วิถีชาติพันธุ์อีสาน “ภาวการณ์กลายเป็น” ในกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่เสรีนิยมใหม่ ว่าด้วย พรมแดนความรู้ในการศึกษาชาติพันธุ์อีสาน

วิถีชาติพันธุ์อีสานกับปรากฎการณ์การกลายเป็นอัตลักษณ์ของชาติภายใต้ “ความเป็นไทย” ซึ่งถูกจัดวางตำแหน่งใหม่โดยรัฐส่วนกลาง กระแสการยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ นำมาสู่การรื้อฟื้นอัตลักษณ์ชาติพันธุ์อีสานใหม่เพื่อตอบสนองอุดมการณ์แห่งรัฐภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ สร้างความยุ่งยากต่อการนิยามความเป็นชาติพันธุ์อีสานของผู้คนว่าเป็นอย่างไร ความลื่นไหลของปรากฎการณ์เกี่ยวกับการศึกษาชาติพันธุ์ในปัจจุบัน ยังนำความท้าทายใหม่แก่ผู้สนใจศึกษาวิถีชีวิต, ระบบความคิด,และความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ในอีสานอีกด้วย

วันที่ 7 – 8 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา ม.เชียงใหม่กับศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ร่วมกันจัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติหัวข้อ วิถีชาติพันธุ์อีสาน “ภาวการณ์กลายเป็น” ในกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่เสรีนิยมใหม่

 บรรยากาศภายในงานเสวนาระดับชาติว่าด้วย วิถีชาติพันธุ์อีสาน “ภาวการณ์กลายเป็น” ในกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่เสรีนิยมใหม่ จัดขึ้นที่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น

บรรยากาศภายในงานเสวนาระดับชาติว่าด้วย วิถีชาติพันธุ์อีสาน “ภาวการณ์กลายเป็น” ในกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่เสรีนิยมใหม่ จัดขึ้นที่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น

ภายในงานยังมีเวทีให้นักศึกษา , นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับชาติพันธุ์อีสานอีกด้วย

เดอะอีสานเรคคอร์ด ถอดความจากงานเสวนาในช่วงเช้าของวันที่ 7 เมษายน 2559 ซึ่งมีหัวข้อว่า “พรมแดนความรู้ทางชาติพันธุ์อีสาน” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาดังนี้ รศ.ดร.สมศักดิ์ ศรีสันติสุข คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ,รศ.ดร. สมหมาย ชินนาค คณะศิลปะศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ,รศ.ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น และ ดร.จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ พหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น เริ่มต้นด้วยการปูพื้นฐานการศึกษาทางชาติพันธุ์ในอีสานผ่านการค้นคว้างานวิจัย ซึ่งแบ่งช่วงเวลาการศึกษาออกเป็น 5 ช่วงใหญ่ ๆ ได้แก่ งานวิจัยช่วงก่อนทศวรรษ 2500, งานวิจัยช่วงหลังทศวรรษ 2500 ก่อนปี 2520-2519, งานวิจัยหลังทศวรรษ 2520, งานวิจัยและศึกษาในช่วงทศวรรษปี 2530-2540 และงานวิจัยและศึกษาในช่วงทศวรรษปี 2530-2540

กล่าวคือ งานวิจัยชาติพันธุ์อีสานก่อนทศวรรษ 2500 คำถามงานวิจัยส่วนใหญ่มักจะเป็น “การเมืองเรื่องของการนิยาม” กล่าวคือ หัวเมืองอีสานสมัยก่อนหน้านั้น อยู่ภายใต้ศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองที่กรุงเทพฯ มักจะเรียกหัวเมืองบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาว่า “ลาวตะวันออก” ซึ่งเกี่ยวกับความเป็นชาติพันธุ์ลาว ซึ่งแต่ก่อนบริเวณนี้ไม่ได้ถูกเรียกว่า “อีสาน” และผู้คนที่อยู่ในดินแดนอีสานตอนใต้ ก็ถูกเรียกว่า เขมรป่าดง ซึ่งปัจจุบันคือผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณจังหวัด สุรินทร์ , ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์

หลังจากข้อตกลงแบ่งเส้นเขตโดยฝรั่งเศสเสร็จ ก่อนที่จะแบ่งเส้นเขตแดนบริเวณนี้ ดินแดนแห่งนี้มีแนวโน้มของการเข้ามาของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส สยามก็เลยเปลี่ยนชื่อหัวเมืองแถบนี้ว่าเป็น ลาวพวน , ลาวกาว, ลาวกลาง ซึ่งคำว่าอีสานเป็นคำที่ถูกนิยามใหม่ช่วงการปฏิรูปประเทศ คำว่าอีสาน จึงมาแทนที่คำว่า ลาวและเขมรป่าดง เป็นต้น

