1

เข็นครกขึ้นภูเขา : การสอนภาษาอีสานในโรงเรียน

ถึงแม้ภาษาที่เราเรียกว่า ภาษา ‘ไทยลาว’ ‘อีสาน’ หรือภาษา ‘ลาว’ จะถูกระงับใช้ในห้องเรียนมามากว่า 100 ปี ภาษาถิ่นประจำภาคอีสานนี้ก็กำลังกลับมามีบทบาทอีกครั้ง

โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสาน (ICMRP) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (E.U)ทำให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการอ่านและเขียนเป็นภาษาไทยลาวในโรงเรียนเขตเทศบาล 11 แห่ง หลังจากที่ได้งบประมาณ 20 ล้านบาท โครงการก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ก็มีปัญหาที่จัดการได้ยากหลายอย่างรออยู่

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่แล้ว ครูในโรงเรียนเทศบาลจังหวัดขอนแก่นเริ่มสอนภาษาไทยลาวหรือไทยน้อยให้นักเรียนตั้งแต่ ป.4 ถึง ม.2

แต่ปัญหาหลักตอนนี้คือ ครูส่วนมากไม่มีความชำนาญในการเขียนภาษาไทยลาว ถึงแม้คนส่วนใหญ่ในภาคอีสานจะพูดภาษาไทยลาวได้ อัตราการอ่านออกเขียนได้ของภาษาไทยลาวเกือบเป็นศูนย์ ยกเว้นกลุ่มคนสูงอายุ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ และพระสงฆ์ นอกจากนี้งานเขียนหรืองานวรรณกรรมฉบับภาษาไทยลาวยังไม่ได้ตีพิมพ์ออกมาใหม่เป็นเวลาเกือบศตวรรษ นักวิชาการได้ดำเนินการปรับระบบการสะกดคำแบบเก่าของภาษาไทยน้อยให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น จึงมีครูหลายท่านในโรงเรียนเขตเทศบาลขอนแก่นที่เพิ่งได้เรียนตัวอักษรภาษาไทยน้อยเป็นครั้งแรก

นายอุดมทรัพย์ เหลืองอุบล ครูสอนภาษาไทยของโรงเรียนเทศบาลสวนสนุกที่เริ่มสอนภาษาไทยน้อยให้กับเด็กนักเรียนม.1ในเทอมนี้ กล่าวว่า “ผมฝึกประมาณหนึ่งเดือนก่อนที่จะได้มาสอนจริงๆ”

นายอุดมทรัพย์หยุดการสอนไปในเดือนธันวาคมสำหรับกิจกรรมลูกเสือและยุวกาชาด แล้วหลังจากนั้นไม่นานก็ลืมการเขียน กขค ในภาษาไทยน้อย ครูอุดมอยากให้โครงการนี้มีต่อไปเรื่อยๆ แต่เขาไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองในการสอน “อาจจะดีกว่าถ้าจะมีใคสักคนเข้ามาเปลี่ยนผมสักอาทิตย์ละครั้งเพื่อสอนภาษาไทยน้อยให้นักเรียนดีกว่าที่จะให้ครูมือใหม่อย่างผมที่เพิ่งเริ่มเรียนและอยู่ในระดับพอๆกับกับนักเรียนมาสอน”

อย่างไรก็ตาม ครู ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนบางคนสงสัยว่าทำไมต้องมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับภาษาไทยน้อย

ผศ. ชอบ ดีสวนโคกผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ภาคอีสาน เชื่อว่า การสอนนักเรียนให้อ่านเขียนภาษาไทยลาวได้ไม่ใช่แค่อยากให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้แต่เกี่ยวกับการนำวัฒนธรรมไทยอีสานกลับมาให้ลูกหลานได้เรียนรู้ด้วย

“คนกรุงเทพชอบคิดว่าคะแนนเสียง 300,000 เสียงของเค้ามีค่ากว่าหนึ่งล้านเสียงในภาคอีสาน พวกเขาดูถูกว่าเราไม่ฉลาด แต่การนำภาษาไทยน้อยกลับมาจะแสดงออกถึงพลัง ภูมิปัญญาและความภูมิใจของพวกเรา พวกเขาจะได้รับรู้ว่าเราก็มีสิทธิมีเสียงเท่ากับเขา”

และกล่าวเสริมว่า “เราต้องการให้ลูกหลานรู้ว่าบรรพบุรุษของเขาเป็นใคร และทำไมถึงควรที่จะรักษาประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของอีสาน”

หลายคนเห็นว่าการอ่านและเขียนภาษาไทยลาวได้จะทำให้ระดับการศึกษาในภาคอีสานสูงขึ้น ในการทดสอบด้านการศึกษาแห่งชาติ ภาคอีสานจัดเป็นหนึ่งในอันดับที่มีคะแนนน้อยที่สุดของประเทศมาโดยตลอด นายจอห์น เดรปเปอร์ เจ้าหน้าที่โครงการ ICMRP กล่าวว่า นี่อาจจะเป็นผลมาจากที่เด็กนักเรียนในภาคอีสานไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือในภาษาแม่ของตนเอง

ในระยะเริ่มต้นของการฟื้นฟูภาษาถิ่นนี้ ครูในจังหวัดขอนแก่นยังขาดทรัพยากรในการจัดการเรียนการสอน เช่น คู่มือการสอนภาษาไทยน้อย หรือ พจนานุกรมอ้างอิงซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการเขียน การดำเนินงานไปต่อไม่ได้เพราะความเห็นที่ไม่ตรงกันของนักวิชาการ เรื่อง การสะกดคำ หรือการใส่วรรณยุกต์ที่ไม่มีในต้นฉบับดั้งเดิมแต่มีในภาษาพูด

