[ผนังภายนอกบ้านของน้าสมัยซึ่งเปิดเป็นร้านขายของ เป็นภาพความทรงจำที่น้าสมัยภาคภูมิใจในฐานะคนเสื้อแดง]หญิงวัยกลางคนละมือจากถ้วยจานในครัวหลังบ้าน เช็ดมือจนแห้งก่อนจะหายหน้าเข้าไปหยิบกรอบรูปกรอบหนึ่งออกมาประคองไว้ ในกรอบสีทองนั้นมีภาพถ่ายใบหน้าของชายคนหนึ่ง เปลือกตาบวมช้ำปิดสนิท บนหน้าผากมีร่องรอยของกระสุนปืน – ภาพสุดท้ายของผู้เป็นน้องชายซึ่งเสียชีวิตในค่ำวันที่ 10 เมษายน 2553 กลางกรุงเทพมหานคร

ผ่านมากว่า 6 ปีแล้ว เหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงครั้งนั้นยังคงบีบคั้นชีวิตผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว สังคมมักได้ยินเรื่องราวของผู้เสียชีวิตและผู้ที่อยู่ในเรือนจำ แต่กลับไม่ค่อยทราบถึงเรื่องราวของผู้รับมือกับความสูญเสีย ท่ามกลางบรรยากาศของความหวาดกลัวหลังการรัฐประหารปี 2557 บุคคลเหล่านี้ยังคงดิ้นรนทำมาหากินเฉกเช่นสามัญชน และหลายคนทีเดียวที่ได้กลายมาเป็นผู้เรียกร้องความเป็นธรรมทางการเมือง

“ตอนนั้นเมื่อฮู้ข่าวว่าน้องชายมันกำลังสิไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงแลงวันที่ 10 เม.ย. ปี 53 ยังจำได้แม่นเลยว่า ข้อยจ่มให้มันว่า มึงไปโลด ขั้นมันอยากสิไป [ถ้าเขาอยากจะไป] ตายมาจังสิได้เงินหลาย พอทุ่มหนึ่งมีคนโทรฯ มาว่ามันถืกยิงตายแล้ว ข้อยบ่น่าเว้าออกมาเลย กะแค่ว่าเว้าเล่นๆ”

วางหูโทรศัพท์สายนั้นแล้วนางพรพรรณก็ยังไม่ปักใจเชื่อ แต่เมื่อเปิดดูโทรทัศน์ก็ได้เห็นข่าวภาคค่ำทุกช่องรายงานชื่อของน้องชายเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตกว่ายี่สิบคนจากเหตุการณ์ทหาร “ขอคืนพื้นที่” จากคนเสื้อแดงผู้ปักหลักชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งทั่วไป ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า ถึงแยกคอกวัวช่วงหัวค่ำของวันที่ 10 เมษายน 2553

เมื่อข่าวร้ายได้รับการยืนยัน ผู้เป็นแม่ถึงกับหมดสติล้มลงกับพื้น ส่วนนางก็ทำอะไรไม่ถูก เพื่อนบ้านเมื่อทราบข่าวต่างก็พากันมาเยี่ยมเพื่อช่วยเตรียมรับศพผู้ตาย จนบ้านของนางเป็นฉากชุลมุนเล็กๆ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในต่างอำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี

“น้องชายมันว่าสงกรานต์สิเมือมาบ้าน เอาหลานมาให้เลี้ยง มาเล่น มาหัว กินเข่ากินน้ำนำกันคือคุเทือ [เหมือนทุกครั้ง] และยังว่าสิเอาเงินมาให้ครอบครัวไว้ใช้หนี้ ธกส.  แต่น้องมันกะบ่ได้เมือ เพราะว่าถืกยิงก่อน คือจัง [เหมือนดัง] ฝันร้ายของครอบครัวเฮา”

ภาพใบหน้าน้องชายของนางพรพรรณในกรอบรูปสีทอง เขาถูกยิงที่ศีรษะด้านหน้าทะลุท้ายทอย เสียชีวิตในที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงในค่ำวันที่ 10 เมษายน 2553

สองปีให้หลัง หนึ่งในนั้นคือนโยบายเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลนำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เข้าบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 ได้มอบเงินจำนวนเจ็ดล้านห้าแสนบาทให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตในช่วงต้นปี 2555 กว่า 94 ครอบครัว ซึ่งในจำนวนนี้มีคนอีสานอย่างน้อย 27 ครอบครัว

นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสิ้นเปลืองภาษีประชาชน อีกทั้งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง ดังตัวอย่างบทกวี “เจ็ดล้านเจ็ด” ของไพวรินทร์ ขาวงาม กวีจากทุ่งกุลาร้องไห้และศิลปินแห่งชาติ ที่ชี้ว่านโยบายดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองภาษีให้แก่ผู้ชุมนุมที่มีผลประโยชน์ตามวรรคทองว่า “สู้แล้วได้ ตายแล้วรวย”

ทว่าจากประสบการณ์ของนางพรพรรณแล้ว เงินจำนวนนั้นกลับได้นำความบาดหมางมาสู่ครอบครัว นางเล่าว่าสมาชิกครอบครัวคนหนึ่งนำเงินถึงสามในสี่ไป แล้วแบ่งเงินเพียงหนึ่งในสี่ให้ผู้เป็นแม่และผู้เป็นพี่สาว เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความแตกแยกภายในครอบครัว เงินส่วนที่นางได้นั้นเพียงพอต่อการปลดหนี้ครัวเรือน แต่ความจำเป็นอื่นๆ ในชีวิตก็ประดังเข้ามาเมื่อผู้เป็นแม่ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ต้องไปพบแพทย์ที่ตัวเมืองอุบลราชธานีอยู่เป็นประจำ

ช่วงแรกๆ นางพรพรรณอาศัยยืมรถเพื่อนบ้านพาแม่เข้าโรงพยาบาลในตัวเมือง ต่อมาจึงได้ซื้อรถหนึ่งคันเป็นของตัวเอง เงินค่าเยียวยาส่วนที่ได้มาก็หมดไป โดยภาระค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ ก็ได้ใช้สิทธิตามโครงการสามสิบบาท รักษาทุกโรค ช่วยแบ่งเบาได้ส่วนหนึ่ง

นางยืนยันว่าสิ่งที่นางต้องการมากกว่าเงินคือชีวิตของน้องชาย ขอให้น้องชายยังมีชีวิตอยู่ ถึงแม้เงินจะขาดมือที่กรุงเทพฯ ก็ยังสามารถกลับบ้านมาอยู่กับผู้เป็นมารดาได้

“ครอบครัวขาดน้องชายไปผู้หนึ่ง มันเอาอีหยังมาทดแทนบ่ได้ ถึงได้เงินหลายกะบ่สามารถทดแทนความสูญเสียที่เกิดขึ้น คุมื้อ [ทุกๆ วัน] นั่งคิดฮอดหน้าเทศกาล ขั้นน้องกูบ่มีเงิน น้องกูคงได้กลับเมือบ้าน มาเฮ็ดงานอยู่บ้าน อยู่กับอีแม่”

ช่วงปลายปี 2556 ตอนที่กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ชุมนุมต่อต้านการจัดการเลือกตั้งหลังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจยุบสภา นางได้ตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยเข้ากับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) ที่สนามรัชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพมหานคร

“เคียด [โกรธ] สูน [โมโห] แฮง เคียดให้ ในเมื่อน้องตายไปแล้ว มันกะเอาหยังกลับมาบ่ได้  บ่ย้าน [กลัว] ตายคือกัน ชวนลูกไป ไปกับหมู่ในบ้าน เขาไปกะไปนำเขา ย่อนว่าสูนให้น้องนำ อยากสิไปถามหาความเป็นธรรมให้น้อง”

นางน้ำตาซึมตลอดการเล่าเรื่องน้องชาย พลางเอามือปัดฝุ่นจากกระจกบนกรอบรูปใบหน้าน้องชายอันเป็นวัตถุที่อาจบ่งบอกว่าเป็นคนเสื้อแดงในสายตาทหาร นางพรพรรณจึงได้นำไปซ่อนไว้ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา

รอการลงทัณฑ์สิ้นสุด
นางสมรสไม่สามารถประกันตัวน้องชายผู้ถูกตั้งข้อหาเป็นผู้มีส่วนในการกระทำความผิดการวางเพลิง ณ จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน หลังการสลายการชุมนุมราชประสงค์ แต่เธอไม่เชื่อว่าน้องชายมีความผิด

การวางเพลิงศาลากลางและสถานที่ราชการเกิดขึ้นช่วงการชุมนุมประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สั่งทหารเข้าปฏิบัติการ “กระชับวงล้อม” สลายการชุมนุมแถบราชประสงค์ด้วยกระสุนจริง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 โดยในภาคอีสานมีการดำเนินคดีวางเพลิงสถานที่ราชการ ณ ห้าจังหวัด ได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี มุกดาหาร และมหาสารคาม (สำหรับมหาสารคาม ศาลากลางไม่ถูกเผา แต่มีการเผายางรถยนต์และโรงรถบางส่วน)