ดารารัตน์ ชี้ให้เห็นอีกว่า การสร้างคำใหม่ คือ “อีสาน” นั้น เป็นการลดทอนทางชาติพันธุ์ที่มีแต่เดิมซึ่งตัวเองเรียกให้ด้อยลง และยังเป็นการเริ่มต้นปลูกฝังและปลุกจิตสำนักเรื่องท้องถิ่นและภูมิภาคนิยมขึ้นมาแทน

ช่วงที่ 1 งานวิจัยช่วงก่อนทศวรรษ 2500
งานส่วนใหญ่ เป็นงานบันทึกของเจ้านายจากส่วนกลาง ซึ่งคำสั่งของเจ้านายจากส่วนกลาง โดยสั่งให้ข้าราชการจากส่วนกลางและผู้รู้ในท้องถิ่น บันทึกเรียบเรียงประวัติพื้นบ้านพื้นเมืองและความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเองขึ้น จึงกลายเป็นที่มาของบันทึกต่าง ๆ เกี่ยวกับชาติพันธุ์ในอีสาน นอกจากนี้ยังมีงานอีกกลุ่มหนึ่งจากบันทึกของนักเดินทาง นักสำรวจจากตะวันตก และนักบริหารอาณานิคมทั้งหลายได้เข้ามาสำรวจและมาบันทึกเรื่องเหล่านี้ไว้ มุ่งหวังผลประโยชน์จากการแบ่งเส้นเขตแดนในบริเวณฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขง

ช่วงที่ 2 งานวิจัยช่วงหลังทศวรรษ 2500 ก่อนปี 2520-2519
ดารารัตน์ กล่าวว่า “จริง ๆ แล้วอีสานมีการแบ่งสีกันตั้งแต่ก่อนปี 2500 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกเผชิญกับยุคสงครามเย็น พื้นที่อีสานจึงถูกแบ่งเป็นสีต่าง ๆ เช่น สีแดง, สีชมพู, สีขาว ฯลฯ ภายใต้บริบทนั้นได้มีโจทย์วิจัยเกิดขึ้นว่า “ทำไมจึงมีการต่อต้านรัฐบาลจากประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย”

หนึ่งในนักวิจัยที่พยายามตอบโจทย์วิจัยข้างต้น เป็นนักวิจัยเกี่ยวกับชาติพันธุ์ได้ทำงานศึกษาและหาปัจจัยทั้งหลายเพื่อสนับสนุนคำตอบ กล่าวว่า ปัญหาทางชาติพันธุ์นั้นน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สร้างความยุ่งยากให้กับรัฐบาลไทย ซึ่งมองว่าคนอีสานต่างกับคนภาคกลาง และมีลักษณะทางชาติพันธุ์เหมือนผู้คนในประเทศลาว ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวทางชาติพันธุ์อาจก่อให้เกิดการแบ่งแยกภาคอีสานจากไทยก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การศึกษาชาติพันธุ์อย่างจริงจัง

ช่วงที่ 3 งานวิจัยหลังทศวรรษ 2520
โจทย์วิจัยตัวอย่าง มักจะพูดถึงเรื่อง ความทันสมัย มาตั้งเป็นกรอบวิจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ , เศรษฐกิจ, สังคม, การเมืองและวัฒนธรรม ซึ่งพูดถึงสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบประเพณีเดิมสู่ความทันสมัยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปี พ.ศ. 2504
การตั้งคำถามแบบนี้นำไปสู่การศึกษาความเปลี่ยนแปลงในด้านสังคม , วัฒนธรรม รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชมและชาติพันธุ์ในอีสานที่สำคัญกระแสการศึกษาเรื่องท้องถิ่นได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงนี้ ดังนั้นสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งส่วนกลางจึงมุ่งความสนใจสู่เรื่องนี้

ช่วงที่ 4 งานวิจัยและศึกษาในช่วงทศวรรษปี 2530-2540
ปรากฏว่ามีบรรยากาศทางวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับชาติพันธุ์อีสานมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาในประเด็นเรื่องทุนทางสังคม , การเมืองภาคประชาชน, การมีส่วนร่วมของประชาชน, บทบาทหญิงและชาย และอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ในโลกสมัยใหม่ว่าถูกสร้างขึ้นอย่างไร กระบวนการนิยามลักษณ์ทางชาติพันธุ์ในโลกสมัยใหม่เป็นเช่นไร ถูกนิยามขึ้นอย่างไร? ส่วนเรื่องแนวคิดที่นำมาใช้ในการศึกษาช่วงนี้คือ เรื่องอัตลักษณ์ , ความทรงจำ, ประเพณีประดิษฐ์ การช่วงชิง เป็นต้น

ช่วงที่ 5 งานวิจัยในช่วงหลังทศวรรษ 2545 – จนถึงปัจจุบัน
เป็นการการศึกษาขนบธรรมเนียม , การสืบทอดอำนาจศักดิ์สิทธ์, การท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์, การจัดการการท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรม, เส้นทางบุญ ตัวอย่างเช่น ชาติพันธุ์ผู่ไทได้รับการศึกษามากที่ชุดในช่วงนี้ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ฯลฯ

ดารารัตน์ ย้ำถึงข้อสังเกตที่สำคัญต่อตัวอย่างประเด็นการศึกษาทางชาติพันธุ์อีสานที่ถูกศึกษาอย่างต่อเนื่อง คือ เรื่องศาสนา , ความเชื่อและพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในอีสานได้รับการศึกษาตั้งแต่ปี 2500 – จนถึงปัจจุบัน
และที่สำคัญ ชาติพันธุ์อีสานกับการท่องเที่ยวนั้นมีแนวโน้มได้รับการศึกษามากขึ้นโดยเฉพาะประเด็นเรื่องพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษซึ่งมาพร้อมกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ , การศึกษาชาติพันธุ์ข้ามรัฐ/แดน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ชาติพันธุ์พิพิธภัณฑ์ , การสร้างภาพตัวแทน พบว่ามีการศึกษาน้อยมาก น่าจะมีการสนับสนุนให้มีการศึกษามากขึ้นในอนาคต เพราะจะสังเกตได้จากกลุ่มชาติพันธุ์อีสานต่าง ๆ เริ่มจะสร้างพิพิธภัณฑ์ของกลุ่มตัวเองขึ้นเพื่อจัดแสดง เป็นต้น”

ด้าน สมศักดิ์ ศรีสันติสุข จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น พูดถึงประสบการณ์การทำวิจัยเกี่ยวกับชาติพันธุ์ในอีสานมากว่า 30 ปี โดยพบข้อสังเกตว่า การจะเข้าใจความคิด, ระบบความคิดของวิถีทางชาติพันธุ์ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละชาติพันธุ์นั้น เป็นเรื่องค่อยข้างยาก

กล่าวคือ “การจะเข้าไปศึกษาเรียนรู้กับกลุ่มชาติพันธุ์นั้นไม่ใช่เพียงแค่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ เท่านั้นที่จะสามารถเข้าใจพวกเขาได้ทั้งหมด เพราะจะทำให้การค้นพบหรือการตอบคำถามอาจจะเป็นเพียงแค่ผิวเผิน ฉะนั้นการศึกษาต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เราศึกษาด้วย”

เนื้อหาของการศึกษาทางชาติพันธุ์อีสานที่ถูกศึกษาเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มักจะศึกษาในเรื่องอัตลักษณ์ผ่านการศึกษาตัวตน, การใช้ภาษา,พิธีกรรม พลังความคิดและจิตวิญญาณ โดยในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะประพฤติและปฏิบัติตามวิถีที่แตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น ระบบความเชื่อกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ ความเชื่อเรื่องงานศพ ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของพวกเขา

“นักวิจัยทางด้านชาติพันธุ์พบข้อสังเกตที่สำคัญว่า ถึงแม้สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไหร่ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงรักษาอะไรบางอย่างไว้เหมือนเดิม”

การศึกษามักจะพบว่า ต่อให้มีการพัฒนาทางสังคม วัตถุนิยมต่าง ๆ แต่ความดำรงอยู่ของชาติพันธุ์ , อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ยังคงดำรงอยู่อย่างเข้มข้นและบางอย่างเราไม่สามารถจับต้องได้ ซึ่งการจะเข้าใจแบบนี้เราต้องไปสัมผัสโดยผ่านการคลุกคลีร่วมกินอยู่กับพวกเขา

สมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ในปัจจุบันเราจะพบว่า การศึกษาเกี่ยวกับชาติพันธุ์ มักจะให้ความสนใจในเรื่องระบบภูมิปัญญากับวิถีวัฒนธรรมของกลุ่ม เช่น วิถีการแพทย์ที่ใช้ภูมิปัญญา , หัตถกรรม สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การตั้งคำถามว่า การศึกษาในหัวข้อเหล่านี้มันได้ประโยชน์อะไรบ้าง? ซึ่งได้คำตอบว่า ถ้าเราศึกษาอย่างลึกซึ้งแล้วเราจะพบวิธีคิดของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ว่าเป็นอย่างไร เป็นต้น
สมศักดิ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า การจะเข้าใจการศึกษาชาติพันธุ์หรือพรมแดนความรู้ทางชาติพันธุ์นั้น ต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลง เลื่อนไหล ปรับตัวของความเป็นชาติพันธุ์ กล่าวคือ ผมคิดว่ามันเลื่อนไหลตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง อนาคตต้องมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเสมอ

ปิดท้ายการเสวนาโดย สมหมาย ชินนาค คณะศิลปะศาสตร์ ม.อุบลราชธานี สมหมาย กล่าวว่า การศึกษาชาติพันธุ์ในอีสาน ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ในสายตาของนักมานุษวิทยา การศึกษาทางชาติพันธุ์นั้นเป็นการต่อรอง/ช่วงชิงพื้นที่ทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์

ตัวอย่างเช่น การสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของท้องถิ่น คือ จริง ๆ แล้ว แนวคิดการศึกษาชาติพันธุ์อีสานนั้น งานส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดที่พูดถึง การอนุรักษ์ความเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมเอาไว้ งานส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่กับการศึกษาแบบนี้ อย่างเช่น การเอาความเป็นชาติพันธุ์ออกมาจากบริบทเดิม เช่น ในสุรินทร์ กันตรึม ของชาติพันธุ์เขมร , กุย เป็นการร้องเต้นสำหรับพิธีกรรมเยียวยาผู้เจ็บป่วย ซึ่งเป็นพิธีกรรมดั้งเดิมของกลุ่ม แต่ทุกวันนี้ในร้านอาหารก็มีกันตรึม เป็นต้น

คำถามที่สำคัญคือ การทำให้ประเพณีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นสินค้า มันมีผลกระทบต่อชาติพันธุ์นั้น ๆ อย่างไรบ้าง นี่คือคำถามซึ่งควรแก่การศึกษา

ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ “เซาะกราว” ทีมสโมสรฟุตบอลในอีสานใต้ได้ทำทีมฟุตบอลให้ติดตลาด ซึ่งมันมีเรื่องของชาติพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้องในการโฆษณาด้วย ผมเห็นว่ามีภาพยนตร์ กุย เรื่องแรกของโลก เป็นการใช้พื้นที่สื่อนำเสนอวิถีทางชาติพันธุ์ สิ่งนี้ผมเรียกว่าความเป็นชาติพันธุ์กับเสรีนิยมใหม่ มันโยงไปสู่มิติของชาติพันธุ์ที่จะกลายเป็นอะไรอีกด้วย

ฉะนั้นจากการศึกษาที่พบคือ การจัดการกับวัฒนธรรม, อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ได้ถูกจัดการ/จัดวางในพื้นที่ใหม่ ผ่านคนในท้องถิ่นเอง โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่น เป็นต้น

“เราจะเห็นว่าปรากฏการณ์การกลายเป็นอัตลักษณ์ของชาติ ซึ่งเคยเป็นของแต่ละชาติพันธุ์ในท้องถิ่นนั้น เกิดจากกระแสภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สนับสนุนโดยส่วนลางหรือรัฐบาล เพื่อให้เกิดการยอมรับความหลากหลายทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมมากขึ้น ทำให้เกิดกระแสรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่น อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เก่า ๆ ก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา แต่ว่าถูกจัดวางในพื้นที่ใหม่ให้อยู่ภายใต้ความเป็นไทย มันมีความทับซ้อนอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น มันจึงไม่ได้เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นเลย แต่มันเป็นอัตลักษณ์ของชาติไทยต่างหาก”

ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านในจังหวัดหนึ่งในอีสานใต้ที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือหมู่บ้านช้าง เราจะนึกถึงที่สุรินทร์ แต่หมู่บ้านช้างจริง ๆ แล้วอยู่ที่ อ.สตึก จ.บุรีรัมษ์ แต่ทุกคนถ้าพูดถึงหมู่บ้านช้างก็จะไปสุรินทร์เป็นหลัก โครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับช้างก็ไปลงที่สุรินทร์เป็นหลัก เกิดความขัดแย้งในชาติพันธุ์เดียวกัน คือการแย่งชิงทรัพยากร เป็นต้น
สรุปว่า ปัจจุบันความเป็นชาติพันธุ์มันมีความซับซ้อนมากมาย เราจำเป็นต้องอาศัยแนวคิด ทฤษฏีที่เหมาะสมในการอธิบายปรากฏการณ์นั้น อีกอย่างเราต้องยอมรับถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้คนเจ้าของชาติพันธุ์ไม่มีโอกาสจัดการกับท้องถิ่นตัวเอง เรียกว่าการจัดการภาวะชาติพันธุ์

 

image_pdfimage_print