DrNiranBanner

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2540 เริ่มมีคณะกรรมการชุดแรกตั้งแต่ปี 2544 โดยมีหน้าที่ตรวจสอบและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ  ตลอดหลายปีที่ผ่านมาองค์กรนี้กลายมาเป็นกลไกที่ถูกนำมาใช้ในการต่อสู้ของภาคประชาชนบ่อยครั้ง  ทั้งยังเป็นองค์กรที่ถูกตั้งคำถามมากมายจากสังคม  จะเป็นการดีไม่น้อยหากเราได้เรียนรู้มุมมองและได้เข้าใจบทบาทของคนที่คร่ำหวอดในประเด็นสิทธิมนุษยชน

เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เพิ่งหมดวาระเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 คือปีที่แล้วนี้เอง อดีตเคยเป็นคนเดือนตุลาฯ เป็นประธานองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล อีกทั้งยังเคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2543-2549

ขณะดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ มีบทบาททำงานร่วมกับภาคประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงมีมุมมองและประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของอีสานที่ครอบคลุมกว้างขวางอย่างยิ่งทั้งก่อนและหลังรัฐประหารปี 2557

DrNiranPortrait

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2552-2558) และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง จังหวัดอุบลราชธานี (2543-2549)

The Isaan Record : อยากให้คุณหมอเล่าถึงภาพรวมการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคอีสานให้ฟังได้ไหม

หมอนิรันดร์ : สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคอีสานเกิดขึ้นทั้งการละเมิดสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิชุมชน ตลอดจนสิทธิและสถานะของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ (กุย กะเลิง ญ้อ บรู ภูไท ไส้ แสก เป็นต้น) มีสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และเกิดวิกฤตการใช้ความรุนแรง มีการละเมิดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุม และการใช้พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ กลับทำให้มีการลุกลามความขัดแย้ง จนเกิดความรุนแรง เช่น การเผาศาลากลางในหลายจังหวัดในภาคอีสาน การจับกุมและการดำเนินคดีในหลายจังหวัดก่อให้เกิดคำถามในการเลือกปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และมีการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

การละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ก็เป็นเรื่องสำคัญในภูมิภาคอีสาน ตั้งแต่การจัดการลุ่มน้ำโขง ชี มูน โดยการสร้างเขื่อน ฝาย การขุดลอกคูคลองต่างๆ เป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิตโดยภาคเกษตรกรรมตามวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำ แหล่งวัฒนธรรมปลาร้าปลาแดกในภูมิภาคแห่งนี้ ปัญหาการละเมิดสิทธิในที่ดินที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ก็เป็นประเด็นที่มีความสำคัญ เนื่องจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ ไม่เข้าใจและยอมรับสิทธิชุมชนในพื้นที่ชุมชนใช้ประโยชน์และทำมาหากิน ก่อนการประกาศเป็นเขตป่าไม้ หรืออุทยาน แม้จะมีโครงการโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มารองรับสิทธิชุมชน แต่ก็ยังมีกรณีการขับไล่ หรือการดำเนินคดีกับชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา

แม้แต่ปัญหาชาติพันธุ์ ภาคอีสานมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งประชากรอพยพจาก ลาว กัมพูชา เวียดนาม กลุ่มอพยพจะถูกละเมิดมากที่สุด ตั้งแต่การไม่ได้รับสัญชาติไทย ทั้งๆ ที่อยู่ 2-3 ช่วงอายุคน ทำให้สิทธิในการเดินทาง สิทธิการประกอบอาชีพ หรือแม้แต่สิทธิทางการศึกษา ทางสุขภาพ ถูกลิดรอนละเมิด

IR : แล้วหลังรัฐประหารปี 2557 มีการละเมิดสิทธิฯ แตกต่างไปอย่างไรบ้าง

หมอนิรันดร์ : ภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีการใช้กฎอัยการศึก 1 ปี และเปลี่ยนมาใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนรัฐประหาร มีการห้ามการประชุมแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการเมือง หรือเรื่องอื่นๆ เช่น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน ก็ตาม โดยข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ก่อความไม่สงบเรียบร้อย

