เดอะอีสานเรคคอร์ดรายงานต่อเนื่องเกี่ยวกับปฏิกิริยาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังการถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งกระตุ้นให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของกระบวนการ และการถอดถอนดังกล่าวทำลายความหวังของหลายคนที่จะได้ประชาธิปไตยกลับคืน

เมื่อไม่นานมานี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ในข้อหาทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี นางสาวยิ่งลักษณ์ยังต้องรับโทษทางอาญาข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  โดยสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นฟ้องตามกระบวนการสืบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. )

มีความเป็นไปได้ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะถูกพิจารณาคดีอาญาโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่นเดียวกับที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นพี่ชาย ที่ถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกันนี้เมื่อปี 2551 และได้หนีการพิจารณาคดีเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ

“กรณีนี้เป็นเรื่องยากที่จะต่อสู้ เพราะว่าศาลจะใช้สำนวนคดีของ ปปช. เป็นพื้นฐานในการดำเนินคดีตามข้อกล่าวหา ซึ่งพบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตตามข้อกล่าวหา” นายวัน สุวรรณพงษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับเดอะอีสานเรคคอร์ด “ในกรณีนี้ ถ้านางสาวยิ่งลักษณ์ถูกตัดสินว่ามีความผิด ก็จะไม่สามารถอุทธรณ์ได้”

โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดถึงสองเท่า และกักตุนไว้เพื่อดึงราคาข้าวในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้นแล้วจึงจะขายเพื่อสร้างกำไร ในขณะนั้นไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวใหญ่ที่สุดในโลก แต่ประเทศอื่น ๆ ต่างก็เพิ่มอัตราการส่งออกข้าวเช่นกัน นั่นทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดต่ำลงอย่างมาก เป็นสาเหตุให้ไทยขาดทุนทางการเงินประมาณ  6 แสนล้านบาท และมีข้าวคงเหลือค้างในโกดังประมาณ 18 ล้านตัน

ในบางกรณีพบว่ามีการลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านและขายให้กับรัฐบาลในราคารับประกัน

ทั้งนี้ มีหลายคนเชื่อว่านโยบายดังกล่าวไม่มีความผิดทางอาญา ดร. วิบูลย์ แช่มชื่น อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย จากจังหวัดกาฬสินธุ์ ระบุว่า นโยบายนี้รัฐบาลทราบอยู่แล้วว่าจะก่อให้เกิดการขาดทุนทางการเงิน ทุกรัฐบาลที่ดำรงตำแหน่งต่างเผชิญกับความท้าทายเพื่อหาแนวทางกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เลือกใช้โครงการรับจำนำข้าวเป็นกลไกกระจายรายได้เพื่อช่วยเหลือชาวนา และเป็นการฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

“โดยตรรกะทางการเมืองแล้ว นโยบายประชานิยม คนก็ชอบสิ ได้เงิน แล้วคนชอบมันเสียหายยังไง ประชานิยมมันเสียหายหรือ ถ้าเป็นรัฐบาล คนไม่นิยม จะเป็นรัฐบาลทำไม ข้อกล่าวหาว่าประชานิยม ก็เป็นข้อกล่าวหาเลื่อนลอย ทำให้คนรักคนชอบมันเสียหายหรือ” ดร. วิบูลย์ ยังตั้งคำถามถึงความถูกต้องตามกฎหมายในการกำจัดนางสาวยิ่งลักษณ์พ้นจากอำนาจ เขาเห็นแย้งว่าการถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรีไม่มีมูลเหตุอันจะอ้างตามกฎหมายได้ แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ก็ไม่ได้ครอบคลุมกลไกการถอดถอน หรือระบุซึ่งการพิจารณาคดีดังกล่าวแต่อย่างใด

“เพราะประเทศนี้ปกครองโดยระบบรัฐสภาซึ่งการถอดถอน ที่เขาใช้ในระบบประธานาธิบดี มันไม่มีในระบบรัฐสภา เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องมั่วของประเทศไทย ไม่รู้จะอ้างหลักปกครองแบบใด อ้างหลักกฎหมายก็ไม่ได้ ที่ฝรั่งเรียกว่า การถอดถอน (impeachment) เนี่ย ประเทศไทยเอามาใช้ตรงนี้ จึงผิดฝาผิดตัว”

นายวสันต์ ชูชัย กรรมการและเลขานุการสภาทนายความจังหวัดขอนแก่น ไม่เห็นด้วยและแย้งว่า ตามกฎหมายแล้ว สนช. มีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่กระนั้นก็ตาม นายวสันต์ยอมรับว่าการตัดสินของ สนช. ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการพิสูจน์ตัดสินการกระทำผิดกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งต้องตัดสินโดยศาลเท่านั้น

“การถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ เพื่อกันให้เขาพ้นจากบทบาททางการเมือง และป้องกันไม่ให้กลับเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีก อันเป็นกลไกที่จำเป็นในระบบการปกครองของเรา” นายวสันต์กล่าวว่า

นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ ประธานเครือข่ายประชาชนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น จังหวัดขอนแก่น ระบุว่า ความชอบธรรมด้วยกฎหมายในการยื่นญัตติถอดถอนตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎหมายรัฐธรรมนูญ กลุ่มเครือข่ายของเขาเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาล นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งกระตุ้นให้มีการล้มล้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อปีกลาย

นายตุลย์กล่าวว่า “การถอดถอนบังคับให้นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดทางการเมืองที่รัฐบาลได้กระทำ ให้กับรัฐสภาและประชาชนได้เห็น”

หลังการถอดถอน รัฐบาลทหารอ้างกฎอัยการศึกห้ามไม่ให้นางสาวยิ่งลักษณ์แถลงข่าว  แต่ในหน้าเฟสบุคส่วนตัวของเธอ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ประชาธิปไตยได้ตายไปแล้ว พร้อมกับหลักนิติธรรม”

นายวสันต์กล่าวว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าว “ไม่เคารพระบบกฎหมายในประเทศของเรา นางสาวยิ่งลักษณ์ไม่เคยยอมรับผิด และไม่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดใดๆ อันเกิดขึ้นจากการกระทำของเธอ ได้แต่ปกป้องตนเอง และโทษว่าเป็นความล้มเหลวระบบเสียมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม ข้อความที่นางสาวยิ่งลักษณ์โพสท์นั้น มีหลายคนเห็นด้วย สะท้อนให้เห็นถึงอนาคตอันมืดมัวของประชาธิปไตยและความสมานฉันท์อันแท้จริงในประเทศ

“ในหลายกรณี เราคิดว่าประชาธิปไตยในไทยกำลังจะตาย แต่เราก็ยังคงมีความหวังซ่อนอยู่ลึกๆ ตอนนี้ หลังจากการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ เราเห็นแล้วว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยได้ตายไปแล้วแน่นอน” นายสุทิน คลังแสง สมาชิกและผู้สมัคร สส. ระบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคเพื่อไทย จังหวัดมหาสารคาม กล่าว  เขาเสริมอีกว่า พรรคเพื่อไทยนั้นได้หมดความเชื่อมั่นในกระบวนการปรองดองรัฐบาลทหารแล้ว

นายวัน สุวรรณพงษ์ สะท้อนความรู้สึกยอมรับสภาพเช่นนี้ออกมา เขาแทบไม่มีหวังว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นจะกลับคืนมา ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เขากล่าวสรุปว่า “จะเพาะชำต้นกล้าประชาธิปไตยที่ไหนไม่ได้แล้วล่ะ ในประเทศไทยในเวลานี้ เพราะว่ามันเปรียบเสมือนภูเขาไฟระเบิด ลาวามันไหลอออกมาทั่วแผ่นดินแล้ว มีแต่ความร้อน จะไปเพาะชำต้นกล้า มันก็คงทำไม่ได้”

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา การถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คณะผู้ยึดอำนาจได้เรียกตัวแกนนำหลักพรรคเพื่อไทยและเสื้อแดง ให้เข้ารายงานตัวอีกรอบ หลังจากที่พวกเขาได้แสดงออกซึ่งการคัดค้านการตัดสินใจของ สนช. แต่การที่รัฐบาลจะระงับเสียงวิจารณ์จากต่างประเทศนั้นมีความยุ่งยากมากกว่า

ระหว่างการมาเยือนประเทศไทย นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐฯ กล่าวถึงประเด็นการกำจัดนางสาวยิ่งลักษณ์และข้อหาทางอาญาว่า น่าจะมี “แรงจูงใจทางการเมือง” เขาเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการควบคุมเสรีภาพของประชาชนตั้งแต่ทหารเข้ายึดอำนาจ

ในทางตรงกันข้าม นายตุลย์ เห็นแย้งว่า กฎอัยการศึกและการควบคุมเสรีภาพการแสดงออกยังคงมีความจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าสังคมจะมีความสงบสุข แม้ว่าประชาคมระหว่างประเทศอาจจะเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ของ “ความล้าหลัง” ของระบอบประชาธิปไตยไทยก็ตาม

“เสรีภาพที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ นั่นมันหมายความว่า ทุกคนสามารถใช้สิทธิของตนเองได้ แต่ถ้าการที่คนใช้สิทธิไปกระตุ้นให้เกิดการความขัดแย้ง แบ่งพรรคแบ่งพวก และมีการละเมิดกฎหมาย อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่า เสรีภาพ” นายตุลย์อธิบาย

ทั้งนี้ รัฐบาลทหารแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ความคิดเห็นของนายรัสเซล โดยได้เรียกตัวอุปทูตสหรัฐ รักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำการสถานทูตกรุงเทพฯ ให้เข้าพบเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อกรณีดังกล่าว  นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าสหรัฐฯ ไม่เข้าใจการเมืองไทย

ทั้งนี้ สำหรับ ดร. วิบูลย์ แล้ว ปัญหาหลักไม่ใช่เรื่องนั้น “ตอนนี้รัฐบาลอ้างว่าสหรัฐฯ ไม่เข้าใจประเทศไทย แต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยไม่เข้าใจประชาธิปไตยมากกว่า”

image_pdfimage_print