นักข่าวรับเชิญ อีแวน เกิร์ซโควิช รายงานผลกระทบจากนโยบายป่าไม้ของรัฐบาลต่อผู้ยากไร้ในภาคอิสาน ซึ่งมากกว่าเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่ง และผู้ครอบครองที่ดิน ที่รัฐบาลอ้างว่า เป็นเป้าหมายหลัก อย่างไร

สกลนคร – เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา มีชาวบ้าน 37 รายในหมู่บ้านจัดระเบียบ ถูกจับกุม และควบคุมตัวในข้อหาเข้าครอบครอง และตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ป่าสงวน เขตอำเภอภูพาน โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีกองกำลังผสมของทางการ ทหาร และตำรวจ ตัดทำลายต้นยางของชาวบ้าน 18 ครอบครัว เป็นเนื้อที่กว่า 383 ไร่ (151.4 เอเคอร์) ในพื้นที่หมู่บ้านโนนเจริญ เขตป่าสงวนเดียวกัน ตามข้อมูลของนักกิจกรรมในพื้นที่ ทางการวางแผนตัดทำลายต้นยางรวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดกว่า 10,000 ไร่ ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่อาจทำให้กว่า 700 ครัวเรือน ต้องสูญเสียรายได้

ปฏิบัติการเหล่านี้ เป็นไปตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเข้าสู่อำนาจผ่านการรัฐประหารในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากข้อมูลของนายเหลาไท นิลนวล ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และที่ปรึกษาเครือข่ายพัฒนาที่ดินผู้ยากไร้ภาคอิสานกับปัญหาที่ดิน-พื้นที่ป่า ในพื้นที่ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังอยู่ในกระบวนการขับไล่ชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า 50 ชุมชนออกจากพื้นที่ป่า

ท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้น ของหน่วยงานรัฐบางหน่วย เป็นส่วนหนึ่งตามแนวทางที่จะโยกย้าย หรือพยายามขับไล่ ชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า 50 ชุมชน ออกจากพื้นที่ป่า และคุกความความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งกรมป่าไม้ประเมินว่า ทั้งประเทศ อาจมีมากถึงสองล้านคน

ชาวบ้านหมู่บ้านจัดระเบียบคนหนึ่ง เดินสำรวจต้นยางที่ถูกตัดทำลาย ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐวางแผนที่จะตัดทำลายที่เหลือทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

ชาวบ้านหมู่บ้านจัดระเบียบคนหนึ่ง เดินสำรวจต้นยางที่ถูกตัดทำลาย ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐวางแผนที่จะตัดทำลายที่เหลือทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

ในเดือนมิถุนายน คสช.ได้ประกาศคำสั่งที่ 64 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะหยุดการทำลาย และบุกรุกพื้นที่ป่า คำสั่งดังกล่าว มีเป้าหมายที่จะควบคุมการคอรัปชั่น และการใช้พื้นที่ขนาดใหญ่เชิงธุรกิจ ในพื้นที่ป่าสงวน และคำสั่งที่ 66 ซึ่งประกาศสามวันหลังจากนั้น ประสงค์ให้คนจน และผู้ไร้ที่ทำกิน ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ป่าสงวนก่อนที่จะมีคำสั่งที่ 64 ไม่ได้รับผลกระทบ

ทนายความตัวแทนของชาวบ้านจัดระเบียบ นายถนอม ศักดิ์ระวาสชัย ไม่เชื่อว่าคำสั่งที่ 66 ถูกนำมาใช้ปฏิบัติจริงดังเช่นที่ทำกับคำสั่งที่ 64

“ในทางปฏิบัติ คำสั่งที่ 64 เกือบทั้งหมดถูกบังคับใช้กับชาวบ้านทั่วๆ ไปมากกว่านักลงทุนรายใหญ่” นายถนอมกล่าว

ชาวบ้านมีช่องทางไม่มากนักที่จะต่อต้านคำสั่งขับไล่ดังกล่าว ด้วยความช่วยเหลือจากนายเหลาไทย ชาวบ้านโนนเจริญส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย ร้องขอให้ คสช. ถอดแผนการทำลายต้นยางที่เหลือ ซึ่งทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนในทำนองเดียวกันเป็นจำนวนมาก

มีข้อเรียกร้อง ต่อ คสช. ให้เปลี่ยนแปลงนโยบายที่เกี่ยวกับการบุกรุกป่า ในการชุมนุมที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีตัวแทนจาก คสช. และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วม

