เมื่อวานนี้ (31 พฤษภาคม 2559) หลังศาลจังหวัดเลยพิพากษาลงโทษจำคุกนายทหารระดับสูง 2 นาย ในคดีชายฉกรรจ์กว่า 100 คนเข้าทำร้ายประชาชนที่จังหวัดเลย เพื่อเปิดทางให้รถบรรทุกขนแร่จากเหมืองทองคำในปี 2557 กลุ่มสิทธิต่างๆ มีปฏิกิริยาไปในทางบวก แต่ยังตั้งคำถามเรื่องน้ำหนักโทษและผู้กระทำผิดจำนวนมากที่ยังลอยนวล

ศาลจังหวัดเลยพิพากษาจำคุก 2 ปี 12 เดือน พันโทปรมินทร์ ป้อมนาคจำเลยที่ 1 และ พิพากษาจำคุก 1 ปี 12 เดือน พลโทปรเมษฐ์ ป้อมนาค และให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ชาวบ้านซึ่งเป็นโจทก์ทั้ง 9 ราย รวมทั้งหมด 165,600 บาท ภายใน 15 วัน  ซึ่งฝ่ายจำเลยจะเตรียมการสู้คดีต่อไป

Unbenannt

กลุ่ม “ฅนรักษ์บ้านเกิด” กว่าสองร้อยคนเข้าร่วมฟังคำพิพากษาคดี “ขนแร่ด้วยอำนาจเถื่อน” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย ณ ศาลจังหวัดเลย

คดีหมายเลขดำที่ อ. 5440/2557 มีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ และนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ กับพวกรวม 9 คน เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องพันโทปรมินทร์ ป้อมนาค และ พลโทปรเมษฐ์ ป้อมนาค ผู้เป็นพ่อ ในฐานะจำเลยในความผิดอาญาข้อหาทำร้ายร่างกาย กักขัง หน่วงเหนี่ยว และร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในวันเดียวกันนี้ ชาวบ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย ได้รับประโยชน์อีกเช่นกันในคดีที่เกี่ยวข้องอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลจังหวัดเลยได้พิพากษายกฟ้องคดีที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวง และนายกองลัย ภักดิ์มี ผู้ใหญ่บ้านนาหนองบง หมู่ที่ 3 เป็นจำเลย ในข้อหาเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากได้สร้างซุ้มประตูและติดป้าย “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง”

คดีดังกล่าวเป็นหนึ่งใน 19 คดีที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องต่อกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและบุคคลอื่นๆ โดยเรียกค่าเสียหายรวม 320 ล้านบาท

เรื่องราวที่ได้รับการเรียกขานว่า “คดีขนแร่ด้วยอำนาจเถื่อน”  เกิดขึ้นในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ที่หมู่บ้านนาหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย  เมื่อกลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธ กว่า 100 คน เข้าทำร้ายร่างกายและจับตัวชาวบ้านกลุ่ม “ฅนรักษ์บ้านเกิด” ผู้คัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ รวมถึงประชาชนนอกเหนือจากกลุ่มดังกล่าวด้วย  เพื่อเปิดทางให้นำรถบรรทุกกว่า 13 คันบรรทุกแร่ออกจากพื้นที่ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 20 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจำนวน 7 ราย  โดยจำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการในคดีดังกล่าว

บรรยากาศบริเวณศาลมีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดประมาณ 200 คนเดินทางมารอฟังผลคำพิพากษาอยู่ด้านนอกอาคารศาลจังหวัด อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าตำรวจประมาณ 100 นายประจำการอยู่

Unbenannt1

นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ผู้เป็นโจทก์ในคดี “ขนแร่ด้วยอำนาจเถื่อน” ตั้งข้อสังเกตว่าหากเป็นประชาชนทั่วไปที่พกพาอาวุธ โทษจะหนักกว่านี้

นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและโจทก์ที่ 1 ในคดี “ขนแร่ด้วยอำนาจเถื่อน”

นายสุรพันธ์คิดว่าผลการตัดสินออกมาในทางที่ดี ”ตรงไปตรงมา”   ทั้งยังมองว่าชาวบ้านน่าจะดีใจกับคำตัดสินนี้  “ในส่วนของบทลงโทษก็ยังเบาอยู่  ถ้าเป็นชาวบ้านพกพาอาวุธปืนก็ไม่ต่ำกว่าสี่ถึงห้าปี”

