มติที่ประชุม สมาชิกสภาองค์กรบริหารส่วนตำบลนาตาล ‘ไม่อนุญาตให้ บริษัทขุดสำรวจปิโตรเลียมเข้าใช้พื้นทีของ สปก.’ หลังจากชาวบ้านจากหมู่หนองแซง ต.นาตาล อ.ท่าคัน จ.กาฬสินธุ์ กว่า 200 คน ได้ยกมือแสดงออกไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้ต่ออายุการใช้พื้นที่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ให้บริษัทขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ ในการประชุมสมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบลที่มีการเปิดให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557

ขอบคุณภาพจากสารคดี “บ่เอาบ่อก๊าซ” ผลิตโดย คุณคำปิ่น อักษร ออกอากาศวันที่ 20 กันยายน 2557 ทางช่องไทยพีบีเอส
ภาพดังกล่าว คือ ตัวอย่างชัดเจนของอำนาจการบริหารขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และเป็นตัวอย่างของขบวนการภาคประชาชนที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการพัฒนาที่ออกมาจากรัฐส่วนกลาง
“การได้เข้ามาทำงานในองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ทำให้ได้เห็นกระบวนการขุดเจาะสำรวจก๊าซที่ไม่โปรงใสจากเอกสารต่างๆ เช่นการย้ายหลุมขุดเจาะที่ไม่ได้ทำประชามติ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยทำหนังสือขอข้อมูลเหล่านี้ไปแต่กลับถูกปฏิเสธ โดยทางกลุ่มเห็นว่าการขออนุญาตใช้พื้นที่ ส.ป.ก กำลังจะหมดอายุและการขอต่ออายุต้องใช้มติของสภาเทศบาล ทางกลุ่มจึงยื่นหนังสือขอให้ทางเทศบาลเปิดประชุมเรื่องการขอใช้พื้นที่ดังกล่าว
“การประชุมลงมติปกติจะจัดกันในห้องปิด แต่เราเปิดให้เป็นสาธารณะ เพราะอยากให้ชาวบ้านได้แสดงออกว่าต้องการหรือไม่ต้องการอะไร ก่อนที่สมาชิกสภาจะลงมติ ซึ่งตามกฎหมาย
แล้วการที่สภาของท้องถิ่นจะลงมติอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนจะต้องมีประชาชนเข้าร่วมด้วย โดยที่ผ่านมาเท่าที่สังเกตเห็นจะไม่ค่อยมี” นางกรรณิกา เหลาพิมพ์ สมาชิกเครือข่ายอนุรักษ์ดงมูล และรองนายกเทศบาลตำบลนาตาล กล่าวและเปิดเผยถึงกระบวนการทำงานของภาคประชาชนในช่วงเวลานั้น ซึ่งเริ่มจาก ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม ได้ส่งตัวแทนลงรับสมัครเลือกตั้งสภาองค์กรบริหารส่วนตำบล โดยชูนโยบาย ‘ไม่เอาการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่’ จนชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากในสภาเทศบาลสภาองค์กรบริหารส่วนตำบลนาตาล
โดยนาง กรรณิกา เหลาพิมพ์แสดงความกังวลเกี่ยวกับการ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 85/2557 ออกตามคำสั่ง คสช. 1/2557 โดยให้งดการเลือกตั้งท้องถิ่นชั่วคราว หากสมาชิกสภาหรือผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นหมดวาระลง ให้ปลัดองค์กรส่วนท้องถิ่นรักษาการแทนในตำแหน่งผู้บริหารและในส่วนของสมาชิกสภาให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสรรหาสมาชิกสภา ผลที่อาจจะตามมาหลังจากมีคำสั่งนี้ คือ ระหว่างรอยต่อที่สภาท้องถิ่นในตำบลนาตาลจะหมดวาระลงในอีกสองปี กลุ่มทุนอาจจะใช้โอกาสนี้ในการผลักดันโครงการขุดเจาะปิโตรเลียมในพื้นที่ โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการยกมือลงมติแสดงความเห็นในสภา
กรรณิกา กล่าวย้ำว่า “การผลักดันนโยบายต่างๆ ถ้าเป็นคนที่มาจากในท้องที่อย่างสมาชิกเทศบาลหรือนายกเทศบาล ซึ่งเขาเป็นคนที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน รู้ว่าชาวบ้านต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร แต่หากเป็นคนที่ถูกส่งมาจากรัฐบาลส่วนกลางที่เป็นคนพื้นที่อื่น อย่างนายอำเภอ ผู้ว่า หรือปลัด เวลามีการอนุญาตโครงการอะไรก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อชาวบ้าน เพราะเขาเป็นข้าราชการ ถ้าไม่ได้ทำความผิดทางวินัยจะเซ็นยินยอมอะไรก็ไม่มีผลอะไรกับเขา เรื่องความรับผิดชอบต่อชาวบ้านจะมีน้อยกว่า ถึงแม้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง บางครั้งอยากจะอนุญาตโครงการที่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เขาก็ยังต้องกังวลเรื่องฐานเสียง หรืออะไรต่างๆ ซึ่งหน่วยงานราชการไม่ใช่
การกระจายอำนาจให้คนท้องถิ่นสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจรัฐ เริ่มมีมาตั้งแต่ที่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
“รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเอง ตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น” ระบุในมาตรา 282 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2540 หมวดการปกครองท้องถิ่น
และกฎหมายฉบับอื่นๆ อีกมากที่ออกมาเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นในการจัดการตัวเองมากขึ้น นับตั้งแต่ปี 2540อำนาจตัดสินใจต่างๆ จึงเป็นขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่า ข้าราชการที่มาจากการแต่งตั้งมาประจำตำแหน่งโดยรัฐบาลกลาง อย่างเช่น ผู้ว่าราชการ ปลัด นายอำเภอ กำนัน ฯลฯ
แต่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ทำให้อำนาจการบริหารกลับไปอยู่กับหน่วยงานราชการแทนที่องค์กรส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและมีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากกว่า การดำเนินนโยบายดังกล่าวจึงไม่อาจสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
ในมุมมองของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการกระจายอำนาจการปกครองได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า
“เรื่องการกระจายอำนาจมีผลกระทบโดยตรงกับการเมืองภาคประชาชน ก่อนที่จะมีการกระจายอำนาจ เวลาภาคประชาชนมีข้อเรียกร้องอะไร จำเป็นต้องเข้าไปเรียกร้องที่ส่วนกลาง คือกรุงเทพมหานคร เพราะอำนาจทุกอย่างรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นการยากลำบาก”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ในงาน “ไม่อ่านก็ฟังได้” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย ขอบคุณภาพจาก www.youtube.com/user/PITVFANPAGE
ภายหลัง 2540 รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทำให้ภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตัวเองได้มากขึ้น การเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงจากการรวมกลุ่มกันรณรงค์ ลงรับสมัครเลือกตั้ง คัดเลือกคนที่จะเข้ามาบริหารงาน หรือ การมีส่วนร่วมโดยการเคลื่อนไหวกดดันองค์กรท้องถิ่นเหล่านี้ซึ่งเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดเพราะอยู่ในพื้นที่
“การเลือกตั้งท้องถิ่นทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองสูง ซึ่งทำให้เห็นถึงประโยชน์ที่ชัดเจนและทำให้เข้าใจการเมืองมากขึ้น ว่าใช่เพียงแค่การไปเลือกตั้งแล้วรออีกสี่ปี แต่คือการเข้าไปกำหนดที่ทิศทางความเป็นไปของชุมชนด้วย” ผ.ศ.เวียงรัฐ กล่าว และแสดงความเห็นต่อว่า
คำสั่ง คสช. 1/2557 สะท้อนให้เห็นว่าทำไมรัฐบาลต้องการงดการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นอันดับแรกๆ
เนื่องจากการเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มต่างๆ ของประชาชนในท้องถิ่น ส่วนหนึ่งมาจากการเคยชินกับระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นประชาธิปไตยระดับรากหญ้าที่ไปกระตุ้นให้ภาคประชาชนมีพลัง เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วม และเริ่มเข้าใจอำนาจของตัวเองมากขึ้น การรวมศูนย์อำนาจแบบเดิมจึงเป็นไปได้ยาก
นับตั้งแต่ปี ซึ่งล้วนเป็นการทำให้การกระจายอำนาจอ่อนแอและอำนาจกลับไปอยู่กับอำนาจระบบราชการ ทำให้ภาคประชาชนเองหลายครั้งเห็นว่าอำนาจท้องถิ่นไม่มั่นคง ก็กลับเข้าไปเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับระบบราชการ ซึ่งเป็นการลดทอนประชาธิปไตย
“กฎหมายในร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ฉบับล่าสุดถูกคว่ำไปที่แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามจะควบคุมองค์กรท้องถิ่น ุให้มีการตั้งคณะกรรมการต่างมากำกับการทำงานขององค์กรท้องถิ่น อย่างสามารถฟ้องศาลปกครองได้ถ้านักการเมืองท้องถิ่นไม่มีคุณธรรม ซึ่งคำว่าคุณธรรมมีนิยามที่กว้างมาก จึงเป็นการให้ให้อำนาจศาลปกครองเป็นตัวชี้ขาดการกระทำขององค์กรท้องถิ่น ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการลดอำนาจท้องถิ่นอย่างชัดเจน
“โดยเฉพาะในรัฐบาลทหาร การรวมศูนย์อำนาจในระบอบทหาร ต้องการที่จะสั่งการจากศูนย์กลางแล้วลงไปสู่ท้องถิ่นทันที จึงไม่ต้องการให้อำนาจส่วนภูมิภาคเข้มแข็ง และต้องการลดทอนการกระจายอำนาจ” ผ.ศ.เวียงรัฐ กล่าว