เลย – 13 ต.ค.58 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เดินทางไปยังศาลจังหวัดเลย เพื่อเข้าสังเกตการณ์การนัดสืบพยานวันแรก คดีที่อัยการและชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดร่วมกันฟ้อง นายปรมินทร์ ป้อมนาค กับพวกรวม 2 คน ในคดีกลุ่มชายฉกรรจ์เข้าปิดล้อมหมู่บ้าน ทำร้ายชาวบ้าน และจับแกนนำชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเป็นตัวประกัน เพื่อเปิดทางให้มีการขนแร่ออกจากเหมืองทองเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557

1 พ.ย.58 ศาลปกครอง จ.อุดรธานี รับฟ้องคดีที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 17 คน ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 57 ได้แก่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย และกำนัน ต.เขาหลวง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ คำขอที่ 104/2538 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่แหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซึมซับ และขอให้กำหนดเขตพื้นที่ดังกล่าว เป็นแหล่งต้นน้ำและป่าน้ำซึมซับ ห้ามประกอบกิจการใด เว้นแต่สงวนรักษาไว้ให้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร และเป็นทรัพยากรป่าไม้ของประเทศเพียงประการเดียว

ขอนแก่น – 14 ต.ค.58 ชาวบ้านรอบบริเวณแท่นเผาสำรวจก๊าซปิโตรเลียมของ บริษัท อพิโก้ (โคราช) ใน ต.นามูล-ดูนสาด อ.กระนวน รายงานสุขภาพของชาวบ้าน โดยหลังจากทางบริษัทดำเนินการเผาสำรวจครั้งที่สองนั้นได้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้ชาวบ้านมีอาการ อ่อนเพลีย ปวดเนื้อปวดตัว มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย แสบจมูก เจ็บคอ ริมฝีปากแห้ง และแสบตา รวมถึงข้อมูลจากทีมเก็บข้อมูล ระบุว่า พบก๊าซมีเทนในระดับ 2 LEL% กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ จากพื้นที่ปกติที่ควรจะมีค่า 0 LEL%

นายวชิรวัตติ์ อาริยะสิริโชติ อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในทีมเก็บข้อมูลเปิดเผยว่า หลังจากการเข้าเก็บข้อมูลในพื้นที่ ตนก็รู้สึกผิดปกติคือมีอาการ แสบจมูก มึนงงและผะอืดผะอม จึงตัดสินใจเดินทางไปสถานพยาบาล แพทย์ให้การรักษาด้วยการพ่นยาและให้ออกซิเจน พร้อมวินิจฉัยว่าเป็นผลมาจากการสัมผัสกับสารพิษ

15 ต.ค.58 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์นามูล-ดูลสาด เดินทางไปศาลปกครองภาค 4 จังหวัดขอนแก่น เพื่อเข้าฟังการไต่สวน หลังจากชาวบ้านยื่นขอให้คุ้มครองชั่วคราวไม่ให้มีการเผาทดสอบก๊าซรอบสอง

เหตุการณ์ในวันนั้นชาวบ้านได้ชูป้ายเปล่าที่ไม่มีข้อความ เพื่อแสดงออกถึงการไม่มีสิทธิในการมีส่วนร่วมและแสดงความเห็น เพราะการมาศาลครั้งก่อนได้ชูป้ายที่มีข้อความ “หยุดเผาก๊าซ” แล้วถูกห้ามจากเจ้าหน้าที่ทหาร แต่เจ้าหน้าทหารที่ก็ยังบอกให้ชาวบ้านเก็บป้ายเปล่าเมื่อขบวนเดินมาถึงหน้าศาล

ด้านกลุ่มนักศึกษา ”ดาวดิน” ร่วมกันทำกิจกรรมด้วยการดื่มน้ำจากแหล่งน้ำซึ่งถูกสงสัยว่าอาจมีสิ่งเจือปนอันเป็นผลกระทบจากการขุดเจาะปิโตรเลียม และอ่านคำสาบานตนว่าจะร่วมสู้กับกลุ่มชาวบ้านจนกว่าคนจะเท่ากับคน

2 พ.ย. 58 ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูลดูนสาด เข้าร่วมในรายการสถานีประชาชน ร้องขอผ่านสื่อ เพื่อให้มีการตรวจสุขภาพชาวบ้านนามูล หลังการเผาทดสอบก๊าซรอบที่ 2 หลุมดงมูล 5 เพื่อพิสูจน์ผลกระทบต่อสวนยางอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ

ที่มา : Prachatai.com

ชัยภูมิ – 16 ต.ค.58 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้กับ EktaParishad องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเรียกร้องความยุติธรรมโดยใช้วิธีสันติอหิงสาของคานธี จากประเทศอินเดีย โดยใช้พื้นที่บ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร เป็นพื้นที่ตัวอย่างในการศึกษา

