาวอังกฤษในยุคล่าอาณานิคมที่ปฏิบัติ “เชื้อชาติที่ต่ำกว่า” กลุ่มชนชั้นปกครองชาวอังกฤษที่อยู่ในอินเดียขณะนั้นได้พ่ายแพ้ต่อกลุ่มคนทนายชาวอินเดียกลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับการศึกษาจากลอนดอน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างน้อยหลายสิบปีก่อนที่อังกฤษจะเตรียมใจที่จะถอนการปกครองจากอินเดีย ในสหรัฐอเมริกา ชายผิวสีคนหนึ่งที่ศึกษาปรัชญาของมหาตมคานธี เลโอ ตอลสตอย และเฮนรี่ ทอโร ด้วยตนเองจนเชี่ยวชาญ ได้ทำการต่อสู้และได้นำความเท่าเทียมมาสู่ทุกเชื้อชาติในที่สุด ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ ได้ว่าชนกลุ่มหนึ่งโง่กว่าชนอีกกลุ่มหนึ่งโดยกำเนิด ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่เชื่อได้ว่า เด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสติปัญญาต่ำอันเนื่องมาจากชาติพันธุ์ของเขา

มาในเรื่องของโภชนาการ การขาดสารอาหารเป็นผลให้เด็กมีระดับสติปัญญาต่ำและเป็นสาเหตุให้เด็กเสียชีวิต จากรายงานของสำนักโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ในปี ๒๕๕๑ พบว่า “สี่จังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงและผลกระทบด้านลบจากโภชนาการ เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด (ยโสธร, หนองบัวลำภู, หนองคาย, นครพนม) และกลุ่มที่มีความเสียงรองลงมาคือทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ… สรุปได้ว่าการขาดแคลนโภชนาการเป็นปัญหาของภูมิภาคนี้” อีกหนึ่งปัจจัยคือ ครอบครัวขนาดใหญ่ (ประมาณ๕.๗ คน โดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยจำนวนสมาชิกในครอบครัวของประเทศอยู่ที่ ๔ คน) ซึ่งเป็นผลทำให้มีอาหารไม่เพียงพอ ปกติแล้ว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้มีรายงานเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการขาดสารอาหารและปริมาณการบริโภคที่ไม่เพียงพอในเด็ก การขาดสารอาหารมีผลเชื่อมโยงโดยตรงไปถึง พัฒนาการที่ลดลงของเด็ก ภูมิต้านทานบกพร่อง และประสิทธิภาพการรับรู้ และการเรียนในโรงเรียนลดลง หรืออีกอย่างหนึ่ง แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ แต่คนที่จนมากๆ ต้องมีลูกที่มีลักษณะแคระแกนเนื่องจากขาดการบริโภคสารอาหารที่เหมาะสม หรือเสียชีวิตเนื่องจากการขาดสารอาหารและมีอาการของโรคติดเชื้อแทรกซ้อน

ส่วนในเรื่องการขาดทรัพยากรซึ่งรวมทั้งบุคคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หนังสือเรียน และคอมพิวเตอร์เดอะเนชั่นกล่าวว่า การขาดแคลนสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่สำคัญอีกอย่างที่ทำให้ผลการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกมาต่ำ นอกจากนี้เดอะเนชั่นยังให้กล่าวอีกว่า เหตุที่ผลการทดสอบระดับสติปัญญาที่ออกมาไม่ดีนั้นเป็นเพราะ ขาดแคลนจำนวนโรงเรียน ห้องสมุด ครู และทุนการศึกษา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เด็กในเมืองหลวงสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย สำหรับการเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาต่างชาติ การขาดแคลนทรัพยากรบุคคลและอุปกรณ์เป็นปัญหาที่ที่นักเขียนที่ได้รับความเคารพเชื่อถืออย่าง โจเซฟ เอ.โฟเลย์[i] ได้แสดงความทุกข์ใจมานานแล้ว ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือขาดแคลนมหาวิทยาลัยที่มีสาขาวิชาที่ฝึกอบรมบุคคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะจนกระทั่งเมื่อประมาณกว่า ๕๐ปีที่ผ่านมา ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยของภูมิภาค ในขณะนั้น ครูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้าศึกษาในหลักสูตรทั่งไปจากวิทยาลัยครู เช่นในจังหวัดมหาสารคาม และจากนั้นก็ทำการสอนทั้งในระดับโรงเรียนประถมและมัธยม อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เริ่มสอนในระดับปริญญาตรีสาขาวิชาการมัธยมศึกษาในปี ๒๔๑๒ และเปิดสอนระดับปริญญาโทในปี ๒๕๒๕

