ขอนแก่น – เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีรายงานตำหนิมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อการปลดนายกิติบดี ใยพูล รักษาการคณบดีนิติศาสตร์ออกจากตำแหน่ง นายกิติบดีถูกปลดจากตำแหน่งเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ จากนั้นเขาได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพราะเชื่อว่าสำนักอธิการบดีใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยเหตุผลทางการเมือง

เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว สำนักงานอธิการบดีได้ปลดรักษาการคณบดีคณะนิติศาสตร์ นายกิติบดีออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาจากการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทำลายเอกสารทางราชการ นายกิติบดีและเจ้าหน้าที่ใต้บัญชายังถูกห้ามเข้าไปภายในเขตคณะนิติศาสตร์และถูกย้ายโอนไปยังคณะอื่น เพื่อเป็นการตอบโต้ นายกิติบดีได้ยื่นเรื่องไปที่คณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อให้มีการตรวจสอบที่เหมาะสม นายกิติบดีได้ปฏิเสธเกี่ยวกับการเข้าไปพัวพันกับการทำลายเอกสารทางราชการและเขาเชื่อว่าการที่เขาถูกลงโทษนั้นเป็นเพราะเขาสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนและการเคลื่อนไหวทางสังคม

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อสรุปว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่มีเหตุผลเพียงพอในการโยกย้ายนายกิติบดีและเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญา และจากรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ยังได้เร่งให้ทางมหาวิทยาลัยทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ถูกย้ายพ้นข้อกล่าวหา และพิจารณายายเจ้าหน้าที่เหล่านั้นกลับไปทำงานยังตำแหน่งเดิม

เนื้อหาบางส่วนในรายงานระบุว่า “ทางมหาวิทยาลัยควรทำหนังสือแสดงความเสียใจต่อข้อผิดพลาด บกพร่อง อันส่งผลกระทบต่อความเข้าใจผิดของประชาคมในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และชี้แจงว่าบุคคลที่ถูกตัดโอนนั้น มิได้เป็นผู้กระทำความผิดใดๆ”

แต่มหาวิทยาลัยยังไม่มีท่าทีตอบสนองต่อเรื่องนี้แต่อย่างใด

นักเคลื่อนไหวและชาวบ้านกว่าร้อยคนที่ไม่พอใจต่อการเพิกเฉยของมหาวิทยาลัยได้รวมตัวกันเดินขบวนไปที่สำนักงานอธิการบดีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นรับผิดชอบต่อความผิดของตน นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้นำประชาชนเรียกร้องให้อธิการมหาวิทยาลัยขอนแก่นลาออกจากตำแหน่ง

“ตั้งแต่เราเห็นรายงานของคณะกรรมการสิทธิ์อย่างเป็นทางการ ว่าการย้ายนั้นเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ละเมิดสิทธิมนุษยชน อธิการจะความรับผิดชอบอย่างไร คุณต้องลาออก” นายสุวิทย์ให้สัมภาษณ์

นายกิติบดีเป็นผู้ร่วมในการก่อตั้งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อปี ๒๕๔๙  หลังจากนั้นเขาก็ได้ทุ่มเททำงานด้านสิทธิเสรีภาพของชุมชนในภาคอีสาน เขายังได้ก่อตั้งหลักสูตรเรียนฟรีสำหรับชาวบ้านที่ต้องการศึกษาเรียนรู้ระบบกฎหมาย และยังสนับสนุนให้นักศึกษาในคณะนิติศาสตร์ออกไปเป็นอาสาสมัครในชุมชนห่างไกลเพื่อต่อสู้กับเรื่องราวที่เกี่ยวกับกฎหมายอีกด้วย ตอนนี้นายกิติบดีกำลังต่อสู้เพื่อจะพิสูจน์ต่อสาธารณะว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของเขา

นายกิติบดีให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า “ผมเรียกร้องสิทธิ์โดยมีกฎหมายรองรับ ซึ่งตรงนี้ผมได้อาศัยสิทธิ์ อาศัยกฎหมายอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นช่องทางในการแสวงหาความเป็นธรรม ต่อไปก็จะอยู่ที่มหาวิทยาลัยว่าจะรับผิดชอบต่อผลการตัดสินขององค์กรกลางตามรัฐธรรมนูญอย่างไร… ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยยิ่งต้องแสดงความรับผิดชอบเพื่อจะเป็นตัวอย่างให้กับสังคม”

image_pdfimage_print