7 เดือนที่แล้ว ผู้ต้องหา 26 คนถูกจับกุมและถูกฟ้องร้องคดีก่อการร้ายและก่อกบฏ ซึ่งเป็นข้อหาที่อาจนำไปสู่การตัดสินโทษประหารชีวิต คดีดังกล่าว ซึ่งเรียกกันว่า“ขอนแก่นโมเดล”เป็นคดีที่ตกเป็นเป้าสายตาของสาธารณะชนเนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีของศาลทหารนับตั้งแต่การยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เคท โควี่แฮสเคล และ เพลีย ชาง ได้ติดตามคดีในจังหวัดขอนแก่น เพื่อศึกษากระบวนการตัดสินคดีของศาลทหารและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวผู้ต้องหา (เนื่องจากความหวาดกลัวว่าจะมีผลกระทบกับสมาชิกครอบครัวผู้ต้องหา ทางผู้ให้สัมภาษณ์จึงไม่ต้องการให้ใช้ชื่อจริงหรือภาพถ่ายใดๆ)

เวลาล่วงเลยมาจนคล้อยบ่ายแล้ว แต่ “นก” (นามสมมติ) ยังคงอยู่ในชุดนอน เธอยืนอยู่หน้าตู้เย็นที่เปิดทิ้งไว้ จ้องมองอาหารที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด นกตกงานมาหลายเดือนแล้วและเสบียงอาหารที่กักตุนไว้ก็เริ่มร่อยหรอ นกหยิบไข่ออกมาสองฟองและเดินเข้าไปในครัวที่รกรุงรัง “ฉันออกไปไหนไม่ได้ รายได้ก็เลยไม่มี” นกพูดขณะตอกไข่ใส่ในกระทะ “ทหารตามตลอด ไม่ว่าจะออกจากบ้านไปไหน”
เมื่อเดือนที่แล้ว นก ในวัย 40 ปี ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำกลางขอนแก่น เนื่องจากปัญหาทางสุขภาพ นกถูกจำคุกเป็นเวลา 5 เดือน พร้อมกับผู้ต้องหาอีก 25 คนข้อหาวางแผนก่อการร้าย “ขอนแก่นโมเดล” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นแผนการของกลุ่มเสื้อแดงที่จะโค่นล้มรัฐบาลทหารซึ่งเข้ามายึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม ผู้ต้องหาถูกจับกุมภายหลังการทำรัฐประหารเพียงหนึ่งวันและถูกคุมขังตั้วแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2557

แม้ว่านกจะถูกปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำแล้ว แต่เธอก็ยังไม่สามารถกลับไปทำหน้าที่กำลังสำคัญในการหาเลี้ยงสามาชิกครอบครัวทั้ง 7 คน แต่นกกลับใช้เวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมาคุมขังตนเองอยู่ในบ้านเพราะไม่ต้องการให้ทหารสามารถมีข้ออ้างในการตั้งข้อกล่าวหาว่าเธอกำลังรวบรวมคนหรือกำลังเข้าการประชุม เธอจึงตัดขาดการติดต่อใดๆจากเพื่อนฝูงและไม่เดินเตร็ดเตร่ออกจากบ้านเกินสองสามร้อยเมตร นกกลัวแม้กระทั้งจะออกไปหางานทำ เธอกลัวว่าการติดต่อสัมพันธ์กับคนนอกเหนือไปจากคนในครอบครัวเดียวกันจะทำให้เธอถูกจับอีก สถานภาพทางการเงินของครอบครัวนกเลวร้ายลงตั้งแต่เธอถูกจับกุม และดูเหมือนว่าจะยิ่งเลวร้ายลงต่อไปอีกถึงแม้ว่าเธอจะได้รับการปล่อยตัวออกจากคุกมาแล้วก็ตาม

