โดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ

กว่า 3 เดือนที่หายตัวไป ชาวบ้านโคกยาวรวมถึง “สุภาพ คำแหล้” ภรรยาของเด่น ก็ไม่ละความพยายามในการตามหัวตัวนักต่อสู้ด้านสิทธิที่ดินทำกินรายนี้ และความหวังก็ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งเมื่อตำรวจได้ตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมาคลี่คลายคดีนี้โดยเฉพาะ

 “เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ และทุกข์ยากเหลือเกิน แม่นอนร้องไห้อยู่คนเดียว ที่บ้านลูกก็ไม่มี ก่อนนอนในค่ำบางคืน น้ำตาไหลพรากออกมาโดยไม่รู้ตัว ตาเด่นหายไปไม่มีแม้แต่คำลา ถ้าตาเด่นตายไปแล้วขอให้ได้รับผลบุญที่แม่อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไป ให้มาเข้าฝัน มาบอกจุดบ้างอยู่ตรงไหน จุดไหน จะได้หาถูก”

นางสุภาพ คำแหล้ อายุ 62 ปี ชาวบ้านชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เอ่ยถึงความรู้สึก ที่มีต่อ “นายเด่น คำแหล้” ผู้เป็นสามี ที่หายตัวไปหลังเข้าไปหาหน่อไม้และไม้หวาย บริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา

เสียงของนายเด่นเช้าวันนั้นยังแว่วอยู่ในหูของนางสุภาพว่าให้เตรียมพื้นที่ไว้ออกจากป่ามาเราจะได้ปลูกไม้รวกกัน จากนั้น นายเด่นก็เข้าไปหาของป่าตามปกติ

แต่นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีผู้ใดได้พบเห็นชายผู้เป็นสามีของเธออีกเลย

สิ่งที่นายเด่นเอาเข้าไปนำติดตัวไปด้วยในวันนั้น มีเพียงย่ามที่ทำด้วยกระสอบปุ๋ย 1 ใบ โดยในย่ามมีขวดน้ำ 1 ขวด มีข้าวเหนียว 1 ปั้น และมีมีดไปด้วย 1 ด้าม ดูจากสิ่งของที่พกติดตัวไป บอกได้อย่างชัดเจนว่าไม่ได้เดินออกไปไกล และการออกไปหาของป่าทุกครั้ง จะต้องกลับมาก่อนบ่ายสามโมงครึ่งเสมอ เพื่อเตรียมเอาของป่าที่หาได้ไปวางขายที่ตลาด

ผ่านมากว่า 3 เดือนแล้ว นางสุภาพยังรอคอยการกลับมาของสามี เธอบอกว่า ไม่ว่าจะกลับมาในสภาพไหน ก็รับได้ทั้งหมด เพราะการรอคอย โดยที่ไม่พบเบาะแสอะไรเลยมันทรมานมากกว่า

รูปพ่อเด่น คำแหล้ ติดอยู่ที่ชุมชนโคกยาว ในวันครบการหายไปของพ่อเด่น 2 เดือน

รูปพ่อเด่น คำแหล้ ติดอยู่ที่ชุมชนโคกยาว ในวันครบการหายไปของพ่อเด่น 2 เดือน

 เส้นทางการต่อสู้เพื่อที่ทำกิน ของ “พ่อเด่น คำแหล้”

เดิม “นายเด่น คำแหล้” เป็นเพียงเกษตรกรธรรมดา เขาแต่งงานกับนางสุภาพ เมื่อปี 2525 และใช้ชีวิตคู่ทำสวนไร่นาหาเลี้ยงปากท้องไปตามปกติ ก่อนที่ชะตากรรมพัดพาให้นายเด่น หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “พ่อเด่น” มาเป็นนักต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบ้าน เมื่ออำนาจรัฐเข้ามากลืนกินให้ชาวบ้านในชุมชนโคกยาวทั้งหมดต้องสูญเสียที่ดินซึ่งใช้ทำมาหากินตั้งแต่อดีต

