
เกิดอะไรขึ้นที่ภาคอีสาน ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนที่กลางกรุงเทพมหานครในวันที่ 6 ตุลาคม 2519? เรื่องราวของคนอีสานที่สายใยชีวิตได้เข้าไปเกี่ยวพันกับสงครามระหว่างรัฐไทยและขบวนการคอมมิวนิสต์ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม นั้นเป็นเช่นไร?
เสมือนแสน็ปช็อตย้อนอดีต 40 ปี 6 ตุลาคม กับคนอีสานสี่คน ทั้งสหายภูธร นักศึกษารามคำแหงชาวอุบลราชธานี และตำรวจตระเวนชายแดนผู้ปฏิบัติการสงครามแย่งชิงมวลชน
วันนั้นบนปฏิทิน มีความหมายอะไรต่อพวกเขาแต่ละคน?
อินทร แสงงามซึ้ง อายุ 65 ปี ชาวบ้านบ่อทอง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ หลังการสังหารหมู่ในปี 2519 เขาได้ชื่อใหม่ว่า ‘สหายสุระ’ ในหน่วยรบของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยก่อนหน้านั้น มีโครงการจะสร้างเขื่อนชีบนซึ่งจะส่งผลให้ต้องย้ายคนกว่า 40 หมู่บ้านในแถบนั้น แล้วได้มีกลุ่มนักศึกษาเข้ามาในพื้นที่เพื่อร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนกันยกใหญ่
วันที่เกิดเหตุการณ์อยู่ที่ไหน รู้เหตุการณ์ได้ยังไง
วันนั้นก็อยู่ที่บ้าน รู้ข่าวจากทางวิทยุพวกนักศึกษาบางส่วนอยู่ที่นี่เขาก็ฟังวิทยุติดตามเหตุการณ์กัน
ความทรงจำเกี่ยวกับความรุนแรงในเหตุการณ์วันนั้น
ตอนนั้นก็รู้สึกโกรธแทนนักศึกษาว่าทำไมทำกันอย่างนี้ อยากรู้ว่านักศึกษาที่เรารู้จักจะรอดหรือไม่ ผมเองก่อนหน้านั้นก็เคยเป็นตัวแทนของตำบลเข้าไปธรรมศาสตร์เพื่อทำกิจกรรมการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนเลยคิดภาพเหตุการณ์ออก หลังจากเหตุการณ์ที่กรุงเทพ พวกเจ้าหน้าที่รัฐก็เริ่มเข้ามาในพื้นที่มาค้นบ้านหาพวกหนังสือ นักศึกษาที่อยู่ในหมู่บ้านก็ต้องหลบหนีขึ้นไปบนภูเขียว ต่อมาก็เริ่มมีนักศึกษาหนีเข้ามาจากในเมืองมาสมทบจำนวนมาก เราก็จัดหาพรานป่านำทางขึ้นไป หลัง 6 ตุลาไม่นานบนภูเขียวก็เต็มไปด้วยนักศึกษาจนได้ตั้งเป็นเขตงานรหัส 196 ภูเขียวซึ่งเป็นเขตงานเดียวที่ก่อตั้งโดยนักศึกษา
ถ้าวันนั้นอยู่ในเหตุการณ์คิดว่าจะทำอะไร
ถ้าย้อนเวลาก็ไม่รู้เหมือนกัน เราก็สนิทกับนักศึกษาแต่ดูแล้วมันก็โหดร้ายมากนะ ก็อยากเข้าไปดูนักศึกษานั้นนะแต่นักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่กลับบอกว่าให้นิ่งๆ ไว้ถ้าเกิดอะไรพวกเรานี้เข้าป่าแน่นอน
ความหมายของ 6 ตุลาคืออะไรสำหรับพ่อ
6 ตุลา คือทำให้เห็นว่ารัฐบาลนั้นมีความพยายามรักษาอำนาจมากแค่ไหน มันคือการปราบปรามที่โหดร้ายมากนะ และมันมาจากการทำของคนไทยด้วยกันเองด้วย
ในชีวิตวัยเกษียณ ร.ต.อ สำราญ ห้อยตะคุ อดีตข้าราชการตำรวจตะเวนชายแดนยังคงภาคภูมิใจต่อบทบาทของตนในการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้เข้าหาประชาชน และเลือกใช้ “ไม้อ่อน” ต่อกรกับนักศึกษาและประชาชนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ท่ามกลางสงครามกลางเมืองหลังการปราบปรามที่พุ่งสู่จุดสูงสุดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ตอนนั้นทำอะไรอยู่
เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 หน่วยเหนือแจ้งมาเป็นหนังสือราชการให้เตรียมพร้อมเข้าควบคุมพื้นที่หมู่บ้านในเขตดงมูน จ.กาฬสินธุ์ ชุดปฏิบัติการของผมมีกำลังอยู่หนึ่งหมวด ประมาณ 40 กว่าคน ผู้บังคับบัญชาสั่งเตรียมพร้อมทุกอย่าง ทั้งอาวุธ ยุทธโธปกรณ์ มีการประชุมชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพว่าเป็นอย่างไร แต่ถึงเวลาหน่วยของผมไม่ได้เป็นหน่วยปฏิบัติการจับกุมปราบปราม แต่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติการทางจิตวิทยาทำความเข้าใจกับพ่อแม่พี่น้อง สกัดกั้นไม่ให้มีการเคลื่อนไหว
ให้คำแนะนำประชาชนในหมู่บ้านเกี่ยวกับการรับฟังข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณเพื่อสกัดกั้นการเข้าร่วมกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เป็นต้น ในแต่ละวันผมจำได้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายความมั่นคงจะมีการประชุมกันทุกเย็นเพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ ประเมินสถานการณ์ในพื้นที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
เหตุการณ์หกตุลาได้ส่งผลต่อวิธีการทำงานกับชุมชนอย่างไรบ้าง
พวกเราทำการชี้แจงกับประชาชน โดยเรียกผู้นำหมู่บ้าน เพื่อมาทำการประชุมทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์บ้านเมือง ประชาชนสามารถให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ได้โดยผ่านตัวแทนของหมู่บ้าน ส่งต่อกันเป็นสายบังคับบัญชาเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและถูกจุด เพราะบางพื้นที่กลายเป็นหมู่บ้านคอมมิวนิสต์กันทั้งหมู่บ้าน แล้วไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ มีการจัดเวรยามตรวจผู้ที่จะเข้าออกหมู่บ้านอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้มีเจ้าหน้าที่รัฐแฝงตัวเข้ามาในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งในและนอกเครื่องแบบก็ไม่กล้าที่จะกระทำการอะไรที่รุนแรงกับชาวบ้าน เพราะมันเป็นเงื่อนไขทางสังคมที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐคือผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เอามาโจมตีเพื่อชิงมวลชนไปร่วมขบวนการฯ
ประชาชนไม่มีความคิดที่กระทำความรุนแรงหรือต่อสู้กับรัฐ ประชาชนอยู่ในทางสายกลาง ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือโจมตีคนแบบไม่มีเหตุผล ที่นำไปสู่ความรุนแรง ผมเชื่อว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นตามแนวชายแดน โดยเฉพาะช่วงที่ชาวบ้านเข้าป่าและกลายเป็นคอมมิวนิสต์เกิดจากการชี้นำจากชาวบ้านในหมู่บ้านชายแดนที่ผมอยู่ยังมีความเคารพรักสถาบัน ชาติ ศาสนา พระกษัตริย์อยู่ ผมเชื่อมันอย่างนั้น บุคคลที่สามมากกว่าชาวบ้านตัดสินใจ ชี้นำชาวบ้านให้ทำประโยชน์เพื่อตัวเองโดยอ้างผลประโยชน์ของชาติ