“ครอบครัวลำบากมากตอนนี้” พ่อของนกกล่าว ผู้ซึ่งนับวันก็แทบจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เพราะโรคกล้ามเนื้อลีบฝ่อกำลังกัดกินร่างกายของเขา ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ชายผู้นี้ได้แต่นั่งเหม่อมองออกมาจากห้องนอน สถานที่ซึ่งได้กลายเป็นโลกทั้งใบของเขา “สุขภาพร่างกายแย่ลงทุกวัน หาเลี้ยงครอบครัวก็ไม่ได้ ตอนนี้ก็มีปัญหาเรื่องเงินเยอะ ค่าใช้จ่ายของเด็กๆสามคน ค่าไปโรงเรียน รวมทั้งค่ากินอยู่ต่าง”

นกไม่รู้ว่าตนเองนั้นจะหางานทำได้เมื่อไหร่ ด้วยตระหนักรู้ว่าทหารสามารถตีความได้ต่างๆนานาๆจากอะไรก็ตามแต่ที่เธอทำ เพื่อเป็นเหตุผลในการส่งตัวเธอกลับเข้าไปในเรือนจำอีก ตอนนี้นกก็แทบไม่ต่างไปจากคนเป็นอัมพาต

“เราไม่มีรายได้ ต้องคิดก่อนทุกอย่างไม่ว่าจะทำอะไร ตอนนี้ไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไรมันกระทบครอบครัวได้ ไม่อยากทำให้สถานการณ์แย่ไปกว่านี้”

นับตั้งแต่การจับกุมในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลเผด็จการทหารก็ได้จับตาเฝ้าดูเลห่าผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดลและครอบครัวของพวกเขา ผู้ต้องหาทั้ง 26 คนถูกดำเนินคดี 9 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันสะสมอาวุธและวางแผนการก่อการร้าย

คำสั่ง คสช. ที่ 37 ระบุว่าการกระทำใดๆที่ส่งผลต่อ “ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” จักอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ซึ่งประกาศใช้หลังจากมีการจับกุมผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดล ทนายความคนหนึ่งผู้ซึ่งคุ้นเคยกับคดีดังกล่าวเรียกการตระเตรียมการเช่นนี้ว่า “ผิดแปลก” และ “ไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ควร” กระนั้นก็ตาม คดีขอนแก่นโมเดล ก็ถูกดำเนินการในศาลทหาร

26 พฤศจิกายน 2557— ผู้ต้องหาเดินทางมาศาลทหารที่ค่ายศรีพัชรินทร์ ขอนแก่น

26 พฤศจิกายน 2557— ผู้ต้องหาเดินทางมาศาลทหารที่ค่ายศรีพัชรินทร์ ขอนแก่น

องค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรได้ออกมาต่อต้านการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การพิจารณาคดีของศาลทหารนั้นไม่มีกระบวนการอุทธรณ์ฎีกา ผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดลไม่ได้รับอนุญาตให้ประกัน ยกเว้นผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้ต้องหาทั้ง 26 คนอาจถูกถูกตัดสินประหารชีวิต

ทนายฝ่ายจำเลยพยายามขอย้ายการพิจารณาคดีไปที่ศาลพลเรือนเนื่องจากการพิจารณาคดีโดยศาลทหารนั้นเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี พ.ศ. 2557 ซึ่งระบุอย่างคลุมเคลือว่ารัฐบาลจำเป็นที่จะต้องปกป้องสิทธิมนุษยชน

นายไวล์เดอร์ เทย์เลอร์ เลขาธิการของทางคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าวว่า “ภายใต้มาตรฐานสากลนั้น พลเรือนต้องไม่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร โดยเฉพาะในเหตุการณ์ ดังเช่นที่ทหารได้เข้ายึดอำนาจในประเทศไทย ศาลทหารขาดความเป็นอิสระทางสถาบันจากฝ่ายบริหาร ตามกฎหมายสากลที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม

กระบวนการการพิจารณาคดีขอนแก่นโมเดลทำให้ผู้ต้องหาและทนายความตกอยู่ในความหวาดกลัว เนื่องจากตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีการเปลี่ยนคณะผู้พิพากษาไปแล้วถึงสองครั้ง ผู้พิพากษาสองในสามคนเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและไม่มีข้อมูลประวัติการพิจารณาคดีมาก่อน ประกอบกับความไม่ชัดเจนในการนัดวันพิจารณาคดีซึ่งที่มีการแจ้งเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายนิรนามคนหนึ่งซึ่งคอยติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับคดีดังกล่าว กล่าวว่าตัวเขานั้นรู้สึกเคลือบแคลงกับความไม่โปร่งใสของกระบวนการศาล “ผมไม่รู้ว่าศาลทำงานโดยยึดหลักการอะไร จะรอให้สถานการณ์ทางการเมืองดีขึ้นก่อน หรือรอการสั่งการจากผู้ที่มีอำนาจมากกว่าหรือเปล่า? ยิ่งรู้รายละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าครอบครัวของผู้ต้องหาเหล่านี้คงจะไม่ได้รับความยุติธรรม”

เนื่องจากเป็นคดีที่ตกเป็นเป้าสายตาของสาธารณชน โดยเฉพาะข้อหาวางแผนก่อการร้าย ทำให้ผู้ต้องหาและครอบครัวได้กลายเป็นจุดสนใจ รวมทั้งสื่อยังได้วาดภาพว่าครอบครัวของพวกเขาเหล่านี้เป็นกบฎและคนหัวรุนแรง ผลที่เกิดขึ้นคือพวกเขาถูกปฏิเสธจากทางชุมชน

* * *

ดาว (นามสมมติ) ถูกกีดกันจากสังคมหลังจากที่สามีของเธอถูกจับกุม ดาวนั่งอยู่ในบ้านที่ประกอบไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม่กี่ชิ้น ซึ่งสำหรับเธอแล้วบ้านหลังนี้มีแต่ความว่างเปล่าอันโหดร้าย

“ไม่มีใครมาหาเลย เขามองว่าเราเป็นอาชญากร คิดว่าเราจะทำลายประเทศชาติ” ดาวกล่าวทั้งน้ำตา “ฉันเป็นเสื้อแดง แต่ฉันไม่มีอาวุธสงคราม ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอาวุธสงครามหน้าตาเป็นยังไง”

ก่อนที่จะมีการจับกุม ดาวและสามีประกอบอาชีพขายไส้กรอกทอด ด้วยรายได้ประมาณ 1,000 บาทต่อวัน แต่หลังจากที่สามีของเธอถูกจับกุม รายได้ของดาวมีแค่วันละประมาณ 200 บาทเท่านั้น ทุกวันนี้ลูกค้าประจำของเธอก็คือฝูงหมาที่ดาวเอาไส้กรอกเหลือจากการขายให้กินอยู่ทุกค่ำ

“แต่ก่อนเพื่อนบ้านเคยมาซื้อไส้กรอก แต่ตอนนี้กลับไม่อยากมาเข้าใกล้ เคยถามว่าทำไมไม่ซื้อไส้กรอกแล้ว เขาก็บอกแค่ว่าเขาไม่อยากกินแล้ว”

ดาวยังบอกอีกว่าเพื่อนหลายคนได้รับโทรศัพท์เตือนไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเธอ ดาวไม่รู้ว่าโทรศัพท์ดังกล่าวนั้นมาจากใคร

เนื่องจากทนไม่ได้กับสายตาที่ผู้คนเพ่งมอง (หรือแย่ไปกว่านั้นคือบางคนก็เมินเธอไปเลย) ดาวขังตัวเองอยู่แต่ในบ้าน เดียวที่ดาวรู้สึกสบายใจในตอนนี้คือช่วง 15 นาทีที่เธอได้เข้าเยี่ยมสามีในเรือนจำ ดาวไปเยี่ยมสามีของเธอทุกครั้งที่มีค่ารถเพียงพอ เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องใช้เงินโดยไว ดาวต้องอดมื้อกินมื้อ ขายรถมอเตอร์ไซค์ จักรเย็บผ้า หม้อหุงข้าว และทุกอย่างที่ขายได้โดยชั่งกิโลขายที่ร้านรับซื้อของเก่าในราคา 1ใน 5 ของราคาสิ่งของ หลังจากเยี่ยมสามีเสร็จดาวมักจะอยู่ที่เรือนจำต่ออีกหลายชั่วโมง และอยู่ที่นั่นจนกว่าเจ้าหน้าที่จะบอกให้เธอกลับบ้าน

