บทความต้นฉบับเผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษ แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดย ประชาไท
เจมส์ มิทเชลล์ นักมานุษยดนตรีวิทยาที่ศึกษาวิจัยดนตรีในแง่มุมสังคม-วัฒนธรรม เจาะลึกเรื่องราวชีวิตนักร้องหมอลำลูกทุ่ง “หงษ์ทอง ดาวอุดร” ว่าด้วยการเดินทางจากชีวิตนักร้องลูกทุ่งสู่นักโทษการเมือง
“หงษ์ทอง ดาวอุดร” เริ่มต้นชีวิตนักร้องตั้งแต่วัยเด็กหรือประมาณยุค พ.ศ. 2510 เมื่อเติบโตขึ้นเธอพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นนักร้องหมอลำลูกทุ่งมืออาชีพ อาชีพรองของเธอคือการเป็นดีเจวิทยุซึ่งทำให้เธอกลายเป็นบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งของขบวนการเสื้อแดงในจังหวัดอุดรธานี และอาชีพที่สองนี้เองที่ทำให้เธอได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อหลากสี
นับเป็นเวลาหลายปีที่ผมได้พยายามพบกับ “หงษ์ทอง ดาวอุดร” เพราะประเด็นการวิจัยหลักของผมคือความเป็น “ลูกทุ่ง” และ “คนเสื้อแดง” ในที่สุดเราก็ได้พบกันเมื่อเดือนกันยายน 2558 ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่คุณหงษ์ทองจะต้องเข้าไปอยู่เรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี หลังศาลตัดสินจำคุก 16 เดือนข้อหาร่วมทำกิจกรรมทางการเมือง
การกำเนิดของเพลงลูกทุ่ง
ดนตรีของชนชั้นแรงงานที่มีการผสมผสานแนวเพลงต่างๆ จนเกิดแนวที่เรียกว่า “เพลงลูกทุ่ง” ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2500 และเป็นการกำเนิดขึ้นที่ก่อให้เกิดซึ่งการสั่นสะเทือนต่อวงการดนตรีไทย ดาราลูกทุ่งในรุ่นแรกอย่าง “ชาย เมืองสิงห์”, “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” และราชา-ราชินีลูกทุ่งคนแรกๆ เช่น “สุรพล สมบัติเจริญ” กับ “ผ่องศรี วรนุช” ต่างก็มาจากจังหวัดในภาคกลางทางตอนเหนือทั้งนั้น
ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง “หมอลำ” ซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้านของคนไทย-ลาวผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่อันถูกเรียกขานว่ายากไร้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เริ่มมีการบันทึกเสียงลงแผ่นและได้รับความนิยมมากขึ้น
การผสมผสานดนตรีทั้งสองแนวคือแนวเพลงลูกทุ่งและหมอลำเข้าด้วยกันในช่วงทศวรรษพ.ศ. 2510 ได้เปิดเส้นทางสู่ดวงดาวให้กับนักร้องมากมาย เช่น “ศักดิ์สยาม เพชรชมภู” นักร้องชาวมหาสารคาม, “ดาว บ้านดอน” นักร้องชาวยโสธร และ “ศรชัย เมฆวิเชียร” นักร้องชาวนครราชสีมา
