โดย ฟาเบียน ตระมูน

ท่ามกลางดงป่าพุ่มไม้สีเขียว สมคิด สิงสง นั่งอยู่หน้าบ้านดินหลังเล็กซึ่งตั้งอยู่ห่างออกมาจากหมู่บ้านที่เfขาอาศัยอยู่ในจังหวัดขอนแก่น เขาไว้เคราดูเหมือนกับผู้นำนักปฏิวัติชาวเวียดนาม สมคิดเล่าให้ฟังถึงวันที่เขาถูกหมายหัวกำจัดทิ้ง “พวกนั้นมากันตอนเช้าตรู่ มีเฮลิคอปเตอร์เปิดไฟส่องบินอยู่เหนือหมู่บ้าน เขาต้องการจะฆ่าผม” สมคิดเล่าอย่างสงบ

จากชีวิตวัยเด็กในภาคอีสานทุรกันดารไปสู่ชีวิตนักศึกษานักเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ และการต่อสู้ติดกำลังร่วมกับคอมมิวนิสต์เป็นเวลา 6 ปี ปัจจุบันสมคิด ในวัย 65 ปี กำลังดำเนินโครงการพัฒนาเขียวที่บ้านเกิดของตนเองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทว่าชีวิตของเขาจะยังคงเกี่ยวเนื่องกับช่วงเวลาอันโกลาหลทศวรรษพ.ศ. 2516 ตลอดไป

การเติบโตมาในภาคอีสานอันทุรกันดารทำให้สมคิดแตกต่างไปจากนักศึกษานักเคลื่อนไหวยุค 2516 ซึ่งส่วนใหญ่นักศึกษาเหล่านี้ต่างเป็นคนชนชั้นกลางอาศัยอยู่เมืองใหญ่ การศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเองก็ทำให้สมคิดแตกต่างไปจากชาวบ้านอีสานที่ทิ้งผืนนาข้าวของตนเองไปต่อสู้ร่วมกับคอมมิวนิสต์ในช่วงนั้นเช่นกัน

นักเขียนเจ้าของผลงานมากมายและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักเขียนอีสาน สมคิดได้ตีพิมพ์นวนิยาย เรื่องสั้นและบทกวีหลากลายเรื่อง งานเขียนส่วนใหญ่ของเขาถือเป็นวรรณกรรมประเภทที่เรียกกันว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งมีเนื้อหาออกไปแนวเชิงประท้วงอย่างชัดเจน

เด็กชายอีสาน สมคิด สิงสง เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ จากนั้นก็สนใจการเคลื่อนไหวทางสังคมของนักศึกษาและได้หนีเข้าป่าเพื่อเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์เป็นเวลา 6 ปี ปัจจุบันสมคิดในวัย 65 ปี เป็นผู้นำการดำเนินโครงการพัฒนาเขียวที่บ้านเกิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาที่ยังคงเป็นที่รู้จักคือถ้อยคำเนื้อเพลงที่กล

เด็กชายอีสาน สมคิด สิงสง เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ จากนั้นก็สนใจการเคลื่อนไหวทางสังคมของนักศึกษาและได้หนีเข้าป่าเพื่อเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์เป็นเวลา 6 ปี ปัจจุบันสมคิดในวัย 65 ปี เป็นผู้นำการดำเนินโครงการพัฒนาเขียวที่บ้านเกิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาที่ยังคงเป็นที่รู้จักคือถ้อยคำเนื้อเพลงที่กลายเป็นบทเพลงแห่งการเคลื่อนไหวด้านการเมืองในยุค 2516 สมคิดเขียนเนื้อเพลง “คนกับควาย” ร่วมกับ วิสา คัญทัพ เพื่อนนักศึกษานักกิจกรรม บทเพลงดังกล่าวขับร้องโดยวงคาราวาน วงดนตรีเพื่อชีวิตที่เติบโตจากเวทีประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในยุค 2516

“14 ตุลาทุกปี ผมจะจัดงานที่บ้านเพื่อระลึกถึงการประท้วง” สมคิดกล่าว “เราเล่นเพลง ‘คนกับควาย’ เพราะช่วยให้คนเข้าใจสังคม แล้วก็เพลงนี้ปัจจุบันก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์”

