สองสัปดาห์ที่แล้ว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างพ.ร.บ. อนุมัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น และอีก 3 สถาบันออกนอกระบบ การผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบครั้งนี้สร้างความวิตกกังวลในหมู่นักศึกษานักกิจกรรมและคณะอาาจารย์ ซึ่งได้ย้ำเตือนถึงปัญหาค่าเล่าเรียนที่อาจเพิ่มขึ้น การปิดกั้นโอกาสด้านการศึกษาของนักศึกษาที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย และการเพิ่มอำนาจในการจัดการมากเกินไปแก่คนเพียงกลุ่มเดียว
ขณะที่ประเทศไทยยังคงตกอยู่ภายใต้การควบคุมโดยกองทัพ หลายคนตั้งคำถาม ถึงความเหมาะสมของกรอบเวลาในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานะจากองค์กรสาธารณะไปสู่องค์กรจัดการตนเอง

เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา นักศึกษานักกิจกรรมได้กางป้ายประท้วงจากดาดาฟ้าศูนย์อาหาร และบริการ ใจกลาง มข. เพื่อเสียดสีและต่อต้านแผนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ (ขอบคุณภาพจาก เจเรมี เจฟเฟอร์สัน)
นอกจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) แล้ว มีการผ่านพ.ร.บ. กฎหมายเดียวกันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้แก่ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และราชภัฎสวนดุสิต
แผนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ กลายเป็นประเด็นการประท้วงของนักศึกษาในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว นักศึกษาธรรมศาสตร์ได้ยื่นข้อเรียกร้องพร้อมกับรายชื่อนักศึกษา 2,702 คน เสนอต่อสนช. โดยเรียกร้องให้กระบวนการการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมีความโปร่งใส และนักศึกษาต้องมีส่วนร่วม
เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา นักศึกษานักกิจกรรม มข. ปีนขึ้นไปบนดาดฟ้าอาคารศูนย์อาหารและบริการ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางมหาวิทยาลัย นักศึกษาคนดังกล่าวได้ติดป้ายข้อความ “บริษัท ม.ขอนแก่น จำกัด มหาอธิ(เผด็จ)การ“ เพื่อแสดงการต่อต้านการผลักดันของรัฐที่จะเปลี่ยนมหาวิทยาลัยรัฐให้เป็นเพียงสถาบันภายใต้กำกับของรัฐ
การปรับเปลี่ยนระบบมหาวิทยาลัยของรัฐให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ เริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 2530 จากการกดดันของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ให้มีการแปรรูปหน่วยงานบริการสาธารณะ สืบเนื่องมาจากผลกระทบวิกฤติทางการเงินของเอเชียในปี 2540
หลังจากนั้นเป็นต้นมา สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศทั้งหมด 185 แห่ง มีมหาวิทยาลัย 15 แห่ง ถูกแปรรูปเป็นสถาบันการศึกษาในกำกับของรัฐ ซึ่งเกือบทุกมหาลัยที่ออกนอกระบบมักมีนักศึกษาประท้วงอยู่เสมอ
เมื่อกลายเป็นสถาบันในกำกับของรัฐ สถาบันนั้นๆ จะพ้นจากระบบราชการ สถาบันดังกว่าสร้างระบบจัดการและโครงสร้างทางการเงินของตนเองขึ้นมา อำนาจการตัดสินใจในการบริหารและการใช้จ่ายเงินต่างๆ รวมถึงนโยบายด้านบุคลากรและหลักสูตรจะขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยทั้งหมด
จากข้อมูลเอกสารร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เดอะอีสานเรคคอร์ดได้มา สภามหาวิทยาลัยจะประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 30 คน ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่มาจากการโปรดเกล้าแต่งตั้ง และจะอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี ภายหลังครบวาระสภาสามารถสรรหากรรมการใหม่ได้
คณะกรรมการส่วนใหญ่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง อธิการบดี และฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย ตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากคณะต่างๆ 5 คน ตัวแทนที่ได้รับเลือกโดยเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย 1 คน ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการอย่างน้อย 1 คน
สภามหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการใดๆ ด้านการบริหารและการเงินโดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง อย่างเช่นที่เคยต้องทำเมื่อเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ
ผู้ที่สนับสนุนระบบนี้ ย้ำว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จะเพิ่มความยืดหยุ่นและความมีอิสระจากหน่วยงานรัฐ แต่ฝ่ายส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้กลับเตือนว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะทำให้ความน่าเชื่อถือในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยลดลง
กลุ่มดาวดิน กลุ่มนักศึกษานักกิจกรรมกลุ่มหลักที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิจารณ์ว่ากระบวนการการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ขาดการมีส่วนร่วมของนักศึกษา พวกเขาวิตกกังวลว่าหลังการออกนอกระบบ สภามหาวิทยาลัยจะเข้ามาใช้อำนาจในกิจการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบ
“ถ้าจำเป็นจริงๆ ที่มหาวิทยาลัย (ขอนแก่น) ต้องออกนอกระบบ เราในฐานะนักศึกษาก็ต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ” พายุ บุญโสภณ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มดาวดิน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
ตามข้อมูลของกลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยเคยเปิดจัดวงเสวนาสาธารณะเกี่ยวกับกระบวนการดังกล่าวเพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากแวดวงนักศึกษาเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วเพียงหนึ่งครั้ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้อ้างถึงผลประชามติครั้งนั้นครั้งเดียวเพื่อใช้เป็นหลักฐานการมีส่วนร่วมของนักศึกษาในกระบวนการออกนอกระบบอยู่ตลอดเวลา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตรแสดงความวิตกกังวลในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เขากล่าวผ่านการสัมภาษณ์ทางอีเมลล์กับเดอะ อีสาน เรคคอร์ดว่า ความพยายามที่จะทำให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจจัดการตนเองมาพร้อมกับการรวมอำนาจมาอยู่ส่วนกลางส่วนเดียวมากขึ้น
“สำหรับมหาวิทยาลัยในกำกับ จะมีการควบคุมศาสตราจารย์ และคณาะอาจารย์ รวมถึงบุคลากรและนักศึกษา ที่เข้มงวดมากขึ้น ” ดร.ยุกติ กล่าว “อธิการบดีและคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะมีอำนาจมากขึ้น และผู้แทนจากคณะต่างๆ จะมีส่วนร่วมในการจัดการน้อยลงไปอีก”
ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐในด้านงบประมาณตามจำนวนนักศึกษาอย่างเต็มที่เช่นเดิม แต่จะได้รับการจัดสรรเม็ดเงินจำนวนหนึ่งจากงบประมาณประจำปีของรัฐ ด้วยเหตุผลนี้ มหาวิทยาลัยในกำกับจะถูกบีบให้หารายได้จากแหล่งอื่น เช่น การเพิ่มค่าเล่าเรียน หรือรายได้จากโครงการ “พิเศษ” อื่นๆ
ความวิตกกังวลดังกล่าวถูกยกขึ้นผ่านประเด็นต่างๆ เช่น การทำให้งานบริการทางการศึกษาเป็นธุรกิจการศึกษา ความเท่าเทียมด้านการศึกษา และการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย
ในปี พ.ศ.2555 เว็บไซต์ ไทยพับลิก้า พบว่า ค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยบูรพาเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากการออกนอกระบบในปี พ.ศ.2551 คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์เพิ่มค่าเล่าเรียนประจำภาคการเรียนปกติจากไม่ถึง 10,000 บาท เป็น 14,000 บาท ซึ่งค่าเทอมดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างน้อยประมาณ 40%