แต่กระแสวัฒนธรรมอีสานก็เริ่มฟื้นคืนอย่างจริงจังจนกระทั่งในยุคทศวรรษพ.ศ. 2520 นักร้องลูกอีสานได้หลั่งไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมลูกทุ่งจำนวนมาก นักร้องที่เป็นที่รู้จักในยุคนี้ เช่น “สรเพชร ภิญโญ” และนักร้องคู่ขวัญ “น้องนุช ดวงชีวัน”
ยังมีนักร้องลูกอีสานมากความสามารถคนอื่นๆ ในเดียวกันยุคนี้ ได้แก่ “เฉลิมพล มาลาคำ” จากสุรินทร์ “พิมพา พรศิริ” จากชัยภูมิ “ทองมี มาลัย” จากยโสธร เจ้าของบทเพลงดัง “ชมรมแท็กซี่ ” เนื้อหาบทเพลงบอกเล่าชีวิตคนขับรถแท็กซี่ชาวอีสานในกรุงเทพฯ นักร้องคนอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ คือ “ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด” จากร้อยเอ็ด “อรอุมา สิงห์ศิริ” และ “เย็นจิตร พรเทวี” จากขอนแก่น และอีกคนที่สำคัญ “หงษ์ทอง ดาวอุดร” จากอุดรธานี
นักร้องลูกทุ่งจากอีสานในยุคนี้ต่างเรียนรู้และได้รับการอบรมการร้องเพลงจากครูเพลงคนอีสานรุ่นเก่าอย่าง “สุรินทร์ ภาคศิริ” “สุมทุม ไผ่ริมบึง” และ “ดอย อินทนนท์” ซึ่งเป็นชาวส่วยหรือชาวกูยจากจังหวัดสุรินทร์
“ดอย อินทนนท์” ถือว่าเป็นครูเพลงคนสำคัญที่ช่วยสร้างเส้นทางอาชีพนักร้องให้กับ “ศรชัย เมฆวิเชียร” นักร้องดาวรุ่งในยุคนั้น และ “หงษ์ทอง ดาวอุดร” ด้วยการผสมเอาเครื่องดนตรีไฟฟ้ามาเรียบเรียงใช้กับเพลงหมอลำและลูกทุ่ง
ความสามารถของครูเพลงรุ่นเก่าเหล่านี้ล่วนผลักดันนักร้องนักดนตรีจากอีสานเดินทางเข้าสู่อุตสาหกรรมเพลงลูกทุ่งมากขึ้นเรื่อยๆ
พอถึงยุคที่ “สุพรรณ ชื่นชม” เขียนเพลงฮิตตลอดกาลอย่าง “โบว์รักสีดำ ” ให้กับ “ศิริพร อำไพพงษ์” ครูเพลงจากภาคอีสานก็ได้กลายเป็นผู้นำวงการนักเขียนเพลงของวงการอุตสาหกรรมเพลงและมีปลุกปั้นนักร้องนักดนตรีจากภูมิภาคนี้อย่างมากมาย
จากคอนเสิร์ตงานวัดสู่โรงงานครีมทาหน้าในกรุงเทพฯ
“กุหลาบ ยศอ่อน” คือชื่อจริงโดยกำเนิดของ “หงษ์ทอง” เธอเข้าสู่วงการเพลงผ่านการประกวดร้องเพลงระดับจังหวัด พออายุได้สิบขวบก็กลายเป็นนักร้องขาประจำเวทีงานวัดต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งรับชมรับฟังคอนเสิร์ตแห่งเดียวของคนต่างจังหวัดในอีสานในยุคนั้น
เมื่อพ.ศ. 2519 อดีตนักร้องและผู้นำวง “ศรีไพร ใจพระ” ได้จัดประกวดเวทีใหญ่เพื่อค้นหานักร้องรุ่นเยาว์ที่มีความสามารถ 4 คน ตอนนั้น “กุหลาบ ยศอ่อน” อายุ 16 ปี เป็นคนที่สามที่ได้รับการคัดเลือก “ศรีไพร” เดินทางไปพบพ่อแม่ของเธอและสัญญาว่าจะทำให้เธอนักร้องที่มีชื่อเสียงให้ได้
แต่ “ศรีไพร” เองก็ต้องการโปรโมต “หงส์หยก” ยี่ห้อครีมรองพื้นของตัวเอง เขาเลยต้องตั้งชื่อนักร้องทั้ง 4 คนที่ได้รับการคัดเลือกเป็น “หงษ์น้อย”, “หงษ์ฟ้า”, “หงษ์ทอง” และ ”หงษ์เงิน” ตามลำดับ
