เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักศึกษาภาควิชาดนตรีและการแสดงพื้นเมือง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม. 112) จากบทบาทการเล่นละคร “เจ้าสาวหมาป่า”  นายปติวัฒน์เป็นนักศึกษาคนล่าสุดที่ถูกคุมขังภายใต้กฎหมายมาตรานี้ และตัวเขาเองนั้นยังเป็นนักรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิต่างๆ ของคนอีสานมาหลายปี

เมื่อวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลอาญาตัดสินจำคุกนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และนางสาวพรทิพย์ มั่นคง นักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นเวลา 5 ปี ข้อหาร่วมแสดงละครที่เชื่อว่า “สร้างความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” เนื่องจากผู้ต้องหารับสารภาพ ศาลจึงลดโทษลงให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน

นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปีกลาย ตัวเลขจำนวนนักโทษคดีหมิ่นฯ อาจสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ดำเนินงานโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานในกรุงเทพฯ   ทั้งนี้ นายปติวัฒน์นับว่าเป็นนักศึกษาคนแรกที่ถูกศาลตัดสินจำคุกในข้อหานี้ในรอบ 30 ปี

นายปติวัฒน์ถูกจับกุมในเดือนสิงหาคม 2557 ข้อหาร่วมแสดงละคร “เจ้าสาวหมาป่า” ที่จัดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดือนตุลาคม 2556 เนื้อหาและสถานที่ในละครเป็นเรื่องราวสมมติขึ้น และนายปติวัฒน์ได้รับบทเป็นพราหมณ์ที่ปรึกษาของกษัตริย์ ละครเรื่องนี้จัดแสดงเนื่องในโอกาสรำลึก 40 ปี เหตุการณ์การชุมนุมของนักศึกษาในเดือนตุลาคม 2516

นายปติวัฒน์ หรือ “แบงค์” อายุ 23 ปี เป็นนักศึกษาในคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อนฝูงและครูอาจารย์ต่างเรียกเขาว่าเป็นนักรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตย นักแสดงที่มีพรสวรรค์และคนที่มีไหวพริบชาญฉลาดไม่เหมือนใคร

บ้านเกิดของแบงค์อยู่ที่จังหวัดสกลนคร เขาเติบโตในหมู่บ้านที่ไม่ไกลจากเทือกเขาภูพาน พื้นที่ครั้งหนึ่งในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 2508 เคยเป็นฐานที่มั่นกลางของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (คปท.)  ลุงของเขาเมื่อยังหนุ่มก็ได้เข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ และสิ่งที่ทำให้แบงค์เริ่มสนใจเกี่ยวกับสวัสดิการทางสังคมก็คือมุมมองทางการเมืองของคนในครอบครัวและหมู่บ้านของเขานั่นเอง

“ครอบครัวและคนที่หมู่บ้านก็มีเล่าให้ฟัง เรื่องการเคลื่อนไหวของคนอีสาน และการต่อสู้ ก็ได้เรียนมาจากแบบนี้” แบงค์ให้สัมภาษณ์กับอีสานเรคคอร์ด่ในเดือนพฤษภาคม 2557

ในปีพ.ศ. 2553 แบงค์ย้ายมาอยู่ขอนแก่นเพื่อศึกษาต่อในสาขาดนตรีและการแสดงพื้นเมือง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การตัดสินใจของเขาขัดใจที่บ้าน แต่แบงค์ไม่ต้องการอะไรมากกว่าการแสดงหมอลำ ศิลปะการแสดงพื้นบ้านดั้งเดิมของลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือประเทศไทย

ในช่วงวันหยุดเทศกาล แบงค์เลือกอยู่มหาวิทยาลัยแทนที่จะกลับบ้านเหมือนกับนักศึกษาคนอื่นๆ  ผู้คนในหมู่บ้านต่างหัวเราเยาะกับความอยากเป็นนักแสดงหมอลำของเขา เพราะเชื่อว่ามันจะพายากจนและเลี้ยงชีพไม่ได้

Bank_purple-constumeSmall

แบงค์โพสต์ท่าถ่ายรูปในชุดแสดงหมอลำ เขาไม่ได้ใส่ชุดนี้เฉพาะในการแสดงเท่านั้น แต่บางทียังเดินใส่ทั่วมหาวิทยาลัยด้วย

