photo_2016-10-22_10-58-44

เปิดแนวทางใหม่สำหรับวงการไทยศึกษา เมื่อความรู้ “แบบเจ้ากรุงเทพฯ” คับแคบเกินไป ธงชัย วินิจจะกุล เสนอให้มองมุมต่างของท้องถิ่น ด้านคณาจารย์ ม.อุบลฯ เปิดตัวหนังสือใหม่เรื่องการแย่งที่ดินชายแดนอีสาน ฉายภาพซับซ้อนของการแย่งที่ดินกันภายในโดยรัฐ, ชาวบ้าน, และทุน

อุบลราชธานี – ธงชัย วินิจจะกุล นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ชี้ว่ากรอบความรู้ชุดหนึ่งได้ครอบงำความคิดความเชื่อของคนไทยตั้งแต่วัยเรียนขึ้นไป กรอบความรู้ที่ว่านี้คือไทยศึกษาแบบเจ้ากรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ศิลปะไทยคับแคบและขังตัวเอง โดยเฉพาะในโลกวิชาการภาษาไทย

“ภาวะการศึกษาไทยแบบนี้ ที่อยู่ในภาวะแวดล้อมและอุดมการณ์แบบไทยๆ นั้นคับแคบเกินไป เราต้องหลุดออกจากภาวะนี้” ธงชัยกล่าว

ในการบรรยายพิเศษเปิดงาน “ไทยศึกษาในภูมิภาคอีสาน” วันที่ 10 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ธงชัยชี้ว่า แม้ในสิ่งที่เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” ในไทยศึกษาก็ยังติดอยู่กับมุมมองแบบชนชั้นสูงที่กรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดการครอบงำความเข้าใจท้องถิ่นอื่นๆ โดยเฉพาะภาคอีสานซึ่งเคยมีเจ้าอยู่ตามหัวเมือง เพราะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของรัฐไทยส่วนใหญ่มักจะมองท้องถิ่นในฐานะส่วนหนึ่งของชาติ เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ และพยายามอธิบายว่า ท้องถิ่นนั้นนี้มีความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯอย่างไร ทั้งที่ท้องถิ่นบางที่ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ ในลักษณะอยู่ใต้ปกครองแบบรวมศูนย์เช่นปัจจุบัน

“การเขียนประวัติศาสตร์ในมุมมองของอุบล ยโสธร อาจจะแตกต่างจากมุมมองของประวัติศาสตร์ไทยแบบเจ้ากรุงเทพฯ เช่น การบอกว่าการเสียดินแดนของไทย (สยาม) ให้ฝรั่งเศสในสมัยรัฐกาลที่ 5 นั้นคือมุมมองของเจ้ากรุงเทพฯ เขา (สยาม) คิดว่าเขาเป็นเจ้าของล้านช้าง แต่ล้านช้างไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นของกรุงเทพฯ ล้านช้างแค่สวามิภักดิ์ การสวามิภักดิ์ไม่ได้แสดงถึงการเป็นเจ้าของ” ธงชัยกล่าว

ธงชัยชี้ว่ามุมมองสมัยใหม่ที่บอกว่านี่คือการเป็นเมืองขึ้นแบบอาณานิคม เป็นความคิดที่ผิดพลาด เพราะเจ้าท้องถิ่นนั้นมีอิสระของตนพอสมควรที่จะทำอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ยังยอมสวามิภักดิ์ต่อเจ้ากรุงเทพฯ หรือเจ้าท้องถิ่นที่มีอำนาจมากกว่า สมัยก่อนการสวามิภักดิ์คือการมีอิสระเพราะเจ้าที่มีอำนาจมากกว่าจะไม่มายุ่งวุ่นวาย เช่น เจ้ามุกดาหาร, เจ้ายโสธร ส่งส่วยให้ทั้งเวียงจันทน์ ส่งส่วยให้ทั้งเมืองเว้ ทำให้เจ้าเหล่านี้มีอิสระที่จะจัดการตนเอง มิใช่การตกเป็นเมืองขึ้นในแบบที่มักเข้าใจกัน

แนะมหาวิทยาลัยไทยไม่ควรตัดขาดจาก “ความรู้ของวัดของวัง” และต้องรับมุมมองหลากหลาย

ธงชัย วินิจจะกุล แนะให้รัฐหรือผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยควรที่เปิดรับมุมมองเกี่ยวกับไทยศึกษาในโลกตะวันตกรวมทั้งไม่ละเลยความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ที่มีอยู่ในวัดในวังมาแต่เดิม เพื่อที่จะให้ผู้ศึกษาได้รับรู้และเข้าใจมุมมองหลากหลาย แล้วจึงใช้วิจารณญาณคิดเองได้

ธงชัยเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยในไทยกับในตะวันตก ซึ่งในตะวันตกนั้นเติบโตแตกหน่อมาจากวัดและศาสนา จึงทำให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปศาสตร์ (liberal arts) ของตะวันตกแข็งแรง กลายเป็นสาขาวิชาเช่น ปรัชญา นิรุกติศาสตร์ วรรณคดี ซึ่งโค่นล้มไม่ได้และถือเป็นรากฐานในการศึกษาศาสตร์อื่นๆ ต่อไป ในทางกลับกัน มหาวิทยาลัยไทยยังตัดขาดจากภูมิความรู้ของสังคมตนเอง

“การศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทย… เติบโตมาจากรากเหง้าของระบบอาณานิคม ผมถามว่าความรู้ของวัดของวังในประเทศไทยเราไม่มีหรือ? สำหรับผมความรู้ในวัดในวังนั้นมี แต่เราตัดขาดจากความรู้ทางสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ในสังคมเราเอง ไม่ใช่ว่าเราไม่มี แต่มันตัดขาดกัน  มหาวิทยาลัยไทยไม่ได้มีระบบเกี่ยวกับการศึกษาประเด็นทางสังคมศาสตร์ที่ต่อเนื่องจากวัดจากวังที่เรามีอยู่เดิม …มิใช่ความรู้จากวัดและวังจะถูกและดีเสมอ มันอาจจะแย่ก็ได้” ธงชัยกล่าว

ธงชัยกล่าวต่อว่า ไม่จำเป็นว่ามุมมองแบบอื่นจะต้องดีกว่าเสมอไป แต่การให้มีมุมมองอื่นๆ มาปะทะเสีย ปล่อยให้ผู้เรียนและผู้ศึกษาที่มีความสามารถพอที่จะเรียนรู้แบบเจ้ากรุงเทพฯ และแบบอื่นๆ จากนั้นให้ผู้เรียนรู้จักคิดเอง และมีความสามารถใช้เวลาที่รวดเร็วในการคิดวิเคราะห์โดยใช้มุมมองหลายๆ แบบในการวิเคราะห์ เป็นต้น

“ถ้าศึกษาเรื่องไทยศึกษา เราต้องปะทะสังสรรค์และผูกพันกับโลกตะวันตก เพราะการขังตัวเองทำให้เราคับแคบดักดาน ย้ำไม่ได้บอกว่าการคิดแบบไทยจะถูกกว่า ในที่นี้ถูกผิดไม่ใช่เรื่องที่สำคัญ” ธงชัยกล่าว

เปิดตัวหนังสือ “สถานการณ์การแย่งยื้อถือครองที่ดินชายแดนอีสาน”

ในงานเสวนา “ไทยศึกษาในภูมิภาคอีสาน” ยังมีการเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ว่าด้วยสถานการณ์การแย่งยื้อ เปลี่ยนมือถือครองและใช้ที่ดินบริเวณชายแดนอีสาน อันเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามอง เพราะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงเป็นอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมยุคประชาคมอาเซียน

กนกวรรณ มะโนรมย์ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานวิจัยบางส่วนว่า ที่ดินถูกรัฐเอามาใช้ในวัตถุประสงค์เชิงการค้าและพาณิชย์ คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ประชาชนทั่วไปแต่คือรัฐ งานวิจัยจึงไม่ละเลยบทบาทของรัฐที่มีส่วนสำคัญในการช่วงชิงที่ดินของประชาชนไป รวมถึงนโยบายรัฐที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงกำกับทิศทางการเปลี่ยนมือผู้ถือครองที่ดินบริเวณชายแดน

จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ หนึ่งในผู้เขียน กล่าวถึงงานวิจัยของตนและคณะว่า ปรากฏการณ์ยื้อแย้งที่ดินชายแดนในภาคอีสานเป็นการยื้อแย่งที่ภายใน (internal land-grabbing) นั่นคือแย่งกันเองระหว่างรัฐ ชาวบ้าน และทุน ต่างจากการสำรวจกรณีอื่นๆ ที่มักจะมีตัวแสดงหลักคือบรรษัทข้ามชาติและรัฐบาลข้างนอกเข้ามายื้อแย่งที่ดินของบรรดาประเทศที่อยู่ในช่วงของการกำลังพัฒนา