ตอนแรก “หงษ์ทอง” ถูกมองว่ามีแววรุ่งน้อยที่สุดในกลุ่ม แต่เมื่อเพื่อนร่วมวงของเธออย่าง “หงษ์น้อย” ไม่สามารถร้องเพลงหนึ่งเพลง “บั๊มพ์…ลำเพลิน” ได้ตามที่คาด “หงษ์ทอง” จึงใช้โอกาสนี้ให้เป็นของเธอ ด้วยพื้นเพความสามารถการร้องเพลงหมอลำมาก่อน “หงษ์ทอง” ทำให้เพลง “บั๊มพ์…ลำเพลิน” กลายเป็นเพลงฮิตเพลงแรกของเธอได้
ต่อมาก็เริ่มเห็นได้ชัดเจนว่าชีวิตของพวกเธอภายใต้การชี้แนะของศรีไพรนั้นไม่ตรงกับที่คาดฝันไว้ เมื่อครูเพลงของวง “ดอย อินทนนท์” เขียนเพลงเสร็จเรียบร้อย “หงษ์ทอง” ต้องรีบท่องจำเนื้อเพลงให้ได้ ถ้าจำเนื้อเพลงไม่ได้ “ศรีไพร” จะลงโทษพร้อมขู่ว่า “ร้องไม่ได้ก็กลับบ้าน” ด้วยความที่ “หงษ์ทอง” เป็นคนรูปร่างอวบ บางครั้ง “ศรีไพร” ก็จะบังคับให้เธออดอาหารสามวัน ให้ดื่มแต่น้ำเปล่า
ไม่นานหลังจากนั้น “หงษ์น้อย” ก็ชวนนักร้องรุ่นน้องอีกสองคนไปเข้าวงของ “ศรชัย เมฆวิเชียร” แต่ “หงษ์ทอง” ก็ยังร้องเพลงอยู่กับ “ศรีไพร” เพราะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณเขาอยู่ เธอเล่าว่า “ศรีไพร” มีความรู้มากมายที่จะสั่งสอนส่งต่อให้กับเธอ แต่มีอยู่ไม่กี่คนเท่านั้น – หรือจริงๆ แล้วอาจจะมีแค่ “หงษ์ทอง” คนเดียว – ที่สามารถทนอยู่กับ “ศรีไพร” และเรียนรู้ทุกอย่างจากเขาได้
แม้ว่าเพลงของ “หงษ์ทอง” จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่การอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ก็เป็นเรื่องยากสำหรับเธอ “หงษ์ทอง” ต้องอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์แออัดร่วมกับนักร้องคนอื่นๆ ในสังกัดและคนงานโรงงานครีมทาหน้าของ “ศรีไพร”
“หงษ์ทอง” เล่าว่าทุก 5 วัน นักร้องทุกคนจะได้รับเงิน 100 บาทจาก “ศรีไพร” แต่บางทีเขาก็ลืมแล้วก็เงียบหาย บางครั้งก็เดินทางไปต่างจังหวัด
แม้ว่า “หงษ์ทอง” และนักร้องคนอื่นๆ ก็มีเงินแทบไม่พอใช้อยู่แล้ว บางทีเพื่อนบ้านนักศึกษา ม. รามคำแหงที่อาศัยอยู่ห้องใกล้ๆ กันก็ขอยืมเงินจากเธอและเพื่อนนักร้อง ด้วยความผูกพันผ่านสภาพชีวิตอันยากลำบาก เพื่อนร่วมอพาร์ตเมนต์เหล่านี้ก็จะร่วมกันทำต้มจืดเต้าหู้ใส่น้ำเยอะมากแบ่งกันกิน
เมื่อครอบครัวของ “หงษ์ทอง” เดินทางไกลจากอีสานมาเยี่ยมเยือนถึงกรุงเทพฯ พวกเขาก็ต้องตะลึงกับสภาพความเป็นอยู่อันคับแค้นและแทบไม่มีข้าวปลาอาหารไว้หุงกินเลย ดังนั้นปลาที่ครอบครัวนำมาจากบ้านเกิดจึงถูกแบ่งสันให้กับเพื่อนบ้านร่วมอพาร์ตเมนต์ที่ขอไปทำกับข้าวให้
ผู้คนต่างรู้จัก “ศรีไพร” กันดีว่าเป็นคนเจ้าชู้ เคยแต่งงานกับนักร้องชื่อดังอย่าง “บุปผา สายชล” มาก่อน แต่ “หงษ์ทอง” รู้จักแต่ “ป้อม” ภรรยาคนที่ 3 ของเขาเท่านั้น
