“ร่าง” รัฐธรรมนูญ “ร้าง” สนับสนุนจากประชาชน
ขอนแก่น – เมื่อปลายเดือนมกราคม 2558 ประชาชนราว 250 คน จาก 6 จังหวัดทั่วภาคอีสาน ได้เข้าร่วมกระบวนการในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไทย ฉบับที่ 20 ณ ห้องประชุมโรงแรมเพชรรัชต์ การ์เด้น จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งรัฐบาลทหารอ้างว่าเป็นกระบวนการสรรหาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่การจัดเวทีประชาเสวนาเพื่อรับฟังเสียงของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศนั้น ในภาคอีสานดูเหมือนจะเป็นแค่กิจกรรมผักชีโรยหน้า
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีกลาย รัฐบาลแต่งตั้งสมาชิกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คน นำโดย ศาสตราจารย์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นักวิชาการด้านกฎหมายจากสถาบันพระปกเกล้า เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีเวลา 4 เดือน ในการจัดร่างรัฐธรรมนูญก่อนนำเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาอนุมัติ และพล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา กล่าวว่ากระบวนการจัดร่างรัฐธรรมนูญเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ในประเทศที่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถมีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว จึงแทบไม่มีใครแปลกใจเมื่อรัฐบาลประกาศจะฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ 2550 และจะเริ่มร่างฉบับใหม่ แต่การให้คำมั่นว่าจะเปิดรับฟังเสียงของประชาชนชาวไทยดูเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากลสำหรับระบอบการปกครองที่ปิดกันการคัดค้านและยุติซึ่งกระบวนการประชาธิปไตยใดๆ

สัญลักษณ์ “เวทีประชาเสวนา หาทางออกประเทศไทย”
คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้จัดเวทีประชาเสวนาเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภายใต้หัวข้อ เวทีประชาเสวนาหาทางออก “สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย” ลักษณะกิจกรรมจัดขึ้นภายในระยะเวลา 2 วัน ซึ่งคณะผู้จัดได้เดินสายจัดเวทีใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนในภาคอีสานนั้น จัดขึ้นทั้งหมด 3 เวที ใน 3 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด อุดรธานี และสุรินทร์
แถลงการณ์ของรัฐบาลในตอนต้นนั้นระบุว่า จะสุ่มเลือกประชาชนจากระบบฐานข้อมูลทะเบียนกลาง แต่จำนวนประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดขอนแก่นตอบรับเข้าร่วมเวทีประชาเสวนาที่จัดขึ้นในจังหวัดร้อยเอ็ดมีน้อยกว่า 10 คน และผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์เข้าร่วมโดยคณะผู้จัดกิจกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รู้จักกันหรืออยู่ในแวดวงเดียวกัน นายสมพงษ์ ประทุมทอง ประธานสภาประชาชนจังหวัดขอนแก่นและเป็นหนึ่งในผู้จัดเวทีประชาเสวนา บอกว่า ประชาชนมีความสนใจต่อกิจกรรมดังกล่าวค่อนข้างน้อย
ระหว่างการเสวนาในจังหวัดร้อยเอ็ด ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการเจรจาไกล่เกลี่ย สถาบันพระปกเกล้า แนะให้ผู้เข้าร่วมเวทีประชาเสวนาเคารพความคิดเห็นของกันและกัน และกล่าวเตือนว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้เข้าร่วมงานในวันดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้ จากนั้นจึงมีการแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นการประชาเสวนาหาทางออก 8 กลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มมีผู้ดำเนินการอภิปรายและผู้ทำหน้าที่จดบันทึก
ระหว่างการเสวนาของกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่ง ผู้ดำเนินการอภิปรายเริ่มการเสวนาโดยถามผู้เข้าร่วมถึงวิสัยทัศน์ที่มีต่อประเทศไทยหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นทั้งห้องประชุมย่อยก็ตกอยู่ในความเงียบ จนกระทั่งผู้เข้าร่วมคนหนึ่งยกมือขึ้นและกล่าวว่า “ผมไม่ต้องการให้มีรัฐประหารอีก” ผู้ดำเนินการอภิปรายรีบตอบกลับไปว่าประเด็นดังกล่าวจะต้องพูดคุยโดยตรงกับคณะผู้จัดงานเป็นการส่วนตัว
กลุ่มประชาสังคมในอีสานหลายกลุ่มต่างกำลังถกเถียงถึงประโยชน์ของการเข้าร่วมเวทีประชาเสวนา บางกลุ่ม เช่น นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ เลขาธิการ กป. พอช. อีสาน กล่าวว่ารัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยทหารและกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีความชอบธรรม
“พวกเขาพูดถึงการปฏิรูป แต่มันไม่มีความหมายอะไร กระบวนปฏิรูปไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อประชาชน แต่เพื่อกลุ่มปกครองที่มีอำนาจ ที่กำลังพยายามจัดแจงความสัมพันธ์และจัดการปัญหาที่พวกเขามี” นายสุวิทย์ กล่าว โดยอ้างถึงปัญหาที่มีมานานระหว่างกลุ่มอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมและกลุ่มฝ่ายสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
ในหมู่กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ พวกเขาเชื่อว่า การสานเสวนาแบบเปิดเกี่ยวกับเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการยกเลิกกฎอัยการศึกและอนุญาตให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออก ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เปิดรับก็จะไม่มีประโยชน์
“หัวใจหลักของประชาธิปไตยคือการรับฟังเสียงของประชาชน เราไม่ได้เข้าร่วมเวทีประชาเสวนาเพราะเราไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอีสานได้” นายจักรพงษ์ ธนวรพงศ์ นักเคลื่อนไหวทางสังคมด้านการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในอีสาน กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
แต่นายพิพัฒนชัย พิมพ์หิน แกนนำประชาสังคมในอำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น กลับเชื่อว่ากระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชั้นนั้นจะไม่เปล่าประโยชน์ และเขาเลือกที่จะเข้าร่วมเวทีประชาเสวนา “เราไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร แต่การปฏิรูปเป็นหนทางเดียวของเราและประชาชนที่จะสามารถแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ” ทั้งนี้ นายพิพัฒนชัย ยอมรับว่ามีโอกาสน้อยมากที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะพิจารณาข้อเสนอแนะของภาคประชาสังคม
ในแต่ละเวทีประชาเสวนา จะมีการสรุปรายละเอียดข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมเพื่อพิจารณาประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ผู้เข้าร่วมเวทีประชาเสวนาในขอนแก่นบางคนแสดงความวิตกกังวลว่า รัฐบาลนั้นได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วและคงไม่สนใจข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน
นายสุพจน์ ทองเนื้อขาว ประธานรุ่นเสวนาหาทางออกประเทศไทย รุ่นปฏิรูปอีสาน กล่าวว่าตัวเขานั้นไม่เชื่อว่าข้อเสนอแนะจะถูกนำไปใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญ “ในความคิดผมแล้ว กระบวนการทั้งหมดเป็นแค่การสร้างภาพ มันเหมือนว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรมนูญและสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้นมีร่างที่จัดทำเสร็จแล้ว การเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็เหมือนกับการโยนหินถามทาง ถ้าข้อเสนอแนะของเราตรงกับสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าถ้าไม่ตรง เขาก็ไม่สนใจ”
ขณะที่มีการจัดตั้งเวทีประชาเสวนาต่อสาธารณธะ ซึ่งคณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง แต่ ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลับเชื่อว่าวัตถุประสงค์หลักของเวทีประชาเสวนานั้นไม่ใช่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแท้จริง “วัตถุประสงค์คือเพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมตามกฏหมายในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ” ดร.ฐิติพล อธิบาย “รัฐบาลจึงจะสามารถแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาจากความต้องการของประชาชน”
บรรดานักสังเกตการณ์ทางการเมืองสังเกตว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วยสมาชิกฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ตามที่ได้มีการรายงานข่าว สมาชิกคณะกรรมาธิการฯ บางคนเคยเข้าร่วมหรือสนับสนุนการประท้วงรัฐบาลเมื่อปีกลาย ประเด็นนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลถึงความไม่เป็นกลางในการร่างรัฐธรรมนูญ
ดร.ฐิติพล โต้แย้งว่าสมาชิกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เป็นตัวแทนคนไทยรุ่นเก่า ตัวเขาเองนั้นได้พยายามให้นักศึกษาของตนเองมีส่วนร่วมโดยผ่านการประชุมสัมมนาที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัย แต่นักศึกษาหลายคนเชื่อว่าสำหรับรัฐบาลแล้ว เสียงของพวกเขาไม่มีค่าหรือความหมายใดๆ อีกทั้งพวกเขายังหวาดกลัวว่าหากแสดงความคิดเห็นเชิงไม่เห็นด้วย จะก่อให้เกิดปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐ
“มีคนวัยระหว่างหกสิบและเจ็ดสิบปีกำลังเขียนรัฐธรรมนูญไทยฉบับใหม่ แต่กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใดๆ นั้นควรรวมเอาการมีส่วนร่วมของเยาวชนเข้าด้วย เพราะว่าท้ายที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เราอยู่ในยุคศตวรรษที่ 21 และเราไม่อยากเห็นประเทศไทยก้าวถอยหลัง หรือล้าหลัง ใช่หรือไม่?”