ในอดีตคนในพื้นที่อีสานไม่ได้ถือว่าตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย แต่กลับมีสำนึกว่าตนเป็นคนของฝั่งทางเวียงจันทน์ จนกระทั่งการปฎิรูปการปกครองครั้งใหญ่ในสมัยราชกาลที่ 5 ทำให้มีการผนวกเอาดินแดนอีสานเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐไทย นอกจากในแง่ของเขตแดนแล้วยังมีกระบวนการพลวัตมากมายที่ทำให้ภาคอีสานถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งกับรัฐไทยอย่างแนบแน่นดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อีสานเรคคอร์ดมีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับ รศ.ดร บัวพันธ์ พรหมพักพิง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์กระบวนการผนวกรวมอีสานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย และบทบาททางการเมืองของคนในภูมิภาคอีสาน

AjanBuaphan

“คนอีสานในสมัยนี้นิยามตัวเองว่าเป็นคนไทยเป็นพลเมืองของประเทศไทยแน่ๆ มาถึงยุคนี้แล้วคนอีสานส่วนใหญ่ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นลาว แต่มีความรู้สึกในความเป็น “ชาติ” แบบเดียวกับผู้ปกครองไหมอันนี้ไม่แน่” รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง” ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสังคม และอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าว

IR: ก่อนที่อีสานจะถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย คนในแถบอีสานมีความสัมพันธ์กับรัฐไทยหรือรัฐอื่นอย่างไร

ก่อนที่จะเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ขึ้น (Modern Nation State) รัฐจะมีลักษณะเป็นนครรัฐ ลักษณะของอำนาจคือกลุ่มที่อยู่นอกศูนย์กลางอำนาจก็พยายามจะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางอำนาจต่างๆ ซึ่งมีอยู่หลายศูนย์อย่างเช่นที่ สยาม พม่า หรือที่เวียดนาม วิธีรักษาความสัมพันธ์ก็คือเจ้าเมืองเล็ก ๆ ต่าง ๆ จะต้องส่งเครื่องบรรณาการให้กับทุกศูนย์อำนาจใหญ่ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการถูกกวาดต้อนจากศูนย์อำนาจใหญ่นั้น ๆ พื้นที่ในแถบอีสานในสมัยนั้นจะไม่ค่อยมีคนอาศัยอยู่ ผู้คนจะอาศัยอยู่ทางฝั่งลาวเป็นส่วนใหญ่ คนในฝั่งลาวเองก็ส่งเครื่องบรรณาการให้ทั้งพม่า เวียดนาม หรือ สยามเองเพื่อจะรักษาดุลอำนาจนั้นไว้ แต่การส่งขึ้นบรรณาการไม่ได้หมายความว่าจะนับตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับศูนย์อำนาจนั้น ๆ อีสานเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่เกิดความขัดแย้งในราชสำนักของเวียงจันทน์ ผู้นำในเวียงจันทน์ส่วนหนึ่งคือกลุ่มของพระวอ พระวอก็พาผู้คนหนีจากเวียงจันทน์ข้ามมาอยู่ฝั่งอีสาน จากนั้นทางเวียงจันทน์จึงส่งคนมาปราบกลุ่มพระวอพระตา กลุ่มพระวอพระตาจึงหนีมาอยู่ที่ดอนมดแดงซึ่งก็คือจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน ทางกลุ่มคนเหล่านี้จึงไปขอความช่วยเหลือเป็นกำลังคุ้มกันกับพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อป้องกันไม่ให้ทางเวียงจันทน์มาตีกวาดต้อนคนกลับไป นับจากนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการที่สยามแผ่อิทธิพลเข้ามาในบริเวณอีสาน แต่ว่าก่อนหน้านั้นคนอีสานในกลุ่มนี้เขาก็ไม่ได้ถือว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม แต่หากถามว่าเป็นส่วนหนึ่งของเวียงจันทน์ไหมก็บอกยาก เพราะเวียงจันทน์เองก็แบ่งออกไปหลากหลายส่วนด้วยกัน ถ้าพูดถึงการนิยามตนเองคนอีสานเขาก็ยังถือว่าตัวเองว่าเป็นคนของทางเวียงจันทน์มากกว่า ย้อนเมื่อไม่นานไปในระยะแค่ 70 – 80 ปีที่ผ่านมาคนในหลายพื้นที่ของอีสานเองก็ยังหลงเหลือสำนึกที่ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของเวียงจันทน์อยู่เลย ในสมัยผมเด็ก ๆ รูปที่แขวนอยู่ที่วัดยังเป็นรูปของกษัตริย์ของลาว เพลงที่นิยมร้องก็ยังเป็นเพลงมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติลาวอยู่ จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งก็คือช่วงรอยต่อกรุงธนบุรี มาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีสงครามครั้งใหญ่ระหว่างสยามและเวียงจันทน์ และมีการกวาดต้อนคนข้ามแม่น้ำฝั่งน้ำโขงเข้ามา ทำให้ในอีสานเริ่มมีประชากรที่หนาแน่นขึ้น จนเกิดเมืองต่าง ๆ ขึ้นมามากมายแล้วเมืองเหล่านั้นส่วนใหญ่ส่งเครื่องบรรณาการขึ้นตรงกับสยาม รัฐไทยเองเพิ่งจะมีการนิยามอาณาเขตที่แน่นอนในช่วงราชกาลที่ 4-5 ถึงแม้คนอีสานจะถูกโดยเส้นแบ่งอาณาเขตให้อยู่กับสยาม สำหรับคนอีสานเองสำนึกที่ว่าตนเป็นคนของลาวหรือเป็นไพร่ของกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางเวียงจันทน์ สำนึกเหล่านี้ก็ยังมีอยู่