“รัฐมีหน้าที่ให้บริการด้านการศึกษากับประชาชน โดยต้องไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เมื่อรัฐถูกครอบงำโดยกลุ่มทุน การศึกษาก็เลยกลายเป็นธุรกิจ” นายเดชา เปรมฤดีเลิศ นักเคลื่อนไหวด้านการศึกษาในขอนแก่นผู้ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านการศึกษามานานกล่าว “ผลกระทบหนึ่ง คือ คนจนจะเข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้น้อยลง และช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน จะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น”
ดร. อลงกรณ์ อรรคแสง รองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าว อธิบายว่า ในฐานะที่เป็นภูมิภาคที่ยากจนที่ในประเทศ ภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัยรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นไม่เหมือนกับภาคอื่นๆ มหาวิทยาลัยในอีสานอำนวยการศึกษาให้กับนักศึกษาจำนวนมาก ที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ซึ่งต่างจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ
“มหาวิทยาลัยขอนแก่นต้องตัดสินใจว่า ต้องการสร้างกำไรหารายได้ หรือสนับสนุนสังคม ด้วยการให้บริการด้านการศึกษา” ดร. อลงกรณ์กล่าว
นักศึกษาอาจไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่ได้รับผลกระทบจากการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย แม้ว่าพนักงานของมหาวิทยาลัยและคณะอาจารณ์จะได้รับเงินเดือนที่มากขึ้น แต่พวกเขาอาจได้รับผลประโยชน์ด้านอื่นๆ น้อยลง เมื่อไม่ได้ถูกจ้างในฐานะข้าราชการพลเรือนอีกต่อไป
“ในมหาวิทยาลัยของรัฐ พนักงานเกือบทั้งหมด คือข้าราชการพลเรือน ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านสาธารณสุข และสิทธิประโยชน์เมื่อเกษียรอายุราชการ โดยตามสาระเนื้อหาแล้ว ผมคิดว่าการออกนอกระบบ คือกระบวนการลดค่าใช้จ่ายและงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมของพนักงาน รวมถึงอาจารย์และศาสตราจารย์ทุกคน” ดร. ยุกติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบไม่ได้รับการต่อต้านมากนัก ถ้ามีการดำเนินการที่ถูกต้อง การเป็นอิสระจากรัฐราชการอาจหมายถึงระบบการบริหารมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และอาจหมายถึงคุณภาพด้านการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น ดร. สถาพร เริงธรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว
“มีปัญหาเดียวคือ จนถึงตอนนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นจะช่วยแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์ในมหาวิทยาลัยจริงๆ ได้อย่างไร ซ้ำยังขาดซึ่งกระบวนการความน่าเชื่อถือ ทำให้ผมไม่ค่อยหวังกับกระบวนการทั้งหมดนี้เท่าใดนัก” ดร.สถาพร กล่าว
หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 มหาวิทยาลัยจำนวน 7 แห่ง ออกนอกระบบอย่างฉุกละหุก รวมถึงสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะมีการประท้วงของนักศึกษาในตอนนั้น และมีเพียงมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ถอนตัวออกจากการออกนอกระบบเพื่อตอบสนองความต้องการของฝ่ายคัดค้านกระบวนการดังกล่าว
แต่ตอนนี้ ดูเหมือนว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ใช้โอกาสนี้เปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากสาธารณะ
เพื่อให้การดำเนินการนี้ปราศจากการประท้วงจากนักศึกษาและคณะต่างๆ ดร.ยุกติ กล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องการใช้ประโยชน์จากอำนาจของรัฐบาลทหารที่กำลังบริหารประเทศอยู่”
สืบเนื่องจากการรัฐประหารโดยทหารเมื่อปีที่แล้ว นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งได้รับการแต่งตั้งเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสภาตรายางของเผด็จการทหาร
นายพายุ นักศึกษานักกิจกรรม กล่าวว่า “อธิการบดีของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ดร. กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย) อาสาเป็นสมาชิกของ สนช. เพียงเพื่อที่จะสามารถเสนอกฎหมายมหาวิทยาลัยนอกระบบ และสามารถลงเสียงผ่านกฎหมาย พ.ร.บ. ออกนอกนระบบได้นั่นเอง”