นับตั้งแต่เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสีเสื้อเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ภาพของการชุมนุมตามท้องถนนของประชาชน ชาวบ้านถูกสายตาของรัฐและสังคมบางส่วนมองว่าสิ่งเลวร้ายทางการเมืองที่รัฐต้องควบคุมอย่างเด็ดขาดและไม่ให้เกิดขึ้นอีก ไม่แปลกที่สังคมไทยบางส่วนพยายามโหยหาสภาวะที่ไร้การเมือง ปรากฏการณ์เช่นนี้ส่งผลต่อขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ซึ่งเคยรุ่งเรืองและสามารถผลักดันประเด็นต่างๆ ได้มากในช่วงทศวรรษที่ 2530 และ 2540 แต่ในระยะหลังมานี้ต้องปรับยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวโดยพยายามดันตัวเองให้ออกห่างจากการเมืองและหลายขบวนการพยายามใช้ช่องทาง “พิเศษ” เพื่อให้ข้อเรียกร้องของตนได้รับการสนใจจากรัฐและได้รับการตอบสนอง

คำถามที่ตามมาคือว่าการที่ภาคประชาชนไทยพยายามปฏิเสธว่าการเคลื่อนไหวของตนว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นเป็นผลดีต่อขบวนการจริงหรือ บทเรียนที่สำคัญในอดีตช่วงการเคลื่อนไหวภาคประชาชนครั้งใหญ่ช่วงทศวรรษที่ 2540 คืออะไร? การผลักดันข้อเรียกร้องให้ไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างมีความเป็นไปได้หรือไม่? และระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยคือระบบที่ล้าช้าขัดขวางการแก้ไขปัญหาที่ภาคประชาชนประสบ?

เปิดบทสัมภาษณ์วิเคราะห์ข้อสังเกตบางประการต่อขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในประเทศไทย ช่วงทศวรรษ 2540 เปรียบเทียบกับปัจจุบัน จากมุมมองของ ดร.ณรุจน์ วศินปิยมงคล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ซึ่งศึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง “People’s Politics in Thailand: A Critical Study of the Assembly of the Poor, 2001-2010″ จาก University of Leeds ประเทศอังกฤษ

14037702_1135469883176442_1966802438_o

ณรุจน์ วศินปิยมงคล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ภาคประชาชนเป็นสิ่งใหม่ของสังคมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจึงมีมากกว่าปัจจุบัน

หากพูดกว้าง ๆ ปัจจัยที่สำคัญซึ่งทำให้ภาคประชาชนสามารถเคลื่อนไหวต่อรองกับรัฐได้ คือ รัฐบาลสมัยนั้นมาจากการเลือกตั้ง ทำให้รัฐบาลไม่เข้มแข็งแล้วก็การเคลื่อนไหวในช่วงนั้นยังเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับรัฐบาล เพราะฉะนั้นจึงทำให้รัฐบาลรับมือได้ยากพอสมควร จึงส่งผลทำให้ภาคประชาชนเมื่อ 20 ปีที่แล้วมีอำนาจการต่อรองกับรัฐบาลมาก

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องทุนในการเคลื่อนไหว ในสมัยนั้นภาคประชาชนได้รับทุนจากองค์การที่ทำงานภาคประชาชน, NGOs ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวในแต่ละประเด็นและสื่อมวลชนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการเคลื่อนไหวนี้มากกว่าปัจจุบัน

อาการอย่างหนึ่งในสังคมสมัยนั้นคือ สังคมยังไม่รู้สึกเหนื่อยล้ากับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหรือว่าคำม็อบอย่างในปัจจุบัน หากพูดง่าย ๆ ปรากฏการณ์ม็อบยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทยในช่วงเวลานั้น ในแง่ที่มีการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องของประชาชนจำนวนมากบนท้องถนน และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในยุคนั้นยังไม่มีภาพที่แย่เหมือนกับปัจจุบัน เพราะเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหลัง 10 ปีที่ผ่านมาวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นนี้ โดยเฉพาะการเมืองเสื้อสี ทำให้ประชาชนรู้สึกเหนื่อยล้ากับความวุ่นวายทางการเมือง,การเมืองนอกสภาดังนั้นประชาชนจึงรู้สึกอยากโหยหาสภาวะที่ไร้การเมือง จึงเป็นข้อจำกัดสำคัญของการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในปัจจุบัน

ถ้าเราพูดถึงช่วงการเคลื่อนไหวใหญ่ ๆ ของขบวนการภาคประชาชนในอีสาน ต้องพูดถึงขบวนการสมัชชาคนจน เมื่อ ปี พ.ศ. 2540 “99 วัน” โอกาสทางการเมืองถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบันถือว่ามีมากกว่า  อย่างที่รู้กันว่ารัฐบาลในปัจจุบัน (พ.ศ.2559) ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นเหตุผลสำคัญว่า รัฐบาลสามารถควบคุมรัฐ, หน่วยงานรัฐ, อำนาจรัฐได้ทั้งหมด รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่รัฐบาลออกเอง เช่น มาตรา 44 เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้การเคลื่อนไหวหรือการแสดงความเห็นทางการเมืองของประชาชน รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เพียงแค่ภาคประชาชนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่มันหมายถึงประชาชนสาธารณะทั่วไปในสังคมด้วย

photo_2016-08-19_10-00-23

“รัฐบาลสมัยนั้นมาจากการเลือกตั้ง ทำให้รัฐบาลไม่เข้มแข็งแล้วก็การเคลื่อนไหวในช่วงนั้นยังเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับรัฐบาล เพราะฉะนั้นจึงทำให้รัฐบาลรับมือได้ยากพอสมควร จึงส่งผลทำให้ภาคประชาชนเมื่อ 20 ปีที่แล้วมีอำนาจการต่อรองกับรัฐบาลมาก” ที่มาภาพ: Voice TV

ภาคประชาชนปรับตัวเพราะสังคมเบื่อหน่ายกับการเมืองบนท้องถนน

ปัญหาที่สำคัญหนึ่งของภาคประชาชนไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาภาคประชาชนที่มักพยายามอ้างว่าการเคลื่อนไหวของตนไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง มันเป็นความย้อนแย้งอย่างหนึ่งของภาคประชาชน

คำว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” อาจถูกตีความได้หลายอย่าง เช่นการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองระดับประเทศหรือการเมืองในสภา อย่างในอดีตที่ผ่านมา ภาคประชาชนมักอ้างว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มนั้นไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองในระดับประเทศเพื่อลบข้อครหาว่ามีพรรคการเมืองหนุนการเคลื่อนไหว เป็นต้น

แต่การเคลื่อนไหวภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องเขื่อน เรื่องที่ดิน เรื่องที่อยู่อาศัย ฯลฯ ล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับการเมืองแทบทั้งสิ้น

บางกลุ่มพยายามจะเลี่ยงภาพ วาทกรรม “ม็อบถูกจ้างมา” โดยปฏิเสธว่าไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะทำให้ตัวเองห่างจากการเมือง โดยบางทีไม่สนใจด้วยซ้ำว่ารัฐบาลมีที่มาจากไหนหรือมีปัญหาการบริหารงานอย่างไร และไม่สนวิถีทางประชาธิปไตยในการเคลื่อนไหวด้วยซ้ำ ทำให้หลายคนมองภาคประชาชนปัจจุบันมักเคลื่อนไหวในประเด็นเชิงเดี่ยว (single issue) จะเคลื่อนไหวเฉพาะเรื่องของตัวเองและไม่สนใจประเด็นปัญหาของคนอื่น

ปัจจุบันหลายคนเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเคลื่อนไหวโดยการโยงว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มตนให้เกี่ยวข้องกับเป็นการเมืองมากขึ้น เพราะถ้าการเคลื่อนไหวของชาวบ้านไม่สนใจเรื่องประชาธิปไตย, การเมืองระดับประเทศหรือในระดับโครงสร้างเลย การแก้ไขปัญหาของประชาชนก็จะไม่ยั่งยืน เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

“ผมเข้าใจว่าหลายคนได้เรียนรู้และพยายามไม่ทำแบบนั้น มีชาวบ้านพยายามจะเปลี่ยนแนวคิดแบบนี้”

ภาคประชาชนปฏิเสธการเมืองในการเคลื่อนไหวไม่ได้

การเคลื่อนไหวต้องเกี่ยวพันการเมืองตลอดเวลา มันคือความจำเป็น เพราะที่สุดแล้วภาคประชาชนถ้าจะแก้ไขปัญหาทรัพยากร แก้ไขปัญหาชาวบ้าน อะไรก็ตามอย่างถาวรย่อมเสี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง และไม่มีทางที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง  นอกจากจะเป็นปัญหาที่กลุ่มเรียกร้องเป็นปัญหาเล็กน้อย เช่น บุกรุกที่ดิน โฉนดทับซ้อน ที่ผ่านมาอาจใช้วิธีการต่อรองเฉพาะหน้า ซึ่งสามารถรวมตัวแล้วไปต่อรองกับหน่วยงานราชการในท้องถิ่น แต่ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง อยากจะแก้ปัญหาที่ไม่ใช่แค่ปัญหาของเรา แต่เป็นปัญหาของคนอื่นด้วยนั้น ต้องมองให้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การมุ่งเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือวัฒนธรรมทางการเมืองอะไรบางอย่างในสังคมด้วย

ขบวนการอีสานใหม่กับความกล้าหาญท้าทายข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวในสภาวะการเมืองไม่ปกติ

ในกรณีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนล่าสุดอย่าง ขบวนการอีสานใหม่ ในกิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน ผมคิดว่ามันสิ่งที่จำเป็นต้องทำในเวลานี้ เราจะเห็นว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างอิสระหรือก่อนหน้านั้น เคลื่อนไหวได้น้อยมาก มีจำนวนน้อยมาก ไม่มีผลกระทบกับสังคม

แต่ว่าในเชิงพื้นที่ข่าวนั้นถือว่าสำคัญ เพราะเพื่อให้สังคมในวงกว้างรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะเราจะเห็นรัฐบาลปัจจุบันพยายามผลักดันโครงการพัฒนาของรัฐต่าง ๆ ร่วมกับเอกชนอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีผลกระทบของวิถีชีวิตของประชาชนที่อยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

สิ่งที่สำคัญของขบวนการอีสานใหม่คือการพยายามส่งข้อความ (message) บางอย่างให้สังคมว่า มีคนไม่กี่คนที่กล้าลุกมาเดินท้าทายกฎหมายบ้านเมืองในเวลานี้เพื่อจะพูดถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพของคนอีสานที่เสียไป ถือเป็นสิ่งที่กล้าหาญพอสมควร เพียงแค่คนไม่กี่คน เดินรอบอีสาน เพื่อจะบอกว่าเรามีสิทธิที่จะเดิน ถ้ามองในเชิงสัญลักษณ์ถือว่ามันทรงพลังมาก แต่คงไม่มีกำลังมากพอที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรในเชิงโครงสร้างทางการเมืองและสังคมได้  นึกดูในช่วงนี้สังคมไม่มีใครกล้าทำแบบนี้เพราะกลัวรัฐบาล กลัวกฎหมายต่าง ๆ มันมีพลังมากอย่างไรก็ตามผมยังมองว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือผลักดันของเรียกร้องต่าง ๆ ให้ไปสู่ระบบโครงสร้างหรือแม้แต่สร้างผลกระทบในทางการเมืองมากมายได้ในปัจจุบันนี้

14012772_1135470123176418_532132266_o

“เราตั้งความคาดหวังในการเปลี่ยนแปลงสังคมกับชาวบ้าน จำนวนหนึ่งซึ่งประสบปัญหาของตัวเองอยู่แล้ว เราไปฝากความหวังอันยิ่งใหญ่นี้กับคนที่มีปัญหาเดือดร้อนที่สุดในสังคม มันอาจไม่แฟร์นัก”

ชาวบ้านไม่สามารถก้าวข้ามปัญหาปากท้องได้?

