เรื่องโดย เอเวน ลาโรซา
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพุ่งสูงขึ้น เกษตรกรทั่วทั้งภาคอีสานต่างอาบท้องทุ่งนาของตนด้วยสารเคมีอันตราย ด้วยหวังจะกำจัดหญ้าอันไม่พึงประสงค์ออกจากไร่นาเกษตร การสัมผัสกับยาฆ่าหญ้าทำให้เกษตรกรต้องเผชิญปัญหาสุขภาพ แต่เมื่อไม่นานมานี้ เกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ตำบลนาสะไมย์ จังหวัดยโสธร ได้เปลี่ยนวิถีการเกษตรของตน โดยเลิกใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช การเปลี่ยนวิถีการเกษตรอันไม่ธรรมดานี้ดูเหมือนว่าจะมีพลังของเครือข่ายสังคมชาวบ้านเป็นปัจจัยสำคัญ

ต. นาสะไมย์ จ. ยโสธร – อุปกรณ์พ่นสารเคมีสามารถอาบไร่นาด้วยน้ำยากำจัดวัชพืชกว่า 20 ถังต่อวัน ภาพ: อารีอานา ปาเรเดส-วินเซนต์
ณ จังหวัดยโสธรอันเป็นศูนย์กลางการเกษตรแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายไพบูลย์ หาสำลี ชาวนาวัย 54 ปี เคยรับจ้างพ่นยาฆ่าหญ้าเป็นรายได้เสริม ทว่าหลังจากทำอาชีพเสริมนี้ได้ 5 ปี เขาเริ่มมีอาการวิงเวียนเฉียบพลัน หลังจากนั้นไพบูลย์ก็สูญเสียประสาทสัมผัสที่แขนและขาไป
หลายปีแล้วที่เกษตรกรตำบลนาสะไมย์พากันใช้ยาฆ่าหญ้าในการเกษตรอย่างหนักหน่วง เมื่อปี 2555 ชาวบ้านเกษตรกรทุกคนในตำบลนี้ล้วนใช้ยาปราบศัตรูพืชในที่ดินการเกษตรของตน แผ่นป้ายและโฆษณาตามคลื่นวิทยุท้องถิ่นต่างโอ้อวดสรรพคุณยาฆ่าหญ้าว่าใช้ง่ายใช้ดี ว่าสารเคมีพวกนี้จะสามารถกำจัดหญ้าและวัชพืชอันยากจะควบคุมให้หมดไปจากนาข้าวได้อย่างเห็นผล
เกษตรกรตำบลนาสะไมย์บางคนกล่าวว่า สมัยนี้คนอีสานรุ่นใหม่ต่างพากันย้ายเข้าไปทำงานในเมือง ปล่อยให้พ่อแม่ผู้ชราทำไร่ทำนาอยู่ตามลำพัง ส่งผลให้การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชจึงเป็นทางเลือกเดียวที่ทำได้จริง ชาวบ้านเล่าว่า เนื่องจากไม่มีแรงงานในครัวเรือนมาช่วยถอนหญ้าในแต่ละฤดูกาลเพาะปลูก จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่จ้างคนให้มาช่วยพ่นสารเคมี นอกจากนี้การใช้ยาฆ่าหญ้ายังสะดวกและง่ายกว่าการไถกลบ ซึ่งเป็นวิธีการกำจัดวัชพืชแบบดั้งเดิมและต้องใช้แรงงานหนัก
ช่วงทศวรรษที่แล้วมา จำนวนการใช้ปัจจัยการเกษตรที่เป็นสารเคมีทั่วประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามผลการวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่าช่วงระหว่างปี 2550 ถึง 2556 เกษตรกรชาวนาไทยใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช (รวมทุกชนิด) นำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 71
เมื่อแรกนำเอาสารเคมีกำจัดวัชพืชเข้ามาใช้ในชุมชน เกษตรกรจำนวนมากไม่ทราบถึงผลกระทบอันตรายที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการใช้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวเตือนว่าผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีเหล่านี้ ได้แก่ ผื่นคัน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ รวมถึงอาการที่ร้ายแรง เช่น ลมชัก ชักกระตุก บางครั้งอาจถึงกับเสียชีวิต
หลังจากชาวบ้านเกษตรกรตำบลนาสะไมย์ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมานานหลายฤดูกาลเพาะปลูก วิกฤตด้านสุขภาพก็เริ่มปรากฎให้เห็น
“ผมต้องไปหาหมออาทิตย์ละสองครั้งตลอดหกเดือน” นายไพบูลย์กล่าว พลางส่ายศีรษะขณะรำลึกถึงการบำบัดรักษาปัญหาสุขภาพสืบเนื่องจากการใช้ยาฆ่าหญ้า “ผมไปฉีดยารักษาอาการนี้เป็นร้อยๆ เข็มแล้วครับ”

ต. นาสะไมย์ จ. ยโสธร – นายไพบูลย์ หาสำลี อายุ 54 ปี เคยรับจ้างพ่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นเวลา 5 ปี โดยมีรายได้จากอาชีพเสริมดังกล่าวเฉลี่ยวันละ 1000 บาท ภาพ: อารีอานา ปาเรเดส-วินเซนต์