ที่มา : esaanlandreformnews.com

สกลนคร – 21 ต.ค.58 ศาลจังหวัดสกลนคร นัดฟังคำพิษากษา ชาวบ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร โดยศาลนัดจำเลยพร้อมกันรวม 9 ราย จากทั้งหมด 34 ราย ในคดีข้อกล่าวหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติดงชมพูพาน – ดงกะเฌอ ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่ดินทำกิน อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายไทบ้านไร้สิทธิสกลนคร ได้เดินทางมาร่วมให้กำลังใจชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี พร้อมรอฟังผลคำพิพากษา

ศาลจังหวัดสกลนคร มีคำพิพากษาให้ชาวบ้าน 6 รายรอลงอาญาและเสียค่าปรับ 15,000-20,000 บาท ส่วนชาวบ้านอีก 3 ราย พิพากษาให้จำคุก 6 ปี 2 ราย และ 5 ปี 1 ราย ไม่รอลงอาญา เบื้องต้นชาวบ้านยอมรับสารภาพเพื่อศาลให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ 3 ปี และ 2.5 ปีตามลำดับ โดยทั้งหมดได้ประกันตัวออกมาโดยวางหลักทรัพย์รายละ 3.5 แสนบาท เพื่อต่อสู้ชั้นอุทธรณ์

ที่มา : greennewstv.com

อุบลราชธานี – 26 ต.ค.58 เจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดอุบลราชธานี พร้อม ฝ่ายปกครองอำเภอโขงเจียม เข้าพูดคุยกับชาวบ้าน หลังจากชาวบ้านนัดชุมชนที่ศาลากลางจังหวัด เนื่องจากคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล มีคำสั่งปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน ก่อนถึงกำหนดในวันที่ 16 พ.ย. 58 ทำให้ชาวบ้านปากมูลต้องประกาศยกเลิกชุมนุม

ที่มา : manager.co.th

อุดรธานี – ต.ค. 58 นายสมชัย ไกรครุฑรี ที่ปรึกษาหอการค้าไทย และอดีตประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผยว่าจะผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง แก้ปัญหาภัยแล้ง เตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศในระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2558 ที่จังหวัดอุดรธานี เป็นเจ้าภาพ พร้อมจะนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อบรรจุไว้ในแผนพัฒนาภาคอีสานอย่างยั่งยืน คาดว่าหากพัฒนาเต็มรูปแบบจะสามารถป้อนน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้ง 20 จังหวัดภาคอีสาน ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 30 ล้านไร่

ทั้งนี้ นายสมชัย ได้เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย ครั้งล่าสุดที่จังหวัดเลย ซึ่งมีหอการค้าจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัดเข้าร่วมประชุม มีมติเห็นชอบในการนำผลการศึกษาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3097 วันที่ 18-21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กรุงเทพ – 13 ต.ค.58 เวทีไต่สวนสาธารณะการละเมิดสิทธิชุมชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กรณีการขุดลอกริมตลิ่งแม่น้ำน้ำมูล เขตอำเภอราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

ตามโครงการขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งพื้นที่นอกเขตชลประทานเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งหมด 60 โครงการ .เป็นโครงการ “เร่งด่วน” ใช้ “งบกลาง” ของรัฐบาล ในปี 2558-2559 ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า 40 โครงการ และทหารช่าง 20 พื้นที่ ในแม่น้ำมูล ชี เลย และลำสาขาต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบล เลย ร้อยเอ็ด ซึ่งเริ่มมีการขุดลอกในเขตพื้นที่อำเภอราษีไศล ราวเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ข้อสรุปการไต่สวนจากคณะกรรมการสิทธิ ได้แก่

  1. ให้ยุติการทำงานเอาไว้ก่อน เป็นเวลาสั้นๆ เพื่อให้มีกระบวนการทำงานร่วมกัน และหาข้อสรุปในทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อดำเนินการพูดคุยแล้วให้ส่งข้อ สรุปมายังคณะอนุกรรมการฯ ด้วย
  2. กระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญ และไม่ควรจำกัดอยู่เพียงชาวบ้านที่เป็นเจ้าของตลิ่งบริเวณนั้น เพราะชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากการลำน้ำมูลนั้นมีหลายกลุ่ม
  3. กรรมการสิทธิฯ จะทำหนังสือถึงนายอำเภอให้ตั้งคณะทำงาน โดยให้แต่ละฝ่ายเข้ามาร่วม
  4. 4. กรรมการสิทธิฯ ทำหนังสือสรุปถึงกรมเจ้าท่า ผู้ว่าราชการจังหวัด อำเภอราษีไศล
  5. กรรมการสิทธิฯ เป็นผู้ประสานนักวิชาการที่มีความรู้ด้านนี้จะติดต่อเข้าร่วมหารือ

อย่างไรก็ตาม ตลอดเดือนตุลาคมที่ผ่านมากรมเจ้าท่ายังคงดำเนินการขุดลอกต่อ ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ ถูกเรียก “ปรับทัศนคติ” ไม่ให้เคลื่อนไหวคัดค้าน

ที่มา : Facebook Page นักสืบสายกลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน

image_pdfimage_print