เขียนโดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ, ณัฐวุฒิ กรมภักดี, และธีรเมธิศวร์ เหลืองอุบล

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล เดอะอีสานเรคคอร์ดและองค์กรผู้สนับสนุนร่วมจัดเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ ‘ความยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมในภาคอีสาน’ ผู้ร่วมเสวนาเห็นตรงกันว่า ทรัพยากรในภาคอีสานอุดมสมบูรณ์ตามฤดูกาล แต่ความเป็นธรรมในการจัดการสิ่งแวดล้อมขาดแคลนเรื้อรัง ชาวบ้านในพื้นที่ นักวิชาการ เอ็นจีโอ นักศึกษา และตัวแทนสถานทูตเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกว่า 80 คน

photo_2016-06-24_07-42-28

ผู้นำชุมชนจากพื้นที่ต่างๆ ในอีสานเล่าประสบการณ์และเสนอทางออกเกี่ยวกับความยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม ในเวทีเสวนาช่วงบ่าย ณ โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล จังหวัดขอนแก่น – ประเด็นที่กล่าวถึงได้แก่การเข้าตัดฟันสวนยางพารา และดำเนินคดีกับชาวบ้านบ้านจัดระเบียบ อ.ภูพาน จ.สกลนครจากการเข้าทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ, การอนุญาตให้นายทุนรายใหญ่อย่างบริษัทยางพาราศรีตรังเข้ามาตั้งโรงงานใน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ โดยไม่ได้รับการยินยอมจากชาวบ้านในพื้นที่, การขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินเนื่องจากการประกาศพื้นที่สาธารณประโยชน์ทับพื้นที่ทำกิน ในจ.ร้อยเอ็ด และอีกหลายจังหวัดในอีสานใต้, และการบริหารจัดการน้ำในอีสานเหนือ

นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม-ชาวบ้าน ชี้ อีสานมั่งคั่ง แต่รัฐ-ทุนมาฉกชิงทรัพยากรไป

ในเวทีช่วงสาย นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์สิ่งเเวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวว่า ภาคอีสานถูกวาทกรรมกดทับมาตลอดว่าอีสานเเล้ง ทั้งที่อีสานมีความมั่งคั่งทางนิเวศเเละทรัพยากรต่างๆ มากมาย ซึ่งความพยายามขุดเจาะทรัพยากรที่ปรากฏล้วนย้ำให้เห็นว่าอีสานมีความอุดมสมบูรณ์ที่รัฐ-ทุนต่างมุ่งเข้ามาครอบครองจัดการ ตั้งแต่การก่อตั้งกรมป่าไม้ในสมัยรัชกาลที่ห้า จนถึงปัจจุบัน

“จะเห็นได้ว่าในรัฐ หรือ นายทุน พยายามใช้นโยบายหรือเม็ดเงินเพื่อช่วงชิงสิ่งเหล่านี้ไปจากประชาชนไม่ให้อำนาจในการจัดการทรัพยากรเป็นของชุมชน กรณีเเร่โปเเตช หรือ ทองคำขาว ในปัจจุบันรัฐเปิดให้สัมปทานเเก่นายทุนทั่วทั้งอีสานกว่า 3,500,000 ไร่ กระจายทั่วบริเวณทั้งเเอ่งโคราชเเละเเอ่งสกลนครความมั่งคั่งของอีสานมีเยอะมาก เเต่ถูกช่วงชิงความเป็นเจ้าของ” นายสันติภาพกล่าว

“ทรัพยากรบนดินเขาใช้กันไปจะหมดแล้ว เขาเลยจะมาเอาทรัพยากรใต้ดิน” นายเดชา คำเบ้าเมือง ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตช ชุมชนโนนสมบูรณ์ จ.อุดรธานี กล่าว

เรื่องราวของโครงการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านนี้ สืบเนื่องจาก รัฐบาลได้วางแผนในการทำเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย แหล่งแร่โปแตชที่มีขนาดใหญ่อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งโครงการมีการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ลงทุนชาวต่างชาติ พื้นที่รวม 52,000 ไร่ ครอบคลุมหลายตำบลในอ.เมือง กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม และอ.หนองหาน จังหวัดอุดรธานี

photo_2016-06-24_07-42-36

นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ม.ราชภัฏอุดรธานี บรรยายถึงความมั่งคั่งในระบบนิเวศของอีสาน และกล่าวถึงต้นตอความอยุติธรรมว่า “คนอีสานมองว่าทรัพยากรคือชีวิต ส่วนรัฐและเอกชนมองว่ามันคือทุนและฐานทรัพยากร”

เดชา กล่าวต่อไปว่า แร่โปแตชไม่ได้มีแค่จังหวัดอุดรธานีเท่านั้น แต่มีในอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ หนองคาย สกลนคร ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา ตั้งแต่อีสานตอนบนไปจนถึงอีสานตอนล่าง ที่จะถูกดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชในอนาคต โดยไม่ได้สนใจฟังเสียงชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างเหมืองแร่โปแตชเลย

นายสันติภาพยังได้ชี้ว่าการทำเหมืองแร่โปแตชจะส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง นำมาทำปุ๋ยเคมี และเกลือที่เป็นผลพลอยได้ก็นำไปผลิตต่อในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โรงงานสบู่ โรงงานพลาสติก โรงงานผลิตเซรามิก  ทั้งหมดนี้จะส่งผลมลพิษต่อชุมชนที่อยู่อาศัยรอบๆ พื้นที่เหมือง และรอบๆ พื้นที่อุตสาหกรรม

ไม่ชอบมาพากล – นโยบายไล่ที่ชาวบ้านเอื้อผู้มีอิทธิพลมาหลายหน

ในเวทีช่วงบ่าย ตัวแทนจากชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งครอบคลุมทุกส่วนของภูมิภาค อาทิ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด อุดรธานี และสกลนครต่างบอกเล่าความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลของ คสช. ผ่านเวทีนี้

ตัวแทนชาวบ้านหลายคนกล่าวตรงกันว่า แม้ใช้เวลาทั้งวันก็ไม่สามารถเล่าปัญหาที่ตนเผชิญได้หมด แต่ก็ได้เล่าโดยสรุปว่า ปัญหาในการจัดการทรัพยากรในภูมิภาคนี้มีมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

นายสวาท อุปฮาด เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร เล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับปัญหาที่ดินทำกินในอีสานว่า ตนมีพื้นเพมาจากอำเภอสีชมพู จ.สกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่แรกๆ ในภาคอีสานได้รับผลกระทบจากโครงการจัดสรรที่ดินทำกิน (คจก.) ตั้งแต่ปี 2533

“ตอนนั้นผมเป็นหนุ่ม ไปทำงานในเมืองที่กรุงเทพฯ พอกลับมาที่บ้าน ปรากฏว่าโครงการนี้ไล่คนออกจากป่า บ้านผมเองก็ 47,500 กว่าไร่ ถูกไล่ออกมาหมด มารวมกันแล้วไปจัดใหม่ บางรายมีที่อยู่ 70 ไร่ มีลูกแปดคน เฉลี่ยได้คนละ 7-8 ไร่ แต่พอจัดใหม่แล้ว ไม่รู้ว่าคนจากไหนได้ที่ (ทำเล) ดีๆไป บางที่น้องปลัดอำเภอ หลานผู้ว่าได้ไป”

ด้านนายชัย ทองดีนอก ชาวบ้านจัดระเบียบ จ.สกลนคร ผู้ได้รับผลกระทบซ้ำซ้อนจากข้อพิพาทที่ดินกับอุทยานแห่งชาติและนโยบายทวงคืนผืนป่า เล่าว่าในช่วงปลายปี 2555 ตนถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหลอกลวงให้ยื่นเอกสารเพื่อให้ออกเอกสารสิทธิในที่ทำกินให้ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ดินที่ตนอาศัยอยู่นั้นเป็นพื้นที่ที่ไม่มีโฉนดครอบครอง แต่ตนได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภทบ. 5) ให้กับรัฐมาตั้งแต่ปี 2533 

หลังจากยื่นเอกสารไปไม่นาน ในช่วงต้นปี 2556 กลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายเรียกมาแจ้งว่าตนได้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติดงชมพูพาน-ดงกะเฌอ และให้มารายงานตัวในชั้นพนักงานสอบสวน หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จะออกหมายจับดำเนินคดี

“มีอีหลีใบเอกสาร คือจั่งผมได้อยู่ นี่ครับใบเอกสาร แต่เป็นเอกสารของเจ้าหน้าที่ มันบ่แม่นใบเอกสารจับจองขี้ดินหรือเอกสารใช้สิทธิ์ที่ดินเด้ะ มันเป็นใบนัดนั่นแหล่ว! หมายนัดคักๆ นี่แหลว” นายชัยชูเอกสารหมายเรียกกลางเวที

ด้วยความกลัวว่าจะถูกจับ ตนและชาวบ้านรวม 34 คนจึงพาไปรายงานตัวตามหมายเรียก หลังจากนั้นจึงถูกดำเนินคดี

“วันนี้เมีย[นายชัย]เป็นบ้า เป็นประสาท อีกรายหนึ่ง ทั้งพ่อและแม่ติดคุก น้องก็เรียนหนังสืออยู่ ยายที่เขาอาศัยอยู่ด้วยก็เส้นเลือดในสมองแตกตาย เมื่อย่าได้เห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ช็อกตายอีก เป็นแบบนี้หลายคนที่ยังหนุ่มๆ ก็ถูกเมียทิ้งกันไป” นายสวาทกล่าวกลางวงเสวนา

สถานการณ์สิทธิชุมชนทรุดหนักใต้ท้อปบู๊ท ระบบยุติธรรม ข้าราชการพึ่งไม่ได้

นายชัย ทองดีนอก ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลคสช. ได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่าตามคำสั่งคสช. ที่ 64/2557 ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนขึ้นมากกว่าเดิม เพราะเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ ได้เข้ามาข่มขู่ คุกคาม ห้ามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของตน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านอย่างมาก ด้วยไม่มีที่ทำกินที่อื่น ทำให้ต้องแอบเข้าไปกรีดยางในสวนของตัวเอง หากเห็นเจ้าหน้าที่เข้ามาก็จะรีบหลบหนีทันที จนเมื่อสวนยางพาราที่ปลูกมาพอจะกรีดได้แล้ว ก็ถูกเจ้าหน้าที่โค่นลง

นายสวาท อุปฮาด อธิบายเพิ่มเติมว่า ในระหว่างกระบวนการเรียกร้องให้ภาครัฐชะลอการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ก็ได้รับคำตอบว่า รัฐบาล คสช. มีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด และทางอำเภอได้เร่งรัดทางอัยการให้ดำเนินคดีไปแล้ว แม้ชาวบ้านจะทำหนังสือขอเลื่อนฟ้อง เนื่องจากอยู่ในระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของศูนย์ดำรงธรรมสกลนคก แต่ก็ไม่เป็นผล จนวันที่ 1 ตุลาคม 2557 อัยการส่งฟ้องทั้ง 34 ราย

นายสวาทมองว่ารัฐบาลคสช. เมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดก่อนๆ มีมาตรการที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่า และออกแบบการไล่ชาวบ้านแบบเป็นจุดๆ ทำให้เชื่อมต่อการเคลื่อนไหวได้ยากกว่า “แต่ก่อนประกาศทีเดียวดำเนินการทั่ว ประเทศ แต่วันนี้ทำทีละจุด ทำให้การเชื่อมต่อของขบวนการเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชนไม่สามารถทำได้เลย อันนี้เป็นที่มาของความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง”

ด้านนายไพโรจน์ วงงาน ผู้เดือดร้อนจากกรณีอุทยานไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิเล่าถึงแนวปฏิบัติในการขอคืนพื้นที่ป่าของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ว่า “ไปสามสี่คันรถ มีทหาร ป่าไม้ หน่วยอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ป่า มีอาวุธครบมือเพื่อไปหาพี่น้องเพียงคนเดียว ไป 30-40 คน ไปเพื่อล้อมให้เซ็น ไปตอนตีห้า”

ยันเคารพสิทธิมนุษยชน ยึดมั่น การมีส่วนร่วมของประชาชนคือทางออก

ในเวทีเสวนาทั้งช่วงสายและช่วงบ่าย ผู้ร่วมการเสวนาได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาเพื่อสถาปนาความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมขึ้นในภูมิภาค โดยเน้นเรื่องหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง

นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์และจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำชี กล่าวว่า ในส่วนของประเด็นที่ตนดูแลในพื้นที่นั้นคือเรื่องน้ำ  โดยเฉพาะ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูน ซึ่งเป็นโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขง เพื่อนำเอาน้ำเข้ามาใช้ในพื้นที่ภาคอีสาน ผ่านลำน้ำชี และมูน โครงการนี้มุ่งแก้ปัญหาภัยแล้งที่มีอยู่ในพื้นทีอีสานเป็นหลัก โดยจะทำอุโมงค์ผันน้ำ และคลองส่งน้ำ แต่จะไม่มีการสร้างฝาย หรือ เขื่อนขนาดใหญ่ ระยะเวลาดำเนินการ 30 ปี ใช้งบประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ยังไม่อนุมัติสร้าง

สิริศักดิ์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าตนไม่เชื่อมั่นในนโยบายการจัดการทรัพยากรที่กำหนดจากส่วนกลาง เพราะที่ผ่านมาล้วนเต็มไปด้วยความผิดพลาดและล้มเหลวมาโดยตลอด นับแต่กลางทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่างเขื่อนในแม่น้ำชี มูนและแม่น้ำสาขา ต่างไม่เคยได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรม ทั้งผู้ได้รับผลกระทบยังไม่ได้รับการเยียวยากระทั่งปัจจุบัน

จนในทีสุดเมื่อช่วงเดือน กุมภาพันธ์ปี พ.ศ. 2559  โครงการโขง เลย ชี มูน ถูกรัฐบาล คสช. รื้อฟื้นขึ้นมาศึกษาความเหมาะสมของโครงการนี้อีกครั้ง หลังจากมีการศึกษาครั้งล่าสุดปี พ.ศ. 2555

สิ่งเหล่านี้ต่างฉายภาพความเป็นไปในอนาคตว่าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่างแผนผันน้ำโขงผ่านอุโมงค์ที่อาศัยการลงทุนมหาศาลนั้นย่อมมีเป้าหมายหลักคือเพื่อให้บริการกับภาคอุตสาหกรรมจึงจะคุ้มค่ากับการลงทุนในทัศนะของรัฐ  

นายสิริศักดิ์ ให้สัมภาษณ์หลังเวทีเสวนา โดยเสนอทางออกของการบริหารจัดการน้ำท้องถิ่นเพื่อรับมือกับภัยแล้ง แทนโครงการอุโมงค์ส่งน้ำโขง-เลย-ชี-มูนที่กำลังดำเนินการอยู่ว่า  “ต้องเป็นแหล่งน้ำขนาดเล็ก ระบบชลประทานในท้องถิ่นที่ชาวบ้านช่วยกันบริหารจัดการ ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเลยว่า เขื่อนใหญ่ๆ ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงได้เต็มที่เลย”

ในกรณี ประชาชนในนามกลุ่มคนรักษ์คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งรวมตัวกันประท้วงการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานยางพาราของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเข้ามาใบอนุญาตประกอบกิจการกับ อบต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ นำมาสู่การตั้งคำถามของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมากว่าทำไมการเข้ามาดำเนินการเป็นไปอย่างเร่งรัด ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชนในละแวกนั้นอย่างชัดเจน ไม่มีการประกาศให้ประชาชนทราบและทำประชาพิจารณ์

นายวิเชษฐ์ อุสันเทียะ ผู้นำชุมชนในต.คอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ หนึ่งในแกนนำกลุ่มคนรักษ์คอนสาร ซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านการตั้งโรงงานพาราดังกล่าวเสมอมา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของชุมชนต้องทำอย่างต่อเนื่อง จากกรณีการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานยางพาราในพื้นที่ตนนั้น มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบทั้งระบบนิเวศ พื้นที่การเกษตร อันจะทำให้อำเภอคอนสาร ซึ่งมีทั้งแหล่งชุมชน แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้รับผลกระทบ รวมถึงมลพิษจากกลิ่นเหม็นและฝุ่นละอองจากกระบวนการผลิตยางแท่งรมควัน  ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคผื่นคันต่อชุมชน นายวิเชษฐ์ได้ร่วมขบวนต่อต้านการสร้างโรงงานในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็ทำให้ชะลอการก่อสร้างไปอีก แต่ก็ยังไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เพราะเวลาที่เหลือสองร้อยกว่าวันทางโรงงานอาจจะเริ่มการก่อสร้างเมื่อใดก็ได้

ด้านนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภาในเขตจังหวัดอุบลราชธานี และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (2552-2558) เสนอว่า หากต้องการเเก้ไขปัญหาความอยุติธรรมในประเด็นสิ่งเเวดล้อม มีหลักการเเละปัจจัยที่สำคัญอยู่ 5 ข้อ ได้แก่ 1.) ประชาชนต้องยืนยันใน ‘สิทธิชุมชน’ 2.) ต้องยึดหลักการประชาธิปไตยสิ่งเเวดล้อมหรือการมีส่วนร่วม 3.) สิทธิในกระบวนการต่อสู้ในกระบวนยุติธรรมชาวบ้านควรได้รับความเป็นธรรม 4.) สร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของนายทุนหรือนักธุรกิจซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และ 5.) การปกป้องคุ้มครองเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม


ศรายุทธ ฤทธิพิณ ณัฐวุฒิ กรมภักดี และธีรเมธิศวร์ เหลืองอุบล เป็นผู้เข้าร่วมอบรมนักข่าวภาคอีสานรุ่นที่ 1 (The Isaan Journalism Network Project) เป้าหมาย คือ เพื่อสร้างเครือข่ายคนทำงานด้านสื่อมวลชนในภาคอีสานให้กับเดอะอีสานเรคคอร์ด  โดยเริ่มดำเนินการอบรมตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือนธันวาคม 2559

image_pdfimage_print