นับตั้งแต่มีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตามมาด้วยการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนจากภาคการเกษตรจากต่างจังหวัด เพื่อเข้ามาหางานทำในเขตเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งโดยส่วนมากตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ในห้วงเวลาที่มีการจัดการเลือกตั้ง ภาพที่พบเห็นจนชินตาคือภาพการเดินทางกลับถิ่นฐานของผู้ใช้แรงงานจำนวนมากเพื่อกลับไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านที่แต่ละคนมีชื่อสังกัดอยู่

ปัจจุบัน ในความเป็นจริงผู้ใช้แรงงานย้ายถิ่นจำนวนมากใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตพวกเขาอยู่ภายในบริเวณสถานประกอบการมากกว่าในภูมิลำเนาที่แท้จริงของตน การที่ต้องเดินทางกลับไปเลือกตั้งตามภูมิลำเนาเดิมจึงไม่ได้สะท้อนความเป็นตัวแทนของพื้นที่อย่างแท้จริง และทำให้การแก้ปัญหา การจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ทั้งการเสนอข้อเรียกร้องเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาก็เป็นไปได้ยาก จึงมีกลุ่มขบวนการแรงงานหลายกลุ่มพยายามเสนอแนวคิด ‘เลือกตั้งในสถานประกอบการ’ โดยเป็นแนวคิดที่ให้ผู้ใช้แรงงานเหล่านี้สามารถลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนในเขตของสถานประกอบการได้ เพื่อทำให้คะแนนเสียงเหล่านั้นยึดโยงกับชีวิตประชาชนกลุ่มนี้มากขึ้น เพื่อให้สามารถมีข้อเรียกร้องต่อผู้แทนในพื้นที่นั้นๆ และสามารถผลักดันให้แก้ไขปัญหาในชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาได้

ภาพขบวนการแรงงานเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ เลือกตั้งในสถานะประกอบการ ที่กรุงเทพมหานคร

ภาพขบวนการแรงงานเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ เลือกตั้งในสถานะประกอบการ ที่กรุงเทพมหานคร

ปัญหาการเข้าถึงการมีส่วนรวมทางการเมืองของผู้ใช้แรงงานย้ายถิ่น

สถานะทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานย้ายถิ่นไม่สามารถมีทะเบียนบ้านในพื้นที่ที่ตนทำงานอยู่ได้ เนื่องด้วยที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ราคาสูง ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ต้องพักอาศัยอยู่ตามหอพักหรือบ้านพักต่างๆ แทน อีกทั้งยังติดปัญหาระบบทะเบียนที่ไม่รองรับให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเข้ามาสังกัดทะเบียนบ้านในสถานประกอบการได้ ซึ่งแตกต่างจากอาชีพอื่นๆ เช่น ทหารที่จะถูกโอนทะเบียนเข้ามายังหน่วยที่ทหารนายนั้นสังกัดอยู่

ถึงแม้รัฐจะมีระบบทะเบียนบ้านกลางที่เปิดให้ประชาชนโอนทะเบียนเข้ามาอยู่ในสังกัดในที่ว่าการจังหวัดหรืออำเภอได้ แต่การนำชื่อเข้าไปสังกัดในระบบทะเบียนบ้านกลางจะไม่ถูกบรรจุเข้าไปในบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อีกทั้งทัศนคติที่ยึดโยงตัวเองกับชนบทและมองว่าจะอาศัยอยู่ในเมืองเพียงชั่วคราวก็เป็นอีกแรงผลักหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากไม่ต้องการย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาในเขตที่ตนทำงานอยู่

สดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง มองว่าควรจะต้องมีการแก้ไขระเบียบข้อปฏิบัติให้ผู้ใช้แรงงานสามารถย้ายภูมิลำเนาเข้ามาสังกัดทะเบียนบ้านในสถานประกอบการได้ ไปจนถึงผลักดันให้มีการบรรจุสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการลงไปในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรและการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา

“ถ้ากฎหมายนี้ออกมาจะมีการตั้งพรรคเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานโดยตรงมากขึ้น ในตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานหรือนักการเมืองคนไทยสนใจผลักดันเรื่องนี้ ถ้ามันจะเกิดได้จริงก็คงจะมาจากการเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานเองเท่านั้น” สดศรีกล่าว

อุตสาหกรรมขยาย เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานมากขึ้น

เหตุที่สิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการมีความสำคัญ ก็เพราะว่านอกจากมันจะเพิ่มอำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานแล้ว ยังจะเปลี่ยนโครงสร้างด้านพื้นที่ของการใช้สิทธิทางการเมืองของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองต้องปรับเปลี่ยนวิธีการหาเสียงให้สอดคล้องกับการลงคะแนนเสียงที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะตอบโจทย์รูปแบบการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานที่กำลังเป็นอยู่

