อุบลราชธานี- วันที่ 10 สิงหาคม งานหนังสือและการเรียนรู้ห้างสรรพสินค้าซิตี้มอล์ล(สุนีย์) ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือหนัง “มวลดอกไม้ในยุคมืด” รวมเรื่องสั้นลำดับที่ 6 ในโครงการประกวดชายคาเรื่องสั้น พร้อมกับเปิดตัว หนังสือรวมเรื่องสั้น “ตะวันออกเฉียงเหนือ” ของ ธีร์ อันมัย (ธีรพล อันมัย อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

11

โครงการชายคาเรื่องสั้นเกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มนักเขียนอิสระในภาคอีสานเพื่อจัดทำหนังสือรวมเรื่องสั้นแบบต่อเนื่องโดยให้นักเขียนจากทั่วประเทศส่งเรื่องสั้นเข้ามาทำการคัดเลือก โดยมี มาโนช พรหมสิงห์ นักเขียนรางวัล “รพีพร”เป็นบรรณาธิการ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางอิสานเรคคอร์ดได้เคยมีโอกาสสัมภาษณ์ คุณมาโนช พรหมสิงห์ ถึงความคิดริเริ่มในการทำโครงการ “ชายคาเรื่องสั้น” เผยแพร่ในเว็บไซต์อิสานเรคคอร์ด 

โดยคุณมาโนช ได้ขึ้นเวทีพูดคุยแรก เปลี่ยนถึงขั้นตอนการคัดสรรค์เรื่องสั้นและบรรยายถึงความน่าสนใจในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องที่ได้รับคัดเลือกลงในหนังสือเล่มนี้  พร้อมอ่านคำแถลงการณ์วันปลูก  ดอกไม้ในหมู่มืด

 

“ชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 6 ซึ่งใช้ชื่อปกว่า “มวลดอกไม้ในยุคมืด” นี้ คณะเขียนก็ยังยึดมั่นอยู่กับพันธกิจของวรรณกรรม ที่จะต้องผูกพัน​ รับผิดชอบ​ ​ส่องสะท้อนยุคสมัยของบ้านเมืองอย่างเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลาย และสังคมบ้านเมืองของเราก็ย่อมยึดโยงอยู่กับโลกทั้งโลกใบนี้อย่างหลีกไม่พ้นมาต่อเนื่องยาวนาน นับจากมนุษย์สมัยใหม่Homo sapiens   ปรากฏตัวครั้งแรกในแอฟริกาเมื่อ 150,000 ปีก่อน เป็นยุคหินเก่า กระทั่งปฏิวัติชุมชนสู่ความเป็นเมือง แถบลุ่มน้ำทางตะวันออกกลาง​ ดินแดนพระจันทร์เสี้ยวอันสมบูรณ์​ ​(Fertile Crescent)   จึงก่อเกิดอารยธรรม ซึ่งตรงกับคำว่า civilization เมื่อ 4-5,000 ปีก่อน โลกได้ก้าววิวัฒน์ไปข้างหน้า ผ่านยุคหิน ยุคสำริด ยุคเรืองปัญญา ยุคคลาสสิก ยุคหลังสงครามโลก ยุคสงครามเย็น ยุคโลกาภิวัฒน์ ยุคข้อมูลข่าวสาร และ/หรืออื่นๆ ตามมุมมองของนักประวัติศาสตร์หลากหลายสำนัก ทว่าแต่ละยุคสมัยนั้น ล้วนมีชื่อ​ เนื้อหาของการขับเคลื่อนสว่างไสวไปข้างหน้า แม้จะมีบางยุคที่บ่งชี้ถึงความเสื่อมถอย แต่ก็ยังไม่เสื่อมถอยจนถึงที่สุดเท่ากับ​ “ยุคมืด”(Dark Age) อันหมายถึง ความมืดบอดทุกฆาน ประสาท  มืดดับทั้งภูมิปัญญาและหัวใจ ยุคนี้จึงเกิดการล่มสลายของอารยธรรมและความดีงามทั้งมวลในโลกในสังคม

จริงอยู่ว่า-อารยธรรมเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 4-5,000 ปีก่อน แต่อีกราว 1,000 ปีต่อมาก็เกิดยุคมืดครั้งแรกของโลก นั่นคือการล่มสลายของนครรัฐต่างๆ แถบจักรวรรดิเมโสโปเตเมียและอาณาจักรเก่าของอียิปต์ แหละอีก 500 ปีต่อมา ก็เกิดยุคมืดในยุโรปตะวันออก เกิดการล่มสลายของอารยธรรมเกาะครีต รวมถึงแถบลุ่มน้ำสินธุ

ยุคมืดจึงมีสภาพดั่งนักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า… เมื่อผู้ปกครองยึดเอาความก้าวหน้าและวิทยาการต่างๆ เข้าไว้เพื่อบำรุงบำเรอตน เกิดการผูกขาดความรู้​ ความดีงามไว้เฉพาะบุคคลกลุ่มเดียว ทั้งยังนำเรื่องเหนือธรรมชาติมาเสริมพลังอำนาจของตน ไม่สืบค้นหาความรู้ใหม่ๆ ไม่ตั้งคำถามใหม่ๆ ให้เท่าทันพลวัตรการขับเคลื่อนของผู้คนภายนอกส่วนใหญ่ จึงทำให้สังคมอ่อนล้าถอยหลัง หวนคืนสู่สภาวะความป่าเถื่อน ย้อนกลับไปสู่สภาพไร้หนังสือ ไร้ตัวอักษร ไร้วิทยาการ แหละจะมีก็เพียงเหล่าชนชั้นล่าง พ่อค้า ชาวนา ชาวไร่ ช่างไม้ ช่างหิน ช่างทอ ช่างโลหะที่ค่อยๆ สะสม/พัฒนาความรู้ความสามารถของพวกเขาไปอย่างอิสระ ไม่ถูกควบคุมผูกขาด ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งข้ามสู่คนอีกรุ่น ข้ามเกาะแก่งแผ่นดินแผ่นน้ำไปไกล กำเนิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่กลุ่มผู้ปกครองทำไม่ได้ อย่างคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ กลศาสตร์ เครื่องผ่อนแรงซับซ้อนก้าวหน้ามากมาย