หาทางแก้ไขจนช่วงนั้นถามว่าในส่วนของผม ผมทำความเข้าใจกับประชาชนได้ระดับหนึ่ง จนสามารถชักนำชาวบ้านที่ร่วมเคลื่อนไหวกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กลับมาอยู่กับฝ่ายรัฐได้ ออกมาร่วมมอบตัว ตอนนั้นคือสงครามแย่งชิงมวลชน
รู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วได้ใช้ความรุนแรงหรือเปล่า
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าประชาชนให้ความร่วมมือและเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่เพียงใดนั้น ต้องมีส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่การหาข่าวในรูปการหาข่าว มีทั้งเปิดเผยตัวและไม่เผยตัว หาข่าวได้จากประชาชนในหมู่บ้านผมคิดว่าตอนนั้นพวกผมทำงานกับประชาชน ประชาชนมีปัญหาอะไรก็จะวิ่งมาหา มาพึ่งพาพวกเรา แม้แต่บางคนที่เป็น ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ก็มาให้ข้อมูลข่าวสารกับทางเจ้าหน้าที่เอง โดยบอกว่าในหมู่บ้านนี้มีชาวบ้านคนไหนเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว บ้านไหนกำลังจะเป็น เป็นเพราะอะไร ชาวบ้านของเราก็จะมาแจ้ง
ชาวบ้านที่จะถูกชักนำไปเป็นคอมมิวนิสต์นั้นจะถูกทางฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กล่าวหาโจมตีเจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล เช่นว่า ความยากจนเกิดจากการเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นปกครอง ไม่มีความเป็นธรรมในสังคม คนจนถูกเจ้าหน้าที่รัฐรังแก ฯลฯ
ผมยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการปราบปรามประชาชนที่มีส่วนร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จริง ๆ แต่วิธีการใช้ความรุนแรงมักมีส่วนในการทำให้ชาวบ้านไปอยู่ฝ่ายคอมมิวนิสต์
บุญส่ง มาตขาว อายุ 66 ปี ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก เมื่อเกือบสี่สิบปีก่อนได้เข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยพอดีกับวัยที่ต้องเกณฑ์ทหาร ในวัยยังไม่ถึงยี่สิบปีดีนั้นเอง พ่อบุญส่งก็คุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้วกับอุดมการณ์สังคมนิยมด้วยอิทธิพลของพี่เขยและน้าเขย ผู้เป็นครูที่มีบทบาทเคลื่อนไหวในชุมชนบ้านเกิดของเขาที่ยโสธร เมื่อการสังหารหมู่ 6 ตุลาคมเกิดขึ้น บุญส่งได้ยินรายงานข่าวจากวิทยุของราชการ และวิทยุของขบวนการคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกัน
วันนั้นได้ข่าวจากที่ไหน
วิทยุของประชาสัมพันธ์ แต่เราก็ฟังสองด้าน อีกด้านเราก็ฟังวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคลื่อนไหว เราก็ฟังทั้งสองฝั่งฝ่าย แต่เราคิดว่าฝั่งของประชาชนให้ความจริงมากกว่า ก็ถือว่า… ถ้าพูดไปแล้วเราก็เอียงซ้ายอยู่แล้ว เราก็จะฟังเสียงของพวกเรามากกว่า เพราะว่าเราก็เห็นข่าวว่านักศึกษาถูกรุม ถูกทำร้าย ก็สร้างความเจ็บแค้น เป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างใหญ่
