โดย แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา
เกือบสำเร็จเต็มทีกับความพยายามของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการเสนอร่างพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ที่คาดว่าผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้วอย่างเงียบๆ
โดยสรุปสาระสำคัญของร่างพรบ. ป่าสงวนแห่งชาติฯ ฉบับดังกล่าวคือ กำหนดให้มีการทำแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติใหม่ มีคณะกรรมการควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติประจำจังหวัดเพื่อดำเนินการสอบสวนและวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับสิทธิหรือการได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อเสนอแนะมาตรการและแนวทางในการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ค่าภาคหลวง และค่าบำรุงป่า ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน
เนื้อหาร่าง พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ และความเห็นของ ครม. มุ่งเน้นชัดเจนในประเด็นสำคัญเรื่องการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาตและยังมอบหมายให้กรมป่าไม้ยกร่างกฎกระทรวงและระเบียบกรมป่าไม้เพื่อจัดทำโครงสร้างของกรมป่าไม้ใหม่ โดยจัดตั้งป่าไม้จังหวัด โดยเฉพาะคำแนะนำจาก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่ให้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างของกรมป่าไม้ในภาพรวมทั้งหมดในคราวเดียว
ร่างพรบ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ ฉบับนี้ผ่านการยอมรับของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน นอกจากกระทรวงการคลังที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการที่กำหนดให้กรมป่าไม้เก็บเงินค่าบำรุงป่า ค่าบริการ ค่าตอบแทน และค่าเสียหายที่ได้รับไว้ใช้จ่าย โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณซึ่งต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตัดร่างดังกล่าวออกตามที่กระทรวงการคลังทักท้วงแล้ว
ทั้งนี้ จังหวะในการยกร่างพรบ. ป่าสงวนแห่งชาติฯ เกิดขึ้นสอดคล้องกับช่วงเวลาที่รัฐบาลประกาศเดินหน้านโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” โดยประกาศแผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ กำหนดเป้าหมายให้มีพื้นที่ป่าอย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ หรือ 128 ล้านไร่ (พื้นที่ป่าไม้ในปัจจุบัน 102.1 ล้านไร่) ภายใน 10 ปี และเปิดฉากยุทธการทวงคืนผืนป่าในจังหวัดพื้นที่วิกฤตรุนแรง 12 จังหวัด พื้นที่วิกฤต 33 จังหวัด และพื้นที่อื่นๆ 31 จังหวัด ตามเป้าหมาย 4 ระดับ คือ AO1-AO4 โดยมอบหมายในปีนี้ให้กรมอุทยานแห่งชาติทวงคืนผืนป่า จำนวน 2 แสนไร่ และกรมป่าไม้อีก 4 แสนไร่ รวม 6 แสนไร่
อย่างไรก็ตาม หากเมื่อนำแผนแม่บทฯ มากางดูให้เห็นชัดๆ เพื่อพิจารณากันอีกครั้ง จะพบเงื่อนงำบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ และทำให้ภาพของการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ประเทศเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ
ข้อสังเกตในประเด็นสำคัญที่แม่บทฯ ระบุไว้ ได้แก่
-
ปรับบทบาทภาระหน้าที่ของ ทสจ. และศูนย์ประสานงานป่าไม้จังหวัด เพื่อตอบสนองการให้บริการด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว การอนุญาตดำเนินการใดๆ ต้องมีขั้นตอนโปร่งใส
-
จัดทำแนวเขตป่าไม้ที่เดิมไม่เคยมีแนวเขตที่ชัดเจน รวมทั้งประกาศพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นช่องว่าง ให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย
-
ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กันพื้นที่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดสรร ตามมติครม. เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2536 และมีสภาพเป็นป่าคืนมาให้กรมป่าไม้เพื่อดำเนินการหรือฟื้นฟู และให้ยุติการออก สปก.4ไว้ก่อน
-
ให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ (Zoning) ในพื้นที่แนวเขตป่าไม้ (ป่าตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พุทธศักราช 2484) ใหม่
