ขอนแก่น – ประเด็นการจำนำข้าวกำลังอยู่ในกระแสการเมืองที่ทุกคนกำลังจับตามองขณะนี้เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความโกลาหลมากขึ้นเมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลายมาเป็นเป้าหมายการโจมตี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ม็อบเกษตรกรชาวนาหลายร้อยคนออกมาล้อมที่ทำการชั่วคราวของรัฐบาลในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้รัฐบาลคืนเงินจำนำข้าวสำหรับผลผลิตข้าวปีก่อนที่ผลัดมานาน แต่ขณะเดียวกัน เกษตรกรชาวนาในภาคอีสานออกมารวมตัวกันในจังหวัดขอนแก่นเพื่อโต้กลับการประท้วงและให้กำลังใจรัฐบาลพร้อมทั้งสนับสนุนนโยบายการจำนำข้าว

571215_famer

นายเจริญทรัพย์ จำปาทอง อายุ 65 ปี เกษตรกรจาก อ.บ้านไผ่ ที่มาร่วมชุมนุมในวันจันทร์ กล่าวว่า “พวกเราไม่ได้ออกมาประท้วงเพราะไม่ได้เงินจำนำข้าว พวกเราออกมาสนับสนุนหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อจ่ายเงินคืนให้ชาวนา”

เกษตรกรกว่า 400 คนออกมาชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นในเช้าวันจันทร์และร่วมกันเดินไปยังสาขาของธนาคารต่างๆในละแวกใกล้เคียง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน (GSB) เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนรัฐบาลและโครงการจำนำข้าวผ่านเสียงของเกษตรกรชาวนา

ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาขอนแก่น ธนู โตสัจจะ  กล่าว “ชาวนามาเพื่อขอบคุณเรา เป็นครั้งแรกที่มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้น”

กลุ่มหัวหน้าผู้ชุมนุมได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดในครั้งนี้ด้วย

นายพุทธิพงษ์ การแก่นพงษ์ ผู้จัดรายการวิทยุในจังหวัดขอนแก่น ผู้ร่วมชุมนุมในครั้งนี้กล่าวว่า “เราบอกท่านผู้ว่าว่าพวกเราสนับสนุนท่านในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐและต้องการฝากท่านไปบอกกับรัฐบาลว่าเราเห็นด้วยกับโครงการจำนำข้าว”

การชุมนุมของเกษตรกรชาวนาในขอนแก่นต่างกันสุดขั้วกับการชุมนุมของเกษตรกรชาวนาในกรุงเทพฯที่ออกมาปิดถนนหลายสายและหลายพื้นที่ในเดือนที่ผ่านมา ทั้งยื่นฟ้องศาลเพื่อที่จะได้เงินชดเชยจากรัฐบาลสำหรับการจ่ายเงินจำนำข้าวที่ล่าช้า และเมื่อวันจันทร์ได้ฝ่ากำแพงแนวปิดล้อมเข้าไปยังที่ทำการชั่วคราวของรัฐบาล

การตอบสนองต่อรัฐบาลที่ต่างกันของเกษตรกรภาคกลางในกรุงเทพฯและเกษตรกรต่างจังหวัดบ่งบอกถึงการแบ่งแยกทางการเมืองของประเทศ คนกรุงเทพฯออกมาปิดถนนประท้วงรัฐบาลเกือบ 4 เดือนแต่คนเหนือและอีสานยังคงอยู่ฝ่ายนางสาวยิ่งลักษณ์ ผู้นำรัฐบาลและเห็นด้วยกับนโยบายพัฒนาสังคมต่างๆของรัฐ

อย่างไรก็ตามการออกมารวมตัวชุมนุมของเกษตรกรชาวนาทั้งในกรุงเทพฯและขอนแก่นต่างก็เป็นการตอบสนองต่อการจ่ายเงินจำนำข้าวที่ล่าช้าของรัฐบาลมากกว่า 1.3 แสนล้านบาท แก่เกษตรกรกว่า 1 ล้านรายสำหรับผลผลิตข้าวปีก่อน เนื่องจากอำนาจการกู้ยืมเงินจำนำข้าวที่น้อยลงของรัฐบาลทำให้การจ่ายเงินต้องหยุดชะงัก และยังมีผลมาจากที่โครงการให้ผลเสียมากว่าผลดีอีกด้วย

ในปี 2554 รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ได้นำนโยบายการจำนำข้าวมาใช้โดยการซื้อข้าวจากเกษตรกรมากกว่าอัตราซื้อขายในตลาดกว่าร้อยละ 50 และลดการส่งออกข้าวทั่วโลกเพื่อเพิ่มราคาข้าว แต่โครงการล้มเหลวเพราะประเทศอื่นผลิตข้าวออกมาแย่งลูกค้าของตลาดไทยที่ตอนนั้นครองแชมป์การส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่ง ขณะนี้รัฐบาลกำลังดิ้นรนขายข้าวคุณภาพสูงโดยไม่ให้เสียกำไร

