บทความรับเชิญ โดย เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ผู้ใช้สิทธิลงประชามติในภาคอีสานส่วนใหญ่ออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนเสียง 51.48% (4,153,178 เสียง) ต่อคะแนนเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ 48.58% (3,923,855 เสียง) โดยผลคะแนนสูสีกว่าผลการลงประชามติเมื่อพ.ศ. 2550 (ไม่รับ 61.67%  รับ 36.53%) เป็นอย่างมาก [i] ทว่าผลการลงคะแนนประชามติในจังหวัดอีสานบางแห่งทำให้ผู้สังเกตการณ์หลายคนถึงกับตะลึง ด้วยเหตุที่ผลชนะที่ทิ้งห่างเพียงเล็กน้อยและส่วนที่แพ้ก็แพ้แบบขาดลอย (สาระ+ภาพ: ผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เทียบปี 2550 ของประชาไท) ทั้งที่คนอีสานโดยทั่วไปมีความรู้สึกเชิงลบต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ในบรรดา 5 จังหวัดภาคอีสานที่โหวต “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ   อุบลราชธานีได้แสดงให้ประจักษ์อีกครั้งว่าเป็นจังหวัดตัวแปร จังหวัดซึ่งอัตลักษณ์ทางการเมืองถูกช่วงชิงไม่อยู่นิ่ง ด้วยความที่มีทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์กระจุกตัวในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ผลการลงประชามติที่นี่พบว่าชัยชนะของผู้ที่ออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญทิ้งผลต่างจากผู้ไม่รับเกือบ 10%  ซึ่งถือว่าเป็นการ “พลิก” ครั้งใหญ่เมื่อเทียบกับผลประชามติปี พ.ศ. 2550 ซึ่งชาวอุบลราชธานีโหวตไม่รับร่าง 56.45% ต่อรับ 43.55%

ทำไมผลประชามติในจังหวัดอุบลราชธานีจึงสวนทางภาพรวมผลคะแนนอีสาน?

หากต้องการคำตอบ คงต้องพิจารณาประเด็นต่อไปนี้

การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เกิดขึ้นโดยปราศจากการให้เสรีภาพแก่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเพื่ออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ มีการจับกุมผู้ต่อต้านและกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหลายครั้ง (ตัวอย่างการจับกุม ที่นี่ และ ที่นี่) หากจะเบิ่งดูเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานี ก็จะเห็นเฉพาะกิจกรรมที่ภาครัฐเป็นเจ้าภาพเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้จัด ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 19 เมษายนปีนี้ ตัวแทนจากองค์กรระดับจังหวัดในทุกระดับตั้งแต่ระดับผู้ใหญ่บ้านขึ้นไปถูกเรียกให้เข้าร่วมการประชุมขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นโดยมีผู้บัญชาการของกองทัพภาคที่ 2 เป็นประธาน โดยในที่ประชุม ฝ่ายรัฐได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการให้ผลการลงประชามติเป็นเช่นไร ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เวทีเสวนาทางวิชาการที่มีความพยายามจะเปิดพื้นที่ให้มีการหารือเกี่ยวกับข้อดีและข้อด้อยของร่างรัฐธรรมนูญกลับถูกยกเลิกไม่ให้จัด  เมื่อการรณรงค์ให้มีการมาออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่สนับสนุนโดยหน่วยงานรัฐได้รับอนุญาตให้จัดขึ้นอย่างเต็มที่ การจับกุมหรือการคุกคามบุคคลสำคัญในพื้นที่ท้องถิ่นที่อาจมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้มีสิทธิออกเสียงก็กลายเป็นเรื่องปกติไปในขณะเดียวกัน  เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวถูกนำตัวไปยังค่ายทหารในจังหวัดด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็น “บุคคลที่มีอิทธิพล” (ดูข่าวที่นี่) ความพยายามที่จะติดตามตรวจสอบกระบวนการลงประชามติโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ถูกระงับ ในระหว่างนี้พันธมิตรของนปช.ที่มีบทบาทสำคัญหลายคนยังถูกคุมขังอยู่ในคุก ซึ่งผู้เขียนได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ที่นี่ ไม่ถึงสองสัปดาห์ก่อนการลงประชามติ ชายคนหนึ่งก็ถูกจับกุมข้อหาตะโกนไม่ให้คนออกไปลงประชามติในตลาดสดเทศบางเมืองพิบูลมังสาหาร ชายคนดังกล่าวยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดอุบลราชธานีจนปัจจุบันขณะเขียนบทความนี้