“เขามุ่งมั่นและมีพรสวรรค์มาก”  แม่ครูหมอลำของแบงค์กล่าว  เธอไม่ขอเปิดเผยชื่อ “ตั้งแต่วันแรกที่เจอกัน แม่ก็รู้สึกว่าบรรพบุรุษของแบงค์น่าจะเป็นหมอลำมาก่อน” เธอเล่าพลางเปิดเพลงหมอลำที่แบงค์ขับร้อง

แบงค์เป็นที่รู้จักในมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างรวดเร็ว เขาเป็นทั้งดาราเด่นและตัวตลกประจำห้องเรียน แบงค์ทุ่มเทแรงกายและใจเพื่อพัฒนาทักษะการแสดงบนเวทีและการเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานหลายชนิดให้เชี่ยวชาญ  เช่น แคน หรือเครื่องเป่าที่นิยมใช้เล่นประกอบการแสดงหมอลำที่ตัวเขาสามารถเล่นได้อย่างชำนาญ ครูหมอลำยังได้เล่าเสริมอีกว่า พรสวรรค์ที่แท้จริงของแบงค์คือ การร้องและแต่งกลอนลำ เนื้อหาที่เขาแต่งนั้นเหมือนกับกลอนลำส่วนใหญ่ มักเกี่ยวข้องกับความรักที่ทั้งสมหวังและไม่สมหวัง แต่แบงค์ได้เลือกเอาประเด็นทางการเมืองมาใส่ในกลอนลำ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิของคนอีสาน ทุกบทกลอนที่แบงค์แต่งขึ้นต่างแฝงด้วยอารมณ์ขันปนเหน็บแนม

บนเวทีแบงค์เรียกตัวเองตามหนวดเคราบนใบหน้าว่า “บักหนวดเงินล้าน” แต่อาชีพที่เขาเลือกนั้น ดูจะสวนทางกับฉายานามดังกล่าว

แม้ว่าคนอีสานจะเผชิญกับการเหยียดหยามต่างๆ นานา แต่แบงค์ก็ภูมิใจในรากเหง้าคนอีสานของตนเอง ขณะที่เพื่อนวัยเดียวกันต่างคลั่งไคล้ยีนส์แฟชั่นสมัยใหม่ แบงค์กลับเลือกที่จะสวมเสื้อผ้าพื้นเมืองอีสานแทนเครื่องแบบนักศึกษาตามระเบียบบังคับ เขาเรียกร้องให้เครื่องแบบนักศึกษาแบบใหม่ควรทำมาจากผ้าพื้นเมืองอีสาน

Bank_portraitSmall

แบงค์และผ้าขะม้า ผ้าสารพัดประโยชน์สำหรับผู้ชาย เขาเห็นปู่ใช้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

ความลำบากที่เกิดขึ้นกับคนอีสานผลักดันให้แบงค์กลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม “ตามประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่าอำนาจส่วนกลางได้กดขี่และและตักตวงผลประโยชน์จากอีสานมาโดยตลอด” แบงค์พูดตอบด้วยสำเนียงอีสานชัดเจน

เหตุการณ์การปราบปรามผู้ประท้วงเสื้อแดงในกรุงเทพฯ เดือน พ.ค. 2553 ทำให้แบงค์มุ่งมั่นเต็มที่ที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรมในสังคม

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ในครั้งนั้น มีผลต่อเขามากจริงๆ เขาทนไม่ได้ที่เห็นคนจำนวนมากถูกฆ่าตายเพียงเพราะพวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตย” เพื่อนนักเคลื่อนไหวทางสังคมคนหนึ่งกล่าว ผู้ประท้วงที่ถูกฆ่าหลายคนมาจากภาคอีสาน นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แบงค์เริ่มเข้าร่วมกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวระดับประเทศ เขาเริ่มไม่เข้าเรียน แต่กลับเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อร่วมแสดงหมอลำตามเวทีประท้วงของคนเสื้อแดง

แต่นี่ไม่ได้ทำให้เขาหายไปจากการทำงานร่วมกับกลุ่มกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี 2553 แบงค์ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการทั่วไปของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเขายังเป็นสมาชิกสภานักศึกษาในปี 2554 และสมาชิกคณะกรรมการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อปี 2556

