กลุ่มอนุรักษ์ฯ อุดรต้านเหมืองโพแทชร้อยกว่า บุกค่ายทหารขอเข้าปรับทัศนคติด้วยกันทั้งหมด

ภาพตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ทำการอ่านคำประกาศของทางกลุ่มในกิจกรรมขบวนแห่ขอพรจากอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา โดยคำในตอนท้ายของประกาศฉบับดังกล่าวมีคำว่า “เผด็จการอำนาจนิยมจงพินาศ” จึงเป็นเหตุให้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์เรียกตัวเข้าไปปรับทัศนคติที่ค่ายมณฑลทหารบกที่ 24 เครดิตภาพ : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 เจ้าหน้าที่ทหารค่ายมณฑลทหารบกที่ 24 ได้โทรศัพท์ถึงชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเพื่อให้เข้าปรับทัศนติที่ค่ายมณฑลทหารบกที่ 24 จ.อุดรธานี ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 สืบเนื่องจากวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีได้ทำขบวนแห่ไปขอพรจากอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม โดยเหตุที่เจ้าหน้าที่ทหารไม่พอใจนั้นเป็นเพราะชาวบ้านถือป้ายผ้ารณรงค์คัดค้านเหมืองแร่โพแทชและใช้คำว่า “เผด็จการอำนาจนิยมจงพินาศ” ขณะอ่านคำประกาศ เจ้าหน้าที่ทหารจึงบอกชาวบ้านให้ส่งตัวแทนเข้ามาพูดคุยจำนวน 6 คน
วันนี้ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 9.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีมากกกว่าหนึ่งร้อยคนได้เดินทางมายังบริเวณหน้าประตูทางเข้าค่ายมณฑลทหารบกที่ 24 จ.อุดรธานี และยืนกรานกับเจ้าหน้าที่ว่าจะเข้าไปพูดคุยด้วยกันทั้งหมด หลังจากเจรจาทางทหารอนุญาติให้ส่งตัวแทนเข้าไป 9 คนเท่านั้น ต่อมาเวลา 10.00 น. ตัวแทนชาวบ้านทั้งหมด 9 คน จึงได้เดินทางเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารข้างในบริเวณค่าย โดยมีชาวบ้านอีกจำนวนมากกว่าร้อยคนเฝ้ารอให้กำลังใจอยู่ด้านนอก
ภายในห้องที่ทำการพูดคุยปรับทัศนคติ ชาวบ้านให้เหตุผลการทำขบวนแห่เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า เนื่องจากทางบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์เปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ได้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่บริเวณอำเภอโนนสูง และก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ทหารเองก็ได้ให้บริษัทฯ ใช้พื้นที่ในค่ายทหารทำการชี้แจงเกี่ยวกับการทำเหมือง จึงทำให้ชาวบ้านไม่พอใจเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นธรรม ชาวบ้านจึงได้จัดขบวนแห่ไปยังอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เพื่อเป็นการปลุกกำลังใจในการต่อสู้ภายในกลุ่มฯ หลังได้ฟังเหตุผลจากชาวบ้าน ทางเจ้าหน้าที่ได้บอกกับตัวแทนกลุ่มชาวบ้านว่า ทหารไม่ได้ห้ามเรื่องการทำขบวนแห่ แต่ไม่พอใจเรื่องการชูป้ายรณรงค์และใช้คำว่า “เผด็จการ” ในคำประกาศ เพราะถ้านายทหารที่มียศสูงกว่าเห็นเข้า จะสามรถตำหนิเจ้าหน้าที่ทหารได้ว่าไม่สามารถควบคุมชาวบ้าน
หลังการพูดคุยเสร็จสิ้นทางเจ้าหน้าที่ทหารจึงได้ให้ตัวแทนชาวบ้านทั้ง 9 คนเขียนชื่อพร้อมที่อยู่และถ่ายรูปร่วมกัน โดยก่อนชาวบ้านเดินทางกลับนั้น ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้นำเอาผ้าห่มมาแจกให้กับชาวบ้านอีกด้วย ซึ่งทุกครั้งที่มีการเรียกตัวชาวบ้านเข้าปรับทัศนคติที่ค่าย ทหารมักจะนำมอบผ้าห่มให้กับชาวบ้านอยู่เสมอ