สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต และอีกหลายหน่วยงานในจังหวัดจัดงานวันสตรีสากลขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม 2557 ณ ศาลาประชาคมจังหวัดขอนแก่น เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี โดยปีนี้มีผู้มาร่วมงานมากกว่า 500 คน

19398-1

ในการจัดงานครั้งนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ ดร.กระแส ชนะวงศ์ อายุ 80 ปี “หมอแมกไซไซ” สาขาผู้นำชุมชนและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับเชิญมาปาฐกถาหัวข้อ “พลังสตรี พลังสร้างสรรค์ประเทศ”

ดร.กระแส ได้ยกตัวอย่างหญิงแกร่งอย่าง นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษ และสนับสนุนให้หญิงไทยพัฒนาภาวะผู้นำโดยกล่าวว่า “โลกนี้มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง ถ้าผู้ชายพัฒนาอย่างเดียวก็จะพัฒนาได้ครึ่งเดียว ถ้าผู้หญิงพัฒนาด้วยประเทศก็จะยิ่งเจริญมากขึ้น” อีกทั้งยังได้เผยว่าความสำเร็จของตนก็มาจากแรงสนับสนุนของภรรยา

งานสตรีสากลจัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นการนำนโยบายส่วนกลางมาจัดงานโดยฝ่ายภูมิภาคหรือสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นายสาย เตรียมไธสง ผู้อำนวยการการพัฒนาสังคมของจังหวัด และนางศรีสุดา ราชธา ผู้ร่วมจัดงานหลัก กล่าวว่า ทุกปีจะมีการมอบรางวัลยอดสตรีศรีขอนแก่น โดยการคัดสรรสตรีที่มีผลงานโดดเด่น 12 สาขา เช่น สาขาสาธารณสุข ผู้นำชุมชน เกษตรกร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการของหน่วยงานผู้ร่วมจัดงาน

เพราะเชื่อว่าความสามารถของสตรีไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชาย เจตนารมณ์ของงานสตรีในครั้งนี้ต้องการขับเคลื่อนให้สตรีไทยมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันกับเพศชายในทุกด้านและทุกภาคส่วนการทำงาน ซึ่งเน้น 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่ ระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ยังต้องการปลูกฝังคุณค่าของสตรี ปรับเปลี่ยนทัศนคติและปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเข้าใจความเสมอภาคทางเพศ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงในทุกระดับ

ถึงแม้ว่าบทบาทของผู้หญิงในฐานะผู้นำทั้งส่วนกลางละส่วนภูมิภาคจะเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน แต่สถิติยังคงแสดงให้เห็นว่าจำนวนตัวเลขนั้นยังเป็นจำนวนที่น้อยอยู่ สหภาพรัฐสภาได้เปิดเผยสถิติการมีส่วนร่วมในรัฐสภาของ ส.ส.และส.ว. ที่เป็นผู้หญิงซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 15.80 และ 15.40 ตามลำดับ จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สัดส่วนผู้นำส่วนภูมิภาคที่เป็นผู้หญิง เช่น สมาชิกอบต. มีจำนวนเพียงร้อยละ 13.42

“กฎหมายยังไม่ครอบคลุมมากพอที่จะให้ผู้หญิงกับผู้ชายเท่าเทียมกัน” นางกรรณิกา อุ่นคำ       อายุ 44 ปี ผู้ร่วมออกร้านขายสินค้าในงานได้แสดงความคิดเห็น อีกทั้งยังกล่าวว่าควรมีการปรับปรุงด้านกฎหมายเพราะกฎหมายจะทำให้ผู้หญิงมีบทบาทเท่าเทียมกับผู้ชาย อย่างไรก็ตามนางกรรณิกาเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็นไปได้ยากเพราะคนไทยเลือกปฏิบัติตามเพศที่ต่างกันจนเคยชิน ความคิดแบบเดิมคงเปลี่ยนแปลงยาก

นางพิยาภรณ์ สุขโข อายุ 47 ปี จาก อ.ชนบท จ.ขอนแก่น และได้รับรางวัลสตรีทำงานในแรงงานนอกระบบที่สร้างคุณประโยชน์ ปี 2554 สาขาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัล 12 สาขา กล่าวว่าเห็นด้วยกับการปรับปรุงกฎหมายและ“มาตราการบทลงโทษทางกฎหมายยังไม่เข้มงวดพอ ไม่ใช่ว่าข่มขืนกระทำชำเราเด็ก แล้วถูกยกฟ้อง คนกระทำมเงินก็จ่าย มันไม่น่าจะเป็นไปได้”

ดร.กระแส กล่าวเสริมว่า “จริงๆแล้วการเปลี่ยนแปลงด้านความเสมอภาคทางเพศเป็นไปได้ยากเพราะมันเป็นความเชื่อเก่าแก่มาหลายสมัยว่าผู้หญิงต้องถ่อมตัวและไม่ค่อยแสดงออก” อย่างไรก็ตามหญิงไทยสามารถพัฒนาบทบาทของตัวเองให้เท่าเทียมกับชายโดยการหมั่นฝึกฝนภาวะผู้นำโดยการเพิ่มคุณค่าและความหมายให้กับตนเอง ผู้อื่น และงาน

ทั้งนี้ “ผู้หญิงไม่ควรลืมว่าตัวเองยังเป็นผู้หญิง” และควรสะสมพลังของสตรีไทยซึ่งทำได้จากการยึดหลักปฏิบัติตามคำกล่าวโบราณ ซึ่งก็คือ กฎ 3 น้ำ  “น้ำคำ น้ำมือ และน้ำใจ” “น้ำคำ”คือ การพูดจาน่ารัก ไพเราะ “น้ำมือ” คือ การรู้จักทำงาน ขยัน โดยเฉพาะเสน่ห์ปลายจวัก และสุดท้าย “น้ำใจ” คือ การมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น

นางพิยาภรณ์ แสดงความคิดเห็นต่อคำกล่าวนี้ว่า  “ผู้หญิงอีสานมีคุณสมบัติตาม 3 น้ำอยู่แล้ว ทั้งน้ำคำ น้ำมือและน้ำใจ แต่เอามาใช้แค่กับครอบครัวไม่ค่อยนำมาปฏิบัติกับคนอื่น” พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนการจัดงานบทบาทของสตรีให้ต่อเนื่องเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิงในภาคอีสาน “ผู้หญิงอีสานเก่งๆก็มีแต่มีน้อยที่มีโอกาสแสดงออก อยากให้มีหน่วยงานรัฐออกมาทำงานแบบจริงจัง ไม่สร้างกระแสเพียงแค่ละลายงบประมาณเพราะมันจะไม่มีประโยชน์”

นายสาย พูดทิ้งท้ายว่า “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง” แท้จริงแล้วอาจเปรียบกับคำพูดที่ ดร.กระแส กล่าวในวันนี้ว่า “ผู้ชายประสบความสำเร็จได้ก็เพราะมีผู้หญิงคอยสนับสนุนอยู่” เพราะ  “แท้จริงแล้วโดยธรรมชาติ ช้างจะเดินด้วยช้างเท้าหลังก่อนเสมอ”

image_pdfimage_print