นอกจากนี้ นโยบายการทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่งที่ 64 และ 66 – 2557 คสช. ก็ทำความเดือดร้อนต่อประชาชนในหลายจังหวัดภาคอีสาน มีคำร้องเรียนที่ชาวบ้านเดือดร้อนถูกขับไล่จากผืนดินทำมาหากินกว่า 60 คำร้อง หลังที่คำสั่ง คสช.ที่ 66 ได้ระบุว่าต้องพิจารณาให้การดูแลบุคคลผู้ยากจนยากไร้ ไม่มีที่ดินทำกิน หรือผู้ด้อยโอกาสเป็นสำคัญ กรณีเหมืองทองวังสะพุง ที่จังหวัดเลย ฝ่ายความมั่นคงไม่เข้าใจสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการปกปักรักษาสมบัติแผ่นดิน คือ เหมืองทอง ก็มองชาวบ้านเหล่านั้นว่าก่อความไม่สงบเรียบร้อย กระทบต่อความมั่นคง โดยแท้จริงแล้วต้องรู้จักเข้าใจแก้ไขปัญหาความขัดแย้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยยึดหลักสิทธิชุมชน ความเป็นธรรมทางสังคมและการพัฒนาที่มั่นคงยั่งยืน

เหตุการณ์เหล่านี้ลุกลามมาถึงกรณีการสำรวจปิโตรเลียมในหลายจังหวัดภาคอีสาน เช่น สกลนคร ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ที่ชาวบ้านเดือดร้อนและได้รับความไม่เป็นธรรมจากการสำรวจปิโตรเลียมของบริษัทธุรกิจเอกชน

โดยสรุปหลังรัฐประหาร ระบอบอำนาจนิยมไม่เข้าใจหลักสิทธิมนุษยชน ปิดกั้นสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ยึดหลัก “อำนาจ” คือกฎหมาย ละเลยหลักการ “ความยุติธรรม” คือกฎหมาย สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภาคอีสานจึงยังน่าเป็นห่วงอยู่

IR : ระหว่างที่ทำงานในตำแหน่งกรรมการสิทธิ์ ชาวบ้านในอีสาน เข้าใจวิธีการเข้าถึงกลไกช่วยเหลือทางสิทธิมนุษยชนขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน มากแค่ไหน

หมอนิรันดร์ : สังคมไทยยังรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและกลไกช่วยเหลือด้านสิทธิ์น้อยมาก บางคนรู้แต่ไม่เข้าใจ จะรับรู้และความเข้าใจ ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมก็ต่อเมื่อถูกละเมิด หรือได้รับความเดือดร้อน ผลดีส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ที่บรรจุหลักสิทธิมนุษยชนไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ และเมื่อมาแก้ไขปรับปรุงในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ให้รัดกุมและเป็นไปในทางปฏิบัติมากขึ้น เช่น ตัด “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ออก เพื่อให้สิทธิชุมชนมีผลในทางปฏิบัติ บังคับใช้ได้เลย เพิ่มหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ว่าด้วย การมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าไป ทำให้เกิดรูปธรรมทางการทำงานการเมืองภาคพลเมือง แต่สังคมไทยยังไม่มีหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษา (Civil Education) ในระบบการศึกษาอย่างอารยะประเทศ เช่น ยุโรป ประเทศแถบสะแกนดิเนเวีย มีหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษา ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย

ถึงแม้เราจะมีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 แล้ว แต่ในทางปฏิบัติหน่วยงานของรัฐ ฝ่ายการเมือง ก็หาได้ตระหนักและบังคับใช้กฎหมาย ตรากฎหมาย และตีความกฎหมายโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้นในการทำงานตลอดช่วง 6 ปี นอกจากบทบาทในการตรวจสอบการละเมิด เราจึงพยายามสร้างเครือข่าย อาสาสมัครสิทธิมนุษยชนภาคประชาชนทั่วทุกภาค เช่น เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ที่ดิน ป่า ลุ่มน้ำ ทะเลชายฝั่ง เหมืองแร่) เครือข่ายการพัฒนา เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายพลังงาน เป็นต้น เพื่อให้มีกิจกรรมต่อเนื่องทางสังคมชุมชน การตื่นตัวและรับรู้ในกลไกการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน จะได้ตระหนักและเข้าใจมากขึ้น ไม่ต่างจากผู้ป่วย ต้องรู้จักวิธีรักษาดูแลตัวเอง และการกินยาให้ถูกต้อง โรคภัยไข้เจ็บจึงจะหายได้ ลำพังหมอดี ยาดีอย่างดี ไม่ช่วย ถ้าผู้ป่วยไม่ดูแลตัวเอง และจะยิ่งดีถ้าทำให้ประชาชน ชุมชน เข้าใจหลักการป้องกันการส่งเสริม (สร้างนำซ่อม) สุขภาวะในสังคมชุมชนได้ สังคมไทยก็จะยกระดับสู่อารยะประชาธิปไตย ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้การทำงานร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการ ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็มีความสำคัญในการตั้งศูนย์สิทธิมนุษยชนและสันติวิธี ในมหาวิทยาลัยต่างๆทุกภาค เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการศึกษาวิจัยองค์ความรู้เพื่อชุมชนท้องถิ่น โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน

IR : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสิทธิกลุ่มไหนที่น่าสนใจ และสามารถเป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มอื่นๆ ได้บ้าง

หมอนิรันดร์ : ในอดีตมีองค์กรและเครือข่ายการจัดการลุ่มน้ำ เช่น พี่น้องเขื่อนปากมูน เขื่อนราษีไศล ที่คัดค้านการสร้างเขื่อนมาตลอดช่วงระยะเวลามากกว่า 2 ทศวรรษ พี่น้องเครือข่ายปฏิรูปที่ดินต่อสู้ เพื่อสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย ทั้งอีสานเหนืออีสานใต้ ก็ยังต่อสู้มาตลอดในแนวทางสิทธิชุมชน

ส่วนในช่วง 10 ปีมานี้ มีองค์กรเครือข่ายเรื่องการจัดการสินแร่ในภาคอีสานเกิดขึ้น เช่น กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดอุดร ต่อสู้กับโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่อุดรธานี ล่าสุดก็จะเป็นองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนใน กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ สกลนคร ขอนแก่น ที่รวมตัวกันคัดค้านโครงการสัมปทานสำรวจปิโตรเลียม กรณีร้องเรียนทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิการพัฒนา

สังคมภาคอีสานนี้ นับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรก ดำเนินมา 50 กว่าปี ภาคเกษตรกรรมมีการเปลี่ยนแปลงจาก เกษตรกรรมหาอยู่หากิน มาเป็นเกษตรกรรมเพื่อธุรกิจการค้าการขาย บวกแรงงานรับจ้างทั้งในและนอกระบบ แต่พื้นฐานสิทธิการมีชีวิต วัฒนธรรมวิถีชีวิตยังขึ้นกับการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ป่า ลุ่มน้ำ และของป่า ในรูปแบบเกษตรกรรายย่อย หรือเศรษฐกิจวัฒนธรรมชุมชน ดังนั้นสิทธิในการตัดสินใจของคนอีสาน จึงยังยืนอยู่บนพื้นฐานภาคเกษตรกรรม

มิพักต้องพูดถึงนโยบายการพัฒนาโดยรัฐที่มักจะเน้นอุตสาหกรรม ทั้งเกษตรอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรมโรงงานต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำต่างๆ การปลูกป่าเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเกษตรในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา หรือแม้แต่โครงการสัมปทานสินแร่ต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญในภูมิภาคอีสาน

นโยบายเหล่านี้ตักตวงผลประโยชน์สู่คนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ในพื้นที่หมดสิ้นหนทางทำมาหากิน ชีวิตคนหาปลาในลุ่มน้ำโขง ชี มูน เหลือแต่อาชีพเลี้ยงปลากระชัง เป็นลูกจ้างบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ คนเลี้ยงเป็ด ไก่ สุกร ตกอยู่ในเงื่อนไขสัญญาไม่เป็นธรรมของระบบเกษตรพันธสัญญา เกษตรกรเพาะปลูกทำการเกษตรกรรมถูกไล่ที่โดยหน่วยราชการ ป่าไม้ อุทยานแห่งชาติ ในข้อหาบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ทั้งๆ ที่ชาวบ้านหากินอยู่ในพื้นที่ก่อนประกาศเป็นป่าสงวน ป่าอนุรักษ์

โครงการเหล่านี้ นอกจากไม่รับผิดชอบต่อผลกระทบในเรื่องการชดเชย เยียวยา และฟื้นฟูให้ภาคเกษตรกรรมแล้ว ยังมีผลทำให้เกิดการเจ็บป่วยจากสารพิษในบรรยากาศ เช่น ในพื้นที่สัมปทานเหมืองทอง วังสะพุง จ.เลย มีการตรวจพบสารพิษไซยาไนด์ แมงกานีส และแคดเมียมสูงในเลือดของชาวบ้าน ตลอดจนในสิ่งแวดล้อม เช่น พันธุ์พืช สัตว์ ตลอดจนน้ำดื่มน้ำใช้ในชุมชน

สรุปก็คือ รัฐทำหน้าที่เป็นนักประชาสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้ทุนเสรีนิยมทั้งต่างชาติ-ในชาติ ละเมิดสิทธิในการพัฒนาเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ทำลายการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ เกิดสภาพ “รวยกระจุกจนกระจาย” ผลกระทบด้านสุขภาพและสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตและชุมชน บางชุมชนหมู่บ้านถึงกับต้องอพยพ เป็นชุมชนล่มสลาย

DrNiranDiptychon1

“ทั้งสีเหลืองและแดงต่างก็เผชิญกับการละเมิดสิทธิชุมชนโดยหน่วยงานรัฐ และนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลทั้งก่อนและหลังรัฐประหารทั้งสิ้น” นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

IR : แล้วเรื่องคนเสื้อเหลือง-คนเสื้อแดงล่ะครับ?

หมอนิรันดร์ : กลุ่มเครือข่ายต่อสู้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของการเมืองสุดขั้วทั้งสองสี คือ “รักทักษิณ” กับ “ทักษิณออกไป” มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ทั้งแตกต่างและเห็นร่วมกันได้ อยู่ที่ว่า ทั้งสองกลุ่มจะ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” กันได้มากน้อยเพียงใดในอนาคต

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในทั้งสองกลุ่ม ทั้งสีเหลืองและแดงต่างก็เผชิญกับการละเมิดสิทธิชุมชนโดยหน่วยงานรัฐ และนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลทั้งก่อนและหลังรัฐประหารทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีเหมืองโปแตช เหมืองทองคำ หรือการสำรวจปิโตรเลียม หรือนโยบายการทวงคืนผืนป่า หรือการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดมุกดาหาร หนองคาย

ผมจึงมีความคิดสรุปเบื้องต้นตรงจุดนี้กระมัง ที่การต่อสู้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความอยุติธรรมทางสังคมการเมือง จะทำให้เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมส่วนต่างๆ นักวิชาการ สามารถผนึกรวมกัน เพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมละเมิดสิทธิมนุษยชน

IR : มีความเห็นต่อคำสั่งคสช.ในขณะนี้อย่างไร

หมอนิรันดร์ : สังคมไทยในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าตกอยู่ในระบอบอำนาจนิยม คำสั่งของผู้มีอำนาจหรือรัฏฐาธิปัตย์ คือ กฎหมาย เมื่ออำนาจเป็นกฎหมาย (ไม่ใช่ความยุติธรรม คือ กฎหมาย) สิ่งที่ต้องพึงระวังก็คือการใช้อำนาจตามกฎหมาย กลายเป็นการรับใช้ผู้มีอำนาจซึ่งมีโอกาสเบี่ยงเบนขาดความเที่ยงธรรมได้ แต่ถ้าเรายึดหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดไว้ในมาตรา 4 ที่รัฐพึงให้การคุ้มครอง ความเป็นธรรมก็จะเกิดขึ้น

นอกจากคำสั่งเรื่องการทวงคืนผืนป่าที่ได้พูดถึงไปบ้างแล้วและคำสั่งอื่นๆ ก็จะมีคำสั่งคสช.ที่ 9/2559 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สามารถหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดำเนินการ โดยไม่ต้องรอ EIA ได้รับความเห็นชอบ ทั้งๆที่มาตรการ EIA หรือ EHIA เป็นมาตรการป้องกันผลกระทบทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่เคยตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้ในคดีมาบตาพุด มิพักที่ต้องเข้าใจว่า EIA/EHIA เป็นการศีกษาองค์ความรู้เพื่อให้รัฐ เอกชน และภาคประชาชน รับรู้เรื่องต้นทุนทางสังคม และต้นทุนชีวิต (จากผลกระทบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และสุขภาพที่ต้องสูญเสียไปในแต่ละโครงการ รัฐและเอกชนจะได้รับรู้ตระหนักถึงความรับผิดชอบถึงผลที่จะเกิดขึ้นก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการ

แต่โดยทั่วไปรัฐและเอกชนมักจะเข้าใจว่า EIA/EHIA เป็นเสมือนใบอนุญาติเพื่อการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและผิดพลาดอย่างมหันต์ นอกจากนี้ความเข้าใจผิดของรัฐและเอกชนมักจะมองว่า EIA/EHIA ทำให้เสียเวลาและล่าช้าในการดำเนินโครงการ แต่จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การทำ EIA/EHIA ในบ้านเรามีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวคือ มักจะเป็น EIA/EHIA ที่ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และบ่อยครั้งข้อมูลใน EIA/EHIA เป็นเท็จไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ ชาวบ้านจึงออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐและเอกชนในพื้นที่

ดังนั้น ที่เอกชนกล่าวอ้างว่า ทำตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริง หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบการทำ EIA/EHIA ไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายต่างหาก คือ เป็น Rule by Law ไม่ใช่ Rule of law

โดยสรุป การใช้คำสั่งคสช.ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ.2557 มาตรา 4 ไว้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย รวมทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้

IR : เรื่องกฎหมายมาตรา 112 คุณหมอเคยทำรายงานด้วย ช่วยเล่าให้ฟังได้ไหมครับ

หมอนิรันดร์ : กรณีร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีสถิติเพิ่มขึ้นในสถานการณ์ขัดแย้ง และวิกฤตการณ์ทางการเมืองในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย โดยต้องแยกให้ออกระหว่าง “เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น” กับ “การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” มาในช่วงหลังมีกฎหมายการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์มาพ่วงบังคับใช้ในมาตรา 14-15-16 ด้วย จึงมีการใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ กำจัดผู้มีความคิดเห็นต่างในทางการเมืองโดยยกสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้ออ้าง

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5 ธันวาคม 2548 ในประเด็น “The king can do no wrong” มิได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ การวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กฎหมายถึงกับตราไว้ว่า ถ้าวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต สามารถทำได้ และโทษจำคุกนั้นไม่เกิน 7 ปี แต่พอสมัยประชาธิปไตยหลัง 6 ตุลาคม 2519 กฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มโทษเป็น 3-15 ปี เพราะสังคมไทยไม่ยอมรับนักโทษการเมือง หรือผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง ตัดสินคนเหล่านั้นว่าเป็นกบฎ เป็นศัตรูต่อรัฐ ต้องลงโทษด้วยการฆ่าอย่างเดียว