เพียงไม่กี่เดือนหลังการจับกุม ดาวมีเพียงแค่ น้อย (นามสมมติ) ลูกสาววัย 18 ปีที่คอยเป็นทั้งเพื่อนและผู้หารายได้ช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวเพียงคนเดียว น้อยเป็นนักมวยที่ค่อนข้างจะมีชื่อเสียงในจังหวัดขอนแก่นและเคยได้ค่าขึ้นชกครั้งละ 5,000 บาทมาแล้ว แต่พอขาดพ่อไป น้อยกับแม่ต้องขึ้นรถโดยสารเพื่อไปที่สนามมวยทุกอาทิตย์ หลังจากการชกมวยเสร็จสิ้นลงในเวลาที่ค่อนข้างดึก น้อยและแม่ต้องอาศัยนอนบนเสื่อข้างสนามมวยโดยใช้กระเป๋าเป็นหมอนรองศีรษะเนื่องจากไม่มีรถโดยสารกลับบ้าน หลังจากที่ผู้จัดการค่ายมวยรู้ข่าวเรื่องพ่อของน้อยถูกจับกุม ก็จัดให้น้อยขึ้นชกแต่ในระดับต่ำลงกว่าซึ่งได้ค่าขึ้นชกเพียง 300 บาท

น้อยทนไม่ได้กับการถูกกระทำดังกล่าวได้ ประกอบกับการล้อเลียนจากเพื่อนที่โรงเรียน จึงลาออกจากการเรียนชั้นมัธยมศึษาปีที่ 5 น้อยต้องทิ้งแม่ให้อยู่คนเดียวและย้ายไปอยู่อีกภาคหนึ่งในจังหวัดที่ไม่มีใครรู้เรื่องคดีขอนแก่นโมเดล ทุกวันนน้อยชกมวยในวันธรรมดาและเรียน กศน. ในวันเสาร์อาทิตย์ และส่งกลับมาให้แม่เท่าที่ทำได้

* * *

อ้อม (นามสมมติ) อายุ 17 ปี ต้องหยุดเรียนเนื่องจากคดีขอนแก่นโมเดล พ่อของอ้อมเป็นหนึ่งในผู้ต้องหา 26 คนที่ถูกจับกุมในเดือนพฤษภาคม รายได้ของครอบครัวนับวันก็เริ่มจะลดลงไปเรื่อยๆ
ในห้องครัวที่มีเพียงแสงสลัวๆ อ้อมกำลังหั่นผักเพื่อเตรียมประกอบอาหารเย็น หางตาของเธอยังคงจ้องมองกระเป๋านักเรียนที่วางพิงอยู่ข้างฝาซึ่งเต็มไปด้วยหนังสือเรียนที่ยังอ่านไม่จบและการบ้านที่ต้องทำส่ง อ้อมยังไม่ได้มีโอกาสหยิบหนังสือเรียนออกมาอ่านหรือทำงานที่ค้างไว้ตั้งแต่เมื่อสี่วันก่อนหน้านั้น วันที่ได้มีโอกาสไปโรงเรียนครั้งสุดท้าย แต่คืนนี้ อ้อมรู้ว่าจะต้องเร่งทำงานที่คั่งค้างไว้ตั้งแต่เริ่มเปิดเทอมเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ค่าเทอมของอ้อมเริ่มกลายมาเป็นภาระที่หนักหน่วง เงิน 100 บาทที่อ้อมเคยใช้ในการไปโรงเรียนกลับต้องนำมาใช้จ่ายเพื่อสิ่งของที่จำเป็นสำหรับตัวอ้อม น้องชายที่มีอายุเพียง 4 ขวบ และแม่ของอ้อมเอง เมื่อไม่นานมานี้ ใหม่ (นามสมมติ) แม่ของอ้อม รู้ถึงความจำเป็นที่จะต้องหารายได้เข้าครอบครัวจึงได้ขอร้องให้อ้อมออกจากโรงเรียนเพื่อมาหางานทำ

ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นประเด็นที่หนักใจในการพูดคุยระหว่างแม่กับลูก อ้อมยืนยันที่จะเรียนต่ออีกหนึ่งปี
จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ในตอนนี้ ครอบครัวของอ้อมเองก็กำลังตกอยู่ในสภาพที่ระส่ำระส่าย อ้อมจึงสามารถไปเรียนได้เพียงอาทิตย์ละสองถึงสามวันเท่านั้น

“ไม่มีแม่คนไหนอยากให้ลูกตัวเองออกจากโรงเรียนหรอก” ใหม่กล่าวขณะที่ตาก็จ้องมองไปที่ลูกสาวที่กำลังปัดกวาดพื้นห้องครัวอยู่ “แม่อยากให้ลูกเรียนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะได้มีงานดีๆ ทำในอนาคต แต่แม่ก็ไม่รู้จะหาเงินมาจากไหน ถ้าพ่ออยู่พ่อก็คงจะช่วยคิด”

ในช่วงหนึ่งเทอมครึ่งที่ผ่านมา เรื่องเรียนก็เริ่มจะเป็นปัญหาที่หนักขึ้น อ้อมไผ่นหลายวิชา การขาดเรียนเพื่อไปทำงานทำให้อ้อมหมดสิทธิ์สอบในรายวิชาต่างๆมากกว่าครึ่งจากวิชาที่ต้องเรียนทั้งหมด อ้อมต้องแก้เกรดด้วยการทำงานส่งในเทอมต่อไป พร้อมๆ กับการบ้านในวิชาเรียนใหม่ที่จะมีเข้ามาในเทอมหน้า
“ไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม” อ้อมกล่าว “แต่อยากเรียนให้จบจะได้หางานดีๆทำ”

อ้อมอยากเรียนต่อที่คณะวิทยาการจัดการ สาขาการโรงแรม ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยชั้นนำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บุคลิกของอ้อมน่าจะเหมาะกับการเรียนวิชานี้ “อ้อมอยากแต่งตัวสวยๆ” อ้อมกล่าวพลางหัวเราะ

แต่ความฝันของอ้อมก็ดูเหมือนจะเริ่มอยู่ไกลเกินเอื้อม อ้อมต้องช่วยหาเงินจุนเจือครอบครัว อีกทั้งแม่ของอ้อมซึ่งกำลังอยู่ในสภาพอารมณ์ที่เปราะบาง ก็ยิ่งเป็นสาเหตุที่อ้อมต้องเข้ามาแบ่งเบาภาระต่างๆ หลังจากพ่อของอ้อมถูกจับ

ใหม่พยายามคงสีหน้าที่เข้มแข็งไว้และยิ้มให้ลูกทั้งสองคน แต่ความเศร้าที่อยู่ข้างในบางครั้งก็หนักจนแทบที่จะแบกทนต่อไปไม่ได้ “หลังจากที่พ่อถูกจับ แม่ร้องไห้อยู่หลายอาทิตย์” ใหม่กล่าวด้วยเสียงที่แผ่วเบา “แม่ทำอะไรไม่ถูกเลย ไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับชีวิต พอลูกสาวเห็นก็เลยไม่ยอมไปโรงเรียนสองอาทิตย์ อยู่เป็นเพื่อนแม่”

ด้วยความที่ยังเป็นห่วงเรื่องอนาคตอยู่ อ้อมต้องพยายามที่จะอดทนกับสถานการณ์การเงินที่ย่ำแย่และความสะเทือนใจที่เกิดขึ้นกับครอบครัว พร้อมๆกับการทำใจเรื่องการสูญเสียพ่อไป
“คิดถึงพ่อ” อ้อมกล่าว “เวลานึกถึงพ่อก็อยากจะร้องไห้”