แม้ว่า “หงษ์ทอง” จะเป็นนักร้องในสังกัดของ “ศรีไพร” ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด แต่ “ป้อม”ก็มักจะวานใช้ให้ “หงษ์ทอง” ออกไปซื้อของให้เพราะนักร้องคนอื่นๆ ต่างสูง สวย และมีผิวขาว ดูดีเกินไปที่จะไปเดินตลาดซื้อของให้กับเธอ
กุ้งกำหนึ่งที่ซื้อมาจากตลาดถูกทำให้เพียงพอที่จะเลี้ยงสมาชิกวงทั้ง 10 คนให้ได้ “ป้อม”เป็นคนขี้เหนียวมากถึงขนาดว่าถ้า “หงษ์ทอง” แอบหยิบลำไยไปลูกเดียวเธอก็จะตะโกนว่า ถึงกระนั้นก็ตาม “หงษ์ทอง” ก็ชื่นชมว่าทั้ง “ป้อม” และ “ศรีไพร” ต่างก็สอนให้เธอรู้จักเก็บออมเงิน
รายได้สูงจากการร้องเพลง
เมื่อปี 2521 การตัดสินใจของ “หงษ์ทอง” ที่เลือกอยู่ต่อภายใต้สังกัดของ “ศรีไพร” ก็เริ่มส่งผลลัพธ์ด้านบวกให้กับชีวิตนักร้องของเธอ ในปีเดียวกันนี้เอง “หงษ์ทอง” ได้มีโอกาสร้องเพลงแก้ (เพลงที่มีเนื้อเพลงทำนองโต้ตอบกับเพลงเดิม) กับนักร้องลูกทุ่งชื่อดังถึง 2 เพลง ได้แก่ “รักติ๋มแน่หรือ” ซึ่งเป็นการร้องแก้เพลงของ “สายันต์ สัญญา” เพลง “รักติ๋มคนเดียว” กับเพลง “บัวหลวงรอรัก ” ซึ่งเป็นเพลงแก้เพลง “บัวหลวงบึงพลาญ” ของ “ศรชัย เมฆวิเชียร”
หลังจากที่หงษ์ทองได้ใบผู้ประกาศเพื่อจัดรายการวิทยุ เธอก็เริ่มต้นอาชีพเป็นดีเจ อีกทั้งยังทำงานเขียนบทและจัดทำซิงเกิ้ลประกอบโฆษณารายการวิทยุ และแสดงในโฆษณาทางทีวี
สำหรับเพลงโฆษณาอย่าง “ฉันรักจักรยานมิกกี้ ดูสิสง่าสวยดี ขี่ไปไหน” “หงษ์ทอง” เล่าว่าเธอได้รับค่าตอบแทนมากถึง 100,000 บาท
หลังจากนั้น “หงษ์ทอง” ก็ปรากฏตัวบนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐโพสต์ท่าถ่ายรูปกับจักรยานมิกกี้ เธอยังเป็นคอลัมนิสต์ประจำของหนังสือพิมพ์บ้านเมืองภายใต้นามปากกาว่า “ช่อผกา”
“หงษ์ทอง” ยังเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับ “ศรีไพร” ซึ่งบ้านริมบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ชั้นบนของเขาเป็นโรงงานผลิตครีมทาหน้า และชั้นล่างเป็นบริษัท เอส.เอ.เอส.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทจัดหาแรงงานอีสานส่งไปประเทศซาอุดิอาระเบีย
ศรีไพรเคยทำภาพยนตร์โปรโมทธุรกิจจัดหาแรงงานชื่อ “คุณนายซาอุ” เมื่อนปี 2525 โดยดาราที่ร่วมแสดงหนังเรื่องนี้ได้แก่ “สรพงษ์ ชาตรี” “ลลนา สุลาวัลย์” และ “เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์” ส่วนดารานำหญิงอีกคน คือ “หงษ์ทอง” เพราะนักร้องหญิงคนอื่นๆ ได้ออกจากสังกัดไปหมดแล้ว “หงษ์ทอง” รับบทบาทแสดงเป็นภรรยาของแรงงานอีสานและร้องเพลงประกอบถึง 3 เพลงด้วยกัน ได้แก่ “หงษ์ทองคะนองลำ ” “ถ่าพี่” (รอพี่กลับมา) และ “คุณนายซาอุ” ในแบบสไตล์ญี่ปุ่น
เรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ “ศรีไพร” หลอกแรงงานคนอีสานโดยพาพวกเขาขึ้นเครื่องบินไปกรุงเทพฯ แล้วบินกลับไปอุดรธานี พวกเขาคิดว่าตัวเองนั้นได้เดินทางไปถึงซาอุฯ แล้ว จนกล่าวติดตลกว่า “คืออุดรแท้.. เอิ้นมันว่า ‘ซาอุดร’ ซะบ้อ” อีกมุกเด็ดคือมุกที่แรงงานอีสานไม่รู้จักเนย เมื่อตอนอยู่บนเครื่องบินจึงไม่รู้ว่าจะเอาเนยไปทำอะไร ก็เลยพากันเก็บใส่กระเป๋ากางเกงจนเนยละลายเปื้อนหมด
มีบทหนึ่งตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ “หงษ์ทอง” ได้รับบทบาทให้แสดงถูกถามว่าทำไมเธอถึงมีเพชรพลอยใส่เยอะแยะมากมายขนาดนี้ เธอตอบว่า “ก็ส่งควายไปทำงานเมืองนอกยังไงล่ะ” ซึ่งบทพูดนี้มีที่มาจากการที่คนมักพูดกันว่า “ควายเมืองอุดรแข็งแรง” “หงษ์ทอง” แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “คนกรุงเทพฯ ไม่เข้าใจว่าประโยคนี้มีที่มาอย่างไรและคิดว่ามันเป็นคำที่มีความหมายทางเพศ”
ถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่ก็มีชื่อเสียงมากพอที่จะทำให้คนที่ต้องการไปทำงานที่ซาอุฯ คิดถึงบริษัทของ “ศรีไพร” ก่อนใคร บทบาทของ “หงษ์ทอง” ในภาพยนตร์ยังทำให้เธอมีงานเพลงเข้ามาอีกมากมาย สร้างรายได้ให้กับเธอมากถึงเดือนละประมาณ 30,000 บาท จำนวนมากพอที่ทำให้เธอสามารถซื้อบ้านหนึ่งหลังได้ก่อนจะมีบัตรประจำตัวประชาชนเสียอีก
ช่วงระหว่างปี 2521-2525 “หงษ์ทอง” มีผลงานออกอัลบั้มเทปคลาสเซตต์ 15 อัลบั้ม แต่ระหว่างปี 2525-2526 ภาวะขาดแคลนน้ำมันทั่วประเทศ ซึ่งปั้มน้ำมันทุกแห่งต้องปิดตอน 4 ทุ่ม ทำให้การทัวร์คอนเสิร์ตลูกทุ่งประสบปัญหาอย่างหนัก นอกจากนี้ “หงษ์ทอง” ยังเริ่มมีปัญหาเส้นเสียงอักเสบทำให้เธอต้องลดรับงานคอนเสิร์ตลง
จนกระทั่งในปี 2528 “หงษ์ทอง” ก็แต่งงานและหยุดรับงานร้องเพลงทั้งหมดเพราะสามีทนไม่ได้ที่ต้องเห็นแฟนเพลงผู้ชายแสดงวามสนอกสนใจในตัวเธอ
เวทีชีวิตผันเปลี่ยน
ต่อมา ประตูสู่หนทางอาชีพใหม่ก็เปิดขึ้นเมื่อ “หงษ์ทอง” เข้าร่วมรณรงค์หาเสียงให้กับ “กร ทัพพะรังสี” และ “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” หลังจากเธอได้รู้จักและสนิทสนมกับภรรยาของชาติชายแล้ว “หงษ์ทอง” ก็เริ่มรู้จักนักการเมืองกรุงเทพฯ ในช่วงนั้นหลายคน เธอเล่าว่าเธอเคยร้องเพลงในงานวันเกิดของชาติชายไม่นานนักหลังจากที่เขาได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งคืนนั้นเธอได้ทิปร้องเพลงมากถึง 30,000 บาทเลยทีเดียว
หงษ์ทองให้กำเนิดลูกชายเมื่อปี 2530 และหย่ากับสามีปี 2537 เธอย้ายจากกรุงเทพฯ กลับไปอยู่อุดรธานี
