จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นายโกเมศ ฑีฆธนานนท์ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีหน้าศาลาว่าการจังหวัดขอนแก่นเกี่ยวกับประสบการณ์การเป็นเจ้าของธุรกิจและนักการเมืองท้องถิ่น นายโกเมศได้ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกวุฒสภาและนี่เป็นโอกาสเดียวที่จะทำการปราศรัยแก่ประชาชนผู้ออกเสียงก่อนจะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันเสาร์นี้ ภายใต้เงื่อนไขที่เขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดเกี่ยวกับการเมือง
“ในฐานะผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภานั้น มีกฎหมายหลายตัวที่คอยควบคุมสิ่งที่ผมจะพูด” นายโกเมศ ซึ่งมีอายุ 57 ปีและครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการตลาดนัดในจังหวัดขอนแก่นกล่าว “ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายในสิ่งที่ผมอยากจะให้ทุกท่านได้เข้าใจ”
นายโกเมศเป็นหนึ่งในเจ็ดผู้สมัครชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดขอนแก่น กฎที่เข้มงวดนั้นมีจุดประสงค์ที่จะดำรงไว้ซึ่งการวางตัวเป็นกลางของผู้ลงสมัครตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาในประเทศไทยโดยการปฏิบัติตามกฎการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปรวมไปถึงการอภิปรายในหัวข้อการเมืองในปัจจุบัน
กิจกรรมที่สามารถทำได้อย่างเช่นการจัดทำป้ายประกาศหาเสียงโดยระบุชื่อผู้ลงสมัครและคำขวัญในสถานที่ราชการและการนำเสนอรูปภาพและประวัติโดยย่อโดยหมุนเวียนไปตามทางจดหมายและการออกอากาศในสถานีของรัฐบาล
ในวันพฤหัสที่ผ่านมา ผู้ลงสมัครในจังหวัดขอนแก่นแต่ละคนได้ทำการปราศรัยเป็นเวลา 15 นาที ณ เวทีหน้าศาลาว่าการจังหวัดต่อหน้าประชาชนประมาณ 2000 คน
เนื่องด้วยผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาถูกห้ามมิให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองในปัจจุบัน ผู้สมัครส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปที่การปราศรัยคุณสมบัติของตนเอง
นายวัน สุวรรณพงษ์ ผู้จัดรายการวิทยุชื่อดังซึ่งมีอายุ 75 ปี ก็ได้กล่าวถึงข้อจำกัดในการปราศรัยของเขาเหมือนกับนายโกเมศ
“ผมเชื่อว่าเรายังต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ผมไม่ได้รับอนุญาตให้พูดมากเกี่ยวกับสิ่งที่ผมอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง” นายวันกล่าว
แต่แทนที่นายวันจะกล่าวถึงภูมิหลังของเขาในการเป็นทนาย เขากลับแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนต่อศาลรัฐธรรมนูญในการทำให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ
“ผมเกรงว่าการเลือกตั้งในวันที่ 30 มีนาคมนี้อาจจะจบลงอย่างเช่นการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา” นายวันกล่าว “ถ้ามันกลายเป็นโมฆะอีกครั้ง ผมจะฟ้องร้องใครก็ตามที่ทำให้มันเป็นโมฆะ”
นายฐิตินันท์ แสงนาค อายุ 53 ปี ก็ได้แสดงท่าทีต่อตำแหน่งทางการเมืองโดยไม่ให้โจ่งแจ้งเกินไป
“เราต้องทำงานกับคนที่มาจากระบบราชการ เหมือนกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เราต้องทำงานกับคนเหล่านี้ คุณรู้ว่าพวกเขาเป็นใครและพวกเขามีความเชื่ออย่างไร” นายฐิตินันท์กล่าว
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานของรัฐบาลที่เชื่อว่าเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล
“ผมจะอยู่ข้างๆพ่อแม่พี่น้อง” นายฐิตินันท์กล่าวต่อชาวขอนแก่น “ผมเชื่อว่าเราอยู่ตำแหน่งเดียวกัน คิดเหมือนกัน”
ผู้สมัครคนอื่นเลี่ยงที่จะพูดเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและพูดในเรื่องทั่วไป
นายสุวิทย์ นามบุญเรือง อายุ 62 ปี อ้างถึงการอุทิศตนต่อประชาธิปไตยและเน้นหนักไปที่ความสำคัญของการศึกษา
นายสุธน สอนคำแก้ว อายุ 47 ปี ผู้มีประสบการณ์ในด้านการบัญชี ได้เน้นในเรื่องของความยุติธรรมของตนเอง
“ผมไม่ขึ้นอยู่กับใครและไม่คิดที่จะสนับสนุนสีใดก็ตาม” นายสุธนกล่าว “ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของสมาชิกวุฒิสภาคือความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม”
ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถเข้าร่วมในพรรคการเมือง ดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่างมากในการจดจำชื่อ
“ไม่ใช่จะเป็นใครก็ได้ที่จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา” นายฐิติพล ทศรฐ กรรมการการเลือกตั้งจังหวัดขอนแก่นกล่าว “จะมีผู้สมัครบางคนที่ไม่เป็นที่รู้จักนักจะใช้โอกาสนี้ในการแนะนำตัวต่อสาธารณะ แต่โดยทั่วไปแล้วผู้สมัครนั้นจะเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในจังหวัด”
ถึงแม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลปฏิญาณที่จะขัดขวางการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จัดขึ้นก่อนที่จะมีการปฏิรูปประเทศ พวกเขากล่าวว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งวุฒิสภาในวันเสาร์นี้ นั่นเป็นเพราะวุฒิสภาซึ่งกุมอำนาจในการฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 5 มีความสำคัญในการพยายามถอดถอนนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์
สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 สมาชิกวุฒิสภาของไทยส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง อีกส่วนหนึ่งมาจากการสรรหาโดยผู้พิพากษาและข้าราชการที่เป็นสมาชิกในการก่อตั้งกลุ่มต่อต้านตระกูลชินวัตร
คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาประกอบด้วยประธานจากศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน และ ผู้พิพากษาในศาลฎีกา
และด้วยอำนาจจากหน่วยงานเหล่านี้ ถ้าสำนักงานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอแนะให้ทำการฟ้องร้องนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ สมาชิกวุฒิสภาต้องนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาอีกครั้ง
สำนักงานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติยังคงอยู่ในช่วงของการฟ้องร้องนางสาวยิ่งลักษณ์จากการเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีต้องมาชี้แจงต่อสำนักงานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก่อนวันที่ 31 มีนาคมนี้ และคณะกรรมการการทุจริตจะประกาศผลการตัดสินในเดือนหน้านี้
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันของรัฐบาลที่แขวนอยู่นี้ การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันอาทิตย์นี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ของประเทศ