จดจำถึงความรุนแรงในวันนั้นอย่างไร
ตอนนั้น เหตุผลที่รัฐจะมาจับนักศึกษาคือ จำได้ว่าช่วงนั้นที่เกิดเหตุการณ์ที่เป็นชนวนสำคัญของการชุลมุนก็คือถนอมบวชเป็นพระเข้ามา แล้วเขาบอกว่าใครต่อต้านพระถือว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถือว่าเป็นคนที่ไม่จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประชาธิปไตย เขาก็ใช้เป็นเหตุผลในการเอากำลังเข้ามาปราบผู้ชุมนุม เราก็รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมเท่าไหร่กับพวกชาวบ้าน หลังจากวันนั้นก็เตรียมรับมือ เผื่อจะมีภัยอะไรที่อาจมาคุกคามถึงที่ เพราะเป็นพื้นที่ของครูที่เป็นแกนนำชุมชนด้วย มีพี่เขยมีน้าเขยเป็นแกนนำขององค์กรครูในสมัยนั้นอยู่
สถานการณ์ที่ยโสธรตอนวันเกิดเหตุเป็นอย่างไร
ไม่มีการจับกุม แต่มีชาวบ้านถูกซื้อให้เป็นสายลับมาด้อมๆ มองๆ มีข้าราชการแฝงตัวเข้ามา เราต้องระวังตัวมากขึ้น เอกสารการประชุมต่างๆ เราก็ต้องทำลาย เอกสารเผยแพร่ต่างๆ ที่เขาห้ามเราก็ทำลาย ส่วนไหนที่ไม่สำคัญเราเผาทิ้งก็มี ส่วนไหนที่สำคัญเราก็เอาไปซ่อน เอาไปฝังไว้ก็มี แล้วก็การไปมาหาสู่กันระหว่างสหายก็ระวังมากขึ้น
ความหมายของ “หกตุลา” คืออะไร
เหตุการณ์ตอนนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ทำลายขวัญของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเพื่อปฏิวัติเนี่ยให้รู้สึกเศร้าสลดใจที่เห็นเพื่อนๆ หลายคนที่ถูกทำร้าย หลายคนที่ได้ล้มหายตายจากกันไป ทำให้เราต้องสูญเสียนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ เราหดหู่ เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเคียดแค้น เกิดความชิงชัง ในลักษณะที่ว่ามันเพิ่มอุณหภูมิความร้อนในใจให้สูงขึ้น มันไม่ใช่หดหู่เฉยๆ แต่มันทำให้เราต้องอยากจับอาวุธ แต่ก่อนเราอยากอยู่กับบ้านทำงานเคลื่อนไหวก็ได้ แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นทำให้เราต้องตัดสินใจว่าเราจะขอรับการจัดตั้ง อยากเข้าป่า ต่อสู้ แค้นต้องชำระ (แต่ในขณะเดียวกัน ในส่วนหนึ่ง งานในพื้นที่ก็มีความสำคัญ คนออกป่าไปหมดแล้วใครจะทำงานในพื้นที่ เขาให้ทำไปจนอยู่ไม่ได้)
เช่นเดียวกันกับนักศึกษาหนุ่มคนนั้นที่ถูกทารุณกรรมและแขวนคออยู่ใต้ต้นมะขามในค่ำอำมหิตครั้งนั้น ประยุทธ์ ชุมนาเสียว เป็นนักศึกษากรุงเทพที่มีพื้นเพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี แต่ความต่างอยู่ตรงที่ประยุทธ์รอดชีวิตมาได้และถูกคุมขังอยู่เจ็ดวัน เมื่อได้เห็นชีวิตเพื่อนร่วงกรูเหมือนใบไม้ ประยุทธ์จึงสลัดสภาพนักศึกษาของตน แบกสัมภาระใบน้อยมุ่งหน้าสู่ป่าในอำนาจเจริญ ปัจจุบันเขาอายุ 64 ปี
วันนั้นอยู่ที่ไหน