นายวีระ แสงชาติ ผู้อำนวยการโรงบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาสะไมย์ เริ่มตระหนักถึงปัญหาสุขภาพเมื่อมีชาวนาทยอยมาหาที่โรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคผิวหนัง อาการวิงเวียนและคลื่นไส้อาเจียน “ในฐานะผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพ ผมบอกได้ว่าโรคเหล่านี้เกิดขึ้นจากการสัมผัสกับสารเคมีกำจัดวัชพืช” นายวีระกล่าว “ผมจึงเห็นว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ชาวบ้านเขาเลิกใช้ยาฆ่าหญ้าให้ได้”
เจ้าหน้าที่ในสังกัดตำบลนาสะไมย์และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลนาสะไมย์จึงเริ่มหาหนทางเพื่อแก้ไขวิกฤตสุขภาพ โดยจัดทำโครงการให้ข้อมูลความรู้ต่างๆ แก่ชาวบ้านเกษตรกรถึงอันตรายจากการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช
ความพยายามของนายวีระที่จะทำให้เกษตรกรชาวตำบลนาสะไมย์เปลี่ยนวิถีการเกษตรจากการใช้ยาฆ่าหญ้า คือการนำเอารูปภาพที่ดูน่าสยองของผิวหนังติดเชื้อจากการที่แผลเปิดสัมผัสกับยาฆ่าหญ้าสัมผัสให้ชาวบ้านดู นายวีระเองกล่าวว่ามีชาวบ้านในตำบลจำนวน 7 รายที่มีแผลติดเชื้อลักษณะนี้ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะรักษาให้หายได้
นับเป็นเวลา 4 ปีแล้วที่หน่วยงานรัฐท้องถิ่นและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้ร่วมทำงานรณรงค์กับนายอุบล อยู่หว้า แกนนำเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ข้อมูลความรู้แก่ชาวบ้านเกษตรกร นายอุบลกล่าวว่า การรณรงค์ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เห็นได้จากปัจจุบันที่เกษตรกรมากกว่าร้อยละ 40 จาก 4 หมู่บ้านในตำบลนาสะไมย์เลิกใช้ยาฆ่าหญ้าอย่างเด็ดขาด ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมเกษตรกรอีกจำนวนมากที่กำลังเปลี่ยนมาทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี โดยลดการใช้ปัจจัยการผลิตที่เป็นสารเคมีลงไปเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันกับที่ฝ่ายปกครองได้จัดการอบรมให้ข้อมูลความรู้เรื่องความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการใช้ยาฆ่าหญ้านั้น นายปรีชา ไชยรักษ์ อายุ 53 ปี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาสะไมย์ เชื่อว่ากุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การหยุดใช้ยาฆ่าหญ้าได้อย่างแท้จริงคือเครือข่ายสังคมชาวบ้าน
นายปรีชาได้เปลี่ยนมาทำนาโดยไม่ใช้สารกำจัดวัชพืชและพบว่าปริมาณข้าวที่ได้ต่อไร่ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ซึ่งความกังวลว่าผลิตผลอาจจะลดลงคือข้อกังวลที่ทำให้หลายคนไม่ยอมเลิกใช้สารเคมี นายปรีชาเล่าว่า “เมื่อไหร่ที่ผมไปพูดกับชาวบ้านจากทั้ง 13 หมู่บ้านในตำบลนี้ ผมบอกพวกเขาตลอดว่าผมทำนาของผมอย่างไร และแสดงให้พวกเขาได้เห็นว่าผลผลิตที่ผมได้นั้นไม่ลดลงเลยแม้ผมจะไม่ได้ใช้สารเคมีก็ตาม แถมยังสามารถควบคุมหญ้าและวัชพืชในนาได้ด้วย”

ต. นาสะไมย์ จ. ยโสธร – นายปรีชา ไชยรักษ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาสะไมย์ ทำหน้าที่เป็นแบบอย่างเพื่อช่วยให้เกษตรชาวบ้านตำบลนาสะไมย์เปลี่ยนวิถีสู่การเกษตรปลอดสารเคมี ภาพ: เอเวน ลาโรซา
นาข้าวของนายปรีชาอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 11 ของตำบลนาสะไมย์ นายปรีชาทำหน้าที่เป็นบุคคลตัวอย่างที่ทำการเกษตรแบบปลอดสารเคมีกำจัดวัชพืช โดยใช้วิธีการไถกลบ ฟันหญ้า หว่านก้อนเกลือ ซึ่งล้วนเป็นวิธีทางเลือกแทนการใช้ยาฆ่าหญ้า เขาเห็นว่าชาวบ้านมีแนวโน้มจะหยุดใช้ยาฆ่าหญ้าถ้าได้เห็นตัวอย่างกับตาว่าการได้มาซึ่งผลผลิตที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมี
นางมาลีรัตน์ โนนระตะ ชาวนาตำบลนาสะไมย์วัย 64 ปี ก็เป็นอีกแรงบันดาลใจหนึ่งให้ชาวนาคนอื่นๆ หยุดใช้ยาฆ่าหญ้า เมื่อ 3 ปีก่อน แพทย์วินิจฉัยว่านางมาลีรัตน์ป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการใช้สารเคมี ซึ่งอาการของเธอได้แก่ ข้อมืออักเสบและปวด และมีความดันโลหิตสูง อาการเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช นางมาลีรัตน์จึงหักดิบเลิกใช้ยาฆ่าหญ้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ตั้งแต่ได้รักษาตัวหายจากอาการโรคต่างๆ นางมาลีรัตน์ก็ได้กระตุ้นให้เพื่อนฝูงและเพื่อนบ้านเปลี่ยนมาเลิกใช้สารเคมีเช่นเดียวกับตัวเธอ เธอมักจะบอกกับทุกคนเสมอว่าสุขภาพของเธอดีขึ้นมากหลังจากเปลี่ยนวิธีทำการเกษตร นางมาลีรัตน์ยังเน้นอีกว่า การหยุดใช้ยาฆ่าหญ้ายังช่วยลดภาระทางการเงินที่ต้องลงทุนทำการเกษตรอีกด้วย
นายวิชัย ประทุมวัน ชาวนาวัย 59 ปี ถือเอานางมาลีรัตน์เป็นแบบอย่างของการเปลี่ยนวิถีการเกษตรของตนเอง นายวิชัยเล่าว่า “แม้ว่าผมยังไม่เจอปัญหาสุขภาพกับตัว แต่ผมก็เห็นเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้านหลายคนที่มีปัญหาบ้างแล้ว ผมก็เลยหยุดใช้ยาฆ่าหญ้า”
ชาวบ้านเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จจากการทดลองปฏิบัติตามวิธีการเกษตรปลอดสารเคมี ไม่ว่าจะทำแบบดั้งเดิมหรือแบบที่คิดค้นขึ้นใหม่ มักจะนำประสบการณ์ของตนเองมาเล่าสู่เพื่อนบ้านฟัง ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมของการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชน “ผมว่ามันเป็นเรื่องของการกระจายข้อมูลความรู้แบบปากต่อปาก ว่าวิธีทำการเกษตรที่ดีที่สุดคือการไม่ใช้สารเคมีเลย” นายวิชัยกล่าวเมื่ออ้างถึงเครือข่ายสังคมของคนกว่า 500 ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในบ้านนาสะไมย์

ต. นาสะไมย์ จ. ยโสธร – นายวิชัย ประทุมวัน อายุ 59 ปี ถือเอานางมาลีรัตน์ โนนระตะ เป็นแบบอย่างและที่ปรึกษาเรื่องการเปลี่ยนวิถีเกษตรสู่การเกษตรแบบปลอดสารเคมีกำจัดวัชพืช ภาพ: อารีอานา ปาเรเดส-วินเซนต์
ระหว่างการประชุมประจำเดือนผู้ใหญ่บ้านจากทั้ง 13 หมู่ในเขตตำบลนาสะไมย์ นายปรีชาจะคอยชักชวนโน้มน้าวให้ผู้ใหญ่บ้านเปลี่ยนวิถีการเกษตรมาเป็นแบบปลอดสารเคมีกำจัดวัชพืช เพื่อที่จะได้เป็นแบบอย่างให้กับลูกบ้านคนอื่นปฏิบัติตาม “ถ้าผู้ใหญ่บ้านใช้ยาฆ่าหญ้าหรือปุ๋ยเคมี ลูกบ้านในหมู่บ้านก็จะทำตาม” นายปรีชากล่าว “แต่ถ้าผู้ใหญ่บ้านเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบปลอดสาร ลูกบ้านก็มีแนวโน้มจะเปลี่ยนตามด้วย”
ขณะที่เกษตรกรตัวอย่างกำลังสร้างเครือข่ายกันในละแวกนี้ บุคคลเฉกเช่นนายปรีชาเองก็ได้พิสูจน์ให้เพื่อนบ้านเห็นปีแล้วปีเล่าว่าไม่มีเหตุผลอันใดเลยที่จะต้องระแวงสงสัยถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบปลอดสารเคมีกำจัดวัชพืช
“ผมไม่คิดว่าสิ่งที่ผมทำเป็นเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจ” นายปรีชากล่าว “ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเพื่อนบ้านคนอื่นเขาเห็นกับตาตัวเอง แล้วพวกเขาก็ทำตาม” ชาวนาเกษตรกรตำบลนาสะไมย์เหล่านี้เป็นผู้นำการปฏิรูปการเกษตรระดับเล็กๆ ที่กำลังพิสูจน์ให้ชาวอีสานเห็นว่าการเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบปลอดสารเคมีนั้นเป็นเรื่องไม่ไกลเกินเอื้อม
เอเวน ลาโรซา นักศึกษาวิชามานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นมาได้เป็นเวลาสี่เดือนแล้ว