img_3444

ปะติดปะต่อประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ทิ้งไว้แต่รอยอาลัย ณ เขตงาน 196 ภูเขียว เขตงานเดียวที่จัดตั้งโดยกลุ่มนักศึกษาที่มิได้เป็นผู้ปฏิบัติงานที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยส่งมาเช่นเขตงานอื่น กับอินทร แสงงามซึ้ง หรือ ‘สหายสุระ’ ผู้ดูแลอนุสรณ์สถานในบ้านบ่อทอง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ พร้อมสหายอีกสองคน

‘ทุ่งกะมัง’ ทุ่งราบกว้างใหญ่ดูเหมือนแอ่งกะละมังกลางป่าเขา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ภูเขียว จ.ชัยภูมิ มีพระตำหนักบรรยากาศร่มรื่นยืนมองฝูงเก้ง กวาง กระจง ออกเล็มหญ้าและดินโป่ง น้อยคนที่จะรู้ว่า ณ ที่แห่งนี้เมื่อสี่สิบปีก่อนเคยเป็นสถานที่ที่นักศึกษาและประชาชนหลบหนีรัฐไทยมาสร้างฐานที่มั่นการปฏิวัติด้วยมือของตนเอง

รหัส 196 เขตงานภูเขียว เป็นเขตงานเดียวของพคท. ที่จัดตั้งโดยกลุ่มนักศึกษาที่มิได้เป็นผู้ปฏิบัติงานที่พคท. ส่งมาเช่นเขตงานอื่น เต็มไปด้วยนักศึกษาปัญญาชนที่หนีการปราบปราม ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ อันมีการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นหมุดหมายสำคัญ จนกลายเป็นหมายเลข “196” ที่มีนัยประหวัดไปถึงเหตุการณ์นั้น

การกวาดล้างฝ่ายซ้ายไม่ได้เกิดขึ้นเกิดขึ้นเพียงแค่ในกรุงเทพ ณ วันนั้นวันเดียว แต่ยังเกิดในพื้นที่อื่นๆ กับกลุ่มคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวนา นักการเมือง และประชาชนทั่วไป พื้นที่ภูเขียวก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายของคนที่เข้าร่วมขบวนการ ประเด็นปัญหาที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้าด้วยกัน และความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างนักศึกษาและพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ที่นำมาสู่จุดจบของการปฏิวัติในที่สุด

การเคลื่อนไหวปัญหาปากท้องก่อน 6 ตุลาคม 2519

หลังจากเหตุการณ์ชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญคืออย่าง 14 ตุลาคม 2516 ในช่วงเริ่มแรกในพื้นที่แถบเทือกเขาภูเขียวยังไม่มีการเคลื่อนไหวของ พคท. แต่เป็นขบวนนักศึกษาที่เข้ามามีบทบาทบุกเบิก เคลื่อนไหวประชาธิปไตยของกลุ่มนักศึกษาที่ลงมาช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาในเรื่องที่ดินทำกิน ความยากจนและความไม่เป็นธรรมต่างๆ

โดยในช่วงเวลานั้นกลุ่มนักศึกษาที่มีเข้ามามีบทบาทเคลื่อนไหวในแถบภูเขียวคือกลุ่ม สมาพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย (สนท.) ซึ่งมีเสกสรรค์ ประเสริฐกุลเป็นแกนนำ ที่แยกตัวออกมาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เพราะความไม่ลงรอยเกี่ยวกับแนวทางการเคลื่อนไหว ในราวปี 2517 ทาง สนท. ได้เข้าร่วมโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการที่ให้นักศึกษาจัดรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศในรูปแบบอาสาสมัคร จนเป็นจุดเริ่มต้นของนักศึกษา 6 คนแรกที่เริ่มเข้าไปต่อสู้เคลื่อนไหวในบริเวณหมู่บ้านชายขอบแถบภูเขียว โดยมี บุคคลอย่างเช่น ประพันธ์ คูณมี, นายแพทย์พลเดช ปิ่นมณี, และภราดร พงษ์สุวรรณ ซึ่งกลุ่มนักศึกษากลุ่มดังกล่าวเองก็มีแนวคิดที่ปลุกระดมจัดตั้งมวลชนเพื่อจับอาวุธต่อสู้รัฐเผด็จการแล้ว โดยต้องการจัดตั้งมวลชนที่เป็นชาวบ้านห่างไกลที่มีปัญหาขัดแย้งกับรัฐ

