ขอนแก่น – ประชาชนประมาณ 400 คนจาก 13 จังหวัด ได้เดินทางมาเพื่อเข้าร่วมงานเทศกาลสิทธิมนุษยชนภาคอีสานประจำปี ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวานนี้ที่โรงแรมขวัญมอ จังหวัดขอนแก่น ถึงแม้ว่าทางทหารจะแสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับการจัดงาน และงานในปีนี้แตกต่างไปจากปีที่ผ่านๆมา คือ คณะทูตจากสหราชอาณาจักร แคนาดา นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป สวีเดน และสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางเพื่อมาร่วมงานเช่นเดียวกัน

งานเทศกาลสิทธิมนุษยชนภาคอีสานจัดขึ้นแทบทุกปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เพื่อรำลึกวันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  แต่การดำเนินงานในครั้งนี้ได้รับเงินสนับสนุนหลักจากสหภาพยุโรปตามโครงการ “ความช่วยเหลือการแลกเปลี่ยนด้านนโยบายของไทยและสหภาพยุโรป” และโดยผู้จัดงานกล่าวว่า เทศกาลประจำปีนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นช่องทางให้ชุมชน และเครือข่ายต่างๆ ได้พบปะแลกเปลี่ยนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและกำหนดข้อเรียกร้องต่างๆ

กิจกรรมในช่วงเช้าเริ่มด้วยการกล่าวแถลงการณ์ โดย คุณจาร์รอด เวียร์ ตัวเเทนจากสหภาพยุโรป คุณแอน-ชาร์ลอตต์ มอลม์ หัวหน้าระดับภูมิภาคโครงการซีดา ประเทศสวีเดน และคุณนอร์แมน แฟลนซ์ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนจากสหรัฐอเมริกา

HRF-Article-Draft-1-group-photo-2-300x184

จากซ้ายไปขวา: คุณแฮนโน เทรย์เบิร์น เจ้าหน้าที่ด้านการเมืองจากสถานทูตอังกฤษ คุณนอร์แมน แฟลนซ์ คุณคามิลลา ออตโตสซัน เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนจากสถานทูตสวีเดน คุณแอน-ชาร์ลอตต์ มอลม์ เอกอัครราชทูตมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูต ฟิลลิป คาลเวิร์ท เอกอัครราชทูตรูเบน เลเวอร์มอร์ และคุณจาร์รอด เวียร์

ตามมาด้วย “การอภิปรายด้านสิทธิมนุยชนโดยคณะเอกอัครราชทูต” โดย คุณมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย คุณฟิลลิป คาลเวิร์ท เอกอัครราชทูตแคนาดา และคุณรูเบน เลเวอร์มอร์ เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์

เอกอัครราชทูตแต่ละท่านเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของสิทธิมนุษยชนในประเทศตนเอง โดยให้ความสำคัญกับความจำเป็นที่จะต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มกันเพื่อแสวงหาสังคมประชาธิปไตย นายฟิลลิป คาลเวิร์ท และนายรูเบน เลเวอร์มอร์ ยังได้กล่าวถึงว่าสิทธิของชนพื้นเมืองกลายเป็นส่วนสำคัญของ “โครงสร้าง” ทางภูมิทัศน์ด้านสิทธิมนุษยชนในแคนาดาและนิวซีแลนด์ได้อย่างไรอีกด้วย

เอกอัครราชทูตฟิลลิป คาลเวิร์ทกล่าวว่า “แคนาดาได้เรียนรู้ว่า เมื่อมีการกีดกันสิทธิด้านวัฒนธรรม เช่น สิทธิการพูดภาษาดั้งเดิมของตนเอง และการครอบครองที่ดิน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความหายนะ”

เอกอัครราชทูตมาร์ค เคนท์ กล่าวกับผู้ฟังในห้องเป็นภาษาไทยเรื่องความสำคัญของความเสมอภาคและโอกาสที่เท่าเทียม

HRF-Article-Draft-1-CA-182x300

อกอัครราชทูตฟิลลิป คาลเวิร์ท พูดถึงสิทธิด้านวัฒนธรรมว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิทธิมนุษยชนในแคนาดา

“ผมมาจากหมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทของอังกฤษ พ่อของผมทำงานเป็นคนขับรถบรรทุก แต่ผมก็มีโอกาสได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด จากนั้นผมก็ได้เห็นถึงความสำคัญของโอกาสในการเข้าถึงและสิทธิที่เท่าเทียมกันสำหรับคนทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะรวยหรือจน ไม่ว่าจะเป็นคนเมืองหรือคนชนบท”

 

การย้ำถึงสิทธิความเสมอภาคของคนในชนบทจากเอกอัครราชทูต ได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากผู้เข้าร่วมงาน

สมาชิกชุมชนและเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบต่างทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสไม่มากนักที่จะได้แลกเปลี่ยนกับตัวแทนจากต่างชาติเกี่ยวกับความคับข้องใจประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ชุมชนของตนเองกำลังประสบ

ชาวบ้านจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งกำลังต่อสู้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขุดเจาะบ่อกีาซปิโตรเลียมใกล้ที่ดินของตนเอง ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงที่แสดงถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในประเทศไทย

“ปกติแล้ว บริษัทต่างชาติต่างๆ จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อสร้างปัญหาให้กับชุมชนของเรา” ชาวบ้านจากกาฬสินธุ์คนหนึ่งกล่าว “พวกเขามองเราเป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ และมักอ้างว่าเราต้องเสียสละเพื่อประเทศชาติ เราส่งจดหมายและพูดผ่านสื่อก็แล้ว แต่ก็ยังถูกละเมิดสิทธิเหมือนเดิม เสียงของทูตอาจจะดังกว่าเสียงของเรา เพราะฉะนั้นผมเลยคิดว่า คุณอาจทำให้คนพวกนั้นได้ยินเสียงเล็กๆ ของเรา”

HRF-Article-Draft-1-Kent-300x200

เอกอัครราชทูตมาร์ค เคนท์: ย้ำถึงความผิดหวังของสหราชอาณาจักรต่อการรัฐประหารและการคงกฎอัยการศึกไว้

คณะทูตจากนานาประเทศที่เข้าร่วมงานเข้าใจถึงคุณค่าของการได้มีโอกาสพูดคุยกับประชาชนคนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยตรง เพื่อที่จะได้เข้าใจสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้ดีขึ้น

“สำหรับเราในฐานะเอกอัครราชทูต กรุงเทพเป็นเมืองที่สำคัญแต่ก็ไม่ใช่ประเทศไทยทั้งหมด” เอกอัครราชทูตรูเบน เลเวอร์มอร์กล่าว “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่สำคัญมาก ในวาระที่ได้มาที่นี่ในวันนี้ทำให้เราได้มีโอกาสรับฟังเกี่ยวกับปัญหาที่คนอีสานกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้”

HRF-Article-Draft-1-NZ

เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ คุณรูเบน เลเวอร์มอร์: ภาพรวมของภาคอิสานมีความสำคัญสำหรับความเข้าใจที่มีต่อประเทศไทย

กิจกรรมในช่วงบ่ายมุ่งเน้นเกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือผ่านหนังสั้นจำนวน 8 เรื่อง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิด้านต่างๆ อาทิ สิทธิผู้บริโภค สิทธิได้รับบริการเพื่อสุขภาพ สิทธิในที่ดินและการดำเนินชีวิต และสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ในตอนท้ายของงานได้มีการประกาศแถลงการณ์จากแต่ละชุมชน

ตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในประเทศไทย งานเทศกาลสิทธิฯครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่งานประเภทนี้สามารถจัดขึ้นได้ ซึ่งงานสัมนาทางวิชาการต่างๆหลายครั้งมักถูกยกเลิก หรือถูกสั่งปิดโดยทหา

แหล่งข่าวทหารในขอนแก่นบอกผู้จัดงานว่ามีความเป็นได้ถึงร้อยละ 50 ที่ทางทหารจะยกเลิกหรืออนุญาตให้ดำเนินการจัดงานต่อไป แต่หนึ่งวันก่อนงานเริ่ม เจ้าหน้าที่ทหารได้ติดต่อเพื่อขอให้ทางคณะผู้จัดฯ เขียนข้อตกลงและลงชื่อว่าจะห้ามไม่ให้มีการวิพากษณ์วิจารณ์ คสช. ห้ามพูดเกี่ยวกับการเมืองหรือกฎอัยการศึก ผู้จัดงานฯ ตกลงที่จะไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้และจะกลั่นกรองสื่อที่ใช้ในการจัดงาน