ผศ.ดร.รัตนา จันทร์เทาว์ นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่ทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันภายในเร็วๆนี้ จึงตัดสินใจเริ่มเขียนพจนานุกรมภาษาไทยน้อย 600 คำสำหรับนักเรียนในระดับประถมในจังหวัดขอนแก่นและคิดว่าควรใส่วรรณยุกต์ลงไปเพื่อให้คนรุ่นหลังเข้าใจภาษาไทยน้อยได้ง่ายขึ้น “ภาษาไทยน้อยจะเข้าใจได้ยากมากถ้าไม่ใส่วรรณยุกต์ลงไป การนำภาษาถิ่นกลับมาใช้จะต้องกระทบหลายอย่าง และควรที่จะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคและสมัยอีกด้วย”

นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางด้านระบบทางราชการของหน่วยงาน ถึงแม้โครงการนี้จะได้รับทุนร้อยละ 90 มาจากสหภาพยุโรปเพื่อสนับสนุนโครงการ การร่วมมือกันระหว่างเทศบาลของไทยและหน่วยงานต่างชาติก็มีปัญหาเกิดขึ้น

นายศรัณย์ เปานาเรียง เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาของเทศบาลขอนแก่น กล่าวว่า การปรับระบบบัญชีให้เป็นไปตามแบบของยุโรปทำได้ยาก

นายเดรปเปอร์เจ้าหน้าที่โครงการ ICMRP ยังเสริมว่า เงินสนับสนุนของสหภาพยุโรปยังมาถึงล่าช้าเพราะการตรวจสอบบัญชีภายในและให้เหตุผลว่าเงินทุนล่าช้าเพราะความต่างระหว่างวัฒนธรรมของหน่วยงานไทยและยุโรป

เพราะหน่วยงานเทศบาลไม่ค่อยรู้ข้อมูลของสหภาพยุโรปและในทางกลับกันทางสหภาพยุโรปก็ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานกับหน่วยงานของประเทศไทย “ผมคิดว่าปัญหานี้น่าจะมีผลมาจากความเข้าใจด้านสังคมและการเมืองที่ต่างกัน และปัญหานี้เกิดขึ้นจากการมีสัญญาร่วมกันระหว่างสององค์กรที่ไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับคู่สัญญา”

เงินสนับสนุนที่ล้าช่า รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพนักงานทั้งในหน่วยงานของสหภาพยุโรปและไทยในโครงการยิ่งทำให้มีผลกระทบร้ายแรงต่อส่วนอื่นๆของโครงการ ขณะนี้ยังมีความก้าวหน้าเพียงแค่เล็กน้อยในเขตเทศบาลของชุมแพ บ้านไผ่ พล ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าควรมีการใช้เครื่องหมายต่างๆในภาษาไทยลาว ผลิตชุดนักเรียนในแบบของอีสานพื้นบ้าน และสร้างฐานข้อมูลเกี่ยงกับการแสดงประเพณีอีสาน

ระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานไม่ได้เป็นผลมาจากการร่วมมือกับองค์กรต่างชาติเท่านั้น ร่างนโยบายภาษาแห่งชาติที่อนุมัติโดยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเห็นความสำคัญของภาษาไทยลาวเป็นภาษาถิ่นและสนับสนุนให้นักเรียนเรียนสองภาษาควบคู่กับภาษาถิ่นของตน โดยเฉพาะมองเห็นความจำเป็นในการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนที่ไม่ได้มีภาษาแม่เป็นภาษาไทยกลาง อย่างไรก็ตามนโยบายถูกหยุดไว้เนื่องจากเหตุการณ์การยุบรัฐบาลในเดือนธันวาคมก่อน

การนำภาษาอีสานกลับมาใช้อีกครั้งเป็นเรื่องที่เปรียบเสมือน ‘เข็นครกขึ้นภูเขา’ ไม่มีใครคิดว่าขั้นตอนการนำภาษาไทยลาวมาใช้อีกครั้งจะง่ายและเร็ว สำหรับเจ้าหน้าที่โครงการ ICMRP นายเดรปเปอร์คิดว่าถึงสิ่งที่ประสบความสำเร็จจะดูเหมือนเล็กน้อยก็ตาม แต่ที่สำคัญคือการขับเคลื่อนของกลุ่มคนที่มีเจตนาดีต่อชุมชน นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ในจังหวัดขอนแก่น ที่มารวมกลุ่มกันเพื่อที่จะสนับสนุนการกลับมาของภาษา วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของภาคอีสาน

ตัวอักษรภาษาไทยลาวบนประตูของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ติดเมื่อเดือนที่แล้วเป็นสัญญาณการริเริ่มของการเคลื่อนไหวไปสู่เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ นายเดรปเปอร์กล่าวทิ้งท้ายว่า “คนกว่าหลายพันคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องติดภาษาอีสานไว้ตรงนั้น แต่อีกไม่นานพวกเขาก็จะรู้ว่านั่นเป็นสิ่งที่จะรณรงค์ให้คนอีสานหันมารักและหวงแหนเอกลักษณ์และประวัติศาสตร์ของพวกเขา”