ในกรณีของน้องชายของนางสมรส ในที่สุดศาลฎีกา ได้พิพากษาให้จำคุกนานกว่า 10 ปี ในความผิดทำลายทรัพย์สินทางราชการ ซึ่งนางสมรสมองว่าการตัดสินดังกล่าวไม่เป็นธรรม โดยอ้างถึงหลักฐานภาพถ่ายที่นางสมรสได้เห็น

“ฮู้สึกเสียใจแฮง น้องคือจังถืกลงโทษคักแท้ [ทำไมหนอน้องจึงถูกลงโทษหนักเหลือเกิน] ศาลตัดสินให้น้องติดคุกหลายปีแท้ คิดว่ามันบ่เป็นธรรม น้องกะเป็นคนธรรมดา น้องบ่แม่นคนเก่ง คำเว้ากะบ่เก่ง คนซื่อๆ บ่ทันคน ข้อยคึดว่ามันบ่ได้เผาศาลากลางตามที่ศาลพิพากษา มันไปยืนเบิ่งซือๆ [เขาไปยืนดูเฉยๆ] ขั้นเบิ่งในหลักฐานภาพถ่าย”

นางสมรสได้นำโฉนดที่นาของตนและของผู้อื่นไปเป็นหลักทรัพย์ขอประกันตัว “แล่น [วิ่ง] หาโฉนดที่ดิน ที่ดินข้อยบ่พร้อมกะได้ไปหาที่ดินผู้อื่นเอาไปประกันโตน้องออกก่อน  เฮ็ดทุกอย่างขั้นว่าน้องได้ออกมาจากคุก สุดท้ายกะศาลบ่ให้ประกันโต ท้อแฮงตอนนั้น ย้านน้องติดคุกนาน ลิโตน [สงสาร] มัน และกะย้านเขาประหารชีวิตมัน”

ปัจจุบันมีนักโทษการเมืองกรณีทำลายทรัพย์สินของทางราชการอยู่จำนวน 30 กว่าคน จากทั้งห้าจังหวัดในภาคอีสาน โดยล่าสุดในเดือนธันวาคมปี 2558 ที่ผ่านมา นายพิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือ ดีเจต้อย แกนนำมวลชนกลุ่มชักธงรบ จังหวัดอุบลราชธานี ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ลดโทษ ซึ่งศาลฎีกาได้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาจำคุกเขาเป็นเวลาเพียง 1 ปี

นางสมรสเชื่อว่าน้องชายเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ตามเพื่อนฝูงเท่านั้น โดยไม่ได้มีอุดมการณ์แรงกล้าหรือความเคียดแค้นต่อรัฐบาล

“เคยถามว่ามัน โตมีอุดมการณ์หยัง จังได๊…คือไปชุมนุมนำเขา [ทำยังไง๊…ถึงได้ไปชุมนุมกับพวกเขา] มันบอกว่า บ่มีอุดมการณ์หยังดอก  ตอนมีการชุมนุม ส่วนมากแค่อยากไปเบิ่ง ไปกับหมู่พวก หมู่เขาชวนไปกะไปเบิ่งนำเขา น้องมันคนหัวอ่อน เขาชวนไปไสกะไป”

นางสมรสกล่าวว่า ด้วยรายได้หลักของครอบครัวมาจากการทำนา ซึ่งในแต่ละปีไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จึงต้องหารายได้เสริมด้วยการเปิดร้านขายของ ต้องไปซื้อของในตลาดใหญ่ในเมืองเพื่อมาทำกับข้าวขายทุกเช้า เมื่อขาดน้องชายไป ก็ต้องจ้างผู้อื่นมาทำงานช่วย ทำให้ต้องเสียเงินเป็นจำนวนมาก

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่ผู้เป็นพี่สาวต้องทำหน้าที่ทั้งดูแลครอบครัวของตนและเผื่อเวลาดูแลกำลังใจน้องชายให้เข้มแข็งอยู่เสมอต่อสู้กับความยากลำบากในห้องขัง ภาระหลายอย่างค่อยลดลง ประกอบกับที่ลูกสาวของนางสมรสเพิ่งจบการศึกษา ทำให้เหลือเพียงแต่ภาระหนี้สินที่เคยหยิบยืมเพื่อนบ้านมาใช้จ่ายในช่วงที่ครอบครัวยากลำบาก