เกษตรกรภาคอีสานรู้สึกขอบคุณที่รัฐบาลรับประกันราคาข้าวไว้ 15,000 บาทต่อตัน ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแสดงให้เห็นว่าชาวนาได้รับเงินมากกว่าเดิมสามเท่าจากการขายข้าวเมื่อเทียบกับปีก่อนเริ่มนโยบายการจำนำข้าว

จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เกษตรกรชาวนาขอนแก่นประมาณร้อยละ 70 ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวจากผลผลิตปีก่อน แต่ชาวนาหลายคนชื่นชอบแนวคิดของโครงการจำนำข้าวเพราะพวกเขาได้รับผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม

นายกองศรี มาตสมบัติ อายุ 56 ปี เกษตรกรจากหมู่บ้านหนองบัวคำมูล กล่าว “เราไม่ต้องกังวลเรื่องเงินอีกต่อไป เราไม่คิดว่าการทำนาข้าวจะทำให้เรามีความสุขแบบนี้”

นายบรรจบ ไชยแสนทา อายุ 36 ปี เกษตรกรอีกรายหนึ่ง  “ผมสามารถปลูกบ้าน ซ่อมแซมบ้านได้ก็เพราะโครงการจำนำข้าว”

นางวราพร บัวผิว อายุ 39 ปี บอกว่าถึงแม้รัฐบาลจำเป็นจะต้องลดราคาการซื้อขายให้ต่ำลง ก็ยังจะเห็นด้วยกับโครงการนี้

“ถ้า 15,000 บาทต่อตันมันแพงเกินไปสำหรับรัฐบาล พวกเราก็ยังจะพอใจถ้าราคาจะต่ำลงมาอีกนิด”

นอกจากนี้ นักวิชาการ นักเศรษศาสตร์ และองค์กรใหญ่ของโลกอย่าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF รู้สึกกังวลกับนโยบายจำนำข้าวหลังจากที่เริ่มใช้นโยบายในปี 2554

รศ. นงลักษณ์ สุพรรณไชยมาตย์ อาจารย์สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่านโยบายให้ประโยชน์ด้านการเงินแก่เกษตรกรชาวนา แต่โดยภาพรวมของโครงการแล้วมีการจัดการด้านงบประมาณที่ไม่ยั่งยืน ไม่มีระบบ และเสนอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการจำนำข้าวแล้วหันมามุ่งพัฒนาและให้งบประมาณแก่การนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในเกษตรกรรมมากกว่า

“รัฐบาลควรมีแผนการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต่างกันในแต่ละภูมิภาค จุดประสงค์หลักคือการลดต้นทุนการผลิตและเน้นคุณภาพของข้าว เช่น ชาวนาในภาคอีสานต้องการ ทรัพยากรน้ำมาก เครื่องทุ่นแรงในการปลูกข้าว เมล็ดพันธ์ที่ดี และปุ๋ยที่มีคุณภาพ”

นโยบายจำนำข้าวจะหมดอายุในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะต่ออายุ รัฐบาลคาดว่าจะจ่ายเงินจำนำข้าวให้เกษตรกรชาวนาโดยการกู้ยืมเงินจากธนาคารหลายแห่งและทยอยขายข้าวทั้งหมด 17 ล้านตันในโกดังของรัฐ

เนื่องจากมีเหตุการณ์ เช่น การดำเนินการการสืบสวนเรื่องงบประมาณโครงการจำนำข้าวโดย ป.ป.ช. เหตุการณ์ข้อตกลงการค้ากับจีนที่พึ่งล้มเหลว และปัญหาการประกันกู้ยืมเงินจากธนาคาร ทำให้โอกาสที่รัฐบาลจะจ่ายเงินจำนำข้าวในเกษตรกรชาวนาในเร็ววันนี้แทบจะเป็นไม่ได้

ถึงแม้จะกู้เงินจากธนาคารออมสินได้ห้าร้อยล้านบาทเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เงินจำนวนนี้ก็เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อยที่รัฐบาลจะต้องจ่ายให้ชาวนา ที่สำคัญธนาคารออมสินยังได้รับปฏิกิริยาที่ไม่พอใจจากสหภาพแรงงานและลูกค้าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เกษตรกรชาวนาภาคอีสานต่างรอคอยการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างสงบ

นายประสิทธิ เจริญสุข อายุ 66 ปี จากบ้านหนองบัวคำมูล กล่าว “ผมเชื่อว่าอะไรก็ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือใครที่ต่อต้านรัฐบาลพยายามทำ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็จะทำสำเร็จและพวกเราพี่น้องเกษตรกรชาวนาก็จะได้รับเงินจำนำข้าวในที่สุด ผมไม่เห็นด้วยที่จะไปประท้วงเพราะมันมีแต่จะทำให้สถาณการณ์แย่ลง”

image_pdfimage_print