7 เดือนหลังจากการจับกุมทำให้เห็นได้ชัดว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของผู้ที่ถูกกุมขังนั้นเป็นบาดแผลลึกมากกว่าเป็นเพียงแค่บาดแผลทางด้านการเงิน เมื่อไม่มีคนที่รักอยู่ใกล้ พวกเขาก็เหมือนตกอยู่ในความโศกเศร้าที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด กระบวนการที่ซับซ้อนของระบบศาลทหารทำให้ความหวังของครอบครัวผู้ถูกคุมขังเหลือเพียงน้อยนิดเท่านั้น

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การจับกุม ครอบครัวของผู้ต้องหาก็แทบจะไม่ได้รับคำตอบในคำถามที่พวกเขามีเลย พวกเขาร้องขอที่จะดูหลักฐานจากข้อกล่าวหาดังกล่าว ขอร้องให้มีการประกันตัว เฝ้าถามถึงวันที่คนที่พวกเขารักจะได้รับการปล่อยตัว หรือแม้แต่กระทั้งวันพิจารณาคดีของทางศาล ผู้ต้องหาต่าตั้งคำถามเหล่านั้นครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “พวกเราทำผิดอะไรถึงถูกลงโทษอย่างรุนแรงเช่นนี้?”

ทนายความที่รับผิดชอบคดีมีความเป็นห่วงเก่ยวกับอนาคตของครอบครัวผู้ที่ถูกกุมขัง “การไม่รู้วันพิจารณาคดีครั้งต่อไปเมื่อไหร่ และการที่ศาลไม่อนุญาตประกันตัวส่งผลกระทบกับทางครอบครัวเป็นอย่างมาก เหมือนตกอยู่ในนรก ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้เจอคนที่พวกเขารักอีก”

* * *

เช่นเดียวกับแม่ของอ้อม สมาชิกครอบครัว “ดำรง” นามสมมติ ต้องจมอยู่กับความโศกเศร้านับตั้งแต่ “สมศักดิ์” นามสมมติ ผู้ที่เป็นทั้งสามี พ่อ และปู่ของครอบครัว

“จอย” นามสมมติ แต่งงานและอยู่กินกับสมศักดิ์มานานถึง 36 ปี การจับกุมสมศักดิ์ส่งผลกระทบต่อสภาพทางจิตใจของจอยเป็นอย่างมาก จอยหยุดยืนนิ่งขณะเดินอยู่บนสนามหน้าบ้านและพูดว่า “เห็นอะไรก็นึกถึงแต่พ่อ” จอยมองออกไปที่แปลงผักหน้าบ้านหลังเล็กๆของจอย ซึ่งตอนนี้มีหญ้าขึ้นอยู่รกรุงรัง “พ่อชอบปลูกผัก” จอยพูดด้วยน้ำเสียงเศร้าสะอื้น “พ่อเป็นคนทำแปลงผัก เป็นคนสร้างบ้านหลังนี้ เป็นคนขุดบ่อปลา มองไปทางไหนก็นึกถึงแต่พ่อ”

การขาดสมศักดิ์ไปได้สร้างความว่างเปล่าที่สมาชิกในครอบครัวของสมศักดิ์ไม่สามารถจะปฏิเสธได้ เพื่อนฝูงที่เคยมารับประทานอาหารเย็นด้วยกัน ทุกคนต่างก็คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตโดยมีสมศักดิ์อยู่ด้วย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับพวกเขาสังเกตได้จากการหยุดชะงักของบทสนทนาที่เคยมีสมศักดิ์คอยหยอดมุขตลกอยู่ตลอด แต่ตอนนี้มีเพียงแต่ความเงียบ

“เหมือนว่าครอบครัวไม่มีความสุข” จอยกล่าว “แม่ไม่มีกำลังแล้ว ตอนนี้คิดแต่ว่าจะช่วยพ่อยังไง”
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ครอบครัวได้พยายามทุกวิธีทางที่จะประกันตัวสมศักดิ์ออกมา พวกเขาพยายามหาเงินประกัน เดินเอกสาร แต่ทางทหารก็ปฏิเสธการประกันตัว นับเป็นเวลา 7 เดือนผ่านมาแล้ว สมศักดิ์ยังคงอยู่ในเรือนจำทั้งๆ ที่ภรรยาของสมศักดิ์ยังไม่รู้แม้กระทั้งเหตุผลของการถูกจับกุม
“ถ้าเรารู้ว่าพ่อทำผิดก็คงจะไม่รู้สึกแบบนี้ เพราะอย่างน้อยก็รู้ถึงเหตุผลว่าทำไมพ่อถึงโดยจับ แต่คิดยังไงก็คิดไม่ออกว่าพ่อทำผิดอะไร”