“หงษ์ทอง” ประทับใจในตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในยุคนั้นพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งใหญ่ปี 2544 เธอบอกว่าทักษิณมาเยือนอีสานและเรียนรู้จากคนอีสานโดยตรง อีกทั้งคนอีสานยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตยเพราะประชาธิปไตยทำให้คนอีสานมีสิทธิมีเสียงสามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้
เมื่อกองทัพโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ พ.ศ. 2549 “หงษ์ทอง” เล่าว่าเธอต้องการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในครั้งนี้ และเธอเพิ่งได้พบกับผู้จัดการเพลงลูกทุ่ง “ขวัญชัย ไพรพนา” แล้วจึงเริ่มทำงานเป็นดีเจให้กับสถานีวิทยุชุมชนคนรักอุดร
เมื่อ “ขวัญชัย” เริ่มมีชื่อเสียงในหมู่ขบวนการคนเสื้อแดงมากขึ้นเรื่อยๆ “หงษ์ทอง” ก็เริ่มมีสไตล์บู๊ๆ ตามแบบขวัญชัย เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2551 กลุ่มรักอุดรฯ ของ “ขวัญชัย” ได้โจมตีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลืองในสวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม
วันนั้นขณะออกอากาศทางวิทยุ “หงษ์ทอง”ก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินรายการ โดยเรียกร้องให้กลุ่มรักอุดรฯ เข้าไปในสวนสาธารณะฯ ไปเผชิญหน้ากับกลุ่มเสื้อเหลือง เหตุการณ์ในวันนี้นี้เองที่เป็นเหตุให้เธอถูกตั้งข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเท็จผ่านวิทยุและถูกตัดสินโทษจำคุก 16 เดือน เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2553
ในวันนั้น “ขวัญชัย” ไม่ได้ร่วมเหตุการณ์ด้วยแต่ก็ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี และประชาชนเสื้อแดง 32 คน และเสื้อเหลือง 2 คน ที่ทะเลาะวิวาทกันในเหตุการณ์การปะทะถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน
เมื่อพ.ศ. 2550 “หงษ์ทอง” ร่วมวงดนตรีกับญาติของเธอที่เป็นตำรวจชื่อ “บ่าวแนว เมืองอุดร” ทั้งสองร่วมกันเขียนเพลงและทำวิดีโอคลิปให้กับคนเสื้อแดง และยังร่วมร้องเพลงด้วยกันตามเวทีการประท้วงของคนเสื้อแดงอีกด้วย
เนื้องหาเพลงที่ทั้งสองนำมาร้องเป็นเพลงแปลงที่มีการดัดแปลงเนื้อร้องจากเพลงเดิม เช่น “หนุ่มเสื้อขาว สาวเสื้อแดง” เป็นเพลงที่แปลงมาจาก “หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ” ของ “สรเพชร ภิญโญ”
ผมเขียนอภิปรายเกี่ยวกับเพลงนี้ไว้ในหนังสือของผมชื่อ “ลูกทุ่ง: วัฒนธรรมและการเมืองของดนตรีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของไทย” (Luk Thung: The Culture and Politics of Thailand′s Most Popular Music) แต่ในตอนที่ผมเขียนนั้น ผมไม่รู้ว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคำประกาศอันทรงพลัง “สาวเสื้อแดงแกร่งที่สุด”