หลายครั้งที่ได้พูดคุยกับแกนนำและนักกิจกรรมก็มักจะมีการบ่นว่าชาวบ้านไม่สามารถก้าวข้ามปัญหาปากท้องตัวเองได้ จึงเป็นผลให้แกนนำต้องออกจากขบวนการ  ซึ่งถามว่าจริงหรือไม่ ก็ต้องพูดตรงไปตรงมาว่าจริงที่ชาวบ้านหลายคนก้าวข้ามพ้นเรื่องปากท้องไม่ได้ แต่ในมุมเราอาจจำเป็นต้องเข้าใจว่าชาวบ้านบางคนเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่หลายคนก็เข้ามาเพื่อผลักดันปัญหาเฉพาะหน้าของตนเองเพราะเดือดร้อน จริง ๆ เป้าหมายที่ต่างกันก็ทำให้ความทุ่มเทต่อขบวนการไม่เท่ากัน แม้จะมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ความเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ในขบวนการเอง แต่ละคนมีต้นทุนและปัญหาไม่เท่ากัน จะคาดหวังให้ทุกคนสามารถสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศมันคงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะเกี่ยวข้องกับความคิด ความเชื่อวัฒนธรรม ระบบการเมือง ระบบกฎหมายต่าง ๆ ของสังคมนั้น ส่วนตัวคิดว่าถ้าแก้ไขทางสังคมไม่ได้ก็ไม่ใช่ความผิดของพวกเขา เราก็ไม่ควรไปคาดหวังมากตั้งแต่แรก

แกนนำแยก ขบวนการแตก รัฐทำทุกวิถีทางดึงมวลชนสนับสนุนรัฐบาล

ในสภาพแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงในสังคมหลาย ๆ ปัญหาถูกแก้ไขไป หลาย ๆ ปัญหาคนไม่พูดถึง  เช่น แกนนำแตกแยก คนเคยเป็นแกนนำหลายคนไปอยู่ขั้วตรงข้าม บางคนทำงานนาน ๆ ไปรู้สึกหมดหวัง เหนื่อยล้า ก็ไม่มาขับเคลื่อนหรือเข้าร่วมขบวนการ หรือในอีกกรณีหนึ่งคือ นโยบายรัฐบาลสมัยนั้นช่วยแก้ไขปัญหาของชาวบ้านทำให้การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนลดลง เช่น กรณีพรรคไทยรักไทยแก้ไขปัญหาของชาวบ้านโดยเฉพาะปัญหาที่ภาคประชาชนเรียกร้อง ซึ่งถูกรัฐบาลไทยรักไทยนำไปปรับแก้ไขกลายเป็นนโยบาย ทำให้คนเห็นความสำคัญของภาคประชาชนน้อยลง เพราะรู้ว่าปัญหาของประชาชนรัฐบาลสามารถแก้ไขได้ จึงส่งผลให้ขบวนการภาคประชาชนเห็นว่ามีช่องทางที่จะเรียกร้องหรือจะให้รัฐบาลมาสนใจอื่น ๆ มากกว่าการเดินขบวนออกมาชุมนุมเรียกร้องเหมือนเดิม โดยทั่วไป

หากภาคประชาชนไม่สามารถสร้างสถาบันได้ หรือถูกฝ่ายรัฐเอานโยบายของกลุ่มไปปรับเป็นยุทธศาสตร์และนโยบายสาธารณะของรัฐเพื่อหาเสียงหรือประโยชน์อะไรบางอย่าง การเคลื่อนไหวของประชาชนก็จะหายไปเอง อันนี้เป็นเรื่องปกติ