-
การจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ (Zoning) กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับการจำแนกการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ในพื้นที่แนวเขตป่าไม้ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ที่จัดทำขึ้นใหม่ และบทบาทกิจกรรมที่อนุญาตให้ทำได้ในพื้นป่าไม้ทุกประเภท เช่น แปลงอนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสวนแห่งชาติ การให้เช่าพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชน เป็นต้น
-
ห้ามมิให้มีการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินของกรมที่ดิน (โฉนดที่ดิน, นส.3, ใบจอง) เพิ่มเติม ในพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าหรือพื้นที่ที่อยู่ในแนวเขตป่าไม้ เนื่องจากเอกสารดังกล่าวที่ออกโดยกรมที่ดินทำให้สถานภาพที่ดินเปลี่ยนจากที่ดินของรัฐเป็นที่ดินของราษฎรอย่างถาวร
-
ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการหรือมีโครงการที่ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจว่า ได้รับการรับรองสิทธิหรือมีสิทธิในที่ดินป่าไม้ (เช่น การออกเลขที่บ้าน การขยายเขตไฟฟ้า การรับชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5))
-
ออกกฎหมายและระเบียบเพื่อดำเนินการเพิกถอนสิทธิในที่ดินที่ออกโดยมิชอบโดยเร็ว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน, ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานป่าไม้ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและเวลาที่กำหนด
ข้อสังเกตที่ 1 ไม่พบข้อมูลมติ ครม. เรื่องการกำหนดพื้นที่เพื่อปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในวันที่ 4 พ.ค. 2536 บนเว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตามที่ระบุในแผนแม่บทฯ แต่มี มติ ครม. วันที่ 30 มี.ค. 2536 อนุมัติดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยจำแนกไว้เป็นเขตพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเกษตร จำนวน 306 แปลง ใน 54 จังหวัด เนื้อที่ 7.2 ล้านไร่ กับอนุมัติแนวทางปฏิบัติงานเพื่อเป็นการเร่งรัดขั้นตอนในการประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน โดยในประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน ขั้นตอนการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินพื้นที่ดังกล่าว ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอร่างให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยตรง และไม่ต้องนำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการก่อนนำส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และยกเว้นการตรวจสอบสภาพป่า โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมในที่ดินของรัฐที่จะนำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดิน
มติครม. วันที่ 7 เม.ย. 2536 เรื่องการจำแนกประเภทที่ดิน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน สกลนคร เชียงราย ร้อยเอ็ด ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี สุพรรณบุรี และขอนแก่น (ขอเปลี่ยนแปลง มติครม. เดิมเฉพาะแห่ง) อนุมัติผลการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ซึ่งพิจารณาจำแนกประเภทที่ดินทั้ง 8 จังหวัด ในพื้นที่ตามโครงการสำรวจจำแนกประเภทที่ดินตาม มติ ครม. เรื่องนโยบายการใช้และกรรมสิทธิ์ที่ดิน และพื้นที่นอกโครงการสำรวจจำแนกประเภทที่ดิน เพื่อจำแนกประเภทที่ดินเฉพาะแห่งในจังหวัดขอนแก่น ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
ล่าสุด มติ ครม. วันที่ 22 ก.ย. 2558 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2558 งบกลาง สำหรับการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) ของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ จำนวน 6 คณะ
หากเมื่อมองตามรูปการนี้แล้ว สิทธิบนที่ดินทำกินของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นเอกสารสิทธิที่เป็น โฉนดที่ดิน นส.3 ส.ป.ก. ใบจอง หรือ ภบท.5 หากมีปัญหาในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่รับรองสิทธิ ที่ดินนั้นก็อาจถูกยกเลิกโดยที่ชาวบ้านไม่สามารถขัดขืนได้แต่อย่างใด
