เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมจัดหางานได้แถลงถึงการอนุญาตให้ส่งแรงงานไทยกลับไปทำงานยังประเทศลิเบีย แรงงานไทยกว่า ๑๐,๐๐๐ คนที่ทำงานในโรงกลั่นน้ำมันและก่อสร้างต้องอพยพออกจากประเทศลิเบียซึ่งอยู่ตอนเหนือของทวีปแอฟริกาเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว หลังจากการโค่นล้มอำนาจของประธานาธิบดี โมฮัมมา อัล กัดดาฟีย์ ในขณะที่แรงงานไทยหลายพันคนกำลังจะกลับเข้าไปทำงานในประเทศลิเบีย ก็ถึงเวลาที่เหมาะสมที่จะพิจาณาว่าโครงการจัดส่งแรงงานไปทำงานยังต่างประเทศของรัฐบาลนั้นได้มีการคุ้มครองผลประโยชน์ของแรงงานไทยเพียงพอหรือไม่มีความปลอดภัยจริงหรือสำหรับแรงงานไทยในการกลับไปทำงานยังประเทศลิเบีย และรัฐบาลควรจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการเงินของแรงงานเหล่านี้

รายได้ที่มาพร้อมกับการเสี่ยงชีวิต

กว่า ๓๕ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้การส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ และแรงงานส่วนใหญ่ก็มาจากภาคอีสานซึ่งเป็นภูมิภาคที่ยากจนที่สุดและมีการพัฒนาน้อยที่สุดของประเทศ ประเทศไทยได้แข่งขันกับอีกสิบกว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ในการจัดหาตำแหน่งงานที่มีค่าจ้างสูงในตลาดงานในต่างประเทศ

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศศรีลังกาได้อนุญาตให้แรงงานประเทศของตนกลับไปทำงานยังประเทศลิเบีย นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมจัดหางาน จึงตอบสนองต่อกรณีนี้โดยการเร่งให้กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบยืนยันถึงความปลอดภัยในประเทศลิเบีย ก่อนที่แรงงานไทยจะถูกแรงงานาวศรีลังกาแย่งงานไป ในการแถลงการณเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายประวิทย์ไม่ได้กล่าวถึงการกลับไปทำงานในลิเบียของประเทศศรีลังกา แต่บอกเพียงว่าสถานทูตไทยในประเทศลิเบียแจ้งว่าประเทศลิเบียกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของกรมจัดหางานฯ ที่ต้องส่งเสริมให้แรงงานไปทำงานยังต่างประเทศอาจต้องแลกด้วยการผ่อนผันเรื่องการรับรองความปลอดภัยของประเทศปลายทาง นโยบายใหม่ของกระทรวงแรงงานได้กำหนดให้กรมจัดหางานฯ เพิ่มจำนวนแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศเป็นร้อยละ ๑๐ ในปี ๒๕๕๕ โดยตั้งเป้าจำนวนทั้งหมดไว้ที่ ๖๐๐,๐๐๐คน แต่เป้าหมายนี้อาจจะไม่สามารถทำได้หากต้องสูญเสียตลาดงานในประเทศลิเบีย ก่อนเกิดเหตุการณ์ขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้วประเทศลิเบียเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยทำงานอยู่มากเป็นลำดับที่ ๖ จาก ๕๐ กว่าประเทศที่มีแรงงานไทยทำงานอยู่

มีรายงานจากองค์การนิรโทษกรรมสากลเมื่อไม่นานมานี้ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ประเทศลิเบียเป็นประเทศที่ประสบปัญหา และไร้กฎหมายซึ่งแตกต่างจากการประเมินสถานการณ์ของสถานทูตไทยในประเทศลิเบีย ซึ่งประเมินไว้ว่าประเทศลิเบียกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รายละเอียดจากรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่ายังมีกองกำลังติดอาวุธนับร้อยที่ทางการไม่สามารถควบคุมได้ และการกระทำของคนกลุ่มดังกล่าวได้คุกคามต่อความมั่นคงของประเทศลิเบีย ยิ่งไปกว่านั้นรายงานดังกล่าวยังระบุถึงความถี่ของการเกิดการปะทะของกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งเป็นผลทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บและเสียชีวิต

ไม่ใช่เพียงแค่รายงานขององค์การนิรโทษกรรมที่ชวนให้สงสัยต่อสถานการณ์ความมั่นคงในประเทศลิเบีย ข้อบังคับใหม่ที่ใช้กับตัวแทนจัดหางานคนไทยให้กับนายจ้างชาวลิเบียนั้นชี้ให้เห็นว่าแรงงานไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ปัจจุบัน การส่งแรงงานไปยังลิเบีย บริษัทจัดหางานต้องทำประกันชีวิตให้กับแรงงาน นอกจากนี้ ตัวแทนจัดหางานต้องส่งแผนอพยพและใบรับรองว่าพวกเขาจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับการอพยพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