ผมอยู่ในเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ และผมถูกจับไปขังที่อยู่โรงเรียนตำรวจบางเขนนานถึง 7 วันจน วันที่วันที่ 12 ตุลาคม ตำรวจให้ประกันตัว มหาวิทยาลัยรามคำซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ผมศึกษาอยู่ขอประกันตัวนักศึกษาทั้งหมดในสังกัดมหาวิทยาลัยรามคำแหงออกมา โดยเงื่อนไขหลังจากการประกันตัวคือให้ไปรายงานตัวต่อกองสันติบาลเดือนละ 1 ครั้ง นักศึกษาทั้งหมดที่ถูกจับในนามมหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้ารายงานตัวและทำประวัติ หลังจากนั้นไม่กี่วันหลังประกันตัว ผมตัดสินใจเข้าไปร่วมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์ในป่า
ผมเดินทางไปกับเพื่อนสองคน นั่งรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปลงที่จังหวัดอำนาจเจริญในสมัยนั้น แล้วต่อรถโดยสารจากอำนาจเจริญไปที่หมู่บ้านที่มีสหายในป่าออกมารับ ตอนนั้นข้าวของที่เตรียมเข้าป่า มีแค่กระเป๋าเดินทางใบเล็ก ๆ ข้างในมีเสื้อผ้ารองเท้าผ้า ที่สำคัญขาดไม่ได้คือยารักษาโรค ยาแก้ไข้มาลาเรีย เป็นต้น เพราะสมัยนั้นเคยออกค่ายชนบทไปสร้างโรงเรียนจึงเตรียมของเหมือนไปออกค่าย
ความทรงจำเกี่ยวกับบรรยากาศในอีสานหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
คนที่อยู่ในพื้นที่ของเมืองอุบลฯ นั้นจากที่ได้คุยกับเพื่อนนักศึกษาจากวิทยาลัยครูอุบลราชธานี ส่วนใหญ่ที่เข้าไปในป่าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยคือกลุ่มคนอยู่ในเมือง โดยเติบโตมาจากการกลุ่มสังคมนิยมเก่าในเมืองอุบลราชธานี เช่น กลุ่มที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่นิยมแนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และวิทยาลัยครูอุบลราชธานีมีแกนนำเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการถนอม-ประภาสอย่างแข็งขัน
จากการต่อสู้ในเชิงทางการเมือง ทำให้เกิดการเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินในเมืองเยอะ เพื่อความปลอดภัยจึงเปลี่ยนสนามการต่อสู้จากเมืองไปในป่ากับกองกำลังติดอาวุธ จึงต้องเปลี่ยนโดยประสานมาจากฝ่ายจัดตั้งในป่าให้เข้าร่วม
เขตงานภูสระดอกบัวหรือเขตงาน 444 มีพื้นที่ที่ผมอยู่มีนักศึกษาอยู่ 6 คน เป็นนักศึกษาจาก รามคำแหง, วิทยาลัยครูอุบลฯ, วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จ, วิทยาลัยครูเพชรบุรี พวกเรารุ่นเดียวกันและผ่านการเข้าร่วมเหตุการณ์ที่เลวร้ายในวันที่ 6 ตุลาฯ 19 ทั้งสิ้น
ตอนนั้นเขตงานคือพื้นที่จังหวัดยโสธรซึ่งแต่ก่อนอยู่ภายใต้จังหวัดอุบลราชธานี พวกเราทั้ง 6 คนมาพบกันในป่า มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นละความรู้กัน พวกเราพูดเหมือนกันว่าพื้นที่การต่อสู้ในเขตเมืองนั้นไม่ปลอดภัยต่อชีวิต พวกเรานักศึกษาถูกทำร้ายอย่างทารุณเหมือนไม่ใช่มนุษย์ จึงตั้งสินใจเปลี่ยนสนามการต่อสู้จากเขตเมืองมาในป่า
ธาตุแท้ของพวกผู้ปกครองตอนนั้น โหดเหี้ยม ข่นฆ่าปราบปราม ไม่มีความปรานีใด ๆ กับพวกเรา
พวกเราตัดสินใจมาอยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เพราะว่ามีหนทางในการสู้ที่มีแบบแผนการต่อสู้พอสมควร มีการฝึกอาวุธ เพื่อความชำนาญให้กับนักศึกษาทุกคน
