คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช). ได้ประกาศที่จะยุติความขัดแย้งประเด็นสิทธิในที่ดินทำกินระหว่างชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติกับรัฐไทย ถึงแม้ว่าหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง พลเอกประยุทธ์ จันโอชา จะร้องขอ “ความร่วมมืออย่างจริงใจและโปร่งใสของทุกฝ่าย”  ในการแก้ปัญหา แต่ยุทธวิธีที่ทางคสช.ได้นำมาใช้จัดการกับชุมชนที่อาศัยอยู่กับป่านั้นไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ส่วนมีร่วมแต่อย่างใด

ในวันที่ 17 มิถุนายน 2557 คสช. ออกคำสั่งที่ 64/2557  ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิบัตการหยุดการบุกรุกป่าไม้ โดยการไล่รื้อผู้บุกรุกที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และต่อมาในเดือนสิงหาคม ทางคสช. ก็ได้ประกาศใช้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการสืบเนื่องมาจากคำสั่งที่ 64/2557  โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในประเทศให้ได้ 40% ภายในสิบปี

วาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทฯ คือ การกล่าวอ้างว่า “นายทุน” เป็นผู้ตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและเป็นผู้ทำลายป่าไม้ในประเทศ  ซึ่งรัฐจะต้องหยุดยั้งนายทุนเหล่านี้  จากนั้นทางคสช. ได้ออกคำสั่งที่ 66/2557 ที่ระบุว่าการกระทำใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้และผู้ไร้ที่ดินทำกินซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งมีผลบังคับใช้  คำสั่งเพิ่มเติมดังกล่าวทำให้ คสช. ดูเหมือนมีความจริงใจและปรารถนาที่จะจัดการกับนายทุน

แต่ตามที่ทางคสช.ได้นำเอาแผนแม่บทฯ มาประกาศใช้ ชาวบ้านคนยากไร้ที่อาศัยอยู่กับป่ามาหลายทศวรรษกลับถูกทหารและเจ้าหน้าที่รัฐระบุว่าเป็น “นายทุน” ทำให้ชาวบ้านสูญเสียสิทธิที่จะได้รับการปกป้องตามคำสั่งที่ 66  และทาง คสช.ยังได้กล่าวหาชาวบ้านในบางพื้นที่โดยปราศจากหลักฐานใดๆ ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับวงจรการผลิตลงทุนโดยนายทุนผู้มั่งคั่ง

ชุมชนและหมู่บ้านหลายแห่งในภาคอีสานได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวโดยตรง ซึ่งคสช.ได้ดำเนินการจับกุมชาวบ้าน 17 คน ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าและได้ทำการยึดพื้นที่ทำกินคืนจากชาวบ้านจำนวน 70 ครัวเรือนในอำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ และเช่นเดียวกันในอำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ทหารและเจ้าหน้าที่รับได้ดำเนินคดีข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนกับชาวบ้าน 37 คนและทำการตัดต้นยางพาราชาวบ้านทิ้งมากกว่า 383 ไร่ ถ้าหากว่าศาลตัดสินว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุกจริง พวกเขาจะต้องถูกจำคุกมากถึงสองปี

ในอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ชาวบ้านบ่อแก้วและชุมชนโคกยาวกำลังเผชิญกับการไล่รื้อออกจากพื้นที่และที่ทำกินเดิมของตนเองหลังจากที่ทหารได้เข้ามาติดป้ายประกาศให้ย้ายออกจากพื้นที่โดยด่วน และที่ชุมชนบ้านเก้าบาตร อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุริรัมย์ ชาวบ้านมากกว่า 1,000 คนถูกไล่รื้อออกจากบ้านและที่ทำกินเดิมของตนเอง

ในเดือนพฤศจิกายน คสช. รายงานว่าได้ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกพื้นที่ป่าจำนวน 501 คนและได้เข้ายึดคืนพื้นที่จำนวน 343,750 ไร่ ทั่วประเทศ ปัจจุบันทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่าได้รับร้องเรียนการละเมิดสิทธิในที่ดินทำกินเพียง 32 ราย แต่เชื่อว่ามีชาวบ้านและชุมชนที่ได้รับผลกระทบมากกว่านั้น

สงครามทวงคืนพื้นที่ป่าของทางคสช.ได้สร้างผลกระทบอันโหดร้ายและไม่มีประโยชน์อันใด แทนที่จะแก้ปัญหาระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นธรรม แต่กลับเลือกที่จะไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความขัดแย้งที่ดินทำกิน การประกาศใช้กฎอัยการศึกทำให้ชาวบ้านไม่สามารถแสดงออกหรือคัดค้านภายใต้การเคลื่อนไหวภาคประชาชนในทุกระดับทางสังคม ชาวบ้านทำได้เพียงแต่รอคอยถึงวันที่พวกเขาจะสามารถแสดงออกและเรียกร้องสิทธิของตนเอง เพื่อที่พวกเขาจะสามารถมีโอกาสได้ทำกินและกลับไปอยู่บนผืนดินของตนเองอีกครั้ง…

จัดทำโดย นายพอล ซัลลิวาน และ นายไวล์เดอร์ นิโคลสัน

ข้อมูลเพิ่มเติม

ติดต่อ:   กลุ่มศึกษาปัญหาที่ดินภาคอีสาน (กป.อพช.) ภาคอีสาน

686/5 ซอยวุฒาราม ถนนหน้าเมือง อ. เมือง จ. ขอนแก่น 40000

โทรศัพท์ /แฟกซ์ 043-228992 /322267

image_pdfimage_print