เขียนโดย พิรุณ อนุสุริยา

“มันเหมือนการกลั่นแกล้งกัน เราได้เตรียมการทุกอย่างและประชาสัมพันธ์ไปแล้ว แล้ววันต่อไปคือวันงาน ถ้าไม่จัดก็คงจะไม่ได้”

คือเสียงยืนยันหนักแน่นจาก จตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” หนึ่งในสมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่-อีสาน ที่พูดถึงงานเสวนาเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ที่ชื่อ “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ซึ่งเตรียมจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2559 หรือเพียง 7 วันสุดท้ายก่อนจะถึงวันลงประชามติ

เหตุที่จตุภัทรต้องเอ่ยเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากอุปสรรคในการจัดงาน ซึ่งทุกอย่างถูกเตรียมไว้อย่างเรียบร้อย ในสถานที่จัดงานก็คืออาคารจตุรมุขของคณะเกษตรศาสตร์ มข. กลับถูกแจ้งยกเลิกอย่างกะทันหัน เพียง 1 วัน ก่อนที่งานจะเริ่มต้นขึ้น ทั้งๆ ที่ได้รับอนุญาตและจ่ายเงินมัดจำค่าเช่าสถานที่ไปแล้ว โดยผู้เกี่ยวข้องโทรศัพท์มาแจ้ง อ้างว่าเลขานุการของ “ผศ.มนต์ชัย ดวงจินดา” คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มข. ไม่ให้จัด เพราะไม่ได้ดูตอนที่ยื่นขออนุญาต ว่าจะจัดกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการเมือง

เมื่อเขาและผู้จัดงานคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา มข. ยืนยันว่าจะจัดงานเสวนานี้ต่อไป มาตรการต่อไปก็ตามมา โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของ มข. เดินมาเจรจาขอให้ออกจากพื้นที่ตั้งแต่คืนวันที่งานจะเริ่ม แต่เมื่อผู้จัดงานปฏิเสธจะให้ความร่วมมือ นำมาสู่การตัดไฟฟ้าและน้ำประปาของอาคารจตุรมุข หวังกดดันให้ต้องยุติการจัดงานไปโดยปริยาย ไม่เพียงเท่านั้นเก้าอี้ที่เช่ามาไว้ให้กับผู้เข้าร่วมฟังเสวนาได้นั่งก็ยังถูกขอเก็บคืนไป หลังตำรวจโทรศัพท์ไปกดดันยังผู้ให้เช่าเก้าอี้ แต่ผู้จัดงานก็ยังไม่ยอมแพ้ เดินหน้ากิจกรรมนี้ต่อไป โดยผู้จัดงานบางส่วนถึงขนาดนอนค้างคืนบนเวทีเสวนา

“การถูกตัดไฟฟ้าทำให้ไม่สามารถต่อไฟเพื่อใช้เครื่องขยายเสียง วิดีโอที่พวกเราทำขึ้นเพื่อสะท้อนการรับรู้ของประชาชนต่อการออกเสียงประชามติ ก็เป็นอันไม่ได้ฉาย เป็นอุปสรรคต่อการจัดงานของพวกเรามากๆ” ณัฐวุฒิ กรมภักดี จากกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ หนึ่งในผู้จัดงานกล่าว

กระทั่งเช้าวันจัดงานเสวนาพูดเพื่อเสรีภาพฯ มาถึง ในเวลาประมาณ 11.00 น. ก็มีจดหมายจากฝ่ายรัฐมาถึงผู้จัดงานว่าไม่อนุญาตให้จัด และให้ออกจากพื้นที่ใน 30 นาที จนผู้จัดงานต้องไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ ซึ่งขณะนั้นมาวางกำลังอยู่ใกล้สถานที่จัดงาน และคอยถ่ายรูปทุกคนที่เดินเข้าไปบริเวณหอจตุรมุข

เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ที่อยู่ในและนอกเครื่องแบบคอยสังเกตการณ์อยู่รอบๆ บริเวณจสถานที่จัดงาน โดยมี พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดเฉพาะกิจ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น

เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ที่อยู่ในและนอกเครื่องแบบคอยสังเกตการณ์อยู่รอบๆ บริเวณจสถานที่จัดงาน โดยมี พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดเฉพาะกิจ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น  ภาพ : Be Careful

