ตำบลนามูล-ดูลสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น – ในวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมาพบชาวบ้านรอบบริเวณแท่นเผาสำรวจก๊าซปิโตรเลียมของบริษัท อพิโก้(โคราช) มีผลกระทบทางสุขภาพหลังจากทางบริษัทดำเนินการเผาสำรวจครั้งที่สอง ข้อมูลที่ได้จากทีมเก็บข้อมูลออกมาว่าพบก๊าซมีเทนอยู่ที่ 2 LEL%  ซึ่งในพื้นที่ปกติควรจะมีค่าอยู่ที่ 0 LEL%

GasStory_1

ชาวบ้านหลายคนในหมู่บ้านนามูล-ดูลสาดซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบริเวณขุดเจาะปิโตรเลียมของทางบริษัทเพียง 1.3กิโลเมตร มีอาการ อ่อนเพลีย ปวดเนื้อปวดตัว มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย แสบจมูก เจ็บคอ ริมฝีปากแห้ง และแสบตา หลังจากมีการเผาสำรวจก๊าซปิโตรเลียม โดยก่อนหน้านี้ทางกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูล-ดูลสาดได้เข้ายื่นหนังสื่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ผู้ว่าราชการขอนแก่น สถานทูตประจำสหรัฐอเมริกา(บริษัทแอลแอลซีซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ อพิโก้(โคราช) เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกา)ให้ตรวจสอบการเผาสำรวจก๊าซปิโตรเลียมครั้งที่2 เหตุเพราะการเผาสำรวจไม่ถูกต้องขั้นตอนเพราะในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของทางบริษัทไม่เคยแจ้งว่าจะทำการเผาทดสอบ ครั้งที่2 และล่าสุดศาลปกครองจังหวัดขอนแก่นได้ไต่สวนคำขอกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษากรณีฉุกเฉิน

ทีมเก็บข้อมูลที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าไปเก็บข้อมูลในวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา   พบชาวบ้านหลายคนเริ่มมีผลกระทบทางสุภาพอย่างเช่นอาการ อ่อนเพลีย ปวดเนื้อปวดตัว มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย แสบจมูก เจ็บคอ ริมฝีปากแห้ง และแสบตา นอกจากนั้นทีมเก็บข้อมูลยังได้ใช้เครื่องมือใช้เครื่องมือวัดค่า พบว่าในพื้นที่มีค่าก๊าซมีเทนค่อนข้างสูงกระจายไปทั่วพื้นที่  ซึ่งก๊าซดังกล่าวปกติแล้วจะพบเฉพาะในจุดที่มีการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลเช่นกองขยะเท่านั้น โดยก๊าซมีเทนเป็นก๊าซไวไฟที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เบากว่าอากาศ ลอยตัวได้ง่าย สะสมได้ดี หากอากาศร้อนและมีความชื้นสูง เมื่อหายใจเข้าไปจะมีผลกระทบต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน อาจจะรู้สึกอ่อนเพลีย วิงเวียนและปวดศีรษะ ซึมเศร้า สับสน ชัก หมดสติ อาจมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง

ผลตรวจทางการแพทย์ของ นายวชิรวัตติ์ อาริยะสิริโชติ ตรวจโดย โรงพยาบาลคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ผลตรวจทางการแพทย์ของ นายวชิรวัตติ์ อาริยะสิริโชติ ตรวจโดย โรงพยาบาลคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นายวชิรวัตติ์ อาริยะสิริโชติ อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในทีมเก็บข้อมูลเปิดเผยว่า หลังจากการเข้าเก็บข้อมูลในพื้นที่ตนก็รู้สึกผิดปกติคือมีอาการ แสบจมูก มึนงงและผะอืดผะอม จนต้องตัดสินใจเดินทางไปสถานพยาบาล โดยแพทย์ให้การรักษาด้วยการพ่นยาและให้ออกซิเจน พร้อมวินิจฉัยว่าเป็นผลมาจากการสัมผัสกับสารพิษ

“ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องคุยกันด้วยข้อเท็จจริง อย่างที่เห็นพยานหลักฐานที่มันบ่งชัดแล้ว ที่สำคัญคือกระบวนทัศน์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้หน่วยงานรัฐต้องลงมาดูได้แล้ว ขันแรกต้องเอาสุขภาพของประชาชนไว้ก่อน เพราะสุขภาพเป็นต้นทุนที่ไม่มีใครสามารถรับผิดชอบได้จึงต้องจัดการจุดนี้ให้ได้ก่อนถึงจะดำเนินการเรื่องอื่นได้ แต่ตอนนี้เวลาผ่านมาสัปดาห์กว่าก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแล” นายวชิรวัตติ์ อาริยะสิริโชติ กล่าว

image_pdfimage_print