เรามีกรณีตัวอย่าง กรณีหะยีสุหรง บิดาของนายเด่น โต๊ะมีนา ที่ถูกจับฆ่าถ่วงน้ำ กรณีฆ่า 4 รัฐมนตรีอีสาน หรือแม้แต่กรณี 6 ตุลาคม 2519 ก็ตาม ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยเขียนบทความเกี่ยวกับการแอบอ้างสถาบันเพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้ามในทางการเมือง และเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่า “Ultraroyalist (ผู้ที่เกินกว่าพระราชา)” หรือ อาจารย์ธงชัย วินิจกุล ใช้คำว่า “Hyperroyalism (กษัตริย์นิยมล้นเกิน)” ซึ่งทั้ง 2 ท่านล้วนต้องการเตือนสติสังคมไทย มิให้ชักนำสถาบันมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ในระบอบประชาธิปไตยนั้น “พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้า แต่มิได้ปกครอง” ดังนั้นความจงรักภักดีต้องอยู่ในขอบเขต มิควรนำสถาบันมาเป็นเครื่องมือประหัตประหารในทางการเมือง ผลเสียจะเกิดขึ้นกับสถาบันมากกว่าผลดี แทนที่จะเป็นการยกย่องเทิดทูนสถาบันกลับเป็นการทำลายสถาบันด้วยซ้ำไป

IR : คุณหมอได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในผู้ต้องหาคดี เจ้าสาวหมาป่า บ้างไหม

หมอนิรันดร์ : ในฐานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผมเป็นประธานคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง ได้ไปรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ต้องหาทั้ง 2 คือ นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ น.ส. ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ที่เรือนจำ ทั้ง 2 ถูกกล่าวหาตามกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อคดีดำเนินการในชั้นศาลแล้ว โดยพ.ร.บ.กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เราไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบ หรือดำเนินงานซ้ำซ้อนกับศาลได้ จึงต้องเป็นเรื่องศาลยุติธรรมที่จะดำเนินการต่อไป คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเข้าไปตรวจสอบได้ก็ต่อเมื่อ เป็นคนละกรณีกับการตัดสินโดยศาล เช่น การซ้อมทรมาน ปัญหาด้านสุขภาพของนักโทษในเรือนจำ ซึ่งในทั้ง 2 กรณี ก็มีเรื่องร้องเรียนให้เราเข้าไปตรวจสอบอยู่เป็นระยะๆ

IR : ถ้าในกรณีนี้เข้าไปช่วยไม่ได้มากนัก คุณหมอช่วยอธิบายให้เราฟังได้ไหมว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติช่วยประชาชนได้ทางไหนบ้าง

หมอนิรันดร์ : กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องทำงานปกป้อง ส่งเสริมและคุ้มครองชาวบ้าน มิฉะนั้นก็ไม่ควรจะเรียกว่า กรรมการสิทธิมนุษยชน เหมือน “หมอ” ต้องดูแลปกป้องชีวิตคนป่วย จะไปเข้าข้างนายทุน หรือไปรักษาแบบเลี้ยงไข้ ก็ไม่ใช่ “หมอ”

การทำงานของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วไป จึงมีอยู่ 3 ส่วนหลัก กล่าวคือ ประการแรก คือ การตรวจสอบข้อเท็จจริงในการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อมีกรณีร้องเรียนมาที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยอำนาจตามกฎหมาย เราสามารถเชิญหน่วยงานรัฐและเอกชนมาชี้แจง รวมทั้งเรียกเอกสารที่จำเป็นมาตรวจสอบ การชี้แจงด้วยวาจากระทำในที่สาธารณะและเปิดเผยพร้อมกันทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาชน เราเรียกเป็นกระบวนการไต่สวนสาธารณะ อีกทั้งสามารถเชิญนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้ความเห็นประกอบ กิจกรรมนี้ถือเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะ ให้กับภาคประชาชนในการให้ข้อมูลและแสดงความเห็น ตลอดจนการซักถามหน่วยงานรัฐและเอกชน จึงเป็นโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายใต้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความเสมอภาคในการรับฟังเหตุผลของแต่ละฝ่าย

ประการที่สอง คือ การลงพื้นที่เพื่อตรวจสภาพข้อเท็จจริง และรับฟังข้อมูลพื้นที่ประกอบ ขณะเดียวกันก็มีโอกาสให้ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องสิทธิมนุษยชน ทัศนะการเป็นนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนตามสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชนนั้นก็คือ สิทธิทุกสิทธิจะได้มาก็โดยการต่อสู้เรียกร้องเสมอ

ประการสุดท้าย คือ หน้าที่ในการเสนอนโยบายและกฎหมายในการคุ้มครองปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้าเราพบว่าเป็นปัญหาเชิงระบบโครงสร้างทางนโยบายหรือกฎหมาย หน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ต้องเสนอนโยบายหรือกฎหมายที่คุ้มครองปกป้องสิทธิ เช่น กรณีการละเมิดสิทธิชุมชนหลายต่อหลายกรณี ทำให้เราสรุปว่า ควรมีกฎหมายสิทธิชุมชน หรือกรณีโฉนดชุมชนเป็นระเบียบสำนักนายก เมื่อมีกรณีปัญหาสิทธิการเข้าถึงที่ดินที่ทำกินของชุมชน ก็เห็นว่า น่าจะมีกฎหมายโฉนดชุมชน ดังนี้เป็นต้น การเสนอ เราก็ทำหนังสือเสนอต่อนายกรัฐมนตรี หรือรัฐสภาโดยตรงเลย

นอกจากนี้ในหลายกรณีชาวบ้านถูกละเมิดในกระบวนการยุติธรรม เป็นผู้ถูกฟ้องจากหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น กรณีปัญหาที่ดินลำพูน คดีโลกร้อน คดีกองทัพเรือฟ้องสื่อมวลชนภูเก็ตหวาน หรือแม้แต่กรณีการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา รายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สามารถยื่นเป็นพยานเอกสารในศาลได้ หรือตัวกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็สามารถเป็นพยานบุคคลให้การในศาล หรือใช้ตำแหน่งประกันตัวจำเลยได้ ส่วนกรณีบางคำร้อง เมื่อตรวจสอบแล้วทางคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนสรุปว่าชาวบ้านเป็นผู้เสียหาย เราก็ให้คำแนะนำชาวบ้านในกรณีเป็นผู้ทรงสิทธิในการฟ้องต่อศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม เช่น กรณีระเบิดเหมืองหินถ้ำคูหา กรณีน้ำมันรั่วที่ระยอง เราก็ประสานงานกับสภาทนายความบ้าง มูลนิธินักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนบ้าง มาร่วมด้วยช่วยกันให้ศาลเป็นผู้ตัดสินความถูกต้อง เพื่อมิให้มีการลุกลามในสถานการณ์การละเมิดสิทธิในพื้นที่ หรือหลายกรณีก็เป็นการสกัดกั้นความขัดแย้งมิให้บานปลายเป็นความแตกแยก หรือความรุนแรงในพื้นที่

อยากขอย้ำว่าการทำงานของกรรมการสิทธิมนุษยชน ต้องทำงานโดยมีชาวบ้านและชุมชนเป็นศูนย์กลาง ชุมชนต้อง ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้าง เพื่อการแก้ไขปัญหาการละเมิด เราจึงเรียกชาวบ้านเหล่านี้เป็น “อาสาสมัครสิทธิมนุษยชน” หรือ “นักต่อสู้/ปกป้องสิทธิมนุษยชน”

