วิถีชาติพันธุ์อีสาน “ภาวการณ์กลายเป็น” ในกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่เสรีนิยมใหม่ ตอนที่ 2 ว่าด้วย ‘อีสาน’ ภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่

เปิดเวทีเสวนาว่าด้วยมุมมองต่อกระแสโลกาภิวัตน์ที่มาพร้อมกับลัทธิเสรีนิยมใหม่แท้จริงแล้วให้ประโยชน์กับใคร? ทุนนิยมที่มาพร้อมกับเงื่อนไขการสะสมทุนแบบใหม่ส่งผลอย่างไรต่อคนอีสาน? ลัทธิเสรีนิยมใหม่นั้นมีวิธีการอย่างไรที่ทำให้ผู้คนที่เราเรียกว่ากลุ่มชาติพันธุ์, ผู้ลี้ภัย, ผู้หญิง, เด็ก, ผู้ด้อยโอกาส, แรงงานข้ามชาติ และคนไร้รัฐ ไร้ที่ดินในอีสาน ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานต่าง ๆ

เดอะอีสานเรคคอร์ด ถอดความเวทีเสวนาวิชาการระดับชาติ ในหัวข้อ วิถีชาติพันธุ์อีสาน “ภาวการณ์กลายเป็น” ในกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่เสรีนิยมใหม่ตอนที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง ‘อีสาน’ ภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ซึ่งจัดขึ้น ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ในช่วงบ่ายของวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา วิทยาการร่วมบรรยาย ประกอบด้วย ศ.สุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น,ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคามดำเนินรายการโดย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่  อ่านถอดความงานเสวนาตอน 1 ที่นี้

 

S__17309698

ช่วงการบรรยายของ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ที่พูดถึงภาพรวมผลกระทบของชาวบ้านจากกลุ่มทุนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐเข้ามาดำเนินโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน

โลกาภิวัตน์ (Globalization) กับ บูรณาการภูมิภาค (Regional Integration) ให้ประโยชน์กับใคร?

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ตั้งข้อสังเกตว่า เราต้องทำความเข้าใจว่ากลุ่มชาติพันธุ์ในอีสานนั้นมีความหลากหลายจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่ากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้อยู่ภายใต้บริบทอะไร ในความเข้าใจของผม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้เราอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

ถ้าพูดถึงโลกาภิวัตน์อย่างเดียวอาจจะทำให้เราไม่เข้าใจหรือมองเห็นตรรกะอะไรบ้างอย่างซึ่งอยู่เบื้องหลัง โลกาภิวัตน์เมื่อเรามองมาในระดับภูมิภาค เราก็จะเห็นว่า ประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ได้ก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว แต่คำถามคือว่า ประชาคมอาเซียนนั้นเป็นของประชาคมใคร? ในความหมายไหน? เป็นความหมายที่ถูกกำหนดโดยที่ประชุมของมนตรีหรือมุขมนตรีของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกหรือเป็นประชาคมอาเซียนของประชาชน ?

สิ่งที่เราต้องการคือ “ประชาคมอาเซียนต้องเป็นของประชาชน” ไม่ใช่เป็นประชาคมอาเซียนของหน่วยงานราชการที่กำหนดทิศทางจากเบื้องบนให้ประชาชนทำตามหรือรับชะตากรรมที่ลำบาก เช่น การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือเบียดขับประชาชนออกจากที่ดินของตนเองเพื่อสนองผลประโยชน์ของรัฐ ทุน หรือผู้ที่อยู่เบื้องบน เป็นต้น

อาจารย์ชยันต์ ยังกล่าวอีกว่า ยิ่งไปกว่านั้น การที่เป็นประชาคมอาเซียน เราจะเห็นว่าเราไม่สามารถจะมองแค่บทบาทของประเทศในอาเซียนอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะสร้างผลกระทบอะไรต่อเรา ทุกวันนี้ต้องมองถึงบทบาทของจีน, ผู้ค้าจีนซึ่งบทบาทของจีนในแง่อิทธิพลทางเศรษฐกิจ  ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้