จันทราเสริมว่า ลักษณะการยื้อแย่งที่ดินกันเองอาจจะเป็นลักษณะเฉพาะสำหรับไทยศึกษาก็ว่าได้ แนวคิดเรื่องการยื้อแย่งที่ดินภายในอาจเป็นเรื่องเก่า แต่ก็ยังสามารถนำมาวิเคราะห์ปรากฏการณ์จริงได้ ทั้งยังสามารถเชื่อมร้อยระหว่างความขัดแย้งเรื่องที่ดินภายในประเทศ ให้เข้าใจได้ในกระแสโลกาภิวัตน์และระบอบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่

“ชาวบ้านไม่ได้เป็นฝ่ายตั้งรับเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านก็มีโอกาสที่จะเข้าถึงที่ดิน แม้ว่าเขตป่า เขตอนุรักษ์มันจะมีเรื่องของกฎหมายมากำกับ แต่การมองชาวบ้านที่เข้าถึงที่ดิน มักไม่มองว่าถูกหรือผิด เพราะบางชุมชนมีประวัติศาสตร์ที่อยู่อาศัยในที่ดินแห่งนี้ยาวนาน มีระบบจัดการการใช้ที่ดินซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านใช้ในการต่อสู้เพื่อจะแย่งยื้อที่ดินกับบรรดารัฐและนายทุน” จันทรากล่าว

ชาวบ้านก็เป็นผู้กระทำการ: เปิดมุมมองใหม่เรื่องแนวคิดการแย่งที่ดิน

ทั้งนี้ ในเวทีเสวนามีผู้แสดงความเห็นต่อหนังสือ “สถานการณ์การแย่งยื้อถือครองที่ดินชายแดนอีสาน” โดยชี้ว่างานวิชาการชุดนี้ฉายภาพที่ซับซ้อนไปกว่าความเข้าใจเดิมๆ เกี่ยวกับการแย่งที่ดินโดยรัฐและทุน

สร้อยมาศ รุ่งมณี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า งานวิจัยชิ้นนี้พยายามโต้แย้งแนวคิดที่การแย่งยึดที่ดินเป็นปรากฏการณ์ที่รัฐและทุนเป็นผู้กระทำการแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยรากศัพท์นั้นการแย่งยึดที่ดินคือการพรากกรรมสิทธิ์ที่ดินไปจากคนจนโดยรัฐและนายทุนร่วมมือกัน ทำให้คนกลายเป็นแรงงาน โดยแนวคิดนี้มีนัยยะของการปล้นชิงและการยอมจำนน แต่ในประเทศไทยโดยเฉพาะในอีสานนั้น ยังมีตัวแสดงนอกจากรัฐและทุนที่กระทำการยื้อแย่งที่ดิน อันได้แก่ ชาวบ้าน, ผู้นำท้องถิ่น, นายทุนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่นซึ่งล้วนมีบทบาทในการพรากหรือเข้าไปมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ที่ดินของคนจนไปพร้อมๆ กัน

สร้อยมาศยังกล่าวอีกว่า ตั้งแต่เห็นชื่อหนังสืองานวิจัยนี้ครั้งแรกก็เห็นว่าเอาแนวคิดใหญ่สองแนวคิดได้แก่ การแย่งที่ดิน (land-grabbing) และชายแดน (border) มาชนกัน ถ้าเราจะพิจารณาประเด็นแย่งยึดที่ดินในบริบทชายแดน มันจะมีอะไรแปลกจากพื้นที่อื่นบ้าง และหนังสือเล่มนี้ก็ได้โต้เถียงว่าบางอย่างรัฐก็พยายามเข้าไปควบคุมพื้นที่ชายแดนอยู่ ไม่ได้ปล่อยให้มันเสรีอย่างที่เราเชื่อกันว่าจะต้องเป็นเสมอไปในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกัน

เมื่อกล่าวถึงงานโดยภาพรวม กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานประชุมวิชาการครั้งนี้ กล่าวว่างานนี้ถือเป็นงานที่ปูทางไปสู่การประชุมใหญ่ทางวิชาการว่าด้วย “ไทยศึกษา” ครั้งที่ 13 ที่จะมีขึ้นที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2560 การจัดประชุมย่อย ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีครั้งนี้ก็มีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการในภาคอีสานโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานทางวิชาการและแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับไทยศึกษาในภูมิภาคอีสาน และยังเป็นการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ที่สนใจอยากส่งบทความทางวิชาการเพื่อนำเสนอในเวทีระดับนานาชาติต่อไป

image_pdfimage_print