โดย พิรุณ อนุสุริยา และสรรค์ชัย เกริกชัยวิภาส

เช้าของวันศุกร์ที่ 8 มิ.ย. 2559 ในงานเสวนาเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ณ โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล ภาพที่ปรากฏในงานกลับมีกลุ่มทหารยืนอยู่กับผู้จัดงานเสวนาและผู้ร่วมเสวนา ด้านหน้าโรงแรมมีทั้งทหารและตำรวจ ทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ต่างยืนเต็มไปหมดจนยากจะแยกแยะว่าใครเป็นใคร

DSC00333

เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ บันทึกภาพตลอดการเสวนาสาธารณะ “สิทธิเสรีภาพการแสดงออกในอีสาน” ที่จ.ขอนแก่น รวมทั้งถ่ายภาพของผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาอีกด้วย รวมจำนวนทหาร-ตำรวจที่มาสังเกตการณ์เวทีเสวนาในเครื่องแบบประมาณ 10 นาย และนอกเครื่องแบบอีกประมาณ 10 นาย

บรรยากาศที่ค่อนข้างวุ่นวาย คนต่างเดินสับสนไปมา ทั้งทหารและผู้เข้าร่วมเสวนา สีหน้าของผู้เข้าร่วมเสวนาบ่งบอกถึงความกังวล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปรากฏตัวของ พ.ท. พิทักษ์พล ชูศรีและทหารจากค่าย ร.8 ค่ายสีหราชเดโชหลายนายยืนร่วมด้วย ซึ่งขณะนั้นคือช่วงเวลา 8 โมงเช้า ก่อนเริ่มงานเสวนา 30 นาที งานเสวนาซึ่งเป็นการมาพบกันของผู้มีบทบาทในการชุมนุมประท้วงหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้นำมวลชนเสื้อแดงขอนแก่น ที่ถือเป็นการพูดต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร

เวทีเสวนาเริ่มต้นไปโดยมีทหารและคนของฝ่ายปกครองจับตามองและติดตามฟังอยู่หลังสุดพร้อมบันทึกวิดีโอส่วน พ.ท. พิทักษ์พล ย้ำกับผู้จัดงานเสวนาว่า ไม่ให้พูดเกี่ยวกับการเมือง พร้อมเตือนระวังจะทำผิด พ.ร.บ. ความมั่นคง ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่เฝ้าระวังการชุมนุมทางการเมืองที่เข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศ โดยการเสวนานี้อาจเข้าข่ายดังกล่าว

ขณะที่บนเวที ผู้ร่วมเสวนาบางคนมีความรู้สึกกังวล อึดอัด รับรู้ได้ผ่านการพูดจา น้ำเสียงบนเวที ต่างก็เตือนกันเองให้ระมัดระวังในการพูดเป็นระยะ

“เปรียบเทียบประชาชนเป็นพนักงานบริษัท แล้วในบริษัทเกิดปัญหา แต่เจ้านายออกกฎระเบียบห้ามพูด ก็จะไม่มีใครเห็นปัญหา วันนี้เราอยู่กันตรงจุดนี้หรือเปล่า แต่ก็พูดมากไม่ได้ครับ เดี๋ยวมันจะเกินขอบเขตสิทธิและเสรีภาพ” คือเสียงสะท้อนของนายธรรมรัตน์ เสงี่ยมศรี ผู้นำชุมชนต่อต้านการย้าย บขส. ขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมเสวนา

ความเห็นต่างทางการเมืองเป็นเชื้อที่ซุกซ่อนอยู่กับผู้คนมาอย่างยาวนาน และในงานเสวนาครั้งนี้มันได้แสดงผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด นำไปสู่ความแตกแยกทางความคิดเห็น จนลงเอยที่การเสวนาต้องจบลงก่อนเวลาที่ควรจะเป็น ขณะที่ทหารเองก็เข้ามาจับตาดูทุกการเคลื่อนไหวในงานเสวนานี้ จ้องอยู่ทุกฝีก้าว พร้อมจะลงมีดกับใครก็ตามที่แสดงความคิดเห็นที่เข้าข่ายจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการเข้ามาเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่รัฐ จากข้อมูลของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ (iLaw) พบว่าที่ผ่านมามีทหารเข้ามาแทรกแซงงานเสวนาต่างๆ โดยเฉพาะงานที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพ โดยมีกิจกรรม 9 ประเภทที่ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซง และนับตั้งแต่เริ่มต้นยุค คสช. มามีกิจกรรมสาธารณะที่ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซงโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 130 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นงานเสวนาสาธารณะอย่างน้อย 76 ครั้ง

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในงานนี้ ได้กล่าวถึงการปิดกั้นการแสดงออกโดยรัฐว่า “สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ต้องเป็นอิสระจากการไม่ถูกทำให้กลัว ไม่ให้ใครมาบังคับให้ทำตามคำสั่ง ถ้าสังคมใดถูกปิดกั้น คือไม่ให้พูด ให้คิด ให้เขียน สังคมนั้นก็เป็นสังคมแห่งความกลัว เป็นผลจากที่รัฐมองว่าตนฉลาดกว่าประชาชน”

ทหารเคลื่อนไหวตลอดงานเสวนา

การเข้ามาเฝ้าดูของทหารมีส่วนทำให้บรรยากาศการเสวนาครั้งนี้เปลี่ยนไป แต่การที่มีเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ได้รับเชิญมาในช่วงเช้าเพื่อกล่าวปาฐกถาว่าด้วยเสรีภาพสื่อ ก็ทำให้งานดำเนินไปได้ ดังที่ทหารผู้ไม่ระบุชื่อนายหนึ่ง กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าถ้าไม่มีทูตมาวันนี้ ก็ไม่น่าจะอนุญาตให้จัดเวทีเสวนาได้แน่นอน พร้อมกำชับอีกว่า หากจะพูดเรื่องประชามติให้ใช้การพูดแบบปากต่อปากเท่านั้น

เวลาล่วงเลยไปถึงช่วงที่สามของการเสวนา ว่าด้วย “อีสานกับเสรีภาพการแสดงออก” มีผู้ร่วมเสวนาเป็นตัวแทนคนในภูมิภาค ได้แก่ นางพรรณวดี ตันติศิรินทร์ ตัวแทนคนเสื้อแดงขอนแก่น, นางซาบีน่า ซาห์ อดีตนักจัดรายการวิทยุคนเสื้อแดง, นายธีระพล อันมัย นักเขียนและนักดนตรี อาจารย์สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ผู้นำชุมชนต่อต้านการย้าย บขส. ขอนแก่น ได้แก่ นายธรรมรัตน์ เสงี่ยมศรี และนายทวีวัฒน์ อนันตรักษ์ ท่ามกลางความกดดันจากทหารคอยเข้ามาตีกรอบต่างๆ ทำให้ผู้เสวนาบางส่วนได้แสดงออกถึงการต่อต้านอย่างชัดเจน

สิทธิมนุษยชนที่ถูกริดรอน

เริ่มต้นจากการที่พิธีกรถามความสำคัญของสิทธิในการแสดงออกผ่านมุมมองของแต่ละคน โดย นางพรรณวดี ได้ให้ความเห็นถึงเรื่องสิทธิที่ยึดโยงกับสิทธิมนุษยชน ต้องให้เท่าเทียมกัน ไม่เอนเอียงแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยมีกระบวนการประชาธิปไตยเป็นกรอบสำคัญ ขณะที่นายธรรมรัตน์มองว่า ถึงเรามีประชาธิปไตย แต่สิทธิเสรีภาพ มันไม่มีบทบัญญัติชัดเจนว่าขอบเขตมันครอบคลุมแค่ไหน ส่วนนางซาบีน่า ซาห์ หรือที่ผู้คนรู้จักเธอในนาม ดีเจโจ้ เธอสะท้อนสิ่งที่ได้ประสบด้วยตนเอง ในฐานะผู้ถูกกระทำจากรัฐ ช่วงเหตุการณ์หลังรัฐประหาร

“หลายคนถูกควบคุมตัวไปในวันที่มีการรัฐประหารวันแรก รัฐประหารเกิดขึ้นตอนห้าโมงเย็น พอถึงเวลาสี่ทุ่ม ดิฉันก็โดนจับไป ถ้าจะพูดถึงการกระทำหลายๆ อย่าง สำหรับดิฉันมันรุนแรง โดนกระทำทั้งครอบครัว และตัวดิฉันที่ถูกคุมขังนานถึง 17 วัน”

เมื่อพูดไปสักระยะ ดีเจโจ้ถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เป็นความอัดอั้นที่ได้ระบายออก เกิดความเงียบและนิ่งสนิทไปชั่วครู่ในหมู่ผู้ฟังเสวนา

DSC00456

ในเวทีเสวนาช่วง “อีสานกับเสรีภาพการแสดงออก” นางซาบีน่า ซาห์ หรือดีเจโจ้ อดีตนักจัดราชการวิทยุคนเสื้อแดงขอนแก่น เปิดใจเป็นครั้งแรกเรื่องประสบการณ์การถูกจับกุมและครอบครัวถูกคุกคามในวันที่เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยส่วนหนึ่งเธอพูดเป็นภาษาอีสานเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ความเป็นคนอีสานในฐานะพลเมืองของประเทศไทย

ความเห็นต่างทางการเมือง ชนวนเหตุความขัดแย้ง

การเสวนาดำเนินไป โดยมีประเด็นการเมืองถูกยกมาเกี่ยวกับประเด็นสิทธิเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ในความเห็นของนายธรรมรัตน์ ได้เสนอแนะถึงการยอมรับความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง และไม่ควรสร้างวาทกรรมที่นำไปสู่ความเกลียดชัง โดยเฉพาะการมองว่าเรื่องสีเป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจ “แดงขึ้นเหลืองต้องลง เหลืองขึ้นแดงต้องลง” ต้องกำจัดความคิดเช่นนี้ให้ได้

การเสวนาดำเนินไป จนเมื่อถึงคำถามของพิธีกรเกี่ยวกับเรื่องของ บขส. นายธรรมรัตน์ ได้กล่าวถึง คดีความที่ร้องต่อศาลปกครอง ในกรณีคัดค้านการย้าย บขส. ไปสถานที่แห่งใหม่ ที่จากเดิมตนเป็นผู้ร้อง กลับเป็นฝ่ายถูกฟ้องร้องเสียเอง โดยผู้ฟ้องคืออัยการรัฐ จากพ.ร.บ. การชุมนุมในที่สาธารณะที่เป็นผลงานจากรัฐบาลยุค คสช.

ต่อมานางพรรณวดี ได้กล่าวเปรียบเทียบกรณีการเป็นผู้ต้องหาพ.ร.บ. ชุมนุมฯ กับกรณีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ที่มีคนเสียชีวิตว่า “เมื่อกี๊ทางคุณธรรมรัตน์นะคะ แค่คดี แต่กลุ่มเสื้อแดง เสียชีวิต คงไม่ได้พูดว่ามีถึง 99 ชีวิต” นอกจากนี้ นางพรรณวดียังให้ความเห็นในเรื่องสองมาตรฐานโดยโยงเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน เช่นเปรียบเทียบว่าหลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกเพ่งเล็งและคาดโทษจากภาครัฐมากกว่าหลวงปู่พุทธอิสระ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เป็นต้น

ผู้ร่วมเสวนา ขอยุติการทำหน้าที่ของตน

เวทีเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกเริ่มพัวพันกับประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องสีเสื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว นายธรรมรัตน์ เสงี่ยมศรี มีสถานะเป็นอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาชน ขอนแก่น ต่อเนื่องมาถึงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อหลากสี ส่วนนางพรรณวดี เป็นคู่ครองของนายแพทย์เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช.อีสาน

ในช่วงท้ายของการเสวนา นางพรรณวดีได้แสดงความคิดเห็นที่โยงเข้ากับเรื่องทางการเมือง มีการวิพากษ์วิจารณ์ทหาร และยืนยันว่าคนเสื้อแดง “ตาสว่าง” และพร้อมต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย ในช่วงท้ายนี้ก็ผู้ร่วมเสวนาอย่างนายทวีวัฒน์ที่พยายามยกมือเพื่อขอแสดงความคิดเห็นอยู่หลายครั้ง แต่พิธีกรได้ปล่อยให้นางพรรณวดีให้ความเห็นต่อไป นายธรรมรัตน์แสดงออกถึงความไม่สนใจที่จะร่วมฟังบนเวที ด้วยท่าทีที่อึดอัดระหว่างการเสวนา

จนกระทั่งเหตุการณ์ได้มาถึงจุดวิกฤต เมื่อสิ้นสุดการพูดของนางพรรณวดี นายธรรมรัตน์ได้ขออนุญาตแสดงความคิดเห็น โดยไม่คาดคิด เขาได้ประกาศจุดยืนของตัวเองว่า เวทีนี้เขาคงไม่สามารถเสวนาต่อไปด้วยได้ เนื่องจากเขาถูกติดต่อมาเพื่อให้พูดประเด็นของการต่อต้านการย้าย บขส. ขอนแก่น จึงตอบรับเพื่อมาพูดเรื่องนี้เป็นวิทยาทาน แต่ขณะนี้เขากลับรู้สึกว่า เวทีนี้กำลังมีประเด็นทางการเมือง จึงขอยุติหน้าที่ของตัวเองไว้แค่นี้ จากนั้นก็ขอลงจากเวทีไป ทำให้เวทีตกอยู่ในความเงียบอยู่ห้วงขณะหนึ่ง

หลังจากนั้นพิธีกรก็ได้สรุปสั้นๆ ถึงการแสดงจุดยืนของนายธรรมรัตน์ และขอยุติเวทีเสวนาโดยตัดช่วงถาม-ตอบตามกำหนดการออก นายธรรมรัตน์เดินออกจากห้องประชุมมายืนอยู่ข้างนอก นายธรรมรัตน์แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะไม่พูดเรื่องสีเสื้อ “ถ้าผมรู้อย่างนี้ ผมเลือกที่จะไม่มาดีกว่า”

DSC00470

นายธรรมรัตน์ เสงี่ยมศรี ผู้นำชุมชนประท้วงการย้าย บขส. ขอนแก่น ตอบคำถามต่อผู้เข้าร่วมฟังนอกห้องประชุม พร้อมแสดงความคิดเห็นว่าตนตั้งใจมาพูดถึงประเด็นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกที่เกี่ยวเนื่องกับการย้ายบขส. ขอนแก่น แต่เมื่อเวทีเสวนากลายเป็นเรื่องการเมืองสีเสื้อ ก็ทำให้ประเด็นที่ตนพูดแปดเปื้อน ไม่สามารถอยู่ร่วมเวทีเดียวกันได้

การเสวนาสิ้นสุด แต่ทางกฏหมายยังไม่จบ

การสิ้นสุดของเวทีเสวนาเกิดขึ้นมาจากการยึดเหตุการณ์ทางการเมืองที่นำมาโยงกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทำให้กระทบกระเทือนจิตใจต่อฝ่ายที่เห็นต่าง โดยไม่ได้มีการหาจุดร่วมในการแก้ปัญหาที่ต่างฝ่ายก็ได้รับผลกระทบร่วมกันในฐานะประชาชน

แต่ประเด็นการเข้ามาของทหารที่มาเฝ้าดูตลอดการเสวนายังไม่สิ้นสุด ยังคงมีทหารและตำรวจยืนตามหน้าห้องประชุมเป็นปกติ นอกจากการบันทึกวิดีโอตลอดการเสวนาแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยถ่ายภาพผู้เข้าร่วมเสวนาด้วย โดย พ.ท. พิทักษ์พล ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสหลังงานเสวนา ความว่า

“เราได้เตือนแล้ว อย่าออกนอกกรอบ และห้ามพูดเกี่ยวกับการเมือง ยั่วยุ ยุยงส่งเสริม รับไม่รับเกี่ยวกับประชามติ เพราะมันเป็นสิทธิและอยู่ในใจ และห้ามพูดเรื่องคดี 112 ด้วย เพราะทางทหารมีนิติกรจังหวัด ฝ่ายข่าวทหาร ตำรวจ ที่มาเข้าสังเกตการณ์ในงานเสวนานี้ พร้อมบันทึกวิดีโอไว้ด้วย หากออกนอกกรอบ ก็อาจดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งในการจัดงาน และทางผู้จัดก็ได้ทำข้อตกลงขออนุญาตกันแล้วถูกต้อง”

นั่นหมายถึงการดำเนินคดีกับผู้ร่วมเสวนา หากทหารมองว่าเป็นการเข้าข่ายละเมิดข้อตกลงหรือกฎหมายที่ส่งผลต่อความมั่นคง ซึ่งในเวทีช่วงสาย หลังการกล่าวปาฐกถาของเอกอัครราชทูตสวีเดน ก็ได้มีการกล่าวถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมีการตั้งคำถามถึงเสรีภาพในการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศ โดยเปรียบเทียบกับกรณีประเทศอังกฤษและประเทศแคนาดาอีกด้วย

ทั้งนี้ ระหว่างการเสวนา นายธีระพล อันมัย ได้กล่าวว่า เสรีภาพเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันทำให้เราสามารถปฏิเสธในสิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบ แม้แต่การถูกยัดเยียดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสุข’ ถ้าหากเราไม่ชอบก็ย่อมควรจะเป็นเป็นสิ่งที่แสดงออกด้วยการปฎิเสธได้ ถ้าแสดงออกไม่ได้ คนเราก็ไม่ต่างจากท่อนไม้ท่อนฟืน ซึ่งนายธีระพลได้อ้างคำกล่าวของ ช็อง-ปอล ซาร์ตร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ทิ้งไว้ให้แก่ผู้ร่วมเสวนาว่า

“มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ ถ้าไม่มีเสรีภาพก็เท่ากับเราไม่มีความเป็นมนุษย์ เราไม่สามารถปราศจากเสรีภาพได้แม้แต่เสี้ยววินาทีของชีวิต”

พิรุณ อนุสุริยา และสรรค์ชัย เกริกชัยวิภาส เป็นผู้เข้าร่วมอบรมนักข่าวภาคอีสานรุ่นที่ 1 (The Isaan Journalism Network Project) เป้าหมาย คือ เพื่อสร้างเครือข่ายคนทำงานด้านสื่อมวลชนในภาคอีสานให้กับเดอะอีสานเรคคอร์ด  โดยเริ่มดำเนินการอบรมตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือนธันวาคม 2559

image_pdfimage_print