ถ้าพูดถึงอีสานหรือชาติพันธุ์อีสานภายใต้กระแสเสรีนิยมใหม่ สิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถจะก้าวเลยได้คือสิ่งที่เราเรียกว่า บูรณาการภูมิภาค (Regional Integration) ประชาคมอาเซียนก็เป็นส่วนหนึ่งของ บูรณาการภูมิภาค กลไกที่อยู่เบื้องหลังทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่ที่ลดหรือปลดกฎเกณฑ์ในการข้ามแดน, การเดินทางเพื่อค้าขายและการสะสมทุน นอกจากนี้ยังมีการทำงานของสิ่งที่เรียกว่าเป็น บูรณาการเชิงภูมิภาค ที่นำไปสู่การผนวกรวมคนบางกลุ่มและกีดกันคนบางกลุ่มออกไปจากการได้รับประโยชน์ ซึ่งนำมาสู่ปัญหาของความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม และความไม่ยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม

“เงื่อนไขการสะสมทุนแบบใหม่” ว่าด้วยการศึกษาการขยายตัวของเมืองขอนแก่นภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo- liberalism)

รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง พูดถึงงานวิจัยของตัวเองที่ศึกษาเกี่ยวกับ “การขยายตัวของเมืองขอนแก่นภายใต้ยุคลัทธิเสรีนิยมใหม่” ว่า เรื่องเมืองนั้นมีความสำคัญมานานพอสมควร และเรื่องการศึกษาการกลายเป็นเมืองมีความสำคัญต่อวงวิชาการไทยมานานเช่นกัน

แต่ความเป็นเมืองที่เราสนใจกันอยู่ในทุกวันนี้ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมาเมืองขอนแก่นก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 60 ปีเท่านั้น

การขยายตัวของเมืองในประเทศไทย ถ้าดูตามสถิติ ประเทศไทยยังตามหลังประเทศในอาเซียน แม้แต่ประเทศลาวก็ยังมีอัตราการขยายตัวของเมืองมากกว่าประเทศไทย อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ชัดว่าในปัจจุบันเมืองมีการขยายตัวและเติบโตขึ้นอย่างมาก ประเด็นที่เราสนใจคือ การทำความเข้าใจในเรื่องการขยายตัวของเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากการกระแสธารของการเปลี่ยนแปลงในระดับกว้างหรือระดับโลก

ความเป็นมาของเมืองขอนแก่น ซึ่งถูกวางให้เป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเมือง เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2520 กว่า ๆ ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นนำมาใช้เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ขยายความเจริญไปสู่ภูมิภาคโดยให้พื้นที่เมืองทำหน้าที่   อย่างไรก็ตาม กระแสพลังที่ขับเคลื่อนหรือเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของเมืองขอนแก่น คือ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism)

บัวพันธ์ ยกแนวคิดเสรีนิยมใหม่ของ เดวิด ฮาวี่ย์ (David Harvey) ที่พูดถึงลัทธิเสรีนิยมใหม่มี 4 อาการที่บ่งบอกว่า สังคมดังกล่าวเข้าสู่ลัทธิเสรีนิยมใหม่แล้วดังนี้

  • การไม่ให้รัฐเข้าไปแทรกแซงตลาด, การทำให้ตลาดเสรี,กิจการของรัฐกลายเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นของเอกชนได้
  • การให้สิทธิการเช่าที่แก่นักธุรกิจ, นายทุนต่างชาติ
  • การไม่กีดกันการค้า,ผลกำไรของธุรกิจต่างชาติ สามารถนำออกนอกประเทศได้
  • ที่สำคัญต้องขจัดอุปสรรคการค้าที่ขัดขวางการลงทุนของเอกชนทั้งหมด เพื่อให้ทุนสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น

มองในแง่นี้ เสรีนิยมใหม่มีความมุ่งหมายทางการเมือง ที่ต้องการสถาปนาเงื่อนไขในการสะสมทุนแล้วก็สถาปนาอำนาจแก่ผู้นำในทางเศรษฐกิจ คำว่าตลาดเสรี (Free Market) ถ้าพูดให้ตรงที่สุดคือ คำกล่าวอ้างเพื่อปิดบังการครองอำนาจของรัฐโดยคนร่ำรวย

เราจะไปถึงสภาวะนี้ได้อย่างไรเดวิด ฮาวี่ย์ (David Harvey)พูดว่ามีอยู่ 4 เรื่องดังนี้