HRF-Article-Draft-1-crowd-300x199

ผู้ร่วมงานเต็มเปี่ยมด้วยพลัง ความหาญกล้าที่ต้องการให้ผู้ร่วมงานคนอื่น รวมทั้งคณะทูตจากประเทศได้รับรู้ งานครั้งนี้จัดขึ้นโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป. พอช.) โครงการซีไออีอี ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (CIEE) และเครือข่ายนักศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผู้จัดงานจะแจ้งก่อนงานเริ่มว่าได้ตกลงกับทางทหารว่าจะไม่มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าวเหล่านั้น แต่ก็หวังว่าผู้ร่วมงานทุกคนจะพูดเรื่องอืนได้อย่างอิสระเสรีเนื่องในวาระโอกาสวันสิทธิมนุษยชน

หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานยืนขึ้น และถามว่า “ถ้าเราพูดเรื่องกฎอัยการศึก เรื่องคสช. หรือการเมืองไม่ได้ แล้วจะให้เราพูดเรื่องอะไร”

การเซนเซอร์ตัวเองในส่วนของผู้จัดทำให้ไม่สามารถเข้าใจวิดีโอบางส่วนที่นำมาเสนอได้ เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ว่ากฎอัยการศึกนั้นส่งผลกระทบต่อชุมชต่างๆที่เข้าร่วมงานในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานโยบายเกี่ยวกับที่ดิน ของ คสช. ที่มีการจับกุมและไล่รื้อชุมชุนหลายแห่งในภูมิภาค

ระหว่างการฉายสารคดีเกี่ยวกับการไล่รื้อชาวบ้านและชุมชนออกจากป่า มีเสียงบ่นระงมดังขึ้นในหลายๆครั้งที่เนื้อหาของสารคดีถูกตัดเสียงออกไปหรือมีการเซนเซอร์คำบรรยาย เมื่อทางผู้จัดงานฯ อธิบายว่าเนื้อหาในสารคดีดังกล่าวถูกสั่งให้เซนเซอร์ ผู้เข้าร่วมงานทั้งห้องต่างส่งเสียงหัวเราะให้กับเรื่องดังกล่าว

หนึ่งในชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องราวในสารคดีที่ถูกเวนเซอร์ได้ลุกขึ้น เขากำหมัดแน่นและกล่าวว่า “ผมไม่กลัวที่จะพูดตรงนี้ว่าเนื้อหาที่ถูกเซนเซอร์คืออะไร นับตั้งแต่รัฐประหาร 44 วัน ทหารประกาศคำสั่งไร่ลื้อชุมชนของผม พวกเผด็จการทหารต้องการให้พวกเราออกจากป่า ไม่สนใจว่าพวกเราอยู่ที่นี่มานานหลายทศวรรษแค่ไหน”

ผู้เข้าร่วมงานคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันต่างส่งเสียงโห่ร้องสนับสนุน

HRF-Article-Draft-1-QA-300x200

ภายใต้กฎอัยการศึก นักกิจกรรมและชาวบ้านมีโอกาสไม่มากนักที่จะได้พูดอย่างเปิดเผย

ดร. เดวิด สเตร็กค์ฟัสส์ หัวหน้าผู้จัดงานฯและผู้อำนวยการโครงการ ซีไออีอี-ขอนแก่น สังเกตว่างานเทศกาลสิทธิมนุษยชนครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นักกิจกรรมเสื้อแดงผู้ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากกฎอัยการศึกในภาคอีสานและนักกิจกรรมสิทธิชุมชนหลายคน ซึ่งต่างถูกจับกุมและควบคุมตัวเช่นเดียวกัน ได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเคลื่อนไหวในการต่อสู้กับการกดขี่ภายใต้กฎอัยการศึกด้วยกันในโอกาสนี้