เห็นได้ชัดว่าข้อเรียกร้องล้มเหลว สี่วันหลังการชุมนุมที่กรุงเทพฯ นายปรินชัย สอนซื่อ นายอำเภอภูพาน ออกคำสั่งให้ชาวบ้านในหมู่บ้านจัดระเบียบออกจากผืนดินที่พวกเขาปลูกต้นยาง เมื่อชาวบ้านปฏิเสธ นายปรินชัยก็มีคำสั่งให้ออกหมายจับพวกเขา

มีคำถามที่ว่า ใครกันแน่ที่ได้รับผลประโยชน์จากต้นยางเหล่านั้น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอ้างว่า นายทุนเป็นผู้จ้างวานชาวไร่เพื่อกรีดยาง นายปรินชัยไม่เชื่อว่า ชาวบ้านสามารถปลูกยางด้วยตนเองได้

“คนจนไม่ได้เป็นคนปลูกยาง” เขากล่าว “นายทุนต่างหากที่จ้างชาวบ้านให้ทำงานเพื่อพวกเขา”

เมื่อถามถึงหลักฐานที่เกี่ยวกับการจ้างวานชาวบ้านของนายทุน นายปรินชัยกลับไม่สามาถหาหลักฐานเหล่านั้นได้

ชาวบ้านในท้องที่ เคยปลูกมันสำปะหลัง และอ้อยมาก่อน ในปี 2544 เจ้าหน้าที่รัฐ ได้นำพันธุ์ยางเข้าไปแจกจ่าย ตามนโยบายด้านการเกษตร ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

สวนทางกับคำกล่าวอ้างของรัฐบาล ชาวบ้านกล่าวว่า พวกเขาเป็นเจ้าของต้นยางเหล่านั้น และตอนนี้รายได้ของหลายครอบครัว ก็ขึ้นอยู่กับการขายยางเพียงอย่างเดียว

นางสุนัน สิงห์วงศ์ ชาวนาวัย 28 ปี จากบ้านจัดระเบียบ กล่าวว่า หลายครอบครัวเริ่มการปลูกยางจากหนึ่งไร่ และค่อยๆ เพิ่มพื้นที่ไปที่ละไร่ นางสุนันอ้างว่า ญาติของเธอซึ่งทำงานอยู่ต่างจังหวัด ส่งเงินกลับมาให้ปลูกยางเพิ่ม

จากข้อมูลของนายเหลาไทย ครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านจัดระเบียบจะถือครองพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ ในแต่ละเดือน แต่ละครอบครัวจะมีรายได้จากยาง ปกติประมาณ 1,000 บาทต่อไร่ ถ้าทำงานสองคนต่อพื้นที่เฉลี่ย 15 ไร่ พวกเราจะมีรายได้น้อยกว่า 300 บาทต่อวัน

ถึงจะไม่ใช่คนที่จนที่สุด ครอบครัวเหล่านี้ก็ไม่ได้มั่งมีเช่นกัน เพราะเหตุผลดังกล่าว นายเหลาไทยจึงกำชับว่า ชาวบ้านเหล่านี้ไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่ร่ำรวยตามคำสั่งที่ 64 ของ คสช. และควรจะได้รับการคุ้มครองตามคำสั่งที่ 66

แม้ว่าชาวบ้านในบ้านโนนเจริญ และบ้านจัดระเบียบ จะอ้างว่า อาศัยอยู่ในพื้นที่ของพวกเขามาหลายชั่วอายุคน แต่พื้นที่ดังกล่าว ก็ถูกเปลี่ยนเป็นอุทยานแห่งชาติภูพานในปี 2515 หลังจากการเจรจากับชาวบ้าน และเอนจีโอในปี 2536คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) จัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านได้

แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า รัฐบาลกำลังยกเลิกมติดังกล่าว นายปรินชัยยืนยันว่า เขาจะปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. “ผมต้องยึดพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมดคืน” เขากล่าว “ต้นยางทั้งหมดต้องถูกตัดทำลายทิ้ง”

แม้นโยบายของ คสช. จะทำสร้างความไม่แน่นอนในการครอบครองที่ดิน และกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชนสองล้านคนทั่วประเทศ นางสุนันแทบไม่สงสัยเลยถึงวิธีแก้ปัญหาของรัฐบาล “ฉันคิดว่า รัฐบาลจะตัดต้นยางของเราเพิ่ม และยึดที่เราไป” เธอกล่าว “แต่พวกเราเป็นคนจน จากที่ได้ยินมาเกี่ยวกับคำสั่งของ คสช. พวกเขาบอกว่า ถ้าพวกเราจน เราควรจะเป็นเจ้าของที่ดินของเราได้”