  • ระบอบเงินตราต้องมีพลวัตรสูง
  • มีระบอบสินเชื่อที่ขยายขอบเขตไปกว้างขวางมาก ระบอบสินเชื่อแบบใหม่จะให้อำนาจแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของเงินหรือผู้ให้กู้ สามารถผลักดันความเสี่ยงจากการลงทุนไปให้ผู้กู้ทั้งหมดได้ โดยเฉพาะผู้กู้ในระดับประเทศ
  • มีการขยายตัวของพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งการขยายตัวนี้เป็นเพื่อการลดน้อยถอยลงของกำไร ที่อยู่ในประเทศทุนนิยม แต่การขยายตัวดังกล่าวนี้มักจะเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ
  • มีความขัดแย้งโดยรวมระหว่างทุนโดยรวม (ทุนนานาชาติ) กับทุนส่วนตัว (ทุนท้องถิ่น) ความขัดแย้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำคือวิกฤตเศรษฐกิจ และมีแนวโน้นที่เกิดอย่างถาวรด้วย ซึ่งเป็นวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่และกินเวลานาน สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ

ด้วยความคิดของเดวิด ฮาวี่ย์ (David Harvey) ที่มองเสรีนิยมใหม่แบบนี้ ซึ่งสามารถนำมาใช้มองการเปลี่ยนแปลงการขยายตัวของเมืองขอนแก่นได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องการขยายตัวของทุนนิยม การขยายตัวแบบนี้ก็เพื่อที่จะรองรับการสะสมทุน ที่มักเกิดขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอ และมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเวลาด้วย

การสะสมทุนยุคโบราณกับการสะสมทุนยุคใหม่ในประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของเมืองขอนแก่น

เมืองขอนแก่นเริ่มตั้งมาเมื่อ 200 ปีมาแล้ว จนถึงช่วงการปฏิรูปที่ดินขอเรียกยุคนั้นว่า ยุคการสะสมแบบยุคโบราณ ชุมชมขอนแก่นเริ่มจากคน 300 คนมาตั้งหมู่บ้าน เมืองที่ถูกพูดถึงตอนนั้น ไม่ได้หมายถึงเมืองในความหมายตอนนี้ จะเปรียบเทียบก็เท่ากับจังหวัดในตอนนี้ที่มีอำนาจในการครอบงำประชากรที่อยู่รอบ ๆ และเก็บภาษีเพื่อจะส่งส่วย

การสะสมแบบโบราณมักมีข้อจำกัด ข้อจำกัดดังกล่าวคือ จำนวนคนกล่าวคือ พื้นที่เยอะ ๆ  ถ้าไม่มีคน เพื่อทำการผลิตอะไร ก็ไร้ประโยชน์นำมาสู่การไม่มีผลผลิตส่วนเกินเพื่อส่งส่วยซึ่งรูปแบบการปกครองของเมืองขอนแก่นก็คล้าย ๆ กับหัวเมืองอื่นคือกรุงเทพฯ ให้อิสระในการปกครอง ซึ่งขอนแก่นก็ใช้รูปแบบการปกครองตามประเพณีทางเวียงจันทร์ หลังจากการปฏิรูปการปกครองก็ใช้รูปแบบการปกครองเหมือนอย่างกรุงเทพฯ ข้อสังเกตคือ การปฏิรูปการเมืองการปกครองดังกล่าวนั้น ทำให้เกิดรูปแบบการสะสมทุนแบบใหม่

เมืองขอนแก่นช่วงที่เกิดการขยายตัวของการผลิตอย่างกว้างขวางแล้วนำไปสู่การขยายทุน, การสะสมทุนใหม่ ซึ่งสามารถก่อร่างสร้างตัวเมืองขึ้นมาใหม่ คือการมาถึงของทางรถไฟ ในช่วงปี พ.ศ. 2474 การมาถึงของทางรถไฟ ได้แก้ปัญหาในเรื่องของข้อจำกัดในการสะสมทุน, มีการขนส่งสินค้า และที่สำคัญซึ่งมาพร้อมกับทางรถไฟคือ คนจีน ได้เข้ามาค้าขายในภูมิภาคนี้ เป็นพ่อค้าคนกลาง ส่วนมากคนจีนมาในประเทศไทยเป็นกลุ่มที่มาเพื่อแสวงโชค บางคนที่ถูกเอาไปเป็นแรงงาน เป็นต้นคนจีนเหล่านี้สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นพ่อค้าและเจ้าของโรงสีในเวลาต่อมา

พอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา เมืองขอนแก่น ถูกนำเสนอให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของลุ่มน้ำโขง ซึ่งมาพร้อมกับแผนพัฒนาจังหวัดในปีนั้น

“ในความคิดของผมก็คือว่า เมืองขอนแก่นมีข้อจำกัดที่เศรษฐกิจพืชไร่ซึ่งเป็นรูปแบบการทำกำไรและสะสมทุนแบบเก่ามันไม่เพียงพอ จึงต้องหันไปสู่การเป็นศูนย์กลางในด้านอื่น ทำให้เมืองขอนแก่นมีการสะสมทุนแบบใหม่เกิด”

เสรีนิยมใหม่ มันทำงานอย่างไร

รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง ยกตัวอย่างเรื่องผังเมืองขอนแก่นมาอธิบายการทำงานของลัทธิเสรีนิยมใหม่ว่าความเป็นเมืองขอนแก่นที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ผังเมืองนั้นซึ่งก็คือฝังเมืองขอนแก่นจนถึงทุกวันนี้ผังเมืองดังกล่าวยังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ความสำคัญของผังเมือง คือ เป็นตัวกำหนดพื้นที่ของเมืองว่า ตรงไหนจะเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่การค้า พื้นที่ที่อยู่อาศัย

ผลจากการไม่สามารถประกาศ พ.ร.บ. ผังเมืองใช้ได้ ด้วยช่องว่างอย่างเช่นนี้ จึงเปิดโอกาสให้นายทุนผู้ที่เติบโตมากับธุรกิจพืชไร่ ซึ่งซื้อที่ดินเก็บไว้ สามารถใช้ประโยชน์ในการสะสมทุนรูปแบบใหม่โดยการซื้อที่ดินไว้เก็งกำไร

“อีสาน” กับการเป็นอาณานิคมภายในของรัฐไทย การผสมพันธุ์ระหว่างเผด็จการทหารกับลัทธิเสรีนิยมใหม่

ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ เริ่มต้นว่า เวลาพูดถึงโลกาภิวัตน์พวกเราคุ้นชินกับการใช้แนวคิดของนักมานุษยวิทยาอินเดียนามว่า อรชุน อัปปาดูราย (Arjun Appadurai) ในช่วงหลัง ๆ มานี้คนที่เสนอแนวคิดที่สำคัญมาก ๆ ซึ่งพวกเราในฐานะนักสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ควรจะศึกษาแนวคิดของนักคิดท่านนี้ ซึ่งก็คือ เดวิด ฮาวี่ย์ (David Harvey)

หนังสือสองเล่มของ เดวิด ฮาวี่ย์ ซึ่งได้ไขรหัสของคำว่าโลกาภิวัตน์ได้ดีกว่าแนวคิดของ อรชุน อัปปาดูราย (Arjun Appadurai) คือ A Brief History of Neoliberalism (2005) และ The New Imperialism (2003) เพราะ เดวิด ฮาวี่ย์ วิจารณ์อย่างชัดเจนว่า โลกาภิวัตน์คือความจงใจของทุน เนื่องจากทุนมีข้อจำกัดในการสะสมทุน ทุนจึงหาวิธีการใหม่เพื่อทุนสามารถสะสมทุนได้ต่อไป

วิธีการของทุนในการสะสมทุนฯ คือวิธีการการแก้ซ่อมเชิงพื้นที่และเวลา (Spatio-temporal fix) เช่น การหาตลาดใหม่ การรวมตัวกันเป็นภูมิภาคเดียว การสร้างรถไฟความเร็วสูงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง รวมไปถึงAEC

ทุนในยุคเสรีนิยมใหม่ ก็มักจะใช้วิธีการเดิม ๆ ซึ่งเดวิด ฮาวี่ย์ สมาทานมาร์กซิส (Marxism)เพราะฉะนั้น วิธีการที่ทุนเอามาใช้คือการดูดซับมูลค่าส่วนเกิน, การขูดรีดแรงงานข้ามชาติ การสะสมทุนโดยการเบียดขับหรือการสะสมทุนโดยการปล้นสะดม

เดวิด ฮาวี่ย์ได้พูดถึงลัทธิเสรีนิยมใหม่ว่า ทุนพยายามลดบทบาทรัฐให้เหลือน้อยที่สุด หรือถ้ามีก็เพื่อเอาไว้สนับสนุนการสะสมทุนของเหล่านายทุน

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, ระบบธนานุวัติ เช่น สหรัฐอเมริกาไปยึดประเทศอิรัก เขาไม่ได้ไปยึดบ่อน้ำมัน แต่ไปยึดระบบการเงินการธนาคารทั้งหมด การปั่นหุ้น, การเกรงกำไรระยะสั้น, การแสวงหาประโยชน์จากวิกฤตของประเทศที่อ่อนแอกว่า เช่นในลาตินอเมริกา เป็นต้น