โดยในปี 2528 รัฐได้เข้ามาดำเนินโครงการ “หมู่บ้านรักษ์ ประชารักษ์สัตว์” มีการทยอยอพยพชาวบ้านทั้งหมดในชุมชนโคกยาวให้ออกจากพื้นที่ อ้างว่าจะมีการจัดสรรที่ดินทำกินรองรับ แล้วก็นำพื้นที่ชุมชนโคกยาวเดิมไปปลูกเป็นสวนป่ายูคาลิปตัส แต่เมื่อชาวบ้านเดินทางไปถึงพื้นที่ใหม่ ปรากฏว่ามีคนทำกินอยู่แล้ว ผู้สูญเสียที่ดินทำกินจึงตกอยู่ในสภาพถูก “ลอยแพ”

นายเด่นและชาวบ้านผู้เดือดร้อน จึงไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากรัฐเพื่อกลับเข้าทำกินในพื้นที่เดิมอยู่หลายปี โดยชุมนุมที่หน้าที่ว่าการอำเภอ อ.คอนสารหลายครั้ง กระทั่งมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินป่าไม้ระดับอำเภอ” เพื่อตรวจสอบการถือครองที่ดิน

แต่ปรากฏว่า ปัญหาของชาวชุมชนโคกยาวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ชาวบ้านยังไม่สามารถกลับเข้าไปทำกินในที่ดินเดิมได้ นายเด่นและชาวบ้านผู้เดือดร้อนคนอื่นๆ จึงเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านในชุมชนอื่นๆ ของ อ.คอนสาร ที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินเหมือนกัน ในนาม “เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน(คอซ.)” และ “เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)” ตามลำดับ โดยมีข้อเสนอให้ “ยกเลิกสวนป่า แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน”

กระทั่งปี 2552 นายเด่น และชาวบ้านในสมาชิกเครือข่าย คปอ. ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับผู้เดือนร้อนจากปัญหาที่ดินทำกินทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)” โดยผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบของ “โฉนดชุมชน” จนรัฐบาลขณะนั้นได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ก่อนที่เครือข่ายประชาชนหลายๆ เครือข่าว จะรวมตัวกัน ในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ)” ชุมนุมติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้าน ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กระทั่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านตามข้อเสนอของพีมูฟ

และเป็นจุดเริ่มต้น ของการกลับมาทำกินในที่ดินผืนเดิมของชาวชุมชนโคกยาว หลังต้องพรากจากนั้นนานกว่า 15 ปี

 ความขัดแย้งกับรัฐ ว่าด้วยข้อหา “บุกรุกป่าสงวน”

ทว่าสิ่งที่เหมือนจะเป็นจุดจบ ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอีกปัญหาหนึ่งของชาวบ้านชุมชนโคกยาว เพราะนับแต่ปี 2554 นายเด่นและชาวบ้านหลายคนมีปัญหาขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายครั้ง ถึงขั้นเป็นคดีขึ้นโรงขั้นศาล

นายบุญมี วิทยาโรจน์ รองประธานโฉนดชุมชนโคกยาว หนึ่งในผู้ที่ถูกดำเนินคดี เล่าว่า น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 นายเด่น นางสุภาพ และชาวบ้านรวม 10 คน ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันบุกเข้าควบคุมตัว และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม มีการแยกสำนวนฟ้อง ออกเป็น 4 คดี รวมจำนวนชาวบ้านที่ตกเป็นผู้ต้องหา 10 คน

นายบุญมี กล่าวว่า สำหรับนายเด่นและนางสุภาพ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษาให้จำคุกทั้งคู่เป็นเวลา 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และไม่ให้ประกันตัวในชั้นฎีกา เพราะเกรงว่าจะหลบหนี เป็นเหตุให้สมาชิก คปอ. และพีมูฟ ร่วมเดินรณรงค์ไปยังที่ศาลฎีกา สนามหลวง ขอให้บุคคลทั้ง 2 ได้รับการประกันตัว ที่สุด วันที่ 9 พฤษภาคม 2556 ศาลฎีกาก็มีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายเด่นและนางสุภาพชั่วคราว โดยตีหลักทรัพย์ประกันตัวไว้ที่ 300,000 บาท

“หลังจากที่นายเด่นหายไป ได้ยินข่าวมาโดยตลอดว่า นายเด่นจะหนีคดี ซึ่งโดยส่วนตัวและชาวบ้านต่างไม่มีใครเชื่อ เพราะถ้าจะหนีก็คงจะหนีกันไปนานแล้ว และที่ผ่านมาชาวบ้านในชุมชนโคกยาวก็ถูกกดดันให้ออกจากพื้นที่มาโดยตลอด ในวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ศาลจังหวัดภูเขียว นัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยชาวบ้านที่เป็นจำเลยทั้งหมดต่างไม่มีใครหลบหนี และทั้งหมดก็พร้อมที่จะไปตามที่ศาลนัดหมาย เพราะหากศาลพิจารณาว่าผิด โทษสูงสุดก็แค่จำคุก 6 เดือนเท่านั้น” นายบุญมีกล่าว

ชาวบ้านชุมชนโคกยาวยังถูกรัฐถูกกดดันให้ออกจากพื้นที่ ยิ่งหลังจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ประกาศนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ซึ่งเริ่มต้นช่วงกลางปี 2558 โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และทหารเข้ามาปิดประกาศขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่หลายครั้ง

แม้นายเด่นและชาวบ้านชุมชนโคกยาวจะเดินทางไปยื่นหนังสือและชี้แจงข้อเท็จจริงกับผู้เกี่ยวข้องอยู่หลายครั้ง กระทั่งในเดือนตุลาคม 2557 หลังการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนฝ่ายนโยบาย หน่วนราชการ และตัวแทนชาวบ้าน โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ก็มีการส่งหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องขอให้บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนไว้ก่อน จนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านจะเสร็จสิ้น

แต่การปฏิบัติตามนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ก็ยังเดินหน้าต่อไป

ก่อนที่นายเด่นจะมาหายตัวไป ในเวลาต่อมา

นางสุภาพ คำแหล้ ภรรยาพ่อเด่น คำแหล้ กับเติ่ง สุนัชใกล้ชิดพ่อเด่น

นางสุภาพ คำแหล้ ภรรยาพ่อเด่น คำแหล้ กับเติ่ง สุนัชใกล้ชิดพ่อเด่น

3 เดือนผ่านไป กับความพยายามหาตัว “นักสู้แห่งโคกยาว”

หลังจากนายเด่นไม่กลับบ้านในค่ำวันที่ 16 เมษายน 2559

นางสุภาพ พร้อมด้วยคนที่เคยร่วมเคลื่อนไหวพร้อมกับนายเด่น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิก คปอ. และเครือข่ายอื่นๆ ก็ร่วมกันติดตามหา แต่ถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม ไม่พบแม้แต่ร่องรอยอื่นใด นอกจากรอยลากของหนักบนผืนดินในป่าที่นายเด่นเข้าไปหาหน่อไม้ และรอยคล้ายนิ้วมือเป็นทางลงมาจากเชิงเขามาจนถึงบริเวณจุดวังมนริมฝั่งลำน้ำพรม นอกจากนี้ ยังพบปลอกกระสุนปืนลูกซองจำนวนหนึ่ง ซึ่งตกอยู่ไม่ไกลจากรอยลากมากนัก

ต่อมา ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2559 ก็พบ วัตถุคล้ายกระดูก จำนวน 3 ชิ้น ตกอยู่ใกล้ๆ กับกอไผ่ที่ถูกไฟไหม้ ซึ่งอยู่ด้านหลังของหน่วยพิทักษ์ป่าหนองไรไก่เพียง 50 เมตรเท่านั้น จึงมีการส่งมอบวัตถุชิ้นนี้ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจตรวจสอบต่อไป ว่าเป็นกระดูกของสัตว์หรือของมนุษย์

นอกจากนี้ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 นางสุภาพ เดินทาไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแห่งชาติ (กสม.) ยื่นหนังสือถึงนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการ กสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีการสูญหายของนายเด่น ซึ่งนางอังคณา เป็นภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่หายตัวไปเช่นกัน รวมถึงเข้าพบกับนายปกป้อง เลาวัณย์ศิริ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ โดยบุคคลทั้ง 2 ได้เดินทางลงพื้นที่ชุมชนโคกยาว เพื่อติดตามถึงความคืบหน้าและให้กำลังใจในการตามหาตัวนายเด่น เนื่องจากที่ผ่านมามีนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมหลายคนหายตัวไป ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการป้องกันปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับเรื่องคดีความ เพียง 1 วันหลังนายเด่นหายตัวไป นางสุภาพและสมาชิก คปอ. ก็เดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรห้วยยาง ต.ห้วยยาง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ แต่เจ้าพนักงานสอบสวนทำได้เพียงลงบันทึกประจำวันไว้ และบอกว่ายังไม่เป็นคดีความ เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานหรือร่องรอยใดๆ ที่จะบ่งบอกว่านายเด่นเสียชีวิต และพื้นที่เกิดเหตุน่าจะเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ป่าไม้มากกว่า

หลังจากนั้น ตำรวจก็ลงพื้นที่มาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการหายตัวไปของนายเด่นไม่กี่ครั้งเท่านั้น

กระทั่งวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 นายสุภาพ ก็เดินทางไปเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ พล.ต.ท. ทวิชชาติ พละศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 3 ซึ่งรับผิดชอบดูแลเรื่องคดีความต่างๆ ในภาคอีสานตอนใต้ 8 จังหวัด รวมถึง จ.ชัยภูมิ ขอให้เร่งรัดการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีการหายตัวไปของนายเด่น

โดย พล.ต.ท. ทวิชชาติ บอกกับนางสุภาพว่า จะมีการตรวจสอบพนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่ได้รับแจ้งความจากผู้ร้องว่า เจ้าหนักงานมีการดำเนินการตรวจสอบครบถ้วน ครบประเด็น ชัดเจนหรือไม่ นอกจากนี้จะตั้งคณะทำงานใหม่เพื่อคลี่คลายคดีนี้ขึ้นมาใหม่

ในเวลาต่อมา พล.ต.ท.ทวิชชาติ ก็มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ที่ 1150/2559 คลี่คลายการหายตัวไปของนายเด่น โดยมี พล.ต.ต.พงศ์ฤทธิ์ บุญเลี้ยง ผบก.ภ.ชัยภูมิ เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน มีนายตำรวจในกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ร่วมทำงานคลี่คลายการหายตัวไปของนายเด่นประมาณ 30 นาย และมอบหมายให้ พล.ต.ต.ธเนษฐ สุนทรสุข รอง ผบช.ภาค 3 เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน

ถือเป็นการปลุกความหวังในการค้นหาตัวนายเด่นขึ้นมาใหม่

แม้จะผ่านมา 3 เดือนเศษแล้ว แต่นางสุภาพและชาวบ้านชุมชนโคกยาว ยังไม่ละความพยายามที่จะค้นหานายเด่น นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบ้าน ที่หายตัวไปอย่างปริศนา เพื่อที่จะนำตัวพ่อเด่นกลับคืนสู่ผืนดินที่เรียกว่าบ้าน ไม่ว่าจะในสภาพใดก็ตาม

ศรายุทธ ฤทธิพิณ เป็นผู้เข้าร่วมอบรมนักข่าวภาคอีสานรุ่นที่ 1 (The Isaan Journalism Network Project) เป้าหมาย คือ เพื่อสร้างเครือข่ายคนทำงานด้านสื่อมวลชนในภาคอีสานให้กับเดอะอีสานเรคคอร์ด  โดยเริ่มดำเนินการอบรมตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือนธันวาคม 2559

image_pdfimage_print