ข้อสังเกตที่ 2 ร่าง พรบ. ป่าสงวนแห่งชาติ ฉบับใหม่ ยังไม่มีการเปิดเผยว่ามีรายละเอียดสาระสำคัญในเรื่องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนอย่างไร แต่ยุทธการทวงคืนผืนป่าก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
กระนั้นก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมกลับชูนโยบาย เพื่อเตรียมอนุญาตคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจและทำเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน ให้เอกชน 34 ราย รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 3.5 ล้านไร่ หลังจากนั้นได้ให้ประทานบัตรเอกชนไปแล้ว จำนวน 1 ราย เป็นพื้นที่ 9,700 ไร่ และเตรียมขยับขั้นตอนเพื่อให้ประทานบัตรอีกต่อไปในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและสกลนคร
กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ชัยภูมิ รัฐบาลอ้างใช้มาตรา 44 บังคับให้ชาวบ้านถอดเสื้อที่แสดงสัญลักษณ์การคัดค้านในเวทีรับฟังฯ นอกจากนั้นความเคลื่อนไหวในลักษณะนี้สามารถพบเห็นได้ในอีกหลายจังหวัด
จากนั้น รัฐได้ผลักดันการให้สัมปทานปิโตรเลียมเพื่อขุดก๊าซในภาคอีสาน จำนวน 8 แหล่ง ได้แก่ แหล่งน้ำพอง แหล่งศรีธาตุ แหล่งดงมูล และแปลงสัมปทาน L16/50, L18/50, L24/50, L26/50, L31/50 ที่ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี มุกดาหาร มหาสารคาม สุรินทร์ บุรีรัมย์ และร้อยเอ็ด ซึ่งแค่สองพื้นที่คือ แหล่งน้ำพอง และ L16/50 ก็มีพื้นที่รวมมากกว่า 4 ล้านไร่
ตามด้วยการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 พื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ 36 ตำบล 10 อำเภอ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร สงขลา ตราด สระแก้ว และตาก ส่วนจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่อีก 5 จังหวัด (หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส) ทีรัฐบาลเตรียมประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจในลำดับต่อไป ปรากฏว่ามีการเตรียมพื้นที่ป่าไม้ 2,000 ไร่ เพื่อให้เอกชนเช่าแล้ว ตอกย้ำอย่างเห็นได้ชัดถึงนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ โดยรองนายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้เสนอ ครม. เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2558 อนุญาตให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม
ส่วนการเตรียมประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องนโยบายสำรวจและทำเหมืองทองคำ ใน 12 จังหวัด เพชรบูรณ์ พิจิตร จันทบุรี ระยอง พิษณุโลก ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว นครสวรรค์ สตูล และสุราษฎร์ธานี เพื่ออนุญาตคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ 177 แปลง รวมพื้นที่ประมาณ 1.6 ล้านไร่ แต่นโยบายดังกล่าวถูกคัดค้านหนักจากหลายภาคส่วน ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องแถลงสถานการ์เพื่อชะลอให้มีการทบทวนใหม่
แต่ที่น่าตกใจ คือ ในรายการข้อมูลสำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนของ บมจ. อัครา รีซอร์สเซส ที่ยื่นต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ มีการระบุคำขอรับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำของบริษัทและบริษัทในเครือ จำนวน 107 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 954,937 ไร่ ในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี ระยอง และจันทบุรี สิ่งนี้หมายความว่าการประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้เป็นไปเพื่อเอกชนเจ้าใหญ่เพียงเจ้าเดียวหรือไม่