ซึ่ง ณ เวลานั้นโครงการจะกั้นแม่น้ำชีในพื้นที่หรือที่เรียกว่าโครงการเขื่อนชีบนซึ่งเป็นโครงการที่มีมาตั้งแต่ช่วงต้นรัฐบาลถนอม กิตติขจรเมื่อปีพ.ศ.2507 จนกระทั่งมีแผนจะดำเนินการก่อสร้างในช่วงปี 2514 ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ชาวบ้านมากกว่า 40 หมู่บ้านต้องย้ายถิ่นฐาน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของนักศึกษาลงมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

“นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาออกค่ายในละแวกหมู่บ้านกันเยอะ ตอนนั้นรัฐบาลมีโครงการจะตั้งเขื่อนชีบนแล้วน้ำจะท่วมหลายหมู่บ้าน รัฐบาลตอนนั้นไม่มีการชดเชยหรือหาที่ทำกินให้ ถ้าไม่มีนักศึกษาเราก็ไม่ทราบเรื่องอะไร” อินทร แสงงามซึ้ง หรือสหายสุระ ชาวบ้านหนองหอยปัง หนึ่งในหมู่บ้านที่จะได้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนชีบน เล่าถึงช่วงที่นักศึกษาจากหลากหลายสถาบันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาร่วมเคลื่อนไหวและออกค่าย บางกลุ่มเข้ามาฝังตัวอยู่อย่างยาวนาน

“ตอนนั้นปัญญาชนจะมาพูดเรื่องสังคมการเมืองเศรษฐกิจโดยเชื่อมโยงจากปัญหาปากท้อง ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจ แต่พ่อเข้าใจเพราะตอนนั้นยังเป็นหนุ่มอยู่สมองเร็ว เราก็เริ่มมีความรู้มากขึ้น แล้วนักศึกษาเขาเอาหนังสือมาให้อ่าน” การเข้ามาของนักศึกษาทำให้อินทรเข้าใจระบอบการเมืองสังคมมากขึ้นจนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดกับนักศึกษาในเมืองได้ ไม่ใช่เพียงปัญหาที่เกี่ยวกับเขื่อนชีบนเท่านั้น นักศึกษายังเคลื่อนไหวในประเด็นอื่นในแถบภูเขียวด้วย

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในพื้นที่ไม่ได้เป็นไปได้อย่างสะดวกเสมอไป เนื่องจากมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ที่มองว่านักศึกษาทั้งหมดเป็นคอมมิวนิสต์และพยายามไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับนักศึกษา อินทรเสริมอีกว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาต้องทำอย่างระแวดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐประจำพื้นที่ อย่างเช่นอาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) ที่อยู่ในกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น

“อำเภอมันก็ใส่ไฟ บอกว่าอย่าไปคบกับนักศึกษา คนคบนักศึกษาเขาก็บอกว่าสมคบคิดกันเป็นคอมมิวนิสต์” อินทรเล่า
การใส่ร้ายของทางฝ่ายรัฐทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องถอยห่างจากนักศึกษาไป แต่สำหรับอินทรแล้ว เขามองว่านักศึกษาเข้ามาให้ความรู้เรื่องการต่อสู้ หากไม่มีนักศึกษาในตอนนั้นตนและชาวบ้านคงไม่ทราบเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อินทรอธิบายว่า “ตอนนั้นคิดว่าต้องไม่ให้เจ้าหน้าที่มาทำร้ายนักศึกษา ครั้งหนึ่งพวกนักศึกษาเขาที่อำเภอก็โดน อ.ส. ตี เราก็โกรธทำไมทำกันอย่างนี้ เขาเป็นปัญญาชนเป็นคนมีความรู้ เรื่องเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์อะไรตอนนั้นไม่เข้าใจหรอก” ช่วงเวลานั้นในภูเขียวยังไม่มีผู้ปฏิบัติงานจาก พคท. มาเคลื่อนไหวจัดตั้ง

img_3386

ชำนาญ งามสัก วัย 61 ปี เคยเป็นนักศึกษาขอนแก่นที่เข้าร่วมการปฏิวัติในบริเวณภูเขียว โดยเขาตัดสินใจเข้าร่วมเขต 196 จากการกลับไปเยี่ยมญาติที่บ้านเกิดแล้วเห็นปัญหาการสร้างเขื่อนและการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการนั้น