เพลงแปลงของคนเสื้อแดงอีกเพลงหนึ่งที่ชื่อ “หมีหน้าฮาก ” มาจากเพลง “แฟมิลี่หมีแพนด้า” ของน้องเบนซ์ จูเนียร์ “หงษ์ทอง” เขียนเนื้อร้องเชิงเสียดสีเผ็ดร้อนแล้ว “บ่าวแนว” ก็ทำหน้าที่ตัดต่อภาพอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในตอนนั้นลงไปในวิดีโอ เท่าที่เธอจำได้เธอเคยร่วมร้องเพลงนี้แค่ครั้งเดียวเท่านั้นในงานพิธีเปิดชมรมคนรักอุดรในปี 2551
มีท่อนหนึ่งในเพลงที่ทำให้ “หงษ์ทอง” ถูกตัดสินจำคุก เธอกล่าวติดตลกระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า ตอนแรกเธอขอให้นำท่อนนั้นออกแต่บ่าวแนวยืนยันว่าจะใส่ท่อนนั้นลงไป “ข้อยเขียนเพลงนี้ ข้อยร้องเพลงนี้ ข้อยติดคุกก็ย้อนเพลงนี้ ย้อนสิมีพรสวรรค์ความเป็นศิลปินอยู่ในหัวหลายเกินไป”
“หงษ์ทอง” เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอุดรธานีหลังรับโทษจำคุก 12 เดือน ไม่นานนัก ผมอดคิดไม่ได้ว่าประเทศไทยควรจะช่วยส่งเสริมศิลปินอย่าง “หงษ์ทอง” ผู้เติบโตมาจากสภาพความเป็นอยู่อันยากจน ดิ้นรนสั่งสมประสบการณ์และทักษะด้านเพลงลูกทุ่งอันเป็นศิลปะประจำชาติได้ด้วยความเพียรพยายามและความสามารถ เมื่อต้องประสบปัญหาเส้นเสียงอักเสบทำให้อาชีการร้องเพลงเปลี่ยนแปลงไป เธอก็หันไปเอาดีด้านอื่น ปัจจุบัน “หงษ์ทอง” มีความสนใจเรื่องกระบวนการทางการเมืองและโอกาสที่ผู้นำทางการเมืองจะรับฟังชาวบ้านสามัญชน
แต่ก็เช่นเดียวกับคนเสื้อแดงคนอื่นๆ การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยกลับทำให้เธอต้องสูญเสียเสรีภาพ ในช่วงท้ายการสัมภาษณ์ “หงษ์ทอง” ขอให้ผมช่วยส่งต่อถ้อยคำต่อไปนี้ให้สังคมได้รับรู้
“เราไม่ใช่เสื้อแดงเพราะรักทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ อยากบอกว่าคนเสื้อแดงเข้าร่วมการประท้วงด้วยตัวเอง เราจ่ายทุกอย่างด้วยตัวเอง คิดว่าตอนนี้ชาวบ้านจะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะเราและคนเสื้อแดงได้ลุกขึ้นมาสู้เพื่อสิทธิของประชาชน”
เจมส์ มิทเชลล์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแมคควารีเมื่อปี 2555 ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับทุนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย และยังเป็นผู้แต่งหนังสือ “ลูกทุ่ง: วัฒนธรรมและการเมืองของดนตรีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของไทย” (Luk Thung: The Culture and Politics of Thailand′s Most Popular Music )