ดร.คมสัน เรืองฤทธิ์สาระกุล จากสำนักบริหารจัดการป่าชุมชนของกรมป่าไม้ ได้รับทราบปัญหาที่เกิดจากคำสั่งของ คสช.แล้วจากการสัมภาษณ์ครั้งก่อน

“ปัญหานี้เป็นปัญหาเก่า แต่อย่างแรกที่เราต้องแน่ใจคือ ต้องไม่มีการถางพื้นที่ป่าเพื่อใช้ในเชิงธุรกิจเพิ่ม” เขากล่าวกับข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ “ตอนนี้มีประชาชนในพื้นที่ป่าควบคุมสองล้านคนในประเทศไทย และพวกเขาไม่ใช่อาชญากร พวกเขาเป็นชาวนาชาวไร่”

นายเหลาไทยเกรงว่า การทำให้ชาวบ้านเป็นอาชญากรจะดำเนินอยู่ต่อไป เขายังเป็นห่วงด้วยว่า ตัวเขาเองอาจถูกจับกุม

“มันไม่ใช่ว่าผมห่วงตัวเอง” นายเหลาไทยกล่าว “ผมสู้กับเผด็จการมานานแล้ว เรามีรัฐประหารหลายครั้งในประเทศไทย แต่ถ้าผมเข้าไปในพื้นที่พวกนั้น ชาวบ้านยิ่งจะเจอปัญหามากกว่า ที่พวกเขาเจออยู่แล้ว กองทัพจะคิดว่า ผมจะเข้าไป ปลุกกระแสทางการเมืองในพื้นที่”

ความกลัวของเขาเป็นเรื่องธรรมดา ในสภาพการณ์ของการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองมากกว่าห้าคนขึ้นไป และจากที่มีการ “เรียกตัว” ผู้นำในพื้นที่หลายครั้ง ทำให้หลายคน ที่ทำงานคล้ายเหลาไทยต้องเงียบไว้ก่อน

“ผมแค่ต้องระวังให้มากขึ้น” เขากล่าว

ดร.สถาพร เริงธรรม ศาสตราจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เชื่อว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่อำเภอ ที่มีชาวบ้านเป็นเป้าหมาย จะดำเนินต่อไป นอกจากรัฐบาลจะมีความชัดเจนในนโยบาย และปกป้องสิทธิของคนจน

“ในภาคอิสาน มีชาวนาชาวไร่ที่ยากจนจำนวนมาก ที่มีพื้นที่ปลูกยางเพียงไม่กี่ไร่ แต่เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นกลับไม่แยกระหว่างคนจน กับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งดำเนินการโดยคนโกง ฮุบเอาที่ดินไปจากรัฐ และเป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับผลจากนโยบายดังกล่าว” เขากล่าวในการสัมภาษณ์

เช่นเดียวกับชาวบ้านหลายคน ดร.สถาพรรู้สึกถึงความไม่เชื่อมโยงระหว่างผู้กำหนดนโยบาย และผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ “ผมเคยพูดกับหลายคนแล้วในเรื่องนี้ และผมคิดจริงๆ ว่า เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงต้องการใช้นโยบายนี้กับบรรดานายทุนที่มีธุรกิจขนาดใหญ๋ แต่เป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างเอง ที่ใช้นโยบายนี้เพื่อหาประโยชน์จากคนจน และนี่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในขณะนี้”

การให้ปากคำกับศาลครั้งแรกในคดีที่ฟ้องชาวบ้านจัดระเบียบจะมีขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน ทนายความอย่างคุณถนอม ยังไม่แน่ใจกับผลลัพท์ของคดีนัก บ้านจัดระเบียบอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูพาน เขาตั้งข้อสังเกต และมติคณะรัฐมนตรีในปี 2536 ไม่อนุญาตให้ปลูกต้นยางในพื้นที่

นายถนอมเป็นห่วงว่า ศาลอาจตัดสินตามโทษขั้นรุนแรง ซึ่งอาจหมายถึงจำคุกสิบห้าปี ถูกยึดที่ดิน และปรับเป็นเงินสูงถึง 150,000 บาท ต่อไร่

พินิจนันต์ ชนะสะแบง มีส่วนร่วมในรายงานชิ้นนี้

อีแวน เกิร์ซโควิช เป็นนักข่าวอิสระในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ติดตามผลงานของเขาได้ทางทวิตเตอร์@EvanGershkovich

image_pdfimage_print