IR: รัฐไทยเริ่มรวมศูนย์ผนวกเอาอีสานเป็นส่วนหนึ่งในช่วงใดและกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นอย่างไร

ในแง่ของดินแดน การผนวกอีสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม เริ่มในตอนที่จักรวรรดินิยมอังกฤษกับฝรั่งเศสเข้ามา โดยเฉพาะในช่วงราชกาลที่ 5 สิ่งที่สยามทำก็คือการอ้างความชอบธรรมเหนือดินแดนในแถบอีสาน จนมีข้อพิพาทกับทางฝรั่งเศสกว่าจะได้เป็นเขตแดนทางอีสานในปัจจุบัน แต่การบูรณาการคนอีสานเข้ากับสยามที่มีผลมากที่สุด คือหลังมีจัดการศึกษารูปแบบใหม่ซึ่งมีเป็นการศึกษาแบบที่มีลักษณะเป็นหลักสูตร โดยเริ่มจากมีพระไปเรียนหลักสูตรเหล่านี้ที่ส่วนกลาง แล้วนำมาขยายในท้องถิ่น ตอนแรกพระเป็นคนสอนหนังสือ เป็นการเอาเรื่องการเปลี่ยนอุดมการณ์ไปใส่ไว้ในประเพณีศาสนา มีการบรรจุเนื้อหาประวัติศาสตร์ของ “ไทย” เช่น สุโขทัยไปจนถึงอยุธยา แต่ไม่มีประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น การใช้ภาษาไทยภาคกลางเป็นสื่อในการสอน ในปัจจุบันกลับมีความพยายามส่งเสริมให้มีการเรียนประวัติท้องถิ่นในโรงเรียนของรัฐ ด้วยเป็นห่วงว่าประวัติศาสตร์เหล่านี้จะเลือนลางและหายไปในที่สุด

ยังมีกระบวนการณ์ผนวกอีสานเข้ากับสยามที่เพิ่มเข้ามาตอนหลัง คือการบูรณาการเศรษฐกิจอีสานเข้าไปเป็นส่วนเดียวกับเศรษฐกิจส่วนกลางหรือเป็นส่วนเดียวกับเศรษฐกิจโลก การบูรณาการเข้าไปเป็นเศรษฐกิจเดียวกับเศรษฐกิจชาติมีจุดเปลี่ยนสำคัญคือพ.ศ. 2398 ตอนนั้นสยามได้ไปทำสนธิสัญญาเบาริงกับประเทศอังกฤษ การทำสนธิสัญญาเบาริงเท่ากับเป็นการทำลายการผูกขาดการค้าขายของราชสำนัก ทำให้อังกฤษสามารถเข้ามาค้าขาย ซื้อข้าว หรืออยากซื้ออะไรก็ซื้อได้อย่างสะดวก คนไทยก็ขยายการผลิตสินค้าส่งออกไปมากขึ้น ผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก แล้วผลพวงดังกล่าวก็ขยายเข้ามาในอีสาน จุดที่ขยายมากที่สุดคือพื้นที่บริเวณทางรถไฟ คือ สมัยก่อนภาคอีสานจะมีภูเขากั้นอยู่กับภาคกลางทำให้การส่งสินค้าเป็นไปได้ ลำบาก การสร้างเส้นทางคมนาคมในสมัยก่อนมีเป้าหมายหลักอยู่สองอย่าง คือ ด้านความมั่นคง ทำให้รัฐสามารถเข้ามาดูแลส่งกำลังทหารมาได้ แต่หน้าที่สำคัญอีกอย่างก็คือมันผนึกเอาเศรษฐกิจอีสานเข้าไปสู่เศรษฐกิจส่วน กลาง การสร้างเส้นทางคมนาคมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการสร้างถนนมิตรภาพ ถนนมิตรภาพถูกสร้างเพื่อเป็นถนนทางยุทธศาสตร์ที่จะนำทหารจากส่วนกลางขึ้นมา เพื่อจะป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่แพร่กระจายอยู่ในภาคอีสาน แต่ผลที่ตามจากการสร้างถนนมิตรภาพกลับส่งผลทางเศรษฐกิจมาก หลังจากสร้างถนนมิตรภาพเสร็จ ก็มีการสร้าง “feeding road” หรือถนนแยกจำแนกแยกย่อยเข้าไปที่ต่าง ๆ ตามมา เริ่มแรกก็ใช้เพื่อเข้าไปปราบคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ต่าง ๆ ถนนเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ชุมชนเล็ก ๆ ในอีสานถูกผนวกเข้าไปกับระบบเศรษฐกิจใหญ่ กระบวนการอันนี้ทำให้อีสานไม่ใช่เพียงถูกผนวกเข้าไปส่วนหนึ่งของรัฐแต่เป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลก ผมคิดว่าอันนี้มีผลต่อความคิดวิธีคิดของคนมาก