ชำนาญ งามสัก วัย 61 ปี หรือ สหายจ๋อย ปัจจุบันชำนาญเป็นข้าราชการเกษียณอายุราชการ อาศัยอยู่ที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ก็เคยเป็นนักศึกษาอีสานอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมการปฏิวัติในบริเวณภูเขียว “ทุกที่ที่มีปัญหา นักศึกษามันคลุมหมดแล้ว เคลื่อนไหวหนัก ตอนหลัง 14 ตุลา นักศึกษายิ่งใหญ่ มีปัญหาเขาต้องติดต่อนักศึกษาให้มาช่วย นักศึกษามีบทบาทช่วยเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเรื่องต่างๆ ที่มีความเดือดร้อน”

ในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นช่วงที่กิจกรรมนักศึกษาเฟื่องฟูอย่างมากทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ ชำนาญเอง ณ เวลานั้นก็เป็นนักศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคไทย-เยอรมัน (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น) จนมาวันหนึ่งได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมญาติที่อำเภอหนองบัวแดง ทำให้ได้พบกับกลุ่มนักศึกษาที่ได้เคลื่อนไหวต้านเขื่อนชีบนอยู่ก่อนแล้ว ได้สัมผัสบรรยากาศที่คึกคักเต็มไปด้วยนักศึกษาที่เข้ามาอยู่ในชุมชนต่างๆ มีการเคลื่อนไหวจัดองค์กรชาวบ้านเพื่อต่อสู้ โดยมีนักศึกษาทั้งจากในกรุงเทพและนักศึกษาท้องถิ่นทำงานร่วมกัน

“ตอนนั้นไม่เคลื่อนไม่ได้แล้ว เขาเอาเครื่องมือมาเตรียมปั่นเขื่อนแล้ว นักศึกษาก็มานำพาชาวบ้าน ตอนนั้นเราก็เป็นคนหนุ่มคนสาวไฟแรงในหมู่บ้าน” เป็นคำพูดของบาน งามสัก ภรรยาของคุณชำนาญ ชาวบ้านห้วยนกทา หนึ่งใน 40 หมู่บ้านที่จะต้องย้ายถิ่นฐานหากเขื่อนถูกสร้างสำเร็จ โดยเธอเองก็เคยเป็นหนึ่งแกนนำคนหนุ่มสาวในพื้นที่ที่ร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อน ก่อนจะเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติกับ พคท. ในนามสหายศรัทธา ภายหลังการกวาดล้างจับกุมที่ขยายมาในพื้นที่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา

กำเนิดเขต 196: สู่การเข้าร่วมขบวนปฏิวัติ

ชำนาญหรือสหายจ๋อยเล่าถึงเหตุการณ์การสังหารหมู่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่าเป็นชนวนให้เกิดเขตงาน 196 ว่า “พอเขาฆ่านักศึกษาในธรรมศาสตร์ใช่ไหม เป็นจุดแตกหักระหว่าง นักศึกษากับรัฐบาล ต้องจับปืนเข้าป่าอย่างเดียว แล้วรัฐบาลจะส่งคนของตัวเองลงไปทุกแห่งที่มีการเคลื่อนไหว เพื่อไปปราบปรามเพื่อไปจับเด็ก รัฐบาลก็สร้างความชอบธรรมโดยออกข่าวฝ่ายเดียวว่า นักศึกษาเป็นพวกทำลายชาติ เป็นพวกญวน”

หลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่รัฐก็กระจายเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ชำนาญและนักศึกษาคนอื่นที่ยังอยู่ภูเขียวต้องนำหนังสือต่างๆ ออกไปฝังซ่อนไว้ให้ไกลก่อนที่เจ้าหน้าจะเข้ามาตรวจค้น “เราสู้ด้วยสันติวิธีไม่ได้แล้ว” บานและผู้นำชาวบ้านคนอื่นๆ ในตอนก็มีสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากนักศึกษา คือต้องหลบซ่อนตัวเองอยู่ระยะหนึ่ง