ชีวิตวัยเด็กในหมู่บ้านและการศึกษาในเมือง

เกิดในครอบครัวชาวนาปลูกข้าว เมื่อยังเป็นเด็ก สมคิดอาศัยอยู่ที่บ้านซับแดงในจังหวัดขอนแก่น ช่วงต้นศตวรรษ 2510 เขาได้เดินทางติดตามญาติคนหนึ่งเข้ามายังส่วนกลางประเทศเพื่อเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมในเขตฝั่งธนบุรีติดแม่น้ำเจ้าพระยา พลเอกสฤษดิ์ ธนรัชต์ เผด็จการทหารที่ยึดอำนาจในพ.ศ. 2501 ได้ดื่มสุราอย่างหนักจนคร่าชีวิตของเขา สมคิดเล่าความทรงจำต่อเหตุการณ์ในช่วงนั้น

สมคิดเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมแห่งเดียวกันกับบุคคลที่ซึ่งได้รับบทบาทอันมีนัยยะสำคัญต่อแวดวงการเมืองไทยในหลายทศวรรษต่อมาและเป็นบุคคลที่ปูทางให้มีการก่อรัฐประหารอีกครั้ง “สุเทพ เทือกสุบรรณ เรียนปีเดียวกันกับผม ตอนนั้นเราก็เป็นเพื่อนกัน” สมคิดเล่า “หลังจากเรียนมัธยมจบ สุเทพสอบเข้าธรรมศาสตร์ไม่ได้ แต่ผมกลับสอบได้อันดับสอง” สมคิดกล่าวพร้อมรอยยิ้มอย่างมีเลศนัย

สมคิดได้รับทุนจากสภาการศึกษาแห่งชาติ เขาเข้าเรียนสาขาที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน นั่นคือสาขาวารสารศาสตร์และการสื่อสารมวล ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในพ.ศ. 2512 สมคิดได้รับทุนการศึกษาจำนวน 1,500 บาทต่อปี เขานำมาใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียนและใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ประจำวันในกรุงเทพฯ ได้อย่างสบาย

ตลอดช่วงทศวรรษ 2516 รัฐบาลเผด็จการยังคงยึดครองอำนาจการปกครองและสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาทั้งในด้านเศรษฐกิจและการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ภาคีสานเป็นพื้นที่รองรับเจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันจำนวนหมื่นกว่าคนที่เข้าประจำการเพื่อสนับสนุนสงครามตัวแทนของสหรัฐอเมริกาในเวียดนาม ขณะเดียวกันรัฐบาลสหรัฐฟฯ เองก็ได้มอบความช่วยเหลือทางด้านการเงินและการพัฒนาแก่ประเทศไทยอย่างมากมายเพื่อเป็นการตอบแทน

นำการเคลื่อนไหวทางสังคมมาสู่ชนบท

ปลายทศวรรษ 2516 การขัดขืนต่อการปกครองโดยทหารระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยได้ดำเนินมาถึงจุดแตกหัก ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองอันร้อนระอุที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมคิดก็เริ่มเข้าใจและมีแนวความเชื่อด้านการเมืองของตนเองมากขึ้น และนักศึกษาจากอีสานปากกล้าคนนี้ก็ได้กลายมาเป็นแกนนำเหล่านักศึกษานักกิจกรรม

“ผมรู้สึกว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นอิสระ แต่เป็นอาณานิคมของอเมริกา” สมคิดพูด พลางอธิบายถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของนักศึกษาตั้งแต่แรกเริ่ม “เรามักจะคุยกันเกี่ยวกับการมีอิสรภาพเสรีภาพและการยุติความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย” เขากล่าว

วันที่ 14 ตุลาคม 2516 การลุกฮือของนักศึกษาได้ทำให้รัฐบาลทหารพ้นจากอำนาจและมีการปกครองประชาธิปไตยในประเทศเป็นเวลาสามปี ภายหลังชัยชนะอันเหนือความคาดหมาย สมคิดตัดสินใจหยุดเรียนและเดินทางออกจากเมืองหลวงกลับไปยังบ้านเกิดของตนเองในชนบท