เหตุผลของสมศักดิ์เหมือนกันกับจำเลยคนอื่นๆ ซึ่งต่างก็อ้างว่าตนบริสุทธิ์จากข้อกล่าวหาทั้งหมด แม้แต่ทางทนายซึ่งบอกว่าหลักฐานที่ทหารจับกุมนั้นไม่มีน้ำหนัก แต่คดีก็ยังคงดำเนินต่อไป
สิ่งเดียวที่จอยมั่นใจคือสามีของจอยน่าจะได้รับการปล่อยตัวนานแล้ว “เราแค่ต้องการให้พ่อกลับมาอยู่กับเรา ถ้าความยุติธรรมมีจริงพ่อคงจะได้กลับบ้านแล้ว”

ญาติของผู้ต้องหาร่ำไห้ขณะรอเจอผู้ต้องหาหน้าศาลทหาร

ญาติของผู้ต้องหาร่ำไห้ขณะรอเจอผู้ต้องหาหน้าศาลทหาร

แต่ความยุติธรรม ดูเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่ครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีขอนแก่นโมเดลจะได้รับในเร็ววันนี้ การพิจารณาคดีครั้งที่ 3 ในวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การตัดสินของศาลก็ยังคงไม่มีความชัดเจนอยู่เช่นเคย มีการยกเลิกวันนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปและไม่แจ้งวันและเวลาใหม่ ทีมทนายได้ร้องขอให้ย้ายการพิจารณาคดีไปที่ศาลอาญาพลเรือนแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ

ในขณะเดียวกัน ครอบครัวเหล่านี้ต้องต่อสู้กับความไม่แน่นอนซึ่งกำลังกัดกร่อนชีวิตของพวกเขา ต้องเผชิญกับคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบ และอำนาจทหารที่ไม่มีจำกัดที่เริ่มเข้ามาแทรกซึมในชีวิตของพวกเขาเหล่านี้

* * *

ความมืดกำลังคลืบคลานเข้ามา นกขับรถมอเตอร์ไซค์ออกไปซื้อผักใกล้บ้าน ในขณะที่รถมอเตอร์ไซค์กำลังจะลับตาไป น้องชายของนกลุกขึ้นเดินออกไปนอกบ้านและยืนอยู่บนถนนที่มีฝุ่นคลุ้งตลบ เขาจ้องมองตามยังไฟรถมอเตอร์ไซค์ไป เขายืนรออยู่ที่นั่นในความมืดด้วยใบหน้าที่เป็นกังวล มีแต่เพียงแสงไฟรถที่ผ่านไปมาเป็นระยะเท่านั้นที่สาดส่อง เขารออยู่ประมาณ 15 นาทีจนพี่สาวกลับมา

“น้องคิดว่านกอาจจะไม่ได้กลับมาบ้านอีก” นกอธิบาย “ทุกครั้งที่น้องชายกลับบ้าน ก็จะมาหานก น้องดีใจทุกครั้งที่รู้ว่านกยังไม่ได้ไปไหน”

นกวางถุงผักไว้บนโต๊ะและแขวนถุงใส่สิ่งอื่นๆบนผนังบ้าน บ้านที่ ณ ตอนนี้กลายเป็นเสมือนห้องขังสำหรับนกเอง

เคท โควี่-แฮสเคล กำลังศึกษาสาขามนุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ และ เพลีย ชาง กำลังศึกษาสาขาการพัฒนามนุษย์และครอบครัวศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดดิสัน ทั้งสองคนเป็นนักข่าวนักศึกษาที่โครงการศึกษาต่างประเทศ โครงการซีไออีอี-ขอนแก่น

image_pdfimage_print