การจัดสรรความมั่งคั่งของรัฐ ในลัทธิเสรีนิยมใหม่ มักจะจัดสรรให้นายทุนมากกว่าคนจน ผลที่ตามก็คือทรัพยากรบนโลกใบนี้มักตกอยู่ในกำมือของคนไม่กี่กลุ่ม และเดวิด ฮาวี่ย์ ได้พูดถึงผลกระทบที่ตามมาคือ สิ่งแวดล้อมเสียหายอย่างมโหฬาร เสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติและคนจนยิ่งจนมากขึ้น ลัทธิเสรีนิยมใหม่มักจะอ้างว่ากฎหมายนั้นสำคัญที่ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย แต่ว่าทุนในลัทธิเสรีนิยมใหม่ เป็นทุนที่ละเมิดกฎหมายมากที่สุด

ลัทธิเสรีนิยมใหม่มันสามารถผสมพันธุ์ได้กับทุนระบบการเมืองการปกครอง รวมถึงระบบเผด็จการ เช่น จีน หรือรัสเซียเสรีนิยมใหม่ในรัฐเผด็จการ เหมือนอย่างประเทศไทยในตอนนี้   ไชยณรงค์ กล่าว

ลัทธิเสรีนิยมใหม่กับความทุกข์ทรมานของคนอีสาน

ปัญหาในชนบทอีสาน ข่าวการประท้วงรวมกลุ่มของชาวบ้านที่เราได้ยินได้เห็นทุก ๆ วัน คือข่าวการประท้วงของชาวบ้านในอีสาน ในหลาย ๆ จังหวัด ทำไมเกิดเหตุการณ์เหล่านี้

อีสานในปัจจุบันนี้ มีการสำรวจและพบก๊าซธรรมชาติจำนวนมากมายมหาศาลในภูมิภาคนี้ รัฐได้ให้สัมปทานเพื่อขุดเจาะโตเลียมทั่วอีสาน ให้กับบรรษัทเอกชน ซึ่งก็คือบรรดาบริษัทข้ามชาติที่มาจากอเมริกาและจีน เป็นหลัก

“เวลาที่บรรษัทได้สัมปทานแล้ว ก็จะมากีดกันชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องมากก่อน อยู่ ๆ ก็อยู่ไล่ออกจากที่ดินทำกินและที่พักอาศัยซึ่งถูกรัฐแปลงสัมปทานให้กับบรรษัทเอกชนแล้ว วันดีคืนดีเจ้าหน้าที่ของบริษัทก็จะมาสำรวจและฝังระเบิดลงไปในดิน เพื่อตรวจวัดความสั่นสะเทิน เพื่อดูว่าจุดไหน ที่เหมาะสมกับการตั้งแท่นขุดเจาะถึงแม้ว่าบริษัทจะอ้างว่า การจะขุดเจาะทุกครั้งจะมีการทำรายงาน EIA แต่ไม่เคยมีการเปิดเผย EIA ต่อประชาชน การประชาพิจารณ์หรือการรับฟังความคิดเห็น โดยใช้วิธีการแจกเสื้อผ้า แจกกระเป๋า แม้กระทั้งจะทานอาหาร จะต้องมีการเซ็นรับกับข้าวซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการมอบสิทธิของตัวเองให้กับเจ้าของโครงการแล้ว”

ผลที่ตามมาจากการขุดเจาะก๊าซ คือ พอมีการดำเนินการขุดเจาะและพบก๊าซแล้ว จะมีการจุดไฟเพื่อให้แน่ใจว่าพบก๊าซบริเวณนั้น ช่วงที่พบก๊าซทุกครั้ง ชาวบ้านจะป่วยเพราะก๊าซจะรั่วออกมา เกิดความเสียหายต่อบ่อน้ำสร้างที่ชาวบ้านใช้อุปโภค บริโภค  ผลผลิตทางการเกษตรในรัศมี 3 – 4 กิโลเมตรมีปริมาณลดลง เช่น ยางพารา เป็นต้น

ชาวบ้านเจ็บป่วยกว่า 100 คน หลังจากที่ชาวบ้านต่อสู้ โดยเข้าไปยึดแท่นขุดเจาะ บริษัทก็จ่ายค่าทำขวัญรายละ 3,200 บาทและมีชาวบ้านป่วยจากก๊าซไข่เน่า ประมาณ 200 ราย ซึ่งกว่าบริษัทจะยอมรับ ชาวบ้านต้องประท้วงเป็นเวลานาน ก็ไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