สมคิดกล่าวว่าเขารู้สึกอึดอัดกับทัศนคติของคนกรุงเทพฯ “ผมมีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างสังคมในฝันที่หมู่บ้านบ้านเกิดของผม” เขาเล่า พร้อมกล่าวเสริมว่ารัฐให้การสนับสนุนประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชนบทค่อนข้างน้อยเกินไป สมคิดเริ่มจัดการโครงการพัฒนาต่างๆ ที่หมู่บ้านของตนเองและมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยเข้าร่วมกับคณะกรรมการส่วนกลางของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย

“ตอนนั้นชาวบ้านในชนบทมองนักศึกษาเป็นวีรบุรุษ” สมคิดเล่าย้อนความหลัง “ผมก็เลยเดินทางไปทั่วแล้วก็ปราศัยอธิบายเกี่ยวกับการเมืองให้ชาวบ้านฟัง” แต่การต่อต้านนักศึกษาและการพัฒนาความเจริญก็กำลังเพิ่มขึ้น “เจ้าหน้าที่รัฐไม่ชอบผม เขาเรียกผมว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ คนทรยศชาติ แล้วก็คอมมิวนิสต์” เขากล่าวพลางแสยะยิ้ม

ก้าวเข้าสู่อ้อมแขนคอมมิวนิสต์

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เผด็จการทหารได้ครอบครองอำนาจอีกครั้งพร้อมกับเข้าปราบปรามมวลชนนักศึกษาและผู้ประท้วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างโหดเหี้ยม ข่าวคราวเหตุการณ์การสังหารหมู่นักศึกษาและผู้ประท้วงได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านของสมคิด 2-3 วันหลังจากนั้น กองกำลังของรัฐและรัฐสภาต่างไล่ล่ากำจัดพวกคอมมิวนิสต์และกลุ่มคนที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “ศัตรูของรัฐ” และไม่นานพวกเขาก็ได้เข้าล้อมพื้นที่เป้าหมาย สมคิด ในวัย 26 ปี ต้องหนีออกจากหมู่บ้านโดยไม่มีทางเลือก เขาซ่อนตัวอยู่ในบ้านทาวน์เฮ้าส์ของเพื่อนคนหนึ่งจนกระทั่งมีสายลับคอมมิวนิสต์ที่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่เสนอพาเขาไปยังฐานที่มั่นที่ป่าดงมูลทางตอนเหนือจังหวัดกาฬสินธุ์

สมคิดกล่าวว่าก่อนหน้านั้นตัวเขาเองไม่เคยติดต่อกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งประกาศสงครามกองกำลังสู้กับรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในพ.ศ. 2517 “ตอนนั้น พคท. มีสายลับทั่วอีสานเลย แล้วผมก็มารู้ทีหลังว่าพวกเขาเฝ้ามองดูผมมาตั้งแต่เมื่อตอนผมย้ายกลับมาจากกรุงเทพฯ แล้ว” เขาเล่า

ทันทีทันใดหลังจากการฆ่าล้างผลาญเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พคท. ได้ชักชวนกลุ่มคนที่แข็งขืนต่อนโยบายรัฐให้เข้าร่วมการต่อสู้ปฏิวัติติดกำลัง โดยทางพรรคกล่าวว่ากลุ่มอำนาจในกรุงเทพฯ และรัฐบาลอเมริกันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการฆ่าประชาชน มีนักศึกษา นักวิชาการซ้ายจัดและแกนนำเกษตรกรและแรงงาน ประมาณ 3,000 คนตัดสินใจเข้าร่วมการร้องเชิญและหนีเข้าป่าเพื่อเข้าร่วมกระบวนการ พคท.