มิ่งขวัญ ถือเหมาะ หนึ่งในผู้จัดงาน เล่าบรรยากาศการเจรจาว่า หลังจากที่เจรจาไปหลายครั้ง ปรากฏว่าไม่ได้ข้อสรุป จู่ๆ ทางตำรวจก็บุกขึ้นไปบนเวทีและฉีกใบรณรงค์ประชามติที่ติดไว้เป็นฉาก เหลือเพียงกระดาษโพสต์อิตที่เรียงเป็นวลีว่า “พูดเพื่อเสรีภาพ” พร้อมกับยึดลังเก็บเอกสารที่เตรียมไว้สำหรับแจกให้กับผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาที่วางไว้ด้านหลังเวที

กระทั่งการเดินทางเข้ามายังบริเวณสถานที่จัดงานก็ถูกสกัด สรรค์ชัย เกริกชัยวิภาส ซึ่งเดินทางมาร่วมกิจกรรมอื่นในสถานที่ใกล้เคียงกัน เล่าว่า เขาขับรถจะมาทำกิจกรรมอื่นที่อาคารจตุรมุข แต่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ รปภ.นำรั้วมากั้นตั้งแต่ทางเข้า พอขับเข้าไปใกล้ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ รปภ.รายหนึ่งเดินมาถามว่าจะเข้าไปทำธุระอะไร

“ข้างในเข้าไปไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่ปิดกั้น เนื่องจากจะมีการจัดงานต่อต้านรัฐธรรมนูญ” เจ้าหน้าที่ รปภ.รายหนึ่งกล่าวคำนี้กับสรรค์ชัย

เมื่อเวลาเริ่มงานตามกำหนดการใกล้เข้ามา ทางผู้จัดงานก็มาประชุมกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากไม่มีทั้งไฟฟ้า น้ำประปา และเก้าอี้ สุดท้ายจึงตัดสินใจให้ใช้วิธีพูดผ่านโทรโข่งแทน และใช้การปูเสื่อแทนนั่งบนเก้าอี้ นอกจากนี้ ยังมีการส่งคนไปรับให้ผู้ที่ต้องการจะเข้าร่วมงานเดินทางมายังอาคารจตุรมุขได้ด้วยช่องทางอื่น เนื่องจากอาคารนี้เป็นสถานที่เปิดกว้าง มีทางเข้า-ออกได้หลายทาง

กระทั่งเวลา 13.00 น. มาถึง งานเสวนาพูดเพื่อเสรีภาพฯ ก็เริ่มต้นขึ้น

งานเสวนานี้จะไม่เหมือนกับงานเสวนาวิชาการอื่นๆ ที่มักจัดขึ้นตามสถานศึกษา โรงแรม หรือหน่วยงานราชการ เนื่องจากผู้เข้าร่วมงานเสวนาส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน บนเวทีใช้ภาษาอีสานพูดคุยอย่างเป็นกันเอง มีการเล่นดนตรีพื้นบ้านโดยผู้เข้าร่วมงานเสวนาต่างก็ปรบมือร้องเพลงไปตามจังหวะดนตรี บางคนถึงขั้นลุกขึ้นมาฟ้อนรำ หากจะบอกว่าบรรยากาศคล้ายกับ “เวทีหมอลำหน้าฮ่าน” ก็คงจะไม่ผิดนัก

แต่ท่ามกลางความคึกคักที่เกิดขึ้น ก็มีเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ที่อยู่ในและนอกเครื่องแบบก็มาคอยสังเกตการณ์อยู่รอบๆ โดยมี พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดเฉพาะกิจ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น ซึ่งนักเคลื่อนไหวและนักจัดกิจกรรมใน จ.ขอนแก่น คุ้นหน้าคุ้นตากันดี ยืนอยู่ใกล้ๆ

เมื่อเข้าสู่ช่วงของงานเสวนา นักกิจกรรมหลายคนเดินขึ้นไปบนเวทีและประกาศจุดยืนว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติ ท่ามกลางเสียงปรบมือยินดีจากคนด้านล่างเวทีอยู่เป็นระยะ

กระทั่งถึงคิวของวิทยากรหลักของเวที ได้แก่ รังสิมันต์ โรม จากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์

รังสิมันต์ได้กล่าวชี้ให้เห็นถึงผลที่จะตามมาหากประชาชนส่วนใหญ่ “เห็นชอบ” หรือ Vote YES และ “ไม่เห็นชอบ” หรือ Vote NO ร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติครั้งนี้ แต่เขาปฏิเสธที่จะชี้นำว่าแต่ละคนควรจะโหวตอย่างไร บอกเพียงว่าให้ไปดูสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดทุกวันศุกร์ แล้วใช้ดุลยพินิจส่วนตัวว่าจะโหวตอย่างไร

ขณะที่ปิยบุตรชี้ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติจะทำลายเสถียรภาพการเมือง ไม่ต่างกับสมัย “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เพราะเปิดทางให้เชิญคนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ ได้

ทั้งนี้ ระหว่างที่ปิยบุตรกำลังปราศรัย ปรากฏว่า พ.ท.พิทักษ์พลและเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งเดินมายังบริเวณเวที พร้อมกับถ่ายวีดิโอบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีตลอดเวลา ทำให้อาจารย์จากกลุ่มนิติราษฎร์รายนี้ หันไปถามว่า “นี่คือการพูดวิชาการให้ความรู้ ไม่เป็นไรใช่ไหมครับ” ขณะที่ พ.ท.พิทักษ์พลตอบกลับว่า “พูดต่อได้ ไม่เป็นไรครับ”

จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาแจ้งกับผู้จัดงานให้ยุติงานภายในเวลา 16.30 น. และเอาเอกสารให้ยุติการจัดงานมาแปะบริเวณเสาของอาคารจตุรมุข ทำให้เกิดเหตุชุลมุนขึ้น โดยผู้เข้าร่วมงานบางส่วนได้ยกสมาร์ตโฟนขึ้นมาบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางส่วนถึงกับถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์

หลังปิยบุตรกล่าวจบ ก่อนสิ้นสุดการจัดงานเสวนา ทางคณะผู้จัดงานได้เดินไปที่หน้าเวทีก่อนจะทำสัญลักษณ์ยกมือไขว้กันเป็นรูปกากบาท พร้อมกันอ่านแถลงการณ์ ก่อนจะตะโกนทิ้งท้ายว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”

แม้จะฟันผ่าสารพัดอุปสรรคจนจัดงานสำเร็จ แต่ความยุ่งยากของผู้จัดงานก็ไม่ยุติ ไผ่ จตุภัทร เล่าว่า เขามารู้ภายหลังว่ามีการแจ้งความเอาผิดกับผู้จัดงานเสวนาพูดเพื่อเสรีภาพฯ ใน 3 ข้อหา ได้แก่ ความผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการ, ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน) และ พ.ร.บ.ประชามติ

“ผมเพิ่งมารู้หลังจบงานนี้เองว่ามีคดี ชาวบ้านบางคนที่ขึ้นเวทีก็โดน” จตุภัทรกล่าว

ขณะที่หนังสือพิมพ์ระดับชาติบางฉบับพาดหัวโดยระบุว่าผู้จัดงานเสวนาฯ นี้เป็นพวก “กลุ่มป่วน” หรือ “กลุ่มดื้อตาใส” จนกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมจัดงาน ต้องออกแถลงการณ์ประณามการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวผ่านทางแฟนเพจของกลุ่ม

ขณะ วงสแลแต บรรเลงดนตรีและขับรถเพลงการเมืองอีสาน สลับกับการขึ้นปราศัยของผู้เข้าร่วมงาน

ขณะ วงสแลแต บรรเลงดนตรีและขับรถเพลงการเมืองอีสาน สลับกับการขึ้นปราศัยของผู้เข้าร่วมงาน

ที่ผ่านมา จ.ขอนแก่น ซึ่งในจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่และจำนวนประชากรมากที่สุดในภาคอีสาน ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจาก คสช. นับตั้งแต่มีการจับกุมกลุ่มคนพร้อมอาวุธสงครามที่อ้างว่าวางแผนเตรียมจะก่อความวุ่นวาย หรือที่เรียกกันว่า “ขอนแก่นโมเดล” ไปจนถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาของ มข.

ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ฝ่ายรัฐอาจตีความให้เป็น “กิจกรรมทางการเมือง” ได้ จึงถูกคุมเข้มเป็นพิเศษ

เวทีพูดเพื่อเสรีภาพฯ แม้จะเดินหน้าฝันฝ่าอุปสรรคจัดงานจนสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการเป็นคดีความ ใน 3 ข้อหาหนัก

นี่คือบรรยากาศโค้งสุดท้ายก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ประชาชนทั้งประเทศจะออกมาส่ง “เสียง” แต่การออกมา “พูด” ก่อนจะถึงวันดังกล่าว กลับถูกตีกรอบโดยอำนาจรัฐ

 

พิรุณ อนุสุริยา เป็นผู้เข้าร่วมอบรมนักข่าวภาคอีสานรุ่นที่ 1 (The Isaan Journalism Network Project) เป้าหมาย คือ เพื่อสร้างเครือข่ายคนทำงานด้านสื่อมวลชนในภาคอีสานให้กับเดอะอีสานเรคคอร์ด  โดยเริ่มดำเนินการอบรมตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือนธันวาคม 2559

image_pdfimage_print