นายเดชา เปรมฤดีเลิศ นักพัฒนาเอกชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีประสบการณ์การทำงานมาอย่างยาวนาน กล่าวเห็นด้วยว่า “การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จะทำให้ชาวบ้านเข้มแข็งขึ้น ชาวบ้านต้องรวมกลุ่มกันเพื่อหาทางอยู่รอดให้ได้”

ผู้เข้าร่วมงานหลายคนไม่ได้มีความเกรงกลัวต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่แต่งกายชุดลำลองเพื่อคอยถ่ายภาพในงาน “ผมไม่กลัวทหาร เพราะมันเป็นสิทธิของผมที่จะมาที่นี่” นายเหมี่ยว จงสดับกลาง จากจังหวัดยโสธรกล่าว “จะไปกลัวทำไม?

ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง ผู้ช่วยคณบดีจากวิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคามและร่วมเป็นพิธีกรประจำงาน เชื่อว่างานเทศกาลสิทธิมนุษยชนครั้งนี้สร้างคุณประโยชน์มหาศาล

“ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงมาหลายทศวรรษแล้ว ทุกครั้งที่เราคุยเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในประเทศไทย เรามักจะคุยกันเฉพาะสิทธิทางการเมืองและการเลือกตั้ง” เขากล่าว

HRF-Article-Draft-1-villa

ไม่กลัวกฎอัยการศึก: ชาวบ้านหลายคนต่างขบขันต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งพื้นหลังคือภาพการเซนเซอร์วิดีโอที่นำมาเปิดให้ชม ไม่กลัวกฎอัยการศึก: ชาวบ้านหลายคนต่างขบขันต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งพื้นหลังคือภาพการเซนเซอร์วิดีโอที่นำมาเปิด

“แต่จะไม่พูดถึงสิทธิในชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น สิทธิการมีหลักประกันความมั่นคงทางอาหาร หรือ สิทธิในการมีที่อยู่อาศัย สิทธิเหล่านี้ถูกละเลย เพียงเพราะมันเกิดขึ้นกับคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น การละเมิดสิทธิเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศไทยควรได้รับความสนใจจากสังคมโลก”

 

นายกฤษกร ศิลารักษ์ หนึ่งในนักกิจกรรมจังหวัดอุบลราชธานี รู้สึกภูมิใจและผลที่จะเกิดขึ้นจากการจัดงานในครั้งนี้

“ชาวบ้านต่างมีความมั่นใจและแน่วแน่มากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การเคลื่อนไหวใหญ่ของภาคประชาชนเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิมนุษยชนของเรา เป็นก้าวแรกที่สำคัญสำหรับอนาคตที่สดใส”

ในช่วงท้ายของงานฯ ตัวแทนจากผู้เข้าร่วมงานเกือบทั้งหมดได้เสนอสิทธิต่างๆที่พวกเขาเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ สิทธิทั้งหมดถูกรวบรวมเป็น “แถลงการณ์วันสิทธิมนุษยชนอิสาน 10 ธันวาคม 2557” ที่ว่า “ชาวไทยทุกคนมีสิทธิที่จะ…

– บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

– มีส่วนร่วมในทางการเมืองและการเลือกตั้ง

– มีเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา

– สามารถแสดงความคับข้องใจต่อรัฐบาล

– ได้รับการใส่ใจอย่างจริงจังโดยรัฐ ต่อความคิดเห็นของพวกเขาโดยที่รัฐต้องแก้ไขความเดือดร้อนและปัญหาต่างๆเหล่านั้นอย่างเป็นรูปธรรม

– สามารถเข้าถึงการศึกษา

– มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

– มีกฎหมายที่รับประกันสิทธิและคุ้มครองประชาชน

– ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม

– เข้าถึงบริการสาธารณสุขและสวัสดิการต่างๆ

– มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สื่อต่างๆ

– สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เที่ยงตรงจากรัฐ”

เขียนโดย น.ส. อเล็กซานเดรีย ลี จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ น.ส. แคเธอรีน แดริน จากมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย และน.ส. รีเบคกา กอนชารอฟฟ์

ภาพโดย นายแอรอน เฮดคิสท์ จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน, น.ส. เอมมา ทราน จากมหาวิทยาลัยตูเลน และนายเจรามี สตาร์น

image_pdfimage_print