โดย ชนิศรา สัมพันธะ
พ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่ ห้ามปลูกยาสูบ?
“ย่านเพิ่นให้เลิกเฮ็ด เพราะว่าเฮากะอาชีพเฮ็ดสวนยา พอได้ส่งลูกเรียนหนังสือ” นางบุญจันทร์ (สงวนนามสกุล) อายุ 51 ปี เกษตรกรชาวไร่ยาสูบ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายกล่าว “ปลูกมาแต่บ่ทันได้เกิดพู้นติ พ่อแม่เฮ็ดก่อน”
ช่วงเดือนมกราคมจนถึงมีนาคมของทุกปี บนทางหลวงหมายเลข 242 หนองคาย-ท่าบ่อ สองข้างทางมีไร่สวนที่เต็มไปด้วยต้นยาสูบ ยาสูบเป็นพืชล้มลุกใบสีเขียวขนาดใหญ่ที่มีความสูงตั้งแต่ 30-60 เซนติเมตร ปลูกเรียงรายไร่ต่อไร่ ตัดกับสีของท้องฟ้า เกิดเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามน่ามอง

(ภาพ : ไร่ยาสูบ, ที่มา : แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคาย, หมู่บ้านทำยาสูบ)
จ.หนองคายชายแดนอีสานเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกยาสูบของประเทศไทย จากข้อมูลทั่วไปด้านการเกษตรของจังหวัดระบุว่ามีเกษตรกรที่ปลูกยาสูบในหนองคายถึง 1,056 ราย ผลผลิตรวมอยู่ที่ประมาณ 1,582 ตันต่อปี สร้างเม็ดเงินประมาณปีละ 174.02 ล้านบาท
ยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้แก่คนในจังหวัดแห่งนี้มาเป็นเวลานาน เพราะปลูกกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เป็นรายได้หลักของหลายคน โดยเฉพาะชาวไร่ในอำเภอท่าบ่อ
แต่เมื่อปีที่ผ่านมานี้ได้มีกรรมการชุมชนนำใบล่ารายชื่อมาให้ชาว อ.ท่าบ่อเซ็น และชาวไร่ต่างพากันเข้าใจผิดว่าจะมีการไม่ให้ปลูกยาสูบและลดพื้นที่ปลูกยาสูบ ซึ่งข่าวลือเหล่านี้ได้สร้างความกังวลและทำให้ชาวไร่ยาสูบเกิดความกลัวเป็นอย่างมาก
“พ.ร.บ. ใหม่ที่เขาห้ามปลูกยาฮั่นหวา ปีที่แล้ว พวกกรรมการชุมชนเขาเอาเอกสารมาให้เซ็นอยู่แต่แม่บ่เซ็น แม่กะเฮ็ดสวนยาเนาะ บ่ทันได้อยากเซา” นางบุญจันทร์เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอ ว่ามีกรรมการชุมชนนำเอกสารมาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเธอเข้าใจว่าเป็นการล่ารายชื่อเพื่อให้เลิกปลูกยาสูบตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่
“ได้ยินข่าวเกี่ยวกับ พ.ร.บ. อยู่ แต่บ่ค่อยรู้เรื่องปานใด๋ ได้ไปเข้าร่วมฟังว่ามันมีแนวโน้มไปทางใด๋ มันเกี่ยวกับอาชีพเฮา เพราะเฮากะรับโควต้ามาจากเขา จากรัฐ เฮากะต้องไปฟัง” นางสุรางค์ (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี เกษตรกรชาวไร่ยาสูบอีกคนกล่าว
จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่ามีการล่ารายชื่อจริง แต่การล่ารายชื่อดังกล่าวเป็นการล่ารายชื่อเพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ไม่ใช่การล่ารายชื่อเพื่อให้เลิกปลูกยาสูบอย่างที่ชาวบ้านหลายคนเข้าใจ

เอกสารเซ็นชื่อสนับสนุน พ.ร.บ. ควบคุมยาสูบ ฉบับใหม่ ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ในการล่ารายชื่อผู้สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ทำให้มีการออกมาเคลื่อนไหวของชาวไร่ยาสูบในต่างจังหวัด รวมทั้งมีการขึ้นป้ายต่อต้าน พ.ร.บ. ดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้ค้นหาข้อเท็จจริงและมีการชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า
“ข้อมูลที่บิดเบือนหนักเลย คือ ชาวไร่ยาสูบที่ต่างจังหวัดที่ขึ้นป้ายคัดค้านกฎหมายนี้” นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าว
นายประกิต กล่าวว่า เราให้คนไปสืบ เขาบอกว่าเขาได้รับข้อมูลว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะลดพื้นที่การปลูกยาสูบของเขา แล้วก็จะห้ามการปลูกภายในห้าปี ซึ่งนี่เป็นข้อมูลที่ไม่มีมูลแม้แต่น้อย เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเพาะปลูก การบ่มใบยาหรือการขายใบยาเลย หากเกี่ยวเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ที่ทำเสร็จแล้วในการโฆษณาในเชิงการค้า
องค์กรหลายฝ่ายมองต่างประเด็น พ.ร.บ. จะลดผู้สูบบุหรี่ได้จริงหรือ?