ถ้าพูดถึงนโยบายพรรคไทยรักไทยมันมี2 ส่วน หนึ่งคือเรื่องของการเมือง ทำให้พรรคไทยรักไทยผลักดันนโยบายประชานิยมอย่างรวดเร็วมากเพียงไม่กี่เดือน เพราะรัฐบาลประสบกับปัญหาทางการเมือง จึงเป็นต้องหาแรงสนับสนุนจากประชาชน แต่ส่วนหนึ่งมันก็ตอบโจทย์ปัญหาที่สำคัญที่ประชาชนต้องประสบในชีวิต

ซึ่งได้เสียงตอบรับที่ดี จนสามารถดึงมวลชนมาสนับสนุนพรรคได้ หลายนโยบายของพรรคไทยรักไทยทำให้ความสัมพันธ์ของรัฐและประชาชนเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่นนโยบายที่มีผลกระทบต่อชีวิตชาวบ้านที่เป็นรูปธรรม เป็นต้น แม้ที่ภาคประชาชนเอง หลายคนก็รู้และรู้สึกกังวลกับนโยบายของไทยรักไทยที่ออกมาแบบนี้ ซึ่งบางคนกลัวว่าพรรคไทยรักไทยดึงมวลชนไปจากภาคประชาชนแล้วด้วยซ้ำ

ถ้าระบบการเมืองปกติพึ่งไม่ได้ ระบบการเมืองพิเศษคือคำตอบสำหรับภาคประชาชน?

มันมองได้ 2 อย่าง ถ้ามองในมุมชาวบ้าน เราก็เห็นใจถ้าปัญหาของชาวบ้านนั้นเดือดร้อนจริง ๆ ชาวบ้านไม่สามารถรอได้ มันจำเป็นต้องเคลื่อนจริง ๆ กลุ่มคนที่ประสบปัญหาทรัพยากรจำนวนมากไม่ได้มีฐานะดี การรอเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ ถือว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจได้

แต่สำหรับบางกลุ่มเห็นว่าการขึ้นมาของรัฐบาลทหารนั้นคือโอกาส เพราะถ้าสามารถสร้างเครือข่ายในรัฐบาลทหารได้ ภาคประชาชนบางกลุ่มก็จะมีช่องทางพิเศษเพื่อผลักดันข้อเรียกร้องของกลุ่มตนให้รัฐบาลสนใจ ถือเป็นโอกาสที่จะเข้าไปประสานงานหรือทำอะไรบางอย่างร่วมกันในอนาคต สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่ในวงการคนทำงานภาคประชาชน ฉะนั้นการที่ภาคประชาชนถูกวิจารณ์ว่าทำงานร่วมกับรัฐเพื่อประโยชน์เฉพาะของบางกลุ่มนั้นมีค่อนข้างเยอะ เพราะสุดท้ายก็ยังเป็นการแก้ไขปัญหาให้คนไม่กี่คน โดยช่องทางพิเศษของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน ซึ่งกลายเป็นว่าฝ่ายรัฐบาลทหารก็เอาส่วนนี้มาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองว่าได้ทำเพื่อประชาชน

ภาคประชาชน, สถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย การแก้ไขเชิงโครงสร้างเกิดแน่นอน

อย่าลืมว่าปัญหาของประเทศเราหรือของประชาชน ยังอยู่ในกลุ่มปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา  ปัญหาต่าง ๆ ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ก็เจอเหมือนกัน ถ้าพูดถึงการเปลี่ยนแปลงหรือการแก้ไขปัญหาระยะยาว ไม่ใช่แค่เฉพาะหน้าระยะสั้นเท่านั้น สุดท้ายต้องกลับไปสู่คำถามว่า ทำอย่างไรถึงเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้? มันต้องเปลี่ยนโดยใช้หนทางในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย พอเราได้ประชาธิปไตยก็จะนำมาสู่การมีสถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ที่พร้อมรองรับและแก้ไขปัญหาความต้องการของประชาชน