DrNiranPortrait2

“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้ตรวจสอบรัฐบาลและเอกชน แต่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐที่ต้องแก้ตัวให้รัฐบาล” นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

IR : คิดอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ

หมอนิรันดร์ : โดยหลักการรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องประกอบด้วยหลักการใหญ่ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เรื่องที่สองคือ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และเรื่องที่สามคือ การเสริมสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้รัฐบาล ซึ่งทั้ง 3 หลักการนั้นเราได้กำหนดมาตั้งแต่พ.ศ.2540 พอเรามาแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ต้องยอมรับว่า หลักสิทธิ เสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชนมีอย่างครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น ดังนั้น พัฒนาการหลักสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยจึงมีมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สอดคล้องกับหลักการ “อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” และ หลัก “นิติรัฐ นิติธรรม” ความยุติธรรม คือ กฎหมาย โดยหลักประกันความเป็นธรรมก็คือ หลักสิทธิมนุษยชนนั่นเอง แต่พอในรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัยกำหนด หลักการใหม่ให้ถือว่ารัฐมีหน้าที่โดยไม่จำเป็นต้องระบุรายละเอียดแห่งสิทธิ

การกำหนดเช่นนี้ก่อปัญหา “ผู้ทรงสิทธิ” ที่ได้รับประโยชน์หรืออำนาจที่ได้สภาพรับรองและคุ้มครองโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ และศาลเคยให้การวินิจฉัยไว้แล้วเป็นบรรทัดฐาน เพราะสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิที่ผูกพันองคกรผู้ใช้อำนาจรัฐไม่ว่าจะเป็น องค์กรบังคับใช้กฎหมาย องค์กรตรากฎหมาย และองค์กรตีความกฎหมายต้องให้ความเคารพและคุ้มครองทั้งสิ้น ขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เขียนไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ หน่วยงานทางรัฐ หรือฝ่ายบริหารยังไม่ค่อยยอมปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนในรัฐธรรมนูญ มักจะอ้างกฎหมายหน่วยงานรัฐเป็นหลัก ทั้งที่ในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 กำหนดไว้ชัดเจนว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัติเหล่านั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

IR : แล้วในเรื่องบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติล่ะครับ

หมอนิรันดร์ : ในเรื่องบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการปรับแก้การสรรหาต้องกำหนดให้ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหา แต่พอมาดูในอำนาจหน้าที่มีอำนาจเพิ่มเติมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ต้องชี้แจงและตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม ซึ่งประเด็นนี้ไม่เคยกำหนดมาก่อน เพราะรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศที่ผ่านมายังไม่เคยที่รายงานไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม

ขณะเดียวกัน โดยระบบของ UN การรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน เช่น รายงานUPR รายงานเศรษฐกิจ สังคม หรือรายงานสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง เป็นหน้าที่รัฐบาลซึ่งเป็นสมาชิกที่จะต้องแต่งตั้งตัวแทนรัฐบาลไปรายงานและชี้แจงการทำงานของรัฐบาลมาตลอด จึงไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จะต้องเป็นผู้รายงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้ตรวจสอบรัฐบาลและเอกชน แต่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐที่ต้องแก้ตัวให้รัฐบาล ถือเป็นการผิดธรรมเนียมปฏิบัติ ความน่าเชื่อถือขององค์กรจะลดน้อยลง ซึ่งก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในรัฐไทยในที่สุด

นอกจากนี้ยังมีการบรรจุข้อความกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่โดยจะต้องคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนของไทยและผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นสำคัญด้วย ซึ่งค่อนข้างจะมีนัยยะในการตีความที่กว้างขวางมาก ทั้งๆ ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลกมีหลักการชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องการส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครอง ประโยชน์และความถูกต้องของคน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดอยู่แล้ว

image_pdfimage_print