21-e1440426344291

แล้วประเทศไทยล่ะ แล้วแผ่นดินอีสานล่ะ เคยมียุคมืดเกิดขึ้นหรือไม่…

แรกเมื่อเริ่มมีแผนที่เกิดขึ้นกำหนดขอบเขตสัณฐานดินแดนต่างๆ นั้น แผ่นดินอีสานของเราตรงนี้ถูกขีดเส้นกำหนดไว้ในชื่อ​ เมืองเขมรป่าดง เปลี่ยนผ่านสู่ยุคสร้างบ้านแปงเมืองของเจ้าคำผง ยุคประเทศราช ยุคมณฑลอีสานมณฑลลาวกาว ยุคกบฏผีบ้าผีบุญ ยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ยุคสงครามเวียดนาม ยุคห้างสรรพสินค้า โรงเรียนกวดวิชาและ 7-eleven ยุคสังคมก้มหน้าและเซลฟี่…

วันย่อมมีมืดสว่าง สังคมบ้านเมืองก็ย่อมมีมืดมนและรุ่งเรือง ดังนั้นจึงฝากการบ้านให้ทุกท่านกลับไปขบคิดไตร่ตรองว่า เคยมีสิ่งใดอุบัติขึ้นที่นี่ มีสิ่งใดถูกลบเลือน มีสิ่งใดจงใจปกปิด มีสิ่งใดถูกตัดทอนตัดต่อ ซึ่งทำให้เราไม่รู้จักรากเหง้าที่แท้จริง ซึ่งส่งผลทำให้ไม่รู้ว่าตนเองคือใครกันแน่ เฝ้าแต่อยู่ไปวันๆ เลื่อนลอย ลืมตัว… อย่าให้ใครยึดกุมอดีต เพราะ ‘ผู้กุมอดีต ย่อมกุมอนาคต’

ในภาวการณ์ปัจจุบัน ที่มีรายการคืนความสุขให้เฝ้าดูอยู่หน้าจอทีวี ช่วงหัวค่ำทุกวัน ควรจะนิยามตั้งชื่อว่าอย่างไร… ยุคสว่างไสวหรือมืดมน?และไม่ว่าจะเป็นเช่นไร

ในกาลข้างหน้า คณะเขียนของเราก็ยังจะขับเคลื่อนวารสารชายคาเรื่องสั้นกันอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยในปี 2559 ข้างหน้านี้ จะเริ่มต้นปีด้วยการประกาศชื่อเรื่องสั้นรางวัลชายคาเรื่องสั้นยอดเยี่ยม ตามมาด้วยงานเปิดตัวชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 7 (พร้อมกับจัดมอบรางวัลชายคาเรื่องสั้นยอดเยี่ยม) ณ โรงละคร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2559 และในช่วงงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ จ.อุบลราชธานี ในเดือนสิงหาคม 2559 ณ ซิตี้มอล์ล แห่งนี้ ก็จะเป็นการเปิดตัวชายคาเรื่องสั้น ลำดับที่ 8 ต่อเนื่องกันไปเช่นนี้

ณ บัดนี้ ขอทุกท่านจงมาร่วมชื่นชม กลุ่มดอกไม้เล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่พร้อมใจกันชูช่อผลิบาน ในวันคืนของความมืดมน เบ่งบานด้วยกล้าหาญ และซื่อตรงต่อพันธกิจชีวิตของตน ขอโปรดจงมาร่วมชื่นชม ดูแลและปกป้อง จงหว่านโปรยเมล็ดพันธุ์ไปทั่วแผ่นดิน แล้ววันของความหวังก็จักมาเยือนในอีกไม่นาน… วันแห่งการผลิบานสว่างไสวของมวลดอกไม้ทั่วทั้งแผ่นดินมาตุภูมิแห่งนี้”

ขอค้อมคารวะทุกท่าน
มาโนช พรหมสิงห์
บรรณาธิการ

รายชื่อเรื่องสั้นที่ได้รับคัดสั้นให้ตีพิมพ์ลงใน “มวลดอกไม้ในยุคมืด”มีดังต่อไปนี้

  1. กิจการของบาทหลวงเทวา – จารี จันทราภา/ปทุมธานี
  2. คาถาปราบผี – เชตวัน เตือประโคน/ปทุมธานี
  3. ทางกลับบ้าน – ชาคริต คำพิลานนท์/กระบี่
  4. ทางเลือก – ชาคริต แก้วทันคำ/ตรัง
  5. มรณกรรมของปราสาททรายภายในร่างนักฝัน – เตชภณ แสงวงศ์/อุบลราชธานี
  6. วรรณกรรมหลังร้านนางคณิกา – ปานศักดิ์ นาแสวง/ลพบุรี
  7. ห่าก้อม – จารุพัฒน์ เพชราเวช/อุบลราชธานี
  8. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนหนาว – พิม นิยม/อุบลราชธานี
  9. 2017 – อนันต์ เกษตรสินสมบัติ/ประจวบคีรีขันธ์
  10. I เขียน letter ถึงเธอ dear John – วิกรานต์ ปอแก้ว/กรุงเทพฯ
image_pdfimage_print