หลังกฎระเบียบเรือนจำฉบับใหม่ที่ออกช่วงหลังการรัฐประหาร ปี 2557 ซึ่งระบุถึงการจำกัดบุคคลเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้เพียงแค่ 10 คนเท่านั้น โดยแต่ก่อนใคร ๆ จำนวนเท่าไหร่ก็สามารถเข้าเยี่ยมได้ จึงทำให้กำลังใจจากคนเสื้อแดงที่เคยหลั่งไหลมาเยี่ยมชายนางสมรสถูกตัดขาดไป เหลือแต่ครอบครัวและเครือญาติที่เข้าเยี่ยมได้

“สิพยายามไปเยี่ยมน้องในคุกให้ได้เดือนละ  2-3 เทือ น้องอยากได้หยังกะสิหาไปให้ อยากให้น้องมันมีกำลังใจ ให้มันฮู้หว่าพี่น้องบ่ถิ่มกัน สิเบิ่งแยง [ดูแล] กันไปตลอด ข้อยเชื่อหว่าน้องเป็นคนบริสุทธิ์”

ทุกวันนี้นอกจากการทำกิจการร้านค้าอย่างแข็งขัน นางสมรสก็ได้แต่ภาวนาให้คุณความดีและความบริสุทธิ์ของน้องชาย ช่วยให้น้องชายได้ออกจากห้องขังกลับสู่ครอบครัวที่อบอุ่นโดยเร็ว

พักรักษาตัว
น้าสมัยอดีตสาวโรงงานวัย 50 ปี ผู้ใช้ชีวิตในคราบหญิงแกร่งในโรงงานทอผ้ามาเกือบทั้งชีวิต กลับไม่สามารถทำงานที่หนักเช่นเดิมได้อีกต่อไป หลังจากถูกพิษแก๊สน้ำตาจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553

น้าสมัยเริ่มรู้สึกว่ามีความไม่เป็นธรรมในประเทศในปี 2549 ที่มีการยึดอำนาจอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากเขาเป็นผู้มีส่วนทำให้เธออยู่ดีกินดีขึ้นในฐานะพนักงานโรงงาน สองปีให้หลัง น้าสมัยได้เห็นการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดง เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมตั้งแต่ปี 2551

“เปิดทีวีเห็นคนเสื้อแดงรุ่นแรกออกไปชุมนุมประท้วง ตอนนั้นออกไปประท้วงรัฐบาล [อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ] คิดว่าต้องชนะ ความเป็นธรรมถึงเกิดขึ้นในสังคมไทย ประชาชนจะเสมอภาคกัน แต่ผลที่ได้รับกลับคือการที่รัฐบาลสังหารประชาชนคนเสื้อแดง มันคือความทรงจำที่เลวร้ายมากๆ”

ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ช่วงการ “กระชับวงล้อม” สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง น้าสมัยได้สูดเอาควันพิษจากแก๊สน้ำตาเข้าไปในช่องท้อง เธอเล่าว่า เวลานั้นตั้งใจวิ่งเข้าไปช่วยเพื่อนที่อยู่ในพื้นที่โปรยแก๊สน้ำตา จากนั้นก็นั่งขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้ามาจับเพื่อน

“ภาพแรกของความรุนแรงที่เกิดขึ้นตอนนั้น คือ ทหาร ทหารน่ากลัวมาก เหมือนอยากจะยิงเรา  ทหารไล่ต้อนเรามาอยู่รวมกัน ตอนนั้นวุ่นวายมาก บางคนล้มลงทหารเหยียบซ้ำ พูดจาข่มขู่ จนตอนพวกเราต้องเกาะกลุ่มอยู่รวมกัน จากนั้นมีการโปรยแก๊สน้ำตาใส่ผู้เข้าร่วมชุมนุม คนแก่ คนเฒ่าน่าสงสารมาก นั้นคือภาพที่ติดตาตลอด”

ช่วงกลางวันวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 น้าสมัยขึ้นรถบัสที่ราชประสงค์เพื่อกลับบ้าน น้าสมัยเล่าว่าเมื่อถึงโคราช ก็เริ่มเกิดอาการหนาวสั่น มีไข้สูง หายใจติดขัด เป็นหนักเข้า ๆ เริ่มไม่รู้สึกตัว กว่าที่รถจะฝ่าถนนที่ติดขัดไปถึงบ้านแถวจังหวัดอุดรธานี เธอก็หน้าบวม ท้องบวม หายใจไม่ออก เพื่อนร่วมทางคนหนึ่งจึงรีบพาเธอไปหาหมอ