หลังจากนั้นสักระยะก็มีกลุ่มนักศึกษากลุ่มที่เข้าไปเคลื่อนไหวปลุกระดุมอยู่บนภูเขียวในปัญหาที่ป่าไม้ไล่รื้อชาวบ้านลงจากทุ่งกะมังอยู่ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แล้วประมาณ 10 คน มีการทำงานกับมวลชนอยู่บนภูเขียวโดยใช้ทุ่งกะมังเป็นฐานใหญ่ เริ่มส่งคนลงมาติดต่อกับคนข้างล่างเพื่อหาคนขึ้นไปข้างบน บานกับชำนาญเองก็เป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ขึ้นไปอยู่บนทุ่งกะมังผ่านการติดต่อจากแกนนำนักศึกษา “เขาก็เป็นผู้นำนักศึกษานั้นหละมารับ เขารู้ว่าเราอยู่ไม่ได้ เขาก็ส่งมา เข้ามาตอนกลางคืนนะ เขาก็แอบเข้ามาหาเราในบ้าน เพราะตอนนั้นไม่มีโทรศัพท์ไม่มีอะไร ติดต่อกันก็ต้องเล่นแบบนี้ เล่นตอนกลางคืน” บานเล่าถึงการติดต่อระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านการต่อที่เริ่มจะยกระดับต่อสู้ “เราก็พอรู้ว่าแนวทางการต่อสู้ของพรรคมันสันติวิธีไม่ได้ เราก็อ่านทฤษฎีมาอยู่ พอเกิดเหตุการณ์นี้ ก็รู้เลยว่าเราไม่มีทางเลือกแล้วเว้ย ต้องเข้าป่าจับปืน สร้างกองกำลังสู้กับมันอะไรอย่างนี้แหละ” ชำนาญกล่าว ภายในระยะเวลาอันสั้นก็มีนักศึกษาจากในเมืองกรุงและที่อื่นเริ่มทยอยหนีการปราบปรามเข้ามาสมทบที่ภูเขียว ทางขึ้นภูเขียวเส้นทางต่างๆ เต็มไปด้วยนักศึกษา หลายกลุ่มต้องปิดบังตัวเองเข้ามาในคราบนักศึกษาที่จะมาออกค่ายทำกิจกรรมปกติ ทำให้ 196 เป็นเขตที่แตกต่างจากเขตอื่นเพราะผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา พอมาถึงจุดนัดพบจึงจะมีคนที่เชี่ยวชาญเส้นทางลงไปรับ พื้นที่ทุ่งกะมังถูกก่อตั้งเป็นเขต 196 ตั้งแต่คุณชำนาญขึ้นมาอยู่บนภูเขียวใหม่ๆ แล้ว เขต 196 ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่อย่างเป็นทางการผ่านการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐในวันที่ 30 ธันวาคม 2519 “พวกเราก็ออกใบปลิวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นอะไร โปรยตามทาง บอกว่ามันเป็นการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยร่วมกับประชาชนว่าเป็นเขต 196”

ในช่วงแรกเริ่ม เขต 196 หลังการปราบปรามนักศึกษา ยังไม่มีการนำของพคท. เขตงานถูกก่อตั้งขึ้นด้วยแรงงานของนักศึกษาและชาวบ้าน โดยมีรูปแบบการจัดแบ่งสถานที่แบบเดียวกับเขตงานอื่นๆ มีหน่วยย่อยเช่นหน่วยทางเศรษฐกิจ หน่วยพลาธิการหรือ หน่วยจรยุทธ เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ โดยฟังแนวปฏิบัติจากกรรมการของเขต แต่หลังตั้งเขตงานได้สำเร็จก็เริ่มมีการติดต่อประสานงานกับ พคท. จึงมีสหายนำอาวุโสจากเขตงานอื่นถูกส่งเข้ามาทำงานเป็นฝ่ายนำที่ประสานกับ พคท. ทำให้เขต 196 กลายเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการ

“เขามีความคิดที่เขาจะไม่เดินตามพรรคร้อยเปอร์เซ็นต์ เขตนี้เป็นเขตที่มีผู้นำในส่วนต่างๆ เป็นนักศึกษา ต่างจากเขตอื่นที่ส่วนมากที่เป็นสมาชิกพรรค” อินทรกล่าวจากมุมมองที่เคยได้ใกล้ชิดกับสหายนักศึกษาระดับสูงในเขต “แต่สุดท้ายก็ต้องฟังพวกผู้เฒ่า (สหายนำอาวุโสจากเขตงานของ พคท.) ที่เขามีประสบการณ์มานาน ช่วงใหม่ๆ ว่าต้องรบยังไงเพราะนักศึกษาใจร้อนอยากรบ มึงฆ่าพี่น้องกูเท่าไหร่ที่ธรรมศาสตร์ จะเอาคืนกันตอนนั้นเลย” หลังจากการเข้ามาของคนจาก พคท. เขต 196 กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขึ้นตรงกับศูนย์กลาง การปฏิบัติงานต่างๆ ในเขตพื้นก็เดินตามนโยบายของพรรค

สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์?: จากความขัดแย้งในขบวนการปฏิวัติสู่ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

