
วันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 2/2559” ผลสำรวจพบว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจอีสานในไตรมาสที่ 2/2559 แย่ลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 3/2559 ความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้นตัว ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ 48.6 จาก 100
ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนและระดับจังหวัด เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและคำนวณดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจอีสานในไตรมาสที่ 2/2559 และคาดการณ์ไตรมาสที่ 3/2559 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 4 กรกฎาคม 2559 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,231 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
สำหรับความเห็นต่อสภาพเศรษฐกิจ ทั้งรายได้ ค่าใช้จ่าย และการผ่อนชำระหนี้ ของครอบครัวในปัจจุบัน โดยรวมเป็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 52.7 เห็นว่ารายได้ ค่าใช้จ่าย และการผ่อนชำระหนี้ ของครอบครัวในปัจจุบันอยู่ในระดับพอใช้ รองลงมาร้อยละ 21.0 เห็นว่าอยู่ในระดับดี ร้อยละ 18.7 เห็นว่าอยู่ในระดับแย่ ร้อยละ 4.5 เห็นว่าอยู่ในระดับดีมาก มีเพียงร้อยละ 3.0 ที่เห็นว่าอยู่ในระดับแย่มาก ดังนั้น ดัชนีสภาพเศรษฐกิจครัวเรือนอีสานคือ 51.4 จาก 100
เมื่อทำการสอบถามเกี่ยวกับ เศรษฐกิจและการค้าของจังหวัด รายได้ครัวเรือน สภาพคล่องการเงินครัวเรือน และการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของครัวเรือน และทำการประมวลผลเป็นดัชนีชี้วัดต่างๆ พบว่าดัชนีทั้งหมดแย่ลง และมีแนวโน้มแย่ลงในไตรมาสหน้า ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ไตรมาส 2/2559 เท่ากับ 77.4 (แย่ลง) และไตรมาส 3/2559 คาดการณ์ เท่ากับ 91.2 (แย่ลง)
และอีสานโพลได้สอบถามความคิดเห็นต่อผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ( เม.ย – มิ.ย. 59) เป็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.7 เห็นว่าพอใช้ รองลงมาร้อยละ 24.0 เห็นว่าแย่ ร้อยละ 17.9 เห็นว่าดี ร้อยละ 4.4 เห็นว่าดีมาก และร้อยละ 4.1 ที่เห็นว่าแย่มาก/ล้มเหลว ดังนั้นค่าคะแนนเฉลี่ยผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลคือ 48.6 จาก 100
ทั้งนี้ นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้กล่าวในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกระเตื้องขึ้น รวมทั้งการลงทุนในภาคอีสานก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ตามนโยบายของรัฐบาลจะได้อัดฉีดเม็ดเงินให้แต่ละตำบลจำนวน 5 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 2 พันล้านบาทในภาคอีสานในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา จากรายงานของเดอะบางกอกโพสต์ (The Bangkok Post)