“พ.ร.บ. เก่ามีมาตั้งแต่ปี 2535 มี 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ควบคุมสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ และ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2535 ใช้มา 23 ปี” นางลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้จัดการโครงการพัฒนาศักยภาพกำลังสังคมด้านการควบคุมยาสูบ กล่าว
เธอกล่าวว่า ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว ธุรกิจเขาพัฒนาไปมาก เรื่องการตลาด การโฆษณา การส่งเสริมการขาย นอกจากนี้ คำว่า ยาสูบ หรือ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ มันพัฒนาไปเยอะ มีทั้งบารากุ บุหรี่ไฟฟ้า เพราะฉะนั้นในกฎหมายจึงจะนิยามคำว่า “ยาสูบ” ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ทุกชนิด มิพักเอ่ยถึงการที่ประเทศไทยไปลงนามในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคบุหรี่ขององค์การอนามัยโลก มีหลายข้อซึ่งต้องปรับใหม่
กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคบุหรี่ขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2546 เป็นกำหนดการสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เป็นข้อตกลงที่ทางกฎหมายระดับนานาชาติ ที่ลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรด้านสุขภาพฉบับแรกขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชากรโลกให้ปลอดภัยจากผลร้ายของการบริโภคยาสูบหรือการสูดดมควันยาสูบ
“เราเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ดี เหมาะสม เป็นประโยชน์กับลูกหลานเรา เพราะป้องกันไม่ให้ลูกหลานเราเสพติดบุหรี่ ซึ่งจะเป็นทางไปสู่ยาเสพติดชนิดอื่นๆ” นางลักขณากล่าว
สำหรับสาระสำคัญที่ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เปลี่ยนแปลงจากกฎหมายเดิม นายประกิต ให้ข้อมูลว่ามีประเด็นสำคัญๆ ได้แก่ แก้ไขนิยามคำว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกมา เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บารากุ เป็นต้น. แก้กฎหมายเกี่ยวกับการตลาด การโฆษณาให้ชัดเจนขึ้น ห้ามเผยแพร่โฆษณาทางอ้อม ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือพริตตี้, เพิ่มมาตรการการป้องกันการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชน โดยห้ามขายให้คนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จากเดิมคือ 18 ปี, ห้ามแบ่งขายบุหรี่เป็นมวนและห้ามบรรจุขายน้อยกว่า 20 มวน และมีการเพิ่มมาตรการอื่นๆ ตามที่กำหนดในอนุสัญญาควบคุมยาสูบของ WHO
อย่างก็ตาม มีเสียงคัคค้านมาจากฝั่งผู้ขาย โดยนางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย หรือ TTTA กล่าวว่า เห็นด้วยว่าต้องมีกฎหมายควบคุม แต่ต้องควบคุมและใช้ได้ทั้ง 2 ฝ่าย
เธอบอกว่า บุหรี่ไม่ผิด ตามกฎหมายขายได้ แต่ต้องทำภายใต้กติกาที่ผู้ขายต้องปฏิบัติได้ด้วย และเธอเห็นด้วยที่ไม่ให้เด็กสูบบุหรี่ สมาชิกสมาคมการค้ายาสูบไทยกว่า 1,300 คน ไม่ขายบุหรี่ให้เด็ก แต่ไม่เห็นด้วยที่ว่า มีการกำหนดไม่ให้ขายบุหรี่ให้คนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเป็น 20 ปี เพราะอายุ 18 ปีสามารถเลือกตั้งได้แล้ว ตัดสินชีวิตตัวเองได้แล้ว
“กฎหมายฉบับนี้จะสามารถลดผู้สูบบุหรี่ได้จริงหรือ? มีการขึ้นภาษีแล้วเกิดอะไรขึ้น? มีของเถื่อนมากขึ้น” นางวราภรณ์กล่าว “สมาชิกผู้เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วยค่ะ”
ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชาวไร่ยาสูบ นางวราภรณ์กล่าวว่า “กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายเหวี่ยงแห ที่เข้ามาควบคุมและบีบคั้นอุตสาหกรรม แต่มันก็เหมือนกับแม่น้ำ ที่มีต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ถ้าเกิดผลกระทบกับปลายยังไงต้นน้ำก็ย่อมได้รับผลกระทบด้วยแน่นอน”
อนาคตการทำอาชีพชาวไร่ยาสูบ
ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว รอนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ได้ให้ข้อมูลว่า พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เน้นควบคุมอุตสาหกรรมยาสูบ ไม่ให้สร้างการตลาดเพื่อดึงดูดให้เยาวชนสนใจยาสูบทุกรูปแบบ โดยไม่มีมาตรการใดบังคับเกี่ยวกับการปลูกยาสูบหรือการขายใบยาสูบ

ชาวไร่กำลังคัดเลือกใบยาสูบเพื่อนำไปบ่ม ที่มา : แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคาย, หมู่บ้านทำยาสูบ
หาก พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะส่งผลต่ออุปสงค์ยาสูบของเยาวชนและป้องกันไม่ให้เกิดผู้สูบรายใหม่ปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ซึ่งลดความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์อันมีอยู่ 2 ประเภท คือ ความสูญเสียทางตรง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นโดยตรงเนื่องจากปัญหาสุขภาพนั้นๆ และความสูญเสียทางอ้อมซึ่งเป็นความเสียหายทางผลิตภาพอันเนื่องมาจากการขาดงาน ขาดประสิทธิภาพ การเจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิต ได้เฉลี่ย 15,800 ล้านบาทต่อปี การลดความสูญเสียเหล่านี้ไม่กระทบกับรายได้ของกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันเก็บภาษีบุหรี่ได้ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นสัดส่วนจากบุหรี่นอก 38% บุหรี่ในประเทศ 62%
ส่วนชาวไร่ผู้ปลูกยาสูบมีช่องทางการขายใบยาสูบหลายช่องทาง ตั้งแต่ขายที่โรงงานยาสูบมูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท และการส่งออกมูลค่ากว่า 2,250 ล้านบาท ส่วนที่เหลือขายให้กับผู้ประกอบการยาเส้นภายในประเทศ ดังนั้น ชาวไร่ได้รับผลกระทบจากการลดอุปสงค์ภายในประเทศไม่มาก และมีระยะเวลาในการปรับตัวไปปลูกพืชอื่นๆ ที่มีผลเสียต่อสุขภาพน้อยกว่าด้วย
“แม้โอกาสที่จะเกิดผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบจากกฎหมายใหม่จะมีน้อย แต่รัฐบาลควรที่จะตั้งคณะกรรมการพิจารณาช่วยเหลือ เยียวยาเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ กรณีที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่คนไทยสูบบุหรี่น้อยลงด้วยการสนับสนุนการปลูกพืชทดแทน” มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
เกษตรกรที่ปลูกยาสูบใน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคายจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ปลูกยาสูบส่งโควตาโรงบ่มใบยา ราคาจะแบ่งตามเกรดยาสูบ โดยเกรดที่ดีที่สุดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 95 บาท และลดลงตามเกรดเป็น 70 หรือ 65 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุด ส่วนอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ปลูกยาสูบเพื่อหั่นหรือซอยทำยาเส้นขายเองภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง โดยการติดแสตมป์อากร ซึ่งจะมีพ่อค้านำรถมารับซื้อถึงในหมู่บ้าน ราคาสูงสุดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ทั้งนี้ราคาจะขึ้นลงตามปริมาณที่มีปลูกแต่ละปีซึ่งไม่คงที่
ฤดูกาลปลูกยาสูบของเกษตรกร จ.หนองคายเริ่มในปลายเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ช่วงนี้ชาวไร่ยาสูบจะเริ่มกล้าเบี้ยยาสูบ แล้วหลังจากที่ต้นกล้ามีอายุได้ 1 เดือน ก็จะนำไปปลูก ระหว่างที่กล้ากำลังเติบโตมักพบปัญหาติดเพลี้ย ซึ่งสร้างความเสียหายไม่น้อย ระหว่างการเจริญเติบโตก็มักจะมีหนอนบุ้งมากินใบยา จนบางต้นก็เหลือใบอยู่ไม่กี่ใบ หลังจากปลูกยาสูบได้ประมาณ 3 เดือนชาวไร่จะเริ่มเก็บใบยาสูบและบ่มหรือหั่นซอยได้ จะอยู่ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน

การตากยาเส้นหลังจากนำยาสูบมาซอย, ที่มา : แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดหนองคาย, หมู่บ้านทำยาสูบ
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ดังกล่าว แม้จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ไปตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สนช. แม้กระทรวงสาธารณสุขจะยังคงร้องให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่
ในขณะที่กลุ่มผลประโยชน์กำลังเปิดศึกเรื่อง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่กันอยู่ ชาวไร่ยาสูบใน อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ก็ยังคงทำไร่ยาสูบซึ่งเป็นที่มาของรายได้หลักของหลายๆ ครอบครัวไปตามฤดูกาลต่อไป ไร่ซึ่งสร้างอาชีพต่อเนื่องมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
ชนิศรา สัมพันธะ เป็นผู้เข้าร่วมอบรมนักข่าวภาคอีสานรุ่นที่ 1 (The Isaan Journalism Network Project) เป้าหมาย คือ เพื่อสร้างเครือข่ายคนทำงานด้านสื่อมวลชนในภาคอีสานให้กับเดอะอีสานเรคคอร์ด โดยเริ่มดำเนินการอบรมตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือนธันวาคม 2559