เพราะไม่มีรัฐประชาธิปไตยไหนที่อยู่ได้ ถ้าประชาชนไม่มีความสุขและไม่พอใจ  ในที่สุดถ้ารัฐประชาธิปไตยจะคงอยู่ได้ ต้องทำให้เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องมีสถาบันทางการเมืองที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน

แต่ปัญหาที่ผ่านมาอย่างที่คุยกันก่อนหน้านี้ก็คือ เราแยกปัญหาออกเป็นส่วน ๆ คือปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนกับปัญหาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจริงๆ มันควรจะเป็นเรื่องเดียวกัน การเมืองต้องตอบสนองปัญหาปากท้องประชาชน และประชาชนก็ต้องมีช่องทางในการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่พอการเมืองเรามีปัญหา หลายคนก็ไม่อยากจะไปยุ่งกับมัน อยากจะแยก 2 เรื่องออกจากกัน แน่นอนว่า ที่ผ่านมาประชาธิปไตยของไทยยังไม่พัฒนาไปสู่จุดที่ควรจะเป็น พรรคการเมืองก็มีปัญหา นักการเมืองมีปัญหา มันแย่ไปกว่านั้นคือ ประเทศไทยก็มีอำนาจซ้อนอำนาจอีก, อำนาจนอกสภา, อำนาจนอกระบบการเมือง แต่การหันหลังให้กับมันก็ยิ่งทำให้ระบบมันแย่เข้าไปอีก ไม่มีทางที่เราจะแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน

ภาคประชาชนติดกับดักการทำงานร่วมกับรัฐ รัฐฉวยโอกาสสร้างภาพว่าทำงานร่วมกับภาคประชาชน

ถ้าจะถามว่าภาคประชาชนสามารถทำงานร่วมกับรัฐได้หรือไม่?ตอบว่าได้ ถ้าภาคประชาชนมีความเป็นสถาบันมากพอ เช่น บางขบวนการกลายเป็นพรรคการเมืองแล้วไปควบคุมรัฐ ซึ่งมีอำนาจในการต่อรองกับรัฐ อันนี้สามารถทำได้และเป็นประโยชน์ต่อขบวนการและประชาชน แต่ว่าการที่ภาคประชาชนบางคนเข้าไปนั่งในคณะกรรมการฯ หรือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและของบางกลุ่มเท่านั้นถือว่าเป็นข้อเสีย และทำให้ขบวนการนั้นถูกสังคมมองว่าไร้อุดมการณ์

หลายปีที่ผ่านมาเราพอจะเห็นความสำคัญของภาคประชาชน ในสายตารัฐ ทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศในช่วงหลัง ๆ นี้ ต้องมีนโยบายเพื่อจะบอกว่ารัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกับภาคประชาชนและอยู่ข้างเดียวกับประชาชน เช่นในปัจจุบัน ประชารัฐก็เหมือนกัน สำหรับผมคิดว่าคงเหมือนกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมาตั้งมาเพื่ออ้างว่าทำงานร่วมกับภาคประชาชนไม่เห็นสามารถแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนได้อย่างยั่งยืน

“ทุกรัฐบาลมีนโยบายลักษณะเดียวกัน เหมือนหลังรัฐประหารปีพ.ศ. 2559 รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ทำคือ พยายามทำงานร่วมกับสหายเก่า เดินสายคุยกับภาคประชาชน ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็มีปัญหากับประชาชน พอได้เป็นนายกฯ ก็รีบมาหายายไฮที่อุบลราชธานี และพูดคุยปัญหากับสมัชชาคนจน รัฐบาลสมัยนั้นเปิดโอกาสให้มีเวทีให้ภาคประชาชนได้พูดและแสดงออกเพื่อให้สังคมเห็นว่ารัฐอยู่ฝั่งเดียวกับประชาชน”

image_pdfimage_print