ท่ามกลางกระแสการพัฒนาประเทศที่มีทิศทางเน้นไปทางภาคอุตสาหกรรม ทำให้ภาคเกษตรของไทยหดตัวเล็กลง ตามมาด้วยการเคลื่อนย้ายของแรงงานในภาคการเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากรายงาน ‘ประชากรแฝงจากการสำรวจสำมะโนประชากร’ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2553 ซึ่งสำรวรจกันทุกๆ สิบปี เผยว่ามีประชากรที่เข้ามาอาศัยอยู่โดยไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนของกรุงเทพมหานคร (ประชากรแฝง) จำนวนถึง 3,061,583 คน (เฉพาะพลเมืองไทย) คิดเป็นร้อยละ 36.3 จากจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 8,302,901 คน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิทยาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองจากทิศทางการพัฒนาประเทศดังกล่าวว่า มีแนวโน้มจะทำให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมในลักษณะเดียวกับจังหวัดปทุมธานีหรือสมุทรปราการกระจายออกไปทั่วประเทศไทย เนื่องจากตัวเมืองกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่เคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมหลักของประเทศจะไม่สามารถรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมได้อีก เห็นได้จากการที่รัฐบาลในปัจจุบันต้องการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษตามจังหวัดต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

ตัวเลขจากกรมโรงงานอุตสาหรรม ระบุว่าจำนวนผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการจดทะเบียนในกรุงเทพมหานครมีประมาณ 549,182 คน หากเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดให้มีผู้แทนราษฎรในระบบแบ่งเขตจำนวน 400 คน โดยคิดจากฐานที่ว่าผู้แทนราษฎร 1 คนต่อประชากร 200,000 คน จากสัดส่วนดังกล่าวผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ในกรุงเทพมหานครสามารถจะมีตัวแทนราษฎรอย่างน้อย 2 คน

เปลี่ยนการเมืองแบบ ‘ผูกติดพื้นที่’ สู่ ‘นโยบายสาธารณะ’

จากสถานการณ์การอพยพย้ายถิ่นของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน การมีสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการยังจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองที่ ‘ผูกติดกับพื้นที่’ ที่ผ่านมาพรรคการเมืองหลายพรรคพัฒนามาจากการเมืองที่ผูกติดกับพื้นที่ โดยใช้ระบบหัวคะแนนเพื่อคุมคะแนนเสียงในแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันประชากรมีการเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ผูกติดอยู่กับพื้นที่มากดังเดิมอีกต่อไป จึงทำให้ระบบหัวคะแนนแบบเดิมไม่สามารถควบคุมคะแนนเสียงในพื้นที่ได้ การเมืองในระดับพื้นที่จะอยู่กับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ขณะที่การเมืองในระดับพรรคการเมืองจะต้องปรับตัวให้เข้ากับชีวิตคนในปัจจุบันให้มากขึ้น

“การเมืองในเชิงพื้นที่จะเริ่มไม่ตอบสนองความต้องการของคนได้จริง การหาเสียงของพรรคการเมืองถ้าหากมีการเลือกตั้งในสถานประกอบการจะเป็นการหาเสียงที่พูดถึงนโยบายมากขึ้น เช่น เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ มากกว่านโยบายในเชิงพื้นที่อย่างการสร้างถนน สร้างโรงเรียน ในระยะที่ผ่านมาก็เริ่มมีพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จกับการใช้นโยบายสาธารณะในการหาเสียง เพราะพรรคการเมืองถ้าไม่ปรับตัวให้เข้ากับชีวิตคนจริงๆ มันก็มีปัญหา” ษัษฐรัมย์กล่าว

ษัษฐรัมย์ยังมองว่าท่ามกลางการเคลื่อนย้ายของประชากรจำนวนมากนั้น สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ควรจะเคลื่อนย้ายตามไปด้วย โดยได้ยกตัวอย่างสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ปัจจุบันประชาชนสามารถโอนย้ายสิทธิการรักษาพยาบาลต่างๆ เช่น บัตรทองหรือประกันสังคมมายังสถานพยาบาลที่ตนสะดวกได้ การที่ผู้ใช้แรงงานสามารถโอนย้ายสิทธิทางการเมืองของพวกเขามายังบริเวณที่ตนทำงานอยู่ได้ โดยเฉพาะในเมืองอุตสาหกรรมที่มี ‘เศรษฐกิจเข้มข้น’ จะทำให้มีการต่อรองผลประโยชน์ของผู้ใข้แรงงานที่เข้มข้นตามไปด้วยและการต่อรองนั้นจะพัฒนากลายเป็นข้อต่อรองที่แหลมคมมากขึ้น

“ข้อต่อรองเหล่านั้นก็จะแหลมคมมากขึ้นตามไปด้วย จากที่เคยเป็นการเรียกร้องการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานจะพัฒนาเป็นข้อเรียกร้องเชิงนโยบายสาธารณะ หากการเลือกตั้งในสถานประกอบการเกิดขึ้นจริง ผมว่าจะเป็นแค่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้นที่จะเห็นภาพนายทุนที่มีอิทธิพลสามารถคุมคะแนนเสียงของแรงงานได้ แต่ไม่นานเราจะเห็นภาพของตัวแทนสหภาพแรงงานต่างๆ ที่พัฒนาเป็นพรรคที่เสนอตัวว่าเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มแรงงาน” ษัษฐรัมย์กล่าว

