1

‘จ้างชาวนาเลิกปลูกข้าว’ ไม่ได้ตามเป้า ชาวนา-เกษตรจังหวัดชี้โครงการมาช้าแถมยุ่งยาก!

เขียนโดย ดลวรรฒ สุนสุข

%e0%b8%8a%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b8%b2

‘โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือก’ มีผู้เข้าร่วมโครงการเพียง 3.9 แสนไร่ จากเป้าหมาย 5.7 แสนไร่ ชาวนา-ผู้นำชุมชน งง! โครงการมาตอนทำนาปักดำเสร็จแล้ว ด้านกรมการข้าวเตรียมปรับปรุงโครงการ ขยายเวลา-ขอบเขตพื้นที่ให้คลุมภาคกลาง-ใต้ด้วย อีกต้องเตรียมหามาตรการรองรับราคาข้าวตกต่ำในฤดูกาลเก็บเกี่ยว

ปัญหาราคา ‘ข้าว’ เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่เข้ามาบริหารทุกยุคทุกสมัย รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เช่นกัน หลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อจัดการปัญหาข้าวทั้งระบบ ต่อมา นบข. จึงเสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหาข้าวล้นตลาดเกินกว่าความต้องการบริโภคในประเทศและส่งออก โดยให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวลง จนนำมาสู่ข้อเสนอจ้างชาวนาเลิกปลูกข้าวใน ‘โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือก’ ในฤดูกาลผลิต 2559/60 เป้าหมายโครงการ 5.7 แสนไร่ คาดว่ามีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 8.4 หมื่นครอบครัว และจะสามารถลดจำนวนผลผลิตข้าวได้ 9 ล้านตันข้าวเปลือก

โครงการจะให้ปรับเปลี่ยนที่นาไปเป็นที่ทำเกษตรผสมผสานและเลี้ยงปศุสัตว์ งบประมาณโครงการ 2,610 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายปรับปรุงพื้นที่ สร้างระบบน้ำ และปัจจัยการผลิต ไร่ละ 5,000 บาท เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในระหว่างการปรับเปลี่ยนพื้นที่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและมีอาหารบริโภคในครัวเรือน โดยเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงปลา (ค่าพันธุ์ปลาและค่าอาหาร) ครัวเรือนละ 2,300 บาท และค่าใช้จ่ายการเลี้ยงสัตว์เล็ก (ค่าพันธุ์ไก่และค่าอาหาร) ครัวเรือนละ 2,844 บาท โดยมีการจ่ายเงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หลังจากเริ่มดำเนินโครงการเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ปรากฏว่ามีการเข้าร่วมโครงการเป็นพื้นที่ 3.9 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 68 ของเป้าหมายตั้งไว้ และคาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวเปียกจะยังคงไม่ลดลงจากปีที่แล้ว สาเหตุหลักคือระยะเวลาของโครงการมาในช่วงที่ชาวนาปักดำนาปีเสร็จแล้ว อีกทั้งตัวโครงการนี้ก็ทับซ้อนโครงการอุดหนุนชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติช่วยเหลือเกษตรกรก่อนหน้านี้ และมีข้อแม้บังคับให้เกษตรกรเลือกโครงการใดโครงการหนึ่ง

โครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดที่บริเวณที่ราบสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกจังหวัด (20 จังหวัด) นอกจากนั้นมีพื้นที่ภาคเหนือ 7 จังหวัด ภาคตะวันตก 2 จังหวัด และภาคตะวันออก 1 จังหวัด ส่วนภาคใต้และภาคกลางยังไม่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวในโครงการนี้

นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ โค กระบือ แพะ และทำนาหญ้า โดยมีพื้นที่กำหนด 13 จังหวัด ตั้งเป้าหมายให้ลดพื้นที่ทำนาจำนวน 1.5 แสนไร่ให้ได้ภายในปีนี้

นายโย พลขาง ชาวนาวัย 73 ปี บ้านหัวนา อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ชาวนาที่ไม่เข้าร่วมโครงการบอกถึงเหตุผลว่า ตนได้ปักดำทำนามาหลายเดือนแล้ว ข้าวกำลังเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งมีโครงการช่วยเหลือชาวนาอยู่แล้วไร่ละ 1,000 บาท จำนวน 10 ไร่ ที่จะได้รับเงินแน่นอน

“อยู่ๆ โครงการก็เข้ามา มีรายชื่อว่าให้เลิกปลูกข้าว อ่านดูรายละเอียดแล้วยุ่งยากและต้องทำนู่นทำนี่ อบรมสองสามครั้ง วุ่นวาย” นายโยให้เหตุผลที่ไม่เข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ โครงการมีหลักเกณฑ์ว่าต้องเป็นชาวนาที่ปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในแผนที่ Agri-Map (แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก) มีเอกสารสิทธิ์พื้นที่เป็นของตนเอง มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการได้ครัวเรือนละ 5 ไร่ และมีข้อแม้ว่าต้องมีที่ดินครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ โดยกำหนดจุด GPS โดยกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนายพิเชียร ระวิระ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู มองว่าเป็นเงื่อนไขข้อกำหนดที่มากเกินไป ซึ่งชาวนาจำนวนมากไม่ผ่านเกณฑ์เลย

%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b9%81%e0%b8%94%e0%b8%87%e0%b8%84%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%9e%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88

ภาพจาก Agri-Map แสดงผลพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าว (สีแดง) และพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าว (สีเหลือง) จัดทำโดยกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคอีสานเป็นพื้นที่สีแดง มีเพียงบริเวณใกล้แม่น้ำบางส่วนเท่านั้นที่เป็นสีเหลือง ท่านสามารถเข้าชม Agri-Map ได้ที่ http://agri-map-online.moac.go.th/

นายศักดา คำหรัด ผู้ใหญ่บ้านหัวนาเล่าว่า ทางเกษตรอำเภอส่งรายชื่อชาวนาที่จะจ้างให้เลิกปลูกข้าวมาจำนวน 22 รายชื่อ โดยตนได้เรียกประชุมและอธิบายโครงการตามที่ได้รับฟังมา แต่ปรากฏว่าไม่มีใครตอบรับโครงการนี้เลย เนื่องจากโครงการขาดความแน่ชัด ระยะเวลาไม่ชัดเจน มีการจัดเวทีอบรมถึงสามครั้งเรื่ององค์ความรู้ด้านการผลิตและการตