สมชัย ภัทรธนานันท์: รอยต่อระหว่าง ‘ครอง จันดาวงศ์’ กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ในแถบเทือกภูพานผืนนี้ว่ากันว่าเป็นเสมือนดินแดนที่แห่งการฟูมฟักการต่อสู้ของประชาชน โดยเป็นเขตป่าที่มีบริเวณติดกับสามอำเภอของจังหวัดสกลนครคือวาริชภูมิ ส่องดาว และ สว่างแดนดิน ในอดีตเคยเป็นป่ารกชัฏกว้างใหญ่ มีหมู่บ้านรายล้อมมากกว่า 40 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่แรกๆ ในภาคอีสานที่มีชาวบ้านผู้ตื่นตัวทางการเมือง เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนเป็นกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในการทำสงครามประชาชน โดยก่อนหน้าการเข้ามามีอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ในพื้นที่ดงพระเจ้า ดินแดนแห่งนี้เคยผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญมากมาย ซึ่งมีผู้นำการเคลื่อนไหวคนสำคัญคือ ครูครอง จันดาวงศ์ ครูประชาบาลชาวสว่างแดนดิน
ดังนั้นการที่จะเข้าใจการเคลื่อนไหวของคนในดงพระเจ้า ตลอดจนรูปแบบการเคลื่อนไหวของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงจำเป็นต้องศึกษาชีวิตการเคลื่อนไหวทางการเมืองของครูครอง จันดาวงศ์ ตั้งแต่การเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย การเคลื่อนกับไหวกบฏสันติภาพ ไปจนถึงการต่อสู้ในบทบาทสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การต่อสู้ภายใต้การนำของครูครองนำมาสู่ความขัดแย้งกับรัฐทางการจนเสมือนเป็นไม้ต่อไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธของ พคท. ทำให้ดงพระเจ้าแห่งนี้ได้กลายเป็นฐานที่มั่นหลักของการปฏิวัติในระยะเริ่มต้น
ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาลัยมหาสารคาม เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ภาคอีสาน ซึ่งเคยได้ศึกษาชีวิตการต่อสู้ของครูครอง จันดาวงศ์ จากเอกสารต่างๆ และจากพูดคุยจากคนใกล้ชิดครอง จันดาวงศ์เอง เมื่อไม่นานมานี้ มีการแชร์บทความของสมชัยเรื่อง “ครอง จันดาวงศ์ กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาอีสาน” (วารสารบัณฑิตอาสาสมัคร, ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม-ธันวาคม 2557) อย่างคึกคักในโซเชียลมีเดีย

นายครอง จันดาวงศ์ หรือ “ครูครอง” (2451-2504) ก่อนเข้าหลักประหารในวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 ตามคำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เดอะอีสานเรคคอร์ด : ความคิดทางการเมืองและแนวทางเคลื่อนไหวของครูครอง จันดาวงศ์ มาจากไหนและมีพัฒนาการยังไง