อีกทั้ง เอกสารดังกล่าวยังระบุถึง บจ. สวนสักพัฒนา ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทที่ประกอบธุรกิจซื้อที่ดินเพื่อประโยชน์ในการสำรวจและการผลิตแร่ของบริษัท มีที่ดินจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน ซึ่งตามกฎหมายที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธินั้น ถือเป็นพื้นที่ป่าไม้และถือเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ และกรณีเอกชนรายนี้กลับไม่เคยมีการตรวจสอบโดยใช้มาตรการทวงคืนผืนป่าจากภาครัฐแต่อย่างใดเลย และในเวลาต่อมา กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่เพื่อการสำรวจและพัฒนาแห่งแร่ควอตซ์ ในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ประกาศเมื่อวันที่ 19 ส.ค.2558 รวมพื้นที่ใน 4 อำเภอ 4 จังหวัด หากมีคำขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายแร่ไม่เกินคำขอละ 2,500 ไร่ หรือคำขออาชญาบัตรพิเศษไม่เกินคำขอละ 10,000 ไร่ เพียงอนุญาต 4 คำขอก็ให้สิทธิพื้นที่กับเอกชนแล้ว 10,000 – 40,000 ไร่ โดยไม่เปิดให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ถึงข้อมูล
ร่างพระราชบัญญัติแร่ที่ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรีและอยู่ในขั้นตอนการตรวจพิจาณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ยังไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาเช่นกัน
อย่างไรก็ดี จากการเสวนา “จับตาร่างกฎหมายแร่ การอนุญาตให้สำรวจและสัมปทานแร่ ภายใต้ภาวะอำนาจพิเศษ” มีเนื้อหาโดยสรุปคือ ในพื้นที่ป่าสมบูรณ์มีแหล่งแร่จำนวนมากอยู่ และเจตนารมณ์ที่แสดงชัดเจนในตัวบทกฎหมาย คือ การบริหารจัดการแร่ในพื้นที่พิเศษ โดยให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี กำหนดพื้นที่ใด ๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ ทดลอง ศึกษา และวิจัยเกี่ยวกับแร่ รวมทั้งคณะรัฐมนตรีสามารถอนุญาตคำขออาชญาบัตรหรือประทานบัตรได้ ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางระบบนิเวศตั้งแต่พื้นที่สูงบนภูเขาจนถึงที่ราบต่ำและชาย ทะเล และพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมายอื่น เช่น พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร พื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ทางโบราณวัตถุ โบราณสถาน หรือแหล่งฟอสซิลที่ควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์ไว้
ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมและนักอนุรักษ์หลายฝ่ายต่างแสดงความเห็นตรงกันว่า หากรัฐบาลต้องการจะอนุรักษ์ป่าไม้จะต้องประกาศพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติหรือเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า แต่ป่าสงวนฯ เป็นพื้นที่ป่าที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ พื้นที่นี้จึงเป็นพื้นที่ที่รัฐสงวนไว้เพื่อรอการขออนุญาตใช้ประโยชน์
สุดท้ายเมื่อประมวลเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นที่รู้กันดีแล้วว่า พรบ. ชุมนุมและมาตรา 44 คือเครื่องมือที่ใช้ขับเคลื่อนนโยบายและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมทรัพยากรธรณีและกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งหมดได้ร่วมมือกันเพื่อใช้ที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดิน ส.ป.ก.. เพื่อเปิดเป็นพื้นที่ทำธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมแร่ อุตสาหกรรมพลังงาน นิคมอุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ใช่หรือไม่ และเป้าหมายที่ต้องการจะเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศไทยจำนวน 25.9 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี พื้นที่เหล่านี้อ้างว่าสงวนไว้เพื่อการอนุรักษ์ แต่จะริดรอนสิทธิที่ดินทำกินของชาวบ้านมากมายขนาดไหน หรือเป็นเพียงพื้นที่ที่ใช้อำนาจทวงคืนมาเพื่อเปิดให้เอกชนได้ใช้ประโยชน์กันแน่
ตามที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้าปฏิบัติการเพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกที่ทำเนียบฯ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2558 ว่า “รัฐบาลไม่สามารถยอมให้เกิดพฤติกรรมละเมิดกฎหมาย เอาเปรียบประเทศ และรังแกทรัพยากรที่ควรสงวนรักษาไว้ให้ลูกหลาน แบบนี้ต่อไปได้…”
หากพิจารณาดูแล้ว ณ เวลานี้ รัฐควรแถลงให้ชัดว่า รัฐบาล ข้าราชการ และนายทุน คือกลุ่ม พวกเดียวกันมากกว่าใช่หรือไม่