ผู้ใช้แรงงานเสียงแตก ไร้อำนาจต่อรอง ดันระบบเลือกตั้งใหม่สร้างตัวแทนในสภา

หลักการเรื่องสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการถูกหยิบยกขึ้นมาเรียกร้องอย่างจริงจัง ในช่วงปี 2550 ในรูปแบบของข้อเรียกร้องของฝ่ายขบวนการแรงงานกลุ่มต่างๆ จนสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการกลายเป็นข้อเรียกที่ถูกนำมาเสนอบ่อยครั้งในการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานในไทย ล่าสุด ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของข้อเรียกร้องของสหกรณ์คนงาน Try Arm เนื่องในวันสตรีสากลที่ผ่านมา

ใจความหลักของสิทธิต้องการให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเลือกที่จะกลับภูมิลำเนาไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านที่สังกัดอยู่หรือสามารถเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตพื้นที่สถานประกอบการที่ตนทำงานอยู่ได้ เพื่อจะทำให้แรงงานสามารถต่อรองกับผู้แทนในพื้นที่ให้แก้ปัญหาของพวกเขาได้โดยตรง ซึ่งในทางปฏิบัติมีการเสนอวิธีการหลายรูปแบบ ทั้งให้มีระบบให้แรงงานสามารถย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาสังกัดในในสถานประกอบการได้หรือให้ใช้ที่อยู่ตามสิทธิประกันสังคมในการกำหนดเขตในการใช้สิทธิเลือกตั้ง

จิตรา คชเดช นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม และผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM หนึ่งในคนที่ร่วมผลักดันประเด็นสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการร่วมกับกลุ่มสมัชชาผู้ใช้แรงงาน 1550 และในนามกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM มองว่า สิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการจะเป็นกลไกที่จะทำให้เสียงของผู้ใช้แรงงานเข้าไปมีพลังในการเมืองระบบรัฐสภาได้ โดยมองจากการที่โรงงานขนาดใหญ่บางแห่งในกรุงเทพมีจำนวนผู้ใช้แรงงานกว่า 1 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนนิยมสูงสุดในหลายเขต พบว่ามีคะแนนเพียงหลักหมื่นคะแนนเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคะแนนเสียงจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานจะมีนัยสำคัญต่อผลการเลือกตั้ง การมีตัวแทนของผู้ใช้แรงงานเข้าไปในสภาจะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานสามารถรวมกลุ่มต่อรองกับรัฐและนำไปสู่การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของพวกเขาได้

“ปัจจุบันพวกเขาไม่สามารถใช้เสียงของเขาต่อรองกับผู้แทนที่เขาเลือกได้เลย ถ้าเกิดเขาถูกเลิกจ้าง ถูกปิดโรงงาน ส.ส. ในพื้นที่ก็ไม่ได้สนใจเพราะคุณไม่ได้เป็นฐานเสียงของเขา ในทางกลับกันถ้าพวกเขาไปเรียกร้องกับ ส.ส. ในภูมิลำเนาของเขาก็ลำบากเพราะเสียงมีน้อย มันไม่ใช่เสียงรวมกลุ่มที่สร้างอำนาจการต่อรองได้ มันกลายเป็นเสียงที่ไม่มีพลัง เพราะเสียงมันถูกแยก มันจึงเป็นปัญหาว่าจะทำยังไงให้แรงงานมีเสียงอย่างแท้จริง” จิตรากล่าว

เชื่อผลักดันยาก ขัดประโยชน์หลายฝ่าย

สิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาการผลักดันยังจำกัดอยู่เพียงแค่ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานและเป็นเพียงข้อเสนอขององค์กรแรงงานต่อรัฐบาลแต่ละชุดเท่านั้น ยังไม่มีการพัฒนาให้เป็นรูปธรรม

จิตรามีความเห็นว่าการผลักดันสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการให้บังคับใช้ได้จริง ในปัจจุบันยังมีความเป็นไปได้ยาก เพราะหากมีการเลือกตั้งในสถานประกอบการจะทำให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองอย่างมาก การที่แรงงานสามารถมีอำนาจต่อรองได้จะทำให้กลุ่มนายทุนเสียประโยชน์ทั้งยังทำให้รัฐบาลควบคุมผู้ใช้แรงงานได้ยาก ส่วนนักการเมืองจำเป็นต้องทำงานกับผู้ใช้แรงงานมากขึ้น อีกทั้งบรรยากาศทางการเมืองไทยที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต้องการผลักดัน

วันแรงงาน 1 พฤษภาคมนี้ คงจะเป็นอีกครั้งที่สิทธิเลือกตั้งสถานประกอบการจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อเรียกร้องของขบวนการณ์แรงงาน เหมือนเช่นกับวันแรงงานในทุกๆ ปีที่ผ่านมา แต่สิทธิดังกล่าวก็ยังเป็นเพียงข้อเรียกร้องข้อหนึ่งในอีกหลายๆ ข้อเท่านั้น ยิ่งในวันแรงงานปีนี้ที่สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่เป็นใจ อย่าว่าแต่การมีสิทธิเลือกตั้งในสถานประกอบการเลย ลำพังการเลือกตั้งทั่วไปเองก็ยังไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

image_pdfimage_print