ณ เวลายี่สิบนาฬิกา ป้ายประกาศผลการลงคะแนนประชามติของอำเภอเมืองอุบลราชธานียังคงว่างเปล่า

ณ เวลายี่สิบนาฬิกา ป้ายประกาศผลการลงคะแนนประชามติของอำเภอเมืองอุบลราชธานียังคงว่างเปล่า

หนึ่งคืนก่อนการลงประชามติ ที่หมู่บ้านของผู้เขียน ผู้ใหญ่บ้านประกาศผ่านเสียงตามสาย ขอร้องให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปใช้สิทธิลงประชามติในวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ทางการต่างคาดหวังว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิออกคะแนนเสียงมากถึงร้อยละ 80 แต่เมื่อหีบเลือกตั้งปิดลง ปรากฎว่ามีผู้มาใช้สิทธิแค่เพียงร้อยละ 60  ผู้เขียนได้สังเกตกิจกรรมการออกเสียงลงประชามติ 4 หน่วยเลือกตั้งในหมู่บ้านขนาดใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งมี 4 หมู่ การใช้สิทธิลงประชามติทั้งวันดำเนินไปอย่างไม่มีอะไรติดขัด แต่การออกเสียงลงประชามติครั้งนี้แตกต่างจากการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากผู้มาออกเสียงดูไม่ตื่นเต้นกับการออกเสียงครั้งนี้เท่าใดนัก ส่วนใหญ่คนที่มาใช้สิทธิคือคนที่อาศัยอยู่หรือทำงานในหมู่บ้านหรือในตัวเมืองใกล้เคียง คนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาใช้สิทธินั้นมีน้อยมาก โดยผู้มาใช้สิทธิวันนี้มีอายุเฉลี่ยอยู่  40 ปี หรือมากกว่า ตลอดทั้งวันมีผู้มาใช้สิทธิตามหน่วยลงคะแนนที่ตนมีสิทธิออกเสียงตามทะเบียนบ้าน ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิประมาณ 60% ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วจังหวัด

หลังจากปิดหีบลงคะแนน ณ เวลา 16.00 น. ผู้เขียนได้เดินทางไปยังหน่วยเลือกตั้งทั้ง 4 แห่ง เพื่อร่วมสังเกตขั้นตอนการนับคะแนนลงประชามติ แต่ละหน่วยเลือกตั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์เพียงสองหรือสามคน ประชาชนไม่ได้ตื่นเต้นกระตือรือร้นต่อผลการออกเสียงแต่อย่างใดเลย  มิได้นำพาด้วยซ้ำไปว่าผลการออกเสียงจะออกมาอย่างไร นี่จึงตอกย้ำความต่างราวฟ้ากับดินจากการเลือกตั้งใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ

จากนั้น ผลการนับคะแนนการออกเสียงลงประชามติจากระดับหมู่บ้านถูกส่งไปยังหน่วยนับคะแนนในตัวอำเภอ เฉกเช่นการเลือกตั้งทั่วไปก่อนหน้านี้ มีการติดป้ายประกาศผลการออกเสียงลงประชามติในพื้นที่โล่งบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ แต่ทว่า การนับคะแนนออกเสียงประชามติระดับจังหวัดนั้นเกิดขึ้นอย่างไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยนับกันภายในห้องประชุมของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด พร้อมผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ถึง 50 คน ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์บางคนเป็นผู้สื่อข่าวในท้องที่ ถึงแม้การนับคะแนนออกเสียงลงประชามติครั้งนี้จะมิใช่การนับคะแนนอย่างปิดลับ แต่กระบวนการนี้ก็สะท้อนว่ารัฐขาดความเปิดกว้างสำหรับการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในการตรวจสอบความถูกต้องของผลคะแนนออกเสียง  ผู้เขียนได้สอบถามบุคคลหนึ่งซึ่งมีลักษณะเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในห้องนับคะแนนว่า หากมีคนไม่เห็นด้วยกับผลการลงคะแนนจะสามารถโต้แย้งภายหลังได้หรือไม่ สิ่งที่เธอตอบกลับมาคือ หากใครไม่เห็นด้วยกับผลการออกเสียงลงประชามติ ก็ต้องโต้แย้ง ณ หน่วยเลือกตั้งในระดับหมู่บ้านแล้ว  คำตอบนั้นทำให้เกิดคำถามในใจผู้เขียนว่า เธอหมายความว่าประชาชนไม่มีสิทธิเห็นแย้งต่อผลการเลือกตั้งใช่หรือไม่? เพราะผู้เขียนไม่สามารถตีความคำพูดนั้นได้เป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจากนี้แล้ว