แต่ก็เป็นเรื่องที่สนใจหากมองว่าการไล่ล่าคอมมิวนิสต์จากฝ่ายรัฐเฉกเช่นการไล่ล่าแม่มดต่างหากที่เป็นฝ่ายผลักดันให้สมคิดเข้าสู่อ้อมแขนของนักสู้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ตัวเขาเองไม่เคยเข้าร่วมคอมมิวนิสต์มาก่อน แต่เคยเป็นเพียงผู้ที่เชื่อมั่นในการปฏิวัติสังคมนิยม ความแตกต่างบางๆ ที่ดูเหมือนว่าจะลบเลือนหายไปจากความทรงจำของคนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบัน เมื่อเดินทางมาถึงฐานที่มั่น พคท. สมคิดได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และการได้มีส่วนร่วมกับพรรคสังคมนิยมทำให้สมาชิก พคท. นับถือเขาเสมือนเป็นสมาชิกอาวุโสอีกคนหนึ่ง “พวกเขาค่อนข้างเคารพผม แต่ผมก็ยังถือว่าเป็นแค่เด็กคนนึงไง” สมคิดกล่าว

ภายหลังที่คณะผู้นำ พคท. ได้ชักชวนให้สมคิดเข้าร่วมการประชุมผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งสำคัญที่ประเทศลาว เขาได้ร่วมเดินเท้าเป็นระยะหว่ากว่าสัปดาห์เพื่อไปยังฝั่งชายแดนไทย-ลาว จากนั้นสมคิดได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ไปเมืองไชแขวงอุดมไซย “มีแต่ความหรูหราเต็มไปหมด” สมคิดกล่าว “มีคนรับใช้ มีซิการ์ให้สูบฟรี แล้วก็มีไวน์จากยุโรปแช่เต็มตู้เย็น” เขาเล่าเสริม

สมคิดรู้สึกภูมิใจที่ได้พบปะกับคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ระดับสูง เช่น อุดม ศรีสุวรรณ นักทฤษฎีคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ และ พยอม จุลานนท์ นายทหารไทยที่หลบหนีออกนอกประเทศ (แต่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ก็พลิกแพลงหักมุม นั่นคือ บุตรชายของพยอม จุลานนท์ ได้รับมอบหมายให้นำปฏิบัติการทางทหารต่อสู้กับนักรบคอมมิวนิสต์ และได้รับเลือกแต่งตั้งเป็นรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารพ.ศ. 2549)

ปฏิวัติล้มเหลวและการหาภารกิจใหม่

สมคิดพบว่าการต่อสู้ด่วยอาวุธไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นและไม่นานหลังจากนั้นเขาก็รู้สึกว่าการทำงานร่วมกับ พคท. ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป สมคิดไม่พอใจโครงสร้างลำดับชั้นของพรรคและไม่เห็นด้วยที่พรรคเป็นพันธมิตรกับจีนและมีการปรับใช้อุดมการณ์ของเหมา ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้พรรคแยกตัวออกมาจากการเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์อื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์

เมื่อนโยบายต่างประเทศของจีนพลิกผันในปลายทศวรรษ 2516 และระบอบการปกครองของจีนได้เปลี่ยนมาเป็นมิตรกับรัฐบาลไทย พคท. จึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากจีนเฉกเช่นที่เคยให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อกิจกรรมต่างๆ อีกต่อไป ไม่นานหลังจากนั้น ความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ระหว่างแกนนำพรรคและนักศึกษานักกิจกรรมก็ได้ทำให้นักศึกษาแยกตัวออกมาจากการเคลื่อนไหวของ พคท. และทะยอยออกจากป่ากลับมาเมือง

นักศึกษาที่ละทิ้งการต่อสู้ปฏิวัติส่วนใหญ่ต่างรู้สึกเหน็ดเหนื่อยท้อแท้ แต่สมคิดที่ตัดสินใจเดินทางกลับมายังหมู่บ้านของตนเองกลับมีความหวังที่จะสานต่องานเก่าที่เขาหยุดทิ้งไป สมคิดเริ่มโครงการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง และก่อตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นที่บ้านซับแดง “พคท. ล่มสลาย แต่สำหรับผมแล้ว ทุกอย่างมันเพิ่งเริ่มขึ้น” สมคิดกล่าว

สมคิดยอมรับว่าประสบการณ์การปฏิวัติคอมมิวนิสต์ที่สะดุดลงและการปกครองประเทศโดยทหารกลับมาอีกครั้งใน ปี 2523 ได้ส่งผลต่อนักนิยมฝ่ายซ้ายคนยุคเดียวกันกับสมคิด หลังจากที่ทิ้งปืนทิ้งป่ากลับเข้ามาในเมือง หลายคนตกอยู่ในสภาวะช็อกต่อสถานการณ์ทางการเมือง ขณะเดียวกันหลายปีต่อมาบางคนก็ปรากฎตัวอีกครั้งในภาพของนักพัฒนาสังคมที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งในประเทศและดูมีอนาคตไกล พวกเขาเหล่านี้ดูเหมือนจะหันหลังให้กับองค์กรการเมืองต่างๆ และมักแสดงทัศนคติตรงข้ามระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน

ภายหลังจากการที่สมคิดทำให้ภูมิภาคอีสานแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของชีวิตตนเองอีกครั้ง เขาก็เริ่มถอยตัวเองจากเรื่องการเมืองและได้เปลี่ยนมาสนใจประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ระหว่างนั้น ความผิดหวังต่อระบบการเมืองก็ค่อยๆ ได้คลืบคลานเข้ามาในชีวิตของเขา

สมคิดรู้สึกสนุกกับการเมืองแบบเลือกตั้งเพียงระยะเวลาสั้นๆ ครั้งสุดท้ายในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็แพ้พ่ายไป “ผมไม่มีเงินเอาไปแจกจ่ายให้ใคร คนที่มีเงินเยอะก็ซื้อสิทธิ์ซื้อเสียงได้หมด” เขาเล่า “แต่ถ้ามองอีกทางหนึ่ง ก็ถือเป็นเรื่องดีนะ เพราะถ้าผมได้รับเลือกไปอยู่ในสภา ผมอาจจะกลายเป็นคนไม่ดีก็ได้”

DSC03136

ถนนดินลูกรังทางไปศูนย์โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมของสมคิด ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบ้านซับแดง จ.ขอนแก่นประมาณสองสามกิโลเมตร

เย้ยหยันการเมือง สานต่องานเคลื่อนไหว

รถมอเตอร์ไซค์เสียงดังก้องกระหึ่มที่ขับตามถนนดินลูกรังตรงมายังศูนย์โครงการพัฒนาของสมคิด ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างทุ่งนาสองฟากฝั่งไกลออกมาจากบ้านซับแดง พอขับมาถึงศูนย์ ลูกชายของสมคิดก็ลงจากรถมอเตอร์ไชค์ เขาวางถุงเบียร์และน้ำแข็งลง แล้วก็หายตัวเข้าไปหลังบ้านดินเพื่อจัดเตรียมอาหารมื้อเที่ยง ลูกชายอายุสามสิบต้นๆ คนนี้คือคนที่คอยดูแลสมคิด ผู้เป็นพ่อ ซึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีสุขภาพที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก

ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าอดีตนักเคลื่อนไหวอย่างสมคิดแทบจะไม่มีศรัทธาต่อพัฒนาการทางการเมืองของไทยแม้แต่นิดเดียว “ถ้าให้ผมมองดูอนาคตของประเทศนี้แล้วล่ะก็ สิ่งที่ผมเห็นมีแต่ความมืดมน”เขากล่าว “ลองมองดูรอบตัวคุณซิ มีแสงสว่างสักที่ไหม”

สมคิดดูถูกการเมืองในประเทศ และขณะที่เขาเองก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเมื่อปีกลาย เขาเรียกรัฐบาลทหารชุดนี้ว่า”ก็ดีกว่าไม่ทำะไรเลย”

การเมืองไทยมักเป็นพื้นที่ให้กับ”คนที่ต้องการผลประโยชน์และอำนาจ” สมคิดกล่าว แต่คอร์รัปชั่นและการถือพวกพ้องบานปลายขึ้นเมื่อทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามามีบทบาท

“ทักษิณขายชาติ ลีกวนยูเป็นคนซื้อ” สมคิดพูด ขณะกล่าวอ้างถึงข้อตกลงข้อพิพาทระหว่างครอบครัวชินวัตรและหุ้นเทมาเส็กที่สิงคโปร์เป็นเจ้าของในพ.ศ.2549

ครอบครัวชินวัตรขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป บริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของตัวเองให้กับรัฐบาลสิงคโปร์ ทำให้เกิดการคัดค้านอย่างรุนแรงในสังคมต่อประเด็นการละเว้นภาษีที่ไม่เป็นธรรมของครอบครัวที่ค่อนข้างมีอำนาจในประเทศ ทักษิณถูกกล่าวหาว่า “ขาย” สมบัติของชาติ ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการขายหุ้นดังกล่าวผลักดันให้มีการประท้วงต่อต้านทักษิณมากขึ้นอันนำมาสู่การรัฐประหารในพ.ศ. 2549

สมคิดเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับวาระทางการเมืองล่าสุดของอดีตนักศึกษานักเคลื่อนไหวรุ่นเดียวกันในยุค 2516 “พวกฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงคิดว่าจะทำให้ทักษิณทำลายระบบทุนนิยมและสถาบันได้จริง” เขากล่าว อ้างถึงแกนนำเสื้อแดงหลัก 2 คน

“ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นนักสังคมนิยมแล้วก็ไม่เห็นด้วยกับสถาบันกษัตริย์” เขาพูด “แต่ผมก็เรียนรู้ว่าไม่มีกษัตริย์คนไหนในโลกที่ตรากตรำทำงานอย่างหนักเหมือนในหลวงของเรา” สมคิดค้นพบความรักและศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยผ่านความสนใจด้านการอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม อันเป็นภารกิจที่สถาบันกษัตริย์ไทยได้สนับสนุนมาโดยตลอด สมคิดกล่าวขณะที่ลูกชายกำลังเดินกลับมาหลังจากหายเข้าครัวไปทำอาหาร เมื่อวางจานผัดกะเพรางูเห่าลงไม่นาน เหล่ามดแดงที่หิวโหยก็รีบพากันเดินเป็นขบวนมาที่จานอาหารเมนูพิเศษนี้

แต่ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง ประวัติศาสตร์เองก็ได้เล่นตลกกับเพื่อนคนรุ่นเดียวกันกับสมคิดหลายคน ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเป็นแกนนำกลุ่มฝ่ายก้าวหน้าที่ปลุกระดมให้มีการปฏิวัติประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ วันนี้หลายคนอาจจะแทบไม่มีวิสัยทัศน์ทางการเมืองอีกต่อไป และเช่นเดียวกับผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคนได้สังเกตอดีตนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวในปัจจุบันดูเหมือนจะกำลังสนับสนุนกลุ่มคนที่พยายามแช่แข็งประเทศ

ในทัศนะของสมคิด สิ่งที่เกิดขึ้น “แตกต่างไปจากเดิม” และเขาเองก็ได้ข้ามผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตมาแล้ว “ปัญหาสำคัญของโลกทุกวันนี้คือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม” สมคิดกล่าว “ปัญหาด้านการเมืองเป็นปัญหาขนาดเล็กหากเปรียบเทียบกับปัญหาของโลก”

ขณะที่สมคิดหยิบมดแดงตัวเล็กตัวน้อยออกจากจานผัดกะเพรางูเห่า คนงานก่อสร้างก็เดินออกมาจากด้านหลังสวนที่เต็มไปด้วยพุ่มต้นไม้สีเขียวเข้มและเอาใบเสร็จมาให้สมคิด

ถัดจากบ้านดิน สมคิดกำลังก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ และอดีตนักศึกษานักเคลื่อนไหววัย 65 ปีผู้นี้ก็คิดวางแผนที่จะทำโครงการใหม่ที่เน้นเกษตรปลอดสารเคมี สมคิดปฏิญาณตนที่จะต่อสู้กับอิทธิพลธุรกิจการเกษตรโลกที่ส่งผลร้ายต่อเกษตรกรไทย

“เกษตรกรกำลังฆ่าตัวเองตายอย่างช้าๆ ผ่านการใช้ปุ๋ยเคมีในไร่นาของตนเอง”สมคิดพูด “สิ่งที่เราจำเป็นต้องมีตอนนี้คือ การปฏิวัติเขียวครั้งใหม่”

image_pdfimage_print