จุดเริ่มต้นของจุดจบของเขต 196 เกิดเมื่อเริ่มมีคนถอนตัวลงจากป่าคืนเมืองตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมี “คำสั่งที่ 66/23” ซึ่งเปิดช่องทางให้คอมมิวนิสต์มอบตัวกับทางการเพื่อกลายเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”

“มันไม่ใช่เป็นเพราะ 66/23 หรอก รัฐใช้ความขัดแย้งในพรรคของเราให้เป็นประโยชน์เท่านั้นเอง มันรู้แล้วว่าคนที่เข้ามามันเริ่มขัดแย้งกับพรรคแล้ว มันมีหลายคนเริ่มถอยออกมา” ชำนาญเล่าถึงบรรยากาศของความเหนื่อยล้าที่มองไม่เห็นแสงสว่างของการปฏิวัติประชาชน จนนำมาสู่การตั้งคำถามต่อแนวทางการต่อสู้ของ พคท. ที่ใช้ยุทธการป่าล้อมเมืองตามแนวทางการต่อสู้ของจีน

“พวกผู้เฒ่าจะเป็นอนุรักษ์นิยมไม่กล้าคิดไม่กล้าทำอะไร ก็คือแนวคิดต้องเชื่อพรรคอย่างเดียว นี่คือพวกผู้เฒ่า นักศึกษาก็เป็นคนรุ่นใหม่ กล้าคิดกล้าทำแบบใหม่ๆ ว่าทำอย่างนี้มันไม่ดีมันไม่ถูก ความคิดก็เลยแตกแยก” บานกล่าว

“ก็เกิดการเถียงกันขึ้นในหมู่คณะกรรมการของ 196 ทำงานไปเรื่อยก็ตายไปเรื่อยๆ ทะเลาะไม่ถูกกันกันมี นักศึกษาหลายคนก็ไม่ไหวต้องกลับลงมาก่อนหลายคน” อินทรกล่าว

หลังรัฐบาลนำโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้ประกาศคำสั่ง 66/23 เปลี่ยนสถานะจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ภายในปี 2525 เขต 196 ก็ไม่เหลือผู้ปฏิบัติงานอยู่แล้ว เช่นกันกับส่วนอื่นของ พคท. ส่วนมหาวิทยาลัยก็เริ่มกลับมาคึกคัก หลังจากหนุ่มสาวเปลี่ยนสถานภาพจากสหายกลับมาเป็นนักศึกษาอีกครั้ง “ถ้าพวกเขาไม่ประกาศก็ลงอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะลงวันไหน จะลงมากน้อยแค่ไหน มันต้องลงอยู่แล้วเพราะรู้แล้วว่า ไม่ไหว เหนื่อยแล้ว มันไปไม่ได้ มันไม่สำเร็จอยู่แล้ว แนวทางก็ขัดแย้งกันมาก นักศึกษานี่ขัดแย้งแทบ 100% เลย” บานกล่าว

แม้การปฏิวัติประชาชนในวันนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ประสบการณ์การใช้ชีวิตในป่าก็ได้เปลี่ยนความคิดและมุมมองของอดีตสหายเล่านั้น ไม่เพียงแต่อดีตสหายนักศึกษาเท่านั้น อดีตสหายชาวบ้านเองก็ยังมีการเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่สืบเนื่องต่อมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะประเด็นเรื่องเขื่อน ป่าไม้ ที่ดิน ในแถบเทือกเขาภูเขียวแห่งนี้

เพื่อรำลึกถึงมิตรสหายที่จากไปในการต่อสู้ อินทร แสงงามซึ้ง ได้เป็นตัวตั้งตัวตีระดมทุนของอดีตสหายต่างๆ ที่เคยร่วมต่อสู้บนภูเขียวสร้างอนุสรณ์สถานวีรชนเขตงาน 196 ขึ้น ในบริเวณที่ดินสาธารณะของวัดบ้านบ่อทอง อำเภอหนองบัวแดง นี่อาจเป็นสิ่งเดียวที่เหลือให้เห็นของเขตงาน 196 โดยปัจจุบันอินทรก็ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านบ่อทองแห่งนี้และเป็นผู้ดูแลอนุสรณ์สถานไม่ให้กลายเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์

“พวกเขาก้าวเดินตามดวงตะวันจากภูเขียวทิศตะวันออก วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า และวันนี้ดวงตะวันได้ลับขอบฟ้าไปแล้วทางทิศตะวันตก…เหลือไว้แต่รอยอาลัย” คือถ้อยคำที่ถูกสลักบนศิลาแท่นนี้

image_pdfimage_print