สมชัย ภัทรธนานันท์ : จะเข้าใจบทบาทการเมืองของ ครูครอง จันดาวงศ์ มันต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทางประเทศ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ 2475 คือครูครองจะมีบทบาททางการเมืองแบบไหนมันไปสัมพันธ์กับการแบ่งฝ่ายทางการเมืองในประเทศไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดความขัดแย้งระหว่างปรีดี พนมยงค์กับจอมพล ป. เตียง ศิริขันธ์ และส.ส.อีสานฝ่ายหัวก้าวหน้าให้การสนับสนุนปรีดี เนื่องจากมีแนวคิดที่สอดคล้องกันเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมและสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย การที่เตียงให้การสนับสนุนปรีดี ทำให้ครองซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับเตียงสนับสนุนปรีดีตามไปด้วย และเมื่อปรีดี จัดตั้งขบวนการเสรีไทย ครอง ได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยโดยการชักชวนของนายเตียง การเข้าร่วมเสรีไทยก็ส่งผลทางความคิดกับครูครอง
นอกจากนั้นแล้วครูครองยังมีพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่ง คือเป็นคนที่ดึงดูดให้ประชาชนยอมรับความเป็นผู้นำได้ คือต้องเข้าใจชนบทในอีสานหรือชนบทที่อื่นๆ ผมว่าก็เหมือนกัน ในชนบทสมัยนั้นคนมีอำนาจคือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้อิทธิพลอะไรต่างๆ ชาวบ้านถ้าเห็นคนกล้าหาญมาต่อสู้เช่นไม่กลัวเจ้าหน้าที่ของรัฐมันก็จะเกิดความศรัทธานับถือ คือปัจจัยภายในของครูครองเป็นที่ทำให้นับถือของชาวบ้าน โดยเป็นคนกล้าแต่มีเหตุผล มีความสามารถในการจัดการความขัดแย้ง ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ทั้งยังมีอาชีพเป็นครูที่คนนับถือ หากยังไม่นับเรื่องแนวคิดทางการเมือง ลักษณะเหล่านี้ทำให้ครองกลายมาเป็นผู้นำในชุมชุนโดยง่าย พอได้เข้าร่วมเสรีไทยจึงมีบทบาทในการชักจูงชาวบ้านให้มาสนับสนุน
การเข้าร่วมเสรีไทยก็มีความสำคัญในแง่ที่ว่า เสรีไทยมันเป็นขบวนการที่มีการจัดตั้ง ทำให้ครูครองได้เรียนวิธีการต่อสู้แบบการรวมกลุ่มจัดตั้ง วิธีจะทำยังไงให้คนมาเข้าร่วมขบวนการ การจัดให้การศึกษา การฝึกฝนคน มันเป็นการเรียนรู้สำคัญสำหรับครูครอง
ต่อมาหลังจากการเคลื่อนไหวกับเสรีไทยไปแล้ว ครูครองก็ถูกทางการจับ จากตอนที่อยู่หมู่บ้านที่ได้คุยเรื่องการเมืองเพียงกับนายเตียงเท่านั้น แต่ในขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกได้ไปเจอนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ ที่อยู่ในคุกด้วย อย่างการที่ได้ไปเจอกับคนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีความคิดเรื่องการปฏิวัติ มันก็เป็นความคิดอีกแบบหนึ่งที่ต่างจากนายเตียงที่มีความคิดแบบปฏิรูป ฐานความคิดก็เปิดกว้างขึ้นมีความคิดการเคลื่อนไหวที่หลากหลายมากกว่าการคิดจะเป็นแค่ผู้แทนราษฎร เห็นได้จากการที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการสันติภาพ มันเป็นการคัดค้านสงคราม คัดค้านจักรวรรดินิยมอเมริกา เรียกร้องนโยบายทางการเมืองที่เป็นกลาง แสดงถึงแนวคิดที่กว้างไปกว่าเดิม
อีกอย่างคือการมีโอกาสติดต่อสัมพันธ์กับคนเวียดนามอพยพ คือช่วงนั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ช่วงนั้นปรีดี พนมยงค์ ต้องการอพยพคนเวียดนามออกจากพื้นที่ปะทะตรงเขตชายแดนไทยลาว จึงมอบหมายให้ครูครองเป็นคนดูแลคนเวียดนามเหล่านี้ โดยครูครองได้จัดหาที่ทำกินในภาคอีสานให้กับคนเวียดนามเหล่านี้ ความสัมพันธ์เหล่านี้ทำให้มีการถ่ายทอดเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองบวกกับวิธีการจัดตั้ง
คนเวียดนามในสมัยนั้นมีความสามารถในการจัดตั้ง มีความคิดทางการเมือง มีระเบียบวินัย มากกว่าพคท.เป็นไหนๆ ซึ่งพคท.ตอนนั้นยังเพิ่งแค่ตั้งไข่เท่านั้น ยังไม่มีอิทธิพลอะไร คนเหล่านี้จึงมีบทบาทสำคัญแก่พัฒนาการความคิดของครูครองก่อนที่จะเข้าไปมีบทบาทเป็นผู้แทนราษฎรและการเคลื่อนไหวการเมืองหลังการทำรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
เดอะอีสานเรคคอร์ด : การเคลื่อนไหวของครูครองในแถบดงพระเจ้ามีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวแบบไหน มีเป้าหมายอะไร หรือหยิบยกประเด็นอะไรเป็นจุดร่วม
สมชัย ภัทรธนานันท์ : แนวคิดของครูครองต้องการประสานการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ เพื่อจะให้มีการตื่นตัวทางการเมือง เคลื่อนไหวจัดตั้งมวลชนเพื่อต้องการให้เป็นองค์กรทางการเมือง โดยมีการพามวลชนมาทำงานร่วมกัน มีการแก้ปัญหาการโดนเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนและจากเจ้าหน้าที่รัฐ มีอภิปรายร่วมกันมีการลงมติร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชน ซึ่งต่างจากที่ทางการไทยคิดว่ามีการสะสมอาวุธ มีการฝึกอาวุธ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น
เดอะอีสานเรคคอร์ด : การเคลื่อนไหวได้ชูความเป็นภูมิภาคนิยมในการต่อสู้ เหมือนกับการต่อสู้ในอีสานที่ผ่านมาไหมครับ
สมชัย ภัทรธนานันท์: มันไม่จำเป็นต้องใช้ความเป็นลาวหรอก ชาวบ้านทุกคนก็มีสำนึกลาวอยู่แล้ว ไม่ใช่มาตั้งมาปั้นกัน มันเป็นการแสดงมาโดยธรรมชาติ เรื่องอะไรที่เกิดในฝั่งนั้นมันมาถึงฝั่งนี้ อะไรที่เกิดในเวียงจันทน์ก็เหมือนเกิดในภาคอีสานมันใกล้ชิดกันขนาดนั้น คือคนยุคหลังมาจินตนาการว่าขบวนการเหล่านี้ใช้ความเป็นลาวมาสู้อะไรแบบนี้ แน่นอนว่าครูครองเห็นอกเห็นใจขบวนการในประเทศลาว เพราะในตัวเขามันเป็นอย่างนั้นชาวบ้านก็เป็นอย่างนั้น อย่างเช่นตอนคุณ ถวิล พงศ์สกุล เข้ามาในดงพระเจ้าช่วงแรกๆ ก็โดนชาวบ้านต่อต้านเพราะเป็นคนมาจากภาคกลางพูดภาษาลาวไม่ได้ โดนชาวบ้านแกล้งมาตลอด โดนหลอกให้กินอย่างนั้นอย่างนี้ ชาวบ้านเขารู้สึกว่าเป็นคนไทยนี่หว่า ชาวบ้านเขารู้สึกไม่ชอบ พอเป็นคนภาคกลางเขารู้สึกแยกเลย ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นไม่ต้องมาปลุกระดมอะไรเลย
เดอะอีสานเรคคอร์ด : การเคลื่อนไหวที่มานี่มีเงื่อนไขทางสังคมอะไรที่ทำให้เกิดขึ้น
สมชัย ภัทรธนานันท์ : สภาพปัญหาในบริเวณนั้นก็เหมือนกันพื้นที่ทั่วไปในภาคอีสานและภาคอื่นๆ คือมีปัญหาการถูกกดขี่จากเรื่องรัฐมากกว่าเรื่องทุนในตอนนั้นมันยังไม่มีการเป็นเจ้าที่ดินอะไรถ้าใครไม่มีที่ดินทำกินก็ถางป่าดงพระเจ้านี้ล่ะเป็นที่ทำกิน ปัญหาหลักอยู่ที่เรื่องกดขี่ข่มเหงจากเจ้าหน้าที่รัฐ มันมีงานของ คมสรรค์ มาตุคาม ที่เป็นคนเขียนงานให้ กอ.รมน. ก็จะพูดถึงปัญหาการกดขี่ของรัฐ ก็คือจับฆ่ารีดไถ เจ้าหน้าที่ลงไปในหมู่บ้านจะทำอะไรก็ทำ เช่นไปฆ่าวัวชาวบ้านกินแต่ไปบอกว่าโจรเอาไปขโมยไป ชาวบ้านก็รู้ว่าใครทำ แต่ถ้าเถียงไปก็ถูกตั้งข้อหา ครูครองเองและที่เป็นคนไปแก้ปัญหา พาชาวบ้านไปต่อรองร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่รัฐ
เดอะอีสานเรคคอร์ด : การที่ทางประเทศลาวเกิดการยึดอำนาจในพ.ศ 2503 โดย นายพลกองแล วีระสาน ในฐานะฝ่ายลาวเป็นกลาง เพื่อล้มรัฐบาลฝ่ายขวาของเจ้าสมสนิท ส่งผลขบวนการเคลื่อนไหวในแถบภูพานไหมครับ
สมชัย ภัทรธนานันท์ : อิทธิพลแค่เรื่องที่ว่ามันอาจจะมีการปราบปรามบริเวณไทย-ลาวเท่านั้นเอง เพราะตอนนั้นสถานการณ์อะไรที่เกิดในลาวคนในภาคอีสานจะรู้หมด การที่นายพลกองแลยึดอำนาจคนในอีสานก็มีการพูดกันเยอะ มีถึงพูดถึงขนาดว่ากองแลหายตัวได้ ยิงก็ไม่เข้าเลยทำให้ยึดอำนาจในลาวได้ คือสิ่งที่เกิดขึ้นในลาวมาส่งผลมาถึงภูมิภาคนี้มาก สิ่งที่ส่งผลกระทบกับครูครองคือแกมองว่าสถานการณ์มันเริ่มตึงเครียด เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการแล้วจะคิดว่ามาจับกุมขบวนการที่คิดว่าจะร่วมมือกับประเทศลาวเพราะทางการคิดว่ากองแลเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ นายพลกองแลเป็นฝ่ายที่สาม
เดอะอีสานเรคคอร์ด : การยึดอำนาจของ นายพลกองแล วีระสาน ทำให้รัฐไทยมีมุมต่อภาคต่อขบวนการของครูครองเปลี่ยนไปไหมครับ
สมชัย ภัทรธนานันท์ : จริงแล้วมุมมองที่รัฐมองขบวนการลักษณะนี้ เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ทางการไทยเปลี่ยนนโยบายต่อขบวนการกู้ชาติในอินโดจีนตั้งแต่สมัยจอมพล ป. เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอเมริกา เพราะตั้งแต่ก่อนช่วงรัชกาลที่ห้าเป็นต้นมาไทยก็คล้ายๆ ที่ว่าเล่นไพ่อินโดจีนอยู่ คือช่วยเหลือพวกต่อต้านฝรั่งเศสในอินโดจีน จะเป็นคอมมิวนิสต์ไหมไม่ได้สนใจ สนใจอย่างเดียวคือทำยังไงฝรั่งเศสจะยึดอินโดจีนไม่ได้ เพราะไทยเองก็อยากไปยึด ขนาดลาวเขมรไทยก็ยังคิดว่าเป็นของไทย ฝรั่งเศสมันเอาไป เพราะฉะนั้นใครต่อต้านฝรั่งเศสรัฐบาลไทยช่วยเหลือหมด ดังนั้นไม่ว่าเวียดมินห์หรือขบวนการณ์ “ปะเทดลาว” ก็ล้วนแล้วแต่มาอยู่ประเทศไทย ทางการไทยให้ความช่วยเหลืออยู่ แม้แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้วจอมพล ป. กลับมาสู่อำนาจรอบที่สองก็ยังติดต่อกับฝ่ายเวียดมินห์อยู่
แต่พออเมริกามายื่นเสนอมาในราวปี พ.ศ. 2492 ให้เปลี่ยนฝ่ายสนับสนุนเพื่อแลกกับการให้การช่วยเหลือ ตอนนี้จอมพล ป. ถึงมาเปลี่ยนนโยบายต่ออินโดจีน ไปรับรองรัฐบาลหนบ๋าว ดั่วที่รัฐบาลฝรั่งเศสจัดตั้งขึ้นและเลิกสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชในอินโดจีน จึงมีการตั้งข้อหาว่าพวกเคลื่อนไหวช่วยเหลือฝ่ายอินโดจีนในอีสานเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน แต่ก่อนมันตั้งข้อหานี้ไม่ได้เพราะรัฐบาลสนับสนุนอยู่
เดอะอีสานเรคคอร์ด : หลังจากทางการไทยเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับอินโดจีนนั้นนำมาสู่ความรุนแรงอะไรบ้างในภาคอีสาน
สมชัย ภัทรธนานันท์ : มันรุนแรงในครั้งที่มีการฆ่าสี่รัฐมนตรีอีสาน การกวาดล้างถูกคั่นกลางตอนสฤษดิ์เข้ามายึดอำนาจ ก็เกิดการทำลายเครดิตของ จอมพล ป. โดยรื้อฟื้นคดีการกวาดล้างขึ้นมาพิจารณา แต่การกวาดล้างในยุคของสฤษดิ์เกิดขึ้นหลังการเหตุการณ์ทางอินโดจีนกลับมารุนแรงอีกครั้ง ปี 2504 มีการกวาดล้างกว้างทั่วภาคอีสาน มีการจับกุมในหลายพื้นที่หลายที่เช่นอำเภอนาบัว อำเภอสว่าง อำเภอหนองหาน เพราะความรุนแรงของฝั่งอินโดจีนนั้นทำให้ฝั่งนี้ตกใจ ทั้งในลาวและเวียดนาม ทางการวิตกกังวลว่าการปฏิบัติการของฝ่ายคอมมิวนิสต์กำลังแพร่หลายเข้ามา ซึ่งตอนนั้นประมาณปี 2504 พรรคคอมมิวนิสต์แหล่งประเทศไทยยังไม่ได้มีบทบาทอะไร เพราะยังอยู่ในช่วงคลำทางตั้งไข่ยังไม่มีการต่อสู้โดยใช้อาวุธ ใครที่ไปเกี่ยวข้องกับขบวนการกู้ชาติในอินโดจีนถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อประเทศไทยหมด
เดอะอีสานเรคคอร์ด : การต่อสู้หลังจากที่ ครูครองเสียชีวิต มีสถานการณ์อย่างไรบ้าง
สมชัย ภัทรธนานันท์ : ลองคิดดู ช่วงที่ครูครองเคลื่อนไหวมาจนถึงปี 2504 พื้นฐานความคิดทางการเมืองก็น่าจะมากขึ้นมากแล้ว พอครูครองถูกฆ่าเสร็จในช่วงแรกก็มีการตามคุกคามคนใกล้ชิดของครูครอง คนพวกนี้ก็หนีเข้าป่าไปอยู่กับ พคท. หมดเพราะมันไปทางอื่นไม่ได้แล้ว ช่วงนั้น พคท. วางแผนจะสร้างกองกำลังอาวุธด้วย คนที่เข้าไปในป่าก็ถูกจัดตั้งเป็นหน่วยทางการเมือง ต่อมามีการปราบปรามระลอกใหม่ที่ขยายวงกว้างขึ้นไปถึงชาวบ้านธรรมดา ขอบเขตมันกว้างขวางขึ้น คนก็ยิ่งหนีเข้าป่าไปจำนวนมาก ตรงนี้ก็เป็นตัวเชื่อม คือจากที่เคยเคลื่อนไหวกับครูครองก็มาเคลื่อนไหวกับ พคท. แทน มันถ่ายทอดหากันเลย
เดอะอีสานเรคคอร์ด : พคท. เข้ามาตอนไหนครับ มันถึงจะได้เชื่อมต่อกันสนิทขนาดนั้น
สมชัย ภัทรธนานันท์ : เริ่มจากการส่งคนของพรรคมาจากกรุงเทพตอนแรกส่งมาแล้วสองคน ให้มาอยู่กับครูครองเพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ชนบทเท่านั้น ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร ในลักษณะที่เหมือนกับคนรู้จักฝากกันมา แต่คนที่เข้ามาเคลื่อนไหวจริงๆ ก็คือ นายถวิล พงศ์สกุล ที่เขามาเคลื่อนไหวใกล้ชิดกับครูครองในราวปีพ.ศ. 2495 ตอนแรกมาอยู่ในอำเภอสว่างแดนดินจนมาได้ใกล้ชิดกับครูครอง เลยได้ไปเคลื่อนไหวในดงพระเจ้าด้วยกัน พอหลังครูครองเสียชีวิตพคท.เลยสามารถจัดตั้งคนในดงพระเจ้าได้ เพราะตอนนั้นชาวบ้านมีความรู้มากแล้ว ด้วยความที่ดงพระเจ้าเป็นพื้นที่เก่าของครูครอง ทำให้การขยายงานของ พคท. มีประสิทธิภาพ คนใน พคท. มองว่าดงพระเจ้าเป็นจุดพื้นที่ที่เป็นไปได้ เห็นภาพว่าจะต้องไปทำงานกับใคร มีคนเคลื่อนไหวอยู่แล้วและมีความตื่นตัวทางการเมืองมาก
เดอะอีสานเรคคอร์ด : ถึงขนาดที่ว่าคนสำคัญใน พคท. มองว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องลงทำงานเลยไหมครับ
สมชัย ภัทรธนานันท์ : จุดสำคัญในแถบภูพานจุดใหญ่มันมีหลายที่เช่นแถบดงหลวง ส่วนดงพระเจ้าความสำคัญมันอยู่ช่วงแรกในแง่ที่ว่า เป็นบริเวณที่ใช้เข้าออกระหว่างป่ากับเมืองเพราะเป็นป่าที่มีพื้นที่ติดกับอำเภอสว่างแดนดิน การประชุมของพรรคครั้งสำคัญหลายครั้งก็จะประชุมที่นั่น ต่อมาความสำคัญมันก็ลดลงเพราะมันเป็นที่ราบและใกล้เมืองอาศัยอยู่นานๆไม่ได้ มันเสี่ยงต่อการถูกปราบก็ต้องขึ้นไปอยู่บ้านภูพาน หลังครูครองตายนี้คนเต็มป่าเลย จากนั้นก็มีการไปขยายงานในเขตอื่นในบริเวณใกล้เคียงทั้งหมด ก็อาศัยคนจากดงพระเจ้าคนที่ศรัทธาในตัวครูครองไปทำงานขยายพื้นที่ในแถบอื่น คือคนศรัทธาครองมันมีทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านครู คนพวกนี้มันมีอิทธิพลต่อชาวบ้าน เช่นเขตดงสารที่ติดกับดงพระเจ้าก็เป็นคนที่ศรัทธาครูครองเข้าไปทำงานขยายพื้นที่ในแถบนั้น
เดอะอีสานเรคคอร์ด : คิดว่าจริงไหมครับที่มีคนว่าดงพระเจ้าเป็นแหล่งบ่มเพาะของการปฏิวัติ เหตุการณ์หลายๆ อย่างก็เกิดขึ้นที่นี่
สมชัย ภัทรธนานันท์ : ใช่ครับเพราะมันเป็นจุดแรกที่มีมวลชนเข้าร่วมการปฏิวัติเยอะ และมีการไปขยายงานที่เขตอื่น แต่ก็มีเขตอื่นๆที่มีมวลชนเข้าร่วมการปฏิวัติมากเช่นการอย่าง เขตดงหลวง ซึ่งต่อมาดงหลวงกลายเป็นเขตที่มีมวลชนมากที่สุดเพราะมันอยู่บนภูเขาอยู่หลังภูพานเลย มีหมู่บ้านเยอะกลายเป็นเขตศูนย์กลางของภูพาน ดงพระเจ้าตอนหลังความสำคัญก็ลดลง เพราะป่ามันก็ถูกถางไปและถูกตัดถนนทะลุผ่าน
เดอะอีสานเรคคอร์ด : ลูกหลานของครูครองมีบทบาทอย่างไรในการเคลื่อนไหวของพคท. บ้างครับ หลังการเสียชีวิตของครูครอง
สมชัย ภัทรธนานันท์ : คุณวิทิต จันดาวงศ์ ลูกชายคนโต ถูกจับพร้อมครูครองกว่าจะออกมาก็หลัง 14 ตุลา ทางพคท. ก็รับตัวเข้าไปอยู่ในป่า ต่อมาก็เป็นกรรมการจังหวัดอยู่ในเขต 222 ที่เป็นเขตของดงพระเจ้าร่วมกับพื้นที่อื่นๆ คุณควรครอง จันดาวงศ์ ลูกสาวคนเล็กเป็นหมอถูกส่งไปเรียนหมอที่ประเทศจีน กลับมาปฏิบัติอยู่ฐานที่มั่นทางภาคเหนือ ออกจากประเทศไปตั้งแต่ 2504-2505 ส่วนลูกชายคนรอง คุณธำรง จันดาวงศ์ หนีออกต่างประเทศไปก่อนคนแรกหลังครูครองเสียชีวิตใหม่ ไปเรียนการทหารที่ประเทศจีนได้กับมาเป็นผู้นำทางการทหารอยู่เขตแถวภาคเหนือน่าแถบภูหินร่องกล้า เข้าใจว่าหลังครูครองตายไป พคท. ได้พาลูกของครูครองหลบหนีข้ามเข้าไปในประเทศลาวแล้วจึงต่อไปจีน
เดอะอีสานเรคคอร์ด : การต่อสู้ครั้งนั้นมันหลงเหลืออะไรมาถึงทุกวันนี้บ้างครับ
สมชัย ภัทรธนานันท์ : มันต้องเข้าใจลักษณะสิ่งที่เขาเรียกว่าผลสะเทือนทางการเมือง มันเป็นสิ่งที่ต่างจากของที่เป็นวัตถุที่ถ้ามันคงทนมันก็อยู่อย่างนั้นล่ะ แต่ว่าผลสะเทือนทางการเมืองมันเป็นเรื่องของความคิดมันผันแปรไปได้ ผมคิดว่าสิ่งที่หลงเหลือจากการต่อสู้ทั้งหมดคือการมีหลักประกันที่จะไม่ถูกละเมิดกดขี่ข่มเหงโดยทารุณอย่างแต่ก่อน เพราะนี่เป็นบทเรียนของรัฐไทยที่มันสรุปมาแล้วว่าถ้าไปใช้กำลังกับชาวบ้านเขาจะลุกขึ้นต่อสู้และนำไปสู่สงคราม เราจึงเห็นชนบทที่ไม่มีเสียงปืนหรือความโหดร้ายทารุณ ไม่มีการจับกุมโดยไม่มีขอบเขต นอกจากนั้นยังทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการคิดที่ปล่อยให้เผด็จการทหารปกครองไปโดยไม่เปิดให้มีประชาธิปไตยเป็นเวลายาวนาน ต้องมีระบบรัฐสภา ต้องเปิดให้มีช่องทางอื่นให้สู้ ถ้าไม่มีช่องทางอื่นให้สู้เขาก็ลุกขึ้นจับปืน เป็นที่มาของ คำสั่งนายกฯ ที่คำสั่ง 66/2523 [เป็นคำสั่งที่ให้โอกาสภาคคอมมิวนิสต์ที่เข้าป่าจับปืนต่อสู้ได้รับนิรโทษกรรมความผิดทั้งหมด] และเรื่องราวมันก็ดำเนินมาอย่างยาวนาน จนมามีรัฐประหารในช่วงหลังซึ่งก็มีขอบเขตในการใช้กำลังมากขึ้น มันมีบทเรียนแล้วว่าถ้าใช้ไม่มีขอบเขตรัฐเองก็กลัวเหมือนกัน นี่คือผลสะเทือนที่รุนแรงมาก ถ้าจะบอกว่ามันทำให้ชาวบ้านมีแนวคิดที่ตายตัว คงไม่ตายตัว ความคิดเรื่องการปฏิวัติอะไรพวกนี้มันอาจจะหายไป เป็นธรรมดาที่มันต้องผันแปรไป