แพทย์บอกเธอว่าเธอมีอาการปอดติดเชื้อรุนแรง และบอกว่าถ้ามาช้ากว่านี้ อาจเสียชีวิตได้

หลังจากนั้นน้าสมัยต้องพักรักษาอยู่นานเกือบ 2 ปี ทำให้หน้าที่การหาเลี้ยงครอบครัวต้องหยุดไป เธอไม่สามารถทำงานโรงงานได้อย่างเคย ร่างกายอ่อนแอ มีปัญหาในระบบหายใจ เหนื่อยง่าย พี่สาวของเธอจึงต้องเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวคนเดียว และกู้ยืมเงินสหกรณ์ชุมชนมาเปิดร้านขายของชำให้เธอได้ทำงานที่บ้านจนถึงทุกวันนี้

ผนังภายนอกบ้านของน้าสมัยซึ่งเปิดเป็นร้านขายของ เป็นภาพความทรงจำที่น้าสมัยภาคภูมิใจในฐานะคนเสื้อแดง รวมถึงสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงต่างๆ ด้วย

รอเวลา

เหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ณ ใจกลางกรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือน เมษายน – พฤษภาคม 2553 เป็นความรุนแรงทางการเมืองที่มีการใช้กำลังทหารและอาวุธระดับปฏิบัติการรบเข้าปราบปรามและสลายการชุมนุมของประชาชน มีผู้เสียชีวิตมากถึง 94 ราย และบาดเจ็บราว 2,000 ราย ตัวเลขความสูญเสียดังกล่าวยังไม่นับรวมครอบครัว เครือญาติ คนรัก เพื่อนบ้าน และผู้อยู่เคียงข้างอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและทางสุขภาพกายและจิตใจ

ผ่านมา 6 ปี ประเทศไทยปัจจุบันปกครองด้วยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้จำกัดการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐบาล

นางพรพรรณ พี่สาวของผู้ตายในค่ำวันที่ 10 เมษายน 2553 กล่าวถึงความคับข้องใจในสถานการณ์ปัจจุบันและความปรารถนาให้มีการเลือกตั้งว่า “ฮู้สึกว่าเสื้อแดงเฮ็ดหยังมันกะผิด กะเลยออกไป ไปสู้เพื่อน้องนำ ไปเพื่อความยุติธรรมนำ เบิ่งโทรทัศน์กะสูน คือกัน ทหารเฮ็ดกับประชาชน อยากเลือกตั้ง อยากเลือกตั้ง…”

ด้านนางสมรส พี่สาวของผู้ที่อยู่ในเรือนจำข้อหาทำลายทรัพย์สินของทางราชการ รู้สึกเข็ดกับความโหดร้ายของการปราบปรามประชาชน นางสมรสจึงคอยบอกลูกหลานว่าอย่าได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง เพราะบทเรียนที่เธอได้รับคือการออกไปยืนดูการประท้วงนั้นส่งผลให้เกิดแต่ความลำบาก ทุกวันนี้ความหวังของเธอคือความดีของน้องชายจะทำให้เขาได้รับการพระราชทานอภัยโทษ

ส่วนน้าสมัย แม้จะพักรักษาตัวมาตลอดและไม่สามารถทำงานเลี้ยงครอบครัวหรือออกไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองได้ เธอก็ยืนยันว่าตนเองไม่ได้ลำบากเลย ยังคงศรัทธาขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เพียงแต่รอเวลาลุกไปสู้ต่ออีก

“คนเราเกิดมา ไม่รู้วันไหนที่เราจะตาย ความสุขของเราคือการได้เห็นประชาชนในแต่ละรุ่นๆ ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและสังคมที่เป็นธรรม เสมอภาค เลยคิดว่าอยากมีส่วนร่วมด้วย เราคิดว่าเรามีความสุขที่ได้ทำแบบนี้ เห็นภาพในอดีตประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยต้องตายไปแล้วกี่ศพ เลยคิดว่าจะกลัวทำไม จะเสียดายชีวิตทำไม ในเมื่อผู้ที่เคยต่อสู้ในอดีตต้องสละชีวิต ก็ยังไม่ได้ประชาธิปไตยเลย” น้าสมัยกล่าว ท่ามกลางภาพถ่ายอันเป็นเครื่องเตือนความทรงจำที่มีค่าเต็มฝาผนังบ้าน

หมายเหตุ: ชื่อและรายละเอียดส่วนตัวของแต่ละคนถูกเปลี่ยนเพื่อปกป้องตัวตนของผู้ให้ข้อมูล

image_pdfimage_print