กฎข้อบังคับใหม่ที่ออกในปีนี้ทำให้แน่ใจว่ารัฐบาลไทยไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการอพยพในรอบที่สองเหมือนกับในปี ๒๕๕๔ แม้กฎข้อบังคับใหม่นั้นจะสามารถลดภาระความเสี่ยงทางการเงินของรัฐบาลไทยในการส่งแรงงานไปทำงานในประเทศลิเบีย แต่ข้อบังคับเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงด้านการเงินของตัวแรงงานไทยเองลดลงแต่อย่างใด และความเสี่ยงดังกล่าวก็เห็นได้ชัดเจนเมื่อมีการส่งแรงงานไทยกลับอย่างกะทันหันในปีที่แล้ว

ค่าใช้จ่ายของการส่งแรงงานไปทำงานยังต่างประเทศ

เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะดีนัก ที่บริษัทจัดหางานมักเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะจากแรงงานซึ่งสูงกว่าที่รัฐกำหนด นายแดง ผิวขำ ชาวอุดรธานีที่ทำงานในประเทศลิเบียมามากกว่าสิบห้าปี กล่าวว่าในการไปทำงานยังลิเบียครั้งแรกนั้นบริษัทจัดหางานจะเรียกเก็บค่านายหน้าประมาณ ๙๐,๐๐๐ บาทและแรงงานส่วนใหญ่ต้องไปกู้เงินที่มีดอกเบี้ยสูงมาจ่าย นายแดงคาดว่าแรงงานส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาประมาณปีครึ่งถึงสองปีกว่าถึงจะคุ้มทุน ซึ่งแรงงานเหล่านี้ได้เงินเดือนขณะที่ทำงานในประเทศลิเบียเพียง ๑๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น

เมื่อแรงงานต้องถูกส่งกลับก่อนกำหนด บ่อยครั้งที่พวกเขาก็จะกลับประเทศไทยด้วยหนี้สินท่วมตัว ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับการทำงานในประเทศเพื่อใช้หนี้ดังกล่าว จากรายงานของกระทรวงการต่างประเทศ มีเพียงแรงงาน ๔๐ รายจาก ๑๐,๐๐๐ รายของแรงงานที่ทำงานในลิเบียเลือกที่จะไม่กลับประเทศไทยขณะที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในลิเบียเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม นายแดงกล่าวว่า สำหรับแรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานในประเทศลิเบียในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วกลับมาประเทศไทยและไม่มีเงินจ่ายหนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมากกว่าการอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงของประเทศลิเบีย “ถ้าอยู่ก็ตาย กลับบ้านก็ตาย เพราะหนี้สินและหาเงินใช้หนี้ไม่ได้” นายแดงกล่าว

ปัญหาอย่างที่สองจากการอพยพแรงงานเมื่อปีที่แล้วคือแรงงานหลายคนที่กลับมายังประเทศไทยไม่ได้รับเงินเดือน เป็นเรื่องปกติสำหรับแรงงานที่ทำงานในประเทศลิเบีย จะได้รับเงินเดือนทุกๆ สามเดือน จำนวนเงินที่ติดค้างต่อแรงงานไทยนั้นเป็นจำนวนเงินไม่ใช่น้อย และจากสถิติของกรมจัดหางานฯ แสดงให้เห็นว่าแรงงานกว่าหนึ่งในสี่ของแรงงานยังไม่ได้รับเงินจากนายจ้างชาวลิเบีย

แรงงานที่ถูกส่งกลับโดยเฉพาะคนที่มียังมีหนี้สินกับบริษัทจัดหางานอยู่ ก็อยากเร่งกลับไปทำงานยังประเทศลิเบีย ปัจจุบันกรมการจัดหางานฯ ได้อนุญาตให้แรงงานกลับไปยังประเทศลิเบียที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ กรมจัดหางานฯ ได้เตรียมมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินขององค์กรแล้วหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก ซึ่งทางกรมจัดหางานฯ ควรจะปฏิบัติอย่างเช่นเดียวกันต่อแรงงาน และควรออกกฎข้อบังคับให้บริษัทจัดหางานคืนเงินเกือบทั้งหมดให้แก่แรงงานหากมีการถูกส่งกลับประเทศไทยก่อนกำหนดในกรณีที่การส่งกลับไม่ใช่ความผิดของแรงงาน นอกจากนี้ ทางกรมจัดหางานฯ ควรเร่งรัดติดตามการจ่ายเงินเดือนให้กับแรงงาน และควรจะออกข้อบังคับให้นายจ้างชาวลิเบียจ่ายเงินให้กับแรงงานทุกๆ สองสัปดาห์ หรือจ่ายเดือนต่อเดือน ท้ายที่สุดนี่ อาจจะเป็นเวลาที่รัฐบาลไทยควรทบทวนอีกครั้งว่าโครงการส่งแรงงานไปทำงานยังต่างประเทศมีผลดีต่อประชาชนในประเทศตนอย่างแท้จริงหรือไม่ ในเมื่ออัตราการว่างงานภายในประเทศมีเพียงไม่ถึงร้อยละหนึ่ง ทำไมรัฐบาลต้องกลัวที่จะสูญเสียรายได้จากการจ้างงานในประเทศที่มีสงคราม และกรมจัดหางานฯ ควรพยายามสร้างงานในประเทศให้มีค่าตอบแทนที่คุ้มค่าสูงกว่าการไปทำงานยังต่างประเทศ

image_pdfimage_print