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นเพียงสิบปีให้หลังมีการพัฒนาของมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ (คณะศึกษาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๐๐) แต่ความแตกต่างที่มีให้เห็นอย่างเด่นชัดเพราะกรุงเทพมีจำนวนมหาวิทยาลัยรัฐชั้นนำมาก มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนักศึกษารวมทั้งสิ้นประมาณ ๓๔,๐๐๐ คน และทำหน้าที่เป็นหมาวิทยาลัยของภูมิภาค พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยขนาดเล็กอีก ๓ แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอีก ๑๙ แห่ง อีกทั้งจำนวนสถานศึกษาที่กล่าวมานี้ตั้งทำหน้าที่รองรับจำนวนประชากรทั้งภูมิภาคที่มีประมาณ ๑๙ ล้านคน ซึ่งก็ถือว่าใกล้เคียงกับปริมาณประชากรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งมีประมาณ ๒๑ ล้านคน อย่างไรก็ตาม เพียงแค่นับรวมจำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ สามแห่ง คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว ตัวเลขที่ได้ก็มีไม่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน นอกจากนั้นก็ยังมีมหาวิทยาลัยเอกชนอีกหลายแห่งซึ่งเปิดทำการสอนในเขตกรุงเทพมหานคร ขณะที่มหาวิทยาลัยอีสานในจังหวัดขอนแก่นถูกคัดชื่อออกจากการเป็นมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีเรื่องอื้อฉาวในการซื้อขายใบปริญญา ยิ่งเป็นการเน้นปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น หากจะอธิบายสถานการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของการศึกษาให้เจนยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี๒๕๔๗ ตัวผู้เขียนพบว่านักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งของคณะศึกษาศาสตร์ซึ่งจะต้องเป็นคุณครูในอนาคต ไม่สามารถผันคำกิริยาพื้นฐานในภาษาอังกฤษได้[ii]

หลังจากที่ผู้เขียนได้อธิบายและสรุปเกี่ยวกับประเด็นของทรัพยากรที่ไม่เพียงพอในระบบการศึกษาแล้ว ปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งแต่ไม่มีใครต้องการพูดถึง คือ ภาษาแรกของนักเรียน ร้อยละห้าสิบของนักเรียนไทยที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์เล็กๆ ต้องเรียนภาษาไทยเป็นภาษาแรกเพื่อใช้ในการศึกษา ก่อนที่พวกเขาจะต้องเรียนภาษาอังกฤษเพื่อใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ จากผลสำรวจระดับชาติพบว่า เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยที่มีทักษะภาษาไทยกลางต่ำ มีผลการเรียนทุกวิชาต่ำกว่าเด็กไทยที่ใช้ภาษาไทยกลางเป็นภาษาแรก ซึ่งถ้ากล่าวในบริบทนี้ ก็หมายความว่าเกือบทุกคนในจำนวนประชากร กว่า๑๙ ล้านคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาจากกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ยิ่งไปกว่านั้น ความคืบหน้าในการจัดการกับประเด็นดังกล่าวก็มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งๆ ที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศตั้งแต่ปี ๒๔๙๖ ให้ภาษาแรกหรือภาษาแม่เป็นภาษาที่ต้องใช้ในการศึกษา และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีคนพูดภาษาลาว(๑๕,๐๐๐,๐๐๐คน) ภาษาเขมร(๑,๔๐๐,๐๐๐คน) และภูไท (๔๗๐,๐๐๐คน) ทั้งสามภาษาที่ได้กล่าวไปนั้นเป็นเพียงตัวอย่างของภาษาที่มีประชากรประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คนมากกว่านั้น

ใช่ว่าปัญหาในเรื่องภาษาจะไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด ขณะนี้โครงการในจังหวัดชายแดนใต้ อย่างในจังหวัดปัตตานีที่มีการใช้ภาษายาวีในโรงเรียนนำร่องหลายแห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เริ่มมีการใช้ภาษาอีสานและภาษาลาวในการสอน ในโรงเรียนประมาณ ๑๗ แห่ง ในจังหวัดขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดทำป้ายบอกทางหรือสถานที่โดยทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาคำเมือง มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเล็กน้อย และเป็นความพยามที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่นัก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยได้มีการนำเอารูปแบบพหุลักษณ์มาบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และปี ๒๕๕๐ ต้องมีการบรรจุภาษาท้องถิ่นในการศึกษาอย่างเป็นทางการ และสอนควบคู่ไปกับการสอนโดยใช้ภาษาไทยในรูปแบบที่รับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ ทางราชบัณฑิตยสถานก็ได้ใคร่ครวญประเด็นนี้ได้ระยะหนึ่งแล้ว และทางหน่วยงานนี้เองก็มีส่วนในการผลักดันนโยบายภาษาแห่งชาติเป็นการสนับสนุนความหลากหลายทางภาษาซึ่งรวมถึงภาษาของภูมิภาคและภาษาท้องถิ่น นอกจากนี้ อดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธ์ ได้กระตุ้นให้มีการสนับสนุนการใช้ภาษาถิ่นในโรงเรียน เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์การพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และเพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ภาษาไทยต้องได้รับการบรรจุให้เป็นภาษาประจำชาติชาติในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อบรรเทาความกลัวในการแบ่งแยกดินแดนให้ลดลง และในบรรทัดฐานเดียว ภาษาภูมิภาคและภาษาถิ่นของประเทศไทยก็ควรจะต้องได้มีบทบาทและการรับรองอย่างเป็นทางการในระบบการศึกษาไทย
จอห์น แดรพเปอร์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาต่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมากว่าสิบปี จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ยุคใหม่ จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด และปริญญาโทสองใบ สาขาภาษาศาสตร์ประยุกต์ จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น ควีนแลนด์ ทำการวิจัยและตีพิมพ์ผลงานในสาขาวิชาเกี่ยวกับนโยบายและการวางแผนด้านภาษา การใช้ภาษาที่หลากหลาย และภาษาศาสตร์เชิงสังคม


[i] Foley, J. (2005). English in Thailand. RELC Journal, 36(2), 223-34.
[ii] Draper, J. (2004, January). Acquisition of English “if” conditionals at Khon Kaen University: A diagnostic test of proficiency of 2003-2004 first year students. Paper presented at the 24th Annual Thai TESOL Conference Prioritising Teacher Development, Khon Kaen, Thailand.
image_pdfimage_print