สรุป อีสานตอนนี้กำลังเผชิญกับลัทธินิยมใหม่ เพราะรัฐไทยเปิดทางให้ทุนมันสามารถสะสมทุนได้ต่อไป ที่สำคัญรัฐไทบยังมองพื้นที่อีสานว่าเป็นเพียงแค่ อาณานิคมภายในของรัฐไทย ที่รัฐจะทำอะไรก็ได้ตามใจ ทั้งโดยการใช้กำลัง, การใช้กฎหมาย, การใช้อิทธิพล รวมถึงคำสั่งต่าง  ๆ ที่รัฐบาลตอนนี้ประกาศ เช่น การเวนคืนที่ดินของชาวบ้าน เพิกถอนป่าสงวน หรือที่ดินสาธารณะประโยชน์ เพื่อเปิดให้เอกชนเช่าในราคาที่ถูก เพื่อเป้าหมายการสะสมทุนได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

ปัญหาเรื่องปากท้องและวิถีชีวิตไหงถูกตีความว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐไทย

ศ.สุริชัย หวันแก้ว เริ่มต้นว่า ปัญหาคือ เราจะตั้งหลักอย่างไร ที่ผ่านมาเราได้แต่ทำการลุกขึ้นสู้และคัดค้าน แต่ว่าในตอนนี้ สถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน นับตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมือง 10 ปีที่ผ่าน ซึ่งเราไม่สามารถแยกแยะได้ว่าปัญหาของชนชั้นนำทางการเมืองกับปัญหาของชาวบ้านสิ่งไหนสำคัญกว่ากัน?

ความขัดแย้งทางการเมืองตอนนี้คือ ชนชั้นนำทางการเมืองมีแต่แย่งชิงอำนาจทางการเมืองซึ่งมักทำทุกวิถีทางในการแย้งชิงอำนาจให้มาเป็นของตนมากกว่าการคิดถึงทุกข์สุขของประชาชน ชาวบ้านที่เลือกตั้งพวกเขาเข้าไปในสภา

หรือว่าอนาคตได้ถูกกำหนดไปแล้วว่า ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายจะตกเป็นใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น มองภาพให้ถึงระดับประเทศไม่ใช่แค่อีสาน ที่ตกอยู่ภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ แต่มันคือระดับโลกเราจะมีอนาคตกันหรือไม่? ถ้าเราคิดเพียงว่า แค่เป็นฝ่ายรับผลกระทบ นอนรอให้โลกาภิวัตน์และเสรีนิยมใหม่เยี่ยวรด ถ้าเป็นแบบนี้เราไม่มีอนาคตกันแน่

เราต้องพลิกความคิด ต้องไปดูว่าผลกระทบของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในระดับโลกเป็นที่ยอมรับกันแล้ว ว่าความเหลื่อมล้ำในโลกไม่ใช่เพิ่มขึ้นเชิงปริมาณอย่างเดียว แต่มันจะทวีความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพมากขึ้น ทั้งเหลื่อมล้ำภายในประเทศต่าง ๆและความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ การแย่งชิงพื้นที่ทรัพยากรบนโลกพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ทรัพยากรที่เหล่ามหาอำนาจแย่งชิงกัน สิ่งแวดล้อมถูกทำลายเกิดภัยพิบัติธรรมชาติอย่างรุนแรง เป็นต้นนำไปสู่การตระหนักว่าระบบการเมืองระหว่างประเทศภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่เป็นตัวปัญหาไปด้วย

ที่สำคัญ ปัญหาทุกอย่างในตอนนี้ถูกนิยามและตีความให้เป็นปัญหาความมั่นคงไปเสียหมด แม้แต่ประเทศไทยในปัจจุบัน ปัญหาหรือข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของฝ่ายประชาชนที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต ปากท้อง ถูกเหมาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การให้อำนาจจัดการทุกอย่างโดยฝ่ายรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวยิ่งภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ทหารครองอำนาจ

ควรจะให้มีการตีความหมายคำว่า ปัญหาความมั่นคงต้องให้กว้างมากขึ้นกว่านี้เพื่อเปิดทางสู่การพิจารณาและตัดสินหรือจัดการปัญหาดังกล่าวร่วมกันของคนสังคม ไม่ใช่เพียงแค่ให้อำนาจรัฐหรือคนเพียงกลุ่มเดียวที่มีอำนาจตัดสินว่าสิ่งไหนคือปัญหาความมั่นคง เป็นต้น

“เราควรสร้างพื้นที่ถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นพิภพให้เหนือกว่าปัญหาความมั่นคงของรัฐและระบบการเมืองระหว่างประเทศ” ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ทิ้งท้าย

 

image_pdfimage_print