สิ่งคนที่ 6 ตุลา ในต่างจังหวัดอย่างผมมีคือความใกล้ชิดกับฝ่ายจัดตั้งเขตงานของพรรคคอมมิวนิสต์จึงได้รับการติดต่อและมีการต้อนรับ
ตอนนั้นจำได้หลังจากการเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ มีการตั้ง “สมาคมลูกหาย” เพราะลูกเข้าป่า พ่อแม่ที่รู้ว่าลูกเข้าป่ามาลงชื่อที่สมาคม
การต่อสู้อยู่ข้างใน มีสถานีวิทยุ สปท. ออกแถลงการณ์จากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่ย้ายศูนย์จากเขตเมืองเข้ามาในป่า ประกาศว่านักศึกษาอยู่ในป่าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้นมีเกือบ 3 พันกว่าคน พวกเรานักศึกษาคนอีสานก็จะกระจายกำลังไปเขตในทางขอนแก่น เข้าแถวดงมูนจังหวัดกาฬสินธุ์แต่เขตภูพานสกลนคร คือศูนย์กลางของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคลื่อนไหวใต้ดินต่อสู้กับรัฐบาล
ทำไมถึงอยากเข้าป่า
หลังจากโดนจับที่ธรรมศาสตร์ เพื่อนถูกยิงตาย สภาพที่เจ้าหน้าที่ทำกับเราคือสั่งให้เราถอดเสื้อ สั่งให้เราคลานกับไปกับพื้น พวกเขาทำกับเราเจ็บมาก
ก่อนหน้าจะเข้าร่วมเหตุการณ์ พวกเรานักศึกษารวมถึงตัวผมผ่านการศึกษาเกี่ยวกับการต่อสู้ทางการเมืองในสภาพสังคมปัจจุบัน (สมัยนั้น) ผ่านจากการอ่านหนังสือในมหาลัย เราได้ศึกษาแนวทางการต่อสู้กับชนชั้นที่เอารัดเอาเปรียบ สมัยนั้นมีหน่วยที่นักศึกษาตั้งขึ้นเอง ซึ่งหน่วยนี้รวมนักศึกษาที่อ่านหนังสือการเมือง, วิเคราะห์การเมืองและสังคมมาอยู่ด้วยกัน หนังสือที่มีผลต่อการต่อสู้คือหนังสือโฉมหน้าศักดินาไทย ของจิตร ภูมิศักดิ์ แล้วก็อ่านวรรณกรรมของแมกซิม กอร์กี้ เรื่องแม่ แลไปข้างหน้า ของศรีบูรพา หนังสือแปลของเช อ่านหนังสือพรรคบอลเชวิกของโซเวียตเล่มใหญ่ ถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน แล้วออกโปสเตอร์ของเช ออกโปรเตอร์ของจิตร ทำให้ปลุกเร้าให้นักศึกษาสมัยนั้นได้พอสมควร จากนั้นรุ่นพี่ก็พาออกค่ายในชนบท มีเพลงเพื่อชีวิตที่ปลุกอุดมการณ์การต่อต้านความไม่เป็นธรรมในสังคมหล่อเลี้ยงหัวใจพวกเรา ทำให้เราได้ออกไปช่วยเหลือชาวนาและกรรมกรในโรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
เป็นการไปกระทุ้ง อำนาจรัฐสมัยนั้นพอสมควร พวกเราคาดหวังสูงสุดคือปลดปล่อยผู้ที่ถูกกดขี่แบบพลิกแผ่นดิน
ความหมายของเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 คืออะไร
ผมขอให้ความหมายของวันนั้นแก่นักสู้เพื่อประชาชนทุกคนว่า เหตุการณ์วันนั้นเป็นผลความสืบเนื่องจากการต่อสู้เพื่อการปลอดปล่อยประเทศและสร้างสังคมใหม่ที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยการต่อสู้ในวันนั้นเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เพราะเป็นการต่อสู้ที่ต้องการนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศครั้งใหญ่ ผ่านการปฏิบัติการอย่างจริงจังเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์