ไม่นานนักการนับผลการออกเสียงลงประชามติก็เสร็จสิ้น ซึ่งเป็นผลที่ชวนช็อกสำหรับคนไม่น้อย  เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่ของชาวอุบลราชธานีผู้มาออกเสียงโหวต “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลทหารให้การสนับสนุน จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 1,399,391 คน มาใช้สิทธิร้อยละ 57.6 โดยลงประชามติ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญประมาณ 55% (414,221 เสียง)  และ “ไม่รับ” 45% (342,897 เสียง) [ii] อย่างไรก็ตาม ในทิศทางเดียวกันกับผลการออกเสียงต่อคำถามพ่วงในพื้นที่อื่นๆ ของภาคอีสาน ชาวอุบลราชธานีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในคำถามพ่วง มี 49.56% ที่ออกเสียงเห็นด้วยกับข้อเสนอ โดยมีผู้ไม่เห็นด้วย 50.24% (352,540 เสียง ต่อ 355,902 เสียง) ในขณะที่จุดยืนทางการเมืองของจังหวัดอื่นๆ ในอีสานออกมาในทำนองเดียวกัน แต่ผลการออกเสียงลงประชามติในจังหวัดอุบลราชธานีแสดงให้เห็นว่าจังหวัดแห่งนี้นั้นเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ถูกแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้สนับสนุนของพรรคเพื่อไทย/นปช. (คนเสื้อแดง) และผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์/คณะกรรมการประชาชนปฏิรูปประชาธิปไตย (กปปส.) ต่างมีฐานมั่นในการสนับสนุนฝ่ายตัวเอง ซึ่งสภาพดังกล่าวได้มีส่วนกำหนดความเป็นไปการเมืองไทยตั้งแต่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553  และเหตุการณ์  “ชัตดาวน์กรุงเทพ” ปี 2557 ตามลำดับ

ในพื้นที่อำเภอที่เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ เช่น อำเภอเขื่องใน อำเภอเหล่าเสือโก้กและอำเภอพิบูลมังสาหาร พบว่าผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเป็นฝ่ายชนะขาด ขณะที่ผลการออกเสียงในพื้นที่อำเภอที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยนั้นมีทั้งรับและไม่รับ แต่อำเภอต่างๆ ในทางตอนใต้ของจังหวัด เช่น อำเภอนาจะหลวย อำเภอน้ำยืน  อำเภอน้ำขุ่น อำเภอบุณฑริก มีผลการออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ  โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอนาจะหลวย มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 57.79 %  ผลต่างระหว่างออกเสียงรับและไม่รับอยู่ที่ 16% โดยผู้มาใช้สิทธิออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวน 13,059 คน (58.52%) และมีผู้ออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวน 9,256 คน (41.48%)  ซึ่งอำเภอเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่ที่เป็นฐานมั่นในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดงในปี 2553  และยังเป็นพื้นที่ของสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลทหารผ่านสื่ออย่างสม่ำเสมอ โดยในพื้นที่นี้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลพลิกมาเอาชนะได้  ผลการออกเสียงลงประชามตินี้ชวนให้นึกถึงผลการเลือกตั้งทั่วๆไปของจังหวัดอุบลราชธานีอย่างที่เคยเป็นมาเว้นเสียแต่ว่าในการลงประชามติครั้งนี้ เสียงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่เคยมีอย่างหนาแน่น ซึ่งสมาชิกคนสำคัญล้วนออกมาประกาศไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น กลับอ่อนลงในการลงประชามติครั้งนี้

บทวิเคราะห์ที่เพิ่งออกมาไม่นานได้อธิบายเหตุผลในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในภาคอีสาน แต่คำถามที่ผู้เขียนสนใจคือ เพราะเหตุใดผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติในจังหวัดอุบลราชธานีจึงออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กันเล่า? หลังจากการลงประชามติ ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ชาวบ้านทั่วไปและข้าราชการระดับล่างซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการรณรงค์ออกเสียงลงประชามติครั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ได้มีดังนี้