ส่วนทางนาเดีย ฮาร์ดแมน (Nadia Hardman) จาก คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล(International Commission of Jurists – ICJ )  ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับโพรเท็คชัน อินเตอร์เนชั่นแนล (Protection International)  ออกแถลงการณ์ในวันก่อนมีคำพิพากษา (30 พฤษภาคม) ระบุว่าคำพิพากษาของศาลจังหวัดเลยที่จะออกมา จะเป็นบททดสอบสำคัญต่อความยึดมั่นของประเทศไทยต่อการนำตัวผู้กระทำความผิดทางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ  โดยหลังจากมีคำพิพากษา ฮาร์ดแมนระบุว่าต้องวิเคราะห์คำพิพากษาอย่างละเอียดอีกครั้ง แต่ในเบื้องต้นเธอก็ขอแสดงความยินดีกับคำพิพากษาที่ออกมาทางที่ดี  ประการต่อมาก็อยากให้มีการสอบสวนใหม่เพราะมีกลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธมากกว่า 100 นาย เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว  และประการสุดท้ายคิดว่าเป็นคำพิพากษาที่พบเห็นได้ยาก ที่สามารถนำเจ้าหน้าที่ทหารมารับผิดได้  ซึ่งเป็นกรณีพิเศษที่ทหารถูกลงโทษในบริบทของประเทศไทยในขณะนี้

วิบูลย์ บุญภัทรรักษา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน มองว่าคำตัดสินคดี "ขนแร่ด้วยอำนาจเถื่อน" นี้เป็นบรรทัดฐานที่น่าสนใจ

วิบูลย์ บุญภัทรรักษา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน มองว่าคำตัดสินคดี “ขนแร่ด้วยอำนาจเถื่อน” นี้เป็นบรรทัดฐานที่น่าสนใจ

วิบูลย์ บุญภัทรรักษา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน (ไม่ได้เป็นทนายความในคดีดังกล่าว) มองว่าศาลตัดสินได้ดีและเป็นคำตัดสินที่น่าสนใจ  “ศาลคงไม่ได้มองแค่ประเด็นที่ว่าทำร่ายร่างกายพกอาวุธปืนหรือไม่หรือ  แต่ศาลมองในเชิงของสิทธิ์ของประชาชนซึ่งน่าสนใจมาก  ควรจะเอารายละเอียดของคำพิพากษามาถอดดู”  ในส่วนของประเด็นที่เรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องอีกกว่า 100 คนมองว่า  “ในทางข้อเท็จจริงมันก็ชัดที่ว่ามีคนเป็นร้อยคนคืนนั้น  แต่ในทางกฎหมายมันไม่สามารถมัดตัวได้  ถ้าจะเอามาลงโทษมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมันไม่ง่าย”  นายวิบูลย์มองว่าความสำคัญของคดีอยู่ที่การเป็นบรรทัดฐานในหลายๆ เรื่อง ส่วนการเอาบุคคลที่เหลือมาลงโทษเป็นเรื่องของตำรวจที่จะต้องสืบสวน

Unbenannt3

นายลำดวน ชาวบ้านนาหนองบง  กล่าวว่า “ก็ดีแล้วละ ที่ศาลให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน  คงเป็นผลดีกับชาวบ้านอยู่ กลุ่มของเราไม่ได้ไปทะเลาะกับใครอยู่แล้ว”

หลังคำพิพากษา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด องค์กรฟอร์ติไฟย์ไรท์ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และ โพรเท็กชัน อินเตอร์เนชันแนล ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ แสดงความยินดีต่อกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมเรียกร้องให้ประเทศไทยยึดมั่นต่อพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน  “คดีนี้เป็นบททดสอบครั้งสำคัญของประเทศไทยต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะรับรองให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิดสิทธิได้รับความยุติธรรม เจ้าหน้าที่รัฐไทยมีพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่จะคุ้มครองให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และต้องสืบสวนสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง รวมถึงต้องนำตัวผู้กระทำความผิดทุกคนมารับผิดชอบ” ส. รัตมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวในแถลงการณ์

image_pdfimage_print