เดือนกันยายน 2553 แบงค์ได้รับคัดเลือกเพื่อรับรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงการณ์ พระราชทานรางวัลด้วยพระองค์เอง

แบงค์พร้อมที่จะอุทิศเวลาว่างที่เขามีให้กับ “ซุ้มเกี่ยวดาว” กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งในจำนวนไม่กี่กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซุ้มเกี่ยวดาวทำงานร่วมกับนักพัฒนาเอกชนหัวก้าวหน้าภาคอีสาน และประสานการทำงานร่วมกันของนักศึกษาจากหลากหลายสถาบันเพื่อผลักดันประเด็นทางสังคมและการเมือง แบงค์เห็นว่าการที่กิจกรรมเหล่านี้ไม่มีสอนอยู่ในหลักสูตรการศึกษามหาวิทยาลัยนั้นถือเป็นความอัปยศอดสูและน่าอับอาย

Bank_anticoupprotestSmall

แบงค์ร่วมประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหารหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น เดือน พ.ค. 2557 ภาพถ่ายโดย ซาร่า สตีลห์

“นักศึกษาก็ไม่ต้องคิดอะไร พวกเขาถูกครอบสมองไว้หมดแล้ว คือขอโทษนะครับ นักศึกษาก็แค่กิน ขี้ ปี้ นอน” แบงค์กล่าวพร้อมกับเปล่งเสียงหัวเราะ เขาพูดเสริมว่า มหาวิทยาลัยควรสอนให้นักศึกษาสามารถคิดเป็นและวิเคราะห์โดยไม่ถูกครอบงำ เมื่อเรียนจบออกมาก็จะสามารถช่วยเหลือและสร้างสังคมที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย สำหรับแบงค์แล้ว นักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศถูกชักนำโดยระบบการศึกษาที่ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ อันขัดกับเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมในปัจจุบัน

ช่วงต้นปี 2554 หลังการจับกุมนายอำพล ตั้งนพคุณ หรือ “อากง” ข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กรณีดังกล่าวก่อให้เกิดการพิพาทในสังคมอย่างแพร่หลาย กลุ่มซุ้มเกี่ยวดาวเองก็ได้จัดการรณรงค์ต่อต้านกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และกฎหมายอันเดียวกันนี้เองที่ทำให้แบงค์ต้องติดคุก

เพื่อนของแบงค์เล่าว่า แบงค์เองนั้นรู้และเข้าใจว่าการร่วมแสดงละครดังกล่าวอาจทำให้ตัวเองต้องเดือดร้อน แต่เขาไม่ได้คิดว่าการแสดงจะถูกตีความว่าเป็นการหมิ่นซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

Bank_WolfBrideSmall

แบงค์ขณะแสดงเป็นที่ปรึกษาในละครเวที “เจ้าสาวหมาป่า” ปี พ.ศ. 2556 การแสดงของเขาถูกตีความว่าหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เขาถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน

เพียงไม่กี่เดือนก่อนการจับกุม แบงค์แสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนการจับกุมตามข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำลังเพิ่มขึ้น “ผมกลัวพวกล่าแม่มด ก็มีปัญหานี้ล่ะ องค์กรเก็บขยะจะมาเก็บเอา”  แบงค์กล่าวถึงองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน กลุ่มคลั่งเจ้าในกรุงเทพฯ “คิดต่าง คือ มีความผิด เพียงแค่ตั้งถามก็มีความผิด”

ในช่วงสายวันที่ 23 กุมภาพันธ์ แบงค์ยืนฟังผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินคดีที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก หลังจากศาลตัดสินจำคุกแบงค์และน.ส. พรทิพย์ กลุ่มเพื่อนนักเคลื่อนไหวที่มารอฟังผลอยู่ด้านนอกศาลต่างร่วมร้องเพลงเพื่อส่งกำลังใจให้กับทั้งสองคน

“แม้นผืนฟ้ามืดดับ เดือนลับมลาย ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน” พวกเขาร้องเพลงขณะที่รถตู้สีเงินนำผู้ต้องขังทั้งสองคนกลับไปเรือนจำเพื่อรับโทษตามคำตัดสิน

image_pdfimage_print