หลังปิดหีบออกเสียง ณ เวลาสิบหกนาฬิกา เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงเตรียมพร้อมนับคะแนน ณ เวลานั้นมีชาวบ้านผู้สังเกตการณ์การนับคะแนนเพียงแค่สามคนที่หน่วยออกเสียงนี้

หลังปิดหีบออกเสียง ณ เวลาสิบหกนาฬิกา เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียงเตรียมพร้อมนับคะแนน ณ เวลานั้นมีชาวบ้านผู้สังเกตการณ์การนับคะแนนเพียงแค่สามคนที่หน่วยออกเสียงนี้

ผู้เขียนพบว่าผู้มีออกเสียงจำนวนมากไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ  แม้ว่าบางคนได้รับหนังสือสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ แต่ข้อมูลในนั้นก็เน้นเฉพาะด้านดีของร่างรัฐธรรมนูญ (ดูรายงาน iLaw ที่นี่) และเขียนด้วยภาษาที่ไพเราะโน้มน้าวใจให้เห็นดีเห็นงามกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ลักษณะให้ข้อมูลตรงๆ บางคนกล่าวว่าพวกเขาไม่เคยได้รับข้อมูลอะไรเลย (นายศุภชัย สมเจริญประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยอมรับว่า กกต. ไม่ได้จัดส่งร่างรัฐธรรมนูญและสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้กับทุกครัวเรือน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้กำหนดให้ต้องส่งทุกครัวเรือน)  การอบรมวิทยากรระดับหมู่บ้าน ครู ค. ภายใต้กระทรวงมหาดไทย (ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่บ้าน) แต่งตั้งตามคำขอของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ให้ข้อมูลชาวบ้านเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ตามที่ผู้เขียนได้พูดคุยมา พวกเขากล่าวว่ารู้สึกกลัวว่าตัวเองจะมีปัญหาเหมือนกับคนที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพวกเขาเองก็ไม่รู้รายละเอียดในร่างรัฐธรรมนูญมากนัก ก็เลยทำได้แค่กระตุ้นแนะนำให้คนออกมาใช้สิทธิลงประชามติ ซึ่งนับเป็นมนตราที่พากันท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองอยู่เวลาหลายสัปดาห์ก่อนการลงประชามติ นอกจากนี้ความพยายามอย่างมากมายไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัด อำเภอและหมู่บ้าน ล้วนกดดันให้ชาวบ้านต้องออกมาลงประชามติ  ดังนั้นชาวบ้านจึงอาจรู้สึกว่าจะต้องออกเสียง “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ

ชาวนาคนหนึ่งวัยห้าสิบต้นๆ กล่าวว่า เธอออกเสียง “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญเพราะต้องการ “ให้มันแล้วแล้วไป” ซึ่งเป็นคำตอบที่ผู้เขียนไม่เคยได้ยินมาก่อนจากการเลือกตั้งใดๆ ที่ผ่านมา จากนั้นผู้เขียนจึงถามเธอต่อว่าได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มหรือไม่ เธอตอบว่าเธออ่านสรุปเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับทางไปรษณีย์ แต่เธอก็ไม่เข้าใจเนื้อหาใดๆ เลย ผู้เขียนถามว่าทำไมเธอจึงออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ หญิงชาวบ้านคนนี้ตอบกลับมาว่าเธอเองก็ไม่ทราบเช่นกัน คำถามสุดท้ายที่ผู้เขียนถามเธอ คือเธอรู้หรือไม่ว่าโครงการเรียนฟรี 12 ปี และระบบบริการสุขภาพจะเป็นอย่างไรต่อไป เธอตอบ “ไม่รู้” คำตอบเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การที่นักวิชาการและปัญญาชนจะรณรงค์ให้โหวต “ไม่รับ”  นั้นเข้าไม่ถึงผู้มีสิทธิออกเสียงในระดับรากหญ้า แต่ผู้มีสิทธิออกเสียงก็ออกเสียงเพื่อให้รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการโครงการอะไรก็ตามให้ไปต่อได้ หรือไม่ก็ออกเสียงแบบขอไปที  ผู้ออกเสียงคนดังกล่าวได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับบิดาของเธอว่าไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ  เธอเล่าว่าบิดาของเธอกล่าวว่า “มันบ่เคยเฮ็ดหยังให้เฮา สิรับให้มันเฮ็ดหยัง?”  (“มัน” ไม่เคยทำอะไรให้เรา แล้วเราจะรับ “มัน” ไปทำไมกัน?)

ผู้ออกเสียงประชามติหญิงจากหมู่บ้านอีกแห่ง วัยสี่สิบปลายๆ กล่าวว่าเธอใช้สิทธิออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญเพราะเธอพอใจโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด  400 บาทต่อเดือน ลูกสาวของเธอกำลังจะคลอดลูกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้และเธอหวังที่จะได้รับเงินช่วยเหลือนี้ โดยโครงการดังกล่าวประกาศออกมาไม่กี่เดือนก่อนการลงประชามติ เธอเชื่อว่ารัฐบาลกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง

เมื่อวิเคราะห์ความคิดเห็นต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันแล้ว พบว่าการออกเสียงลงประชามติครั้งนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ

ระหว่างการให้สัมภาษณ์ ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหลายคนเผยอย่างตรงไปตรงมาว่าตนเองไม่ชื่นชมพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีนัก โดยกล่าวว่าเหตุผลที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญก็เพราะเชื่อว่าทหารจะคืนอำนาจและจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในไม่ช้า ชายชราคนหนึ่งเดินออกจากหน่วยเลือกตั้งพร้อมรอยยิ้มเพราะเชื่อว่าการรับร่างจะให้ผลอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ผู้มาลงประชามติไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมพวกเขาถึงเชื่ออย่างนั้น เพียงคิดว่าการมีรัฐธรรมนูญใหม่จะทำให้รัฐบาลทหารพ้นจากอำนาจ สิ่งนี้ทำให้ผู้เขียนยิ่งเชื่อว่าประชาชนเหน็ดหน่ายกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญเพียงเพื่อให้พ้นจากภาวะทางตัน การยึดผลทางปฏิบัติเป็นตัวตั้งไปตามข้อมูลที่ผิดๆ นี้ เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการขาดโอกาสในการเปิดประเด็นให้มีการถกเถียงและโต้แย้งเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ยังมีข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่สังเกตเห็นหลังการลงประชามติ นั่นคือผู้มาใช้สิทธิสับสนกับคำถามบนบัตรลงคะแนนเสียง พวกเขาคิดว่าการละเว้นโดยไม่ตอบคำถามแรกซึ่งเป็นคำถามบังคับหมายถึงการไม่ยอมรับร่าง แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของ “บัตรเสีย”  ซึ่งอาจอธิบายให้เห็นถึงผลของคำถามพ่วงต่อรูปแบบการออกเสียงประชามติ

สรุปแล้วผลการออกเสียงประชามติชี้ให้เราเห็นอะไร?

ผลการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ไปใช้สิทธิออกเสียงต้องการให้มีการเลือกตั้ง  คนที่เบื่อหน่ายกับการบริหารประเทศของรัฐบาลทหารเพียงแค่วาดฝันว่าจะมีการเลือกตั้งหากตนเองโหวต “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นี่ยังไม่กล่าวถึงคนที่มาออกเสียงเพราะถูกการรณรงค์ระดับชุมชนกดดันให้มา ผู้ที่มาใช้สิทธิออกเสียงที่มีอัตลักษณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจนดูเหมือนว่าจะตัดสินใจออกเสียงโดยไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ การแบ่งแยกฝักฝ่ายยังคงเห็นได้ชัดในจังหวัดแห่งนี้ ถึงแม้ว่าอำนาจของพรรคไทยรักไทยหรือคนเสื้อแดงจะอ่อนแรงลง แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม การโหวต “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญยิ่งทำให้รัฐบาลทหารยิ่งมั่นใจในอำนาจของตนโดยเห็นได้จากการใช้อำนาจจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญอย่างแข็งขันหนักข้อยิ่งกว่าเก่าหลังการลงประชามติ อนาคตของประเทศไทยจึงยังคงมัวหม่นตราบใดที่ทหารยังกุมบังเหียน

[i] มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 54.39% ในพ.ศ. 2550 โดยในปีนี้มีผู้มาใช้สิทธิ 57.60%

[ii] ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการที่ผู้เขียนได้รับ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดอุบลราชธานีในระหว่างการนับผลการลงประชามติทั่วจังหวัด

image_pdfimage_print