IR: กลุ่มคนในอีสานที่เคยลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐมาตลอด อย่างเช่น กบฏผีบุญ กลุ่มคนเหล่านี้มีความแตกต่างกันอย่างไร

เรื่องการก่อกบฏของชาวนาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปไม่ใช่เฉพาะภาคอีสาน ทางภาคเหนือก็มีกบฏเงี้ยว แล้วมันก็เกิดขึ้นทั่วโลกพร้อมช่วงที่รัฐชาติสมัยใหม่ก่อตัวขึ้น การบังคับเอาแรงงานเอาส่วนเกินจากชาวนา มันก็จะเกิดการต่อต้านเป็นเรื่องธรรมดา “กบฏผีบุญ” หรือ กบฏผู้มีบุญ เองก็ถือได้ว่าเป็นกบฎชาวนา โดยจะใช้อุดมการณ์ในการต่อสู้อยู่สองส่วน ส่วนแรกคือการที่เชื่อว่าเวียงจันทน์จะกลับมารุ่งเรือง ส่วนที่สองคือการกับมาเกิดของผู้มีบุญหรือ reincarnation ของคนที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป โดยรวมคือใช้ความเชื่อที่ว่าต้องการจะกลับไปรวมกับความรุ่งเรืองในอดีตเพื่อที่จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งจะแตกต่างจากการต่อสู้ในยุคของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่ต้องการจะสร้างระบอบการปกครองอีกแบบหนึ่งซึ่งเชื่อเรื่องความเท่าเทียม เรื่องการกระจายทรัพยากรที่เท่าเทียมกัน ในความคิดของผมสิ่งหนึ่งที่ พคท. ในภาคอีสานทำไม่ได้คือ พคท. เองก็ไม่สามารถจัดตั้งทางด้านอุดมการณ์ได้อย่างครอบคลุม คือการจัดตั้งให้เห็นถึงการการกดขี่ของรัฐมันไม่มีเสมอกัน จะไปเข้มข้นในกลุ่มชาติพันธุ์พวกเช่น ภูไท ส่วย คนกลุ่มนี้เป็นคนที่อยู่ห่างไกลออกจากศูนย์กลางอำนาจก็จะถูกเอารัดเอาเปรียบจากรัฐมาโดยตลอด คนกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะมีชาวบ้านไปเข้าร่วมจนกระทั่งผู้นำที่เข้ารวมกับ พคท. ถูกฝึกในเรื่องอุดมการณ์ ส่วนกลุ่มที่อยู่ใกล้ทางคมนาคมหรืออยู่ในเมืองจะไม่ค่อยมีชาวบ้านที่เข้าร่วมกับ พคท. ถ้าจะมีก็เป็นนักศึกษาที่อยู่ในเมือง และในยุคของการเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาชนเพื่อต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็จะต่างออกไปคือจะไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน อุดมการณ์ทางการเมืองในที่นี้หมายถึงความต้องการจะเข้าไปเปลี่ยนระบบการปกครอง โดยหลัก ๆ นปช. ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือต้องการแชร์อำนาจเท่านั้น

IR: ปัจจุบันคนอีสานมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐไทยมากน้อยแค่ไหน มีความเหมือนและแตกต่างกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันอย่างไร

คนอีสานในสมัยนี้นิยามตัวเองว่าเป็นคนไทยเป็นพลเมืองของประเทศไทยแน่ ๆ มาถึงยุคนี้แล้วคนอีสานส่วนใหญ่ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นลาว แต่มีความรู้สึกในความเป็น “ชาติ” แบบเดียวกับผู้ปกครองไหม อันนี้ไม่แน่ ที่เห็นชัดอยู่ตอนนี้คือว่า “ไม่ใช่” เขารู้สึกว่าเค้าไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของผู้ปกครอง เขาถือว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ถ้าจะถามมันเหมือนภาคใต้ไหมก็คงตอบว่าไม่เหมือนกัน ลักษณะทางชาติพันธ์ ศาสนา รวมไปถึงภาษาของคนอีสานกับสยามนั้นไม่ต่างกันมากนัก คนในภาคใต้มีลักษณะดังกล่าวที่ต่างออกไป ผมไม่ได้บอกว่าศาสนาเป็นบ่อเกิดแห่งความรุนแรง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการต่อต้านรัฐ เขามองว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ แต่รัฐใช้ศาสนามาเป็นข้อกีดกัน มันมีสมัยหนึ่งที่รัฐไทยพยายามให้คนใต้เปลี่ยนศาสนาด้วยซ้ำไป คือภาคใต้จะมีเงื่อนไขที่ต่างออกไป ศาสนาเองก็ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง หลักในการปกครองของไทยก็ไม่ยอมรับความแตกต่างอันนี้ พูดง่าย ๆ คือรัฐไทยบอกว่าเรามีสิทธิเสรีภาพ แต่พอลงไปในระดับชุมชนมันไม่เป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะคนที่ถืออำนาจเป็นคนที่ไม่เข้าใจศาสนาและวัฒนธรรมของเขา ฉะนั้นข้อเรียกร้องของคนภาคใต้ก็ต่างออกไป ข้อเรียกร้องมันไปถึงขั้นที่จะขอความมีอิสระในระดับหนึ่งที่จะปกครองตนเอง ข้อเสนอแบบนี้มันเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐไหม ถ้ารัฐยอมรับเรื่องความหลากหลายนะ คิดว่ามันไม่เป็นอันตรายอะไรเลยเขาก็ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบเดียวกัน ในความเห็นส่วนตัวของผมนะ

IR: วาทกรรม โง่ จน เจ็บแสดงให้เห็นความเข้าใจเกี่ยวกับคนอีสานของคนพื้นที่อื่นว่าอย่างไร

คำว่า “โง่ จน เจ็บ” เป็น วาทกรรรมที่มีอยู่เดิมอยู่แล้วแต่มันกลับมาเด่นชัดตอกย้ำอีกทีในช่วงการ ต่อสู้ทางการเมืองที่คนชนชั้นล่างจะเข้าไปแชร์อำนาจกับคนข้างบน มันไปถึงขั้นที่ว่าคนชั้นล่างมันไม่ฉลาด มันก็เลือกผู้นำมาคอรัปชั่นทำให้บ้านเมืองล่มจม ดังนั้นจะปล่อยให้เลือกตั้งไม่ได้ แน่นอนเรื่องเหล่านี้มันไม่ได้เป็นภาพที่ใช้แทนของคนอีสานอีกต่อไป คนอีสานไม่ได้อยากจนแบบดั้งเดิมแล้ว แบบดินแยกแตกระแหงไม่มีจะกินอะไรแบบนี้ ตอนนี้คนอีสานเริ่มประกอบกิจการขนาดเล็ก ๆ เป็นชาวนาก็ไม่ได้ทำนาแบบเดิม การศึกษาก็ไม่ใช่แบบเดิม การเข้าถึงสื่ออะไรก็มีมากขึ้น เรื่องโรคภัยไข้เจ็บการเข้าถึงบริการสาธารณะสุขก็ไม่ได้แตกต่างจากที่อื่น ๆ คำว่า “โง่ จน เจ็บ” ที่ถูกเสนอในตอนนี้มันเป็นวาทกรรมที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับ political action ก็คือการกระทำทางการเมือง ในสมัยก่อนคำว่าโง่จนเจ็บ มันเป็นการวิเคราะห์การพัฒนา ที่มันก็มีส่วนถูกนะ วัฏจักร “โง่ จน เจ็บ”อย่างนี้ โดยมันปรากฏขึ้นมาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ในสมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นมาเป็นนายก ในแผนฉบับนี้เขาก็เสนอเรื่องการพัฒนาความยากจนโดยเน้นที่พื้นที่ โดยมีวิธีการใส่เรื่องการจ้างงาน การศึกษาอะไรพวกนี้เข้าไป ให้กระทรวงต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน สาธารณะสุขก็ไปสร้างส้วม ไปชั่งน้ำหนักเด็ก ศึกษาธิการไปรณรงค์ให้คนรู้หนังสือ กระทรวงเกษตรก็เอานั้นเอานี้เข้าไป นี่คือโง่จนเจ็บสมัยแรก สมัยนี้มันไม่เหมือนเดิมแล้วเขาไม่ได้ไปหาสร้างส้วม มันถูกใช้มาตอกย้ำคนพวกนี้ว่าไม่ควรเข้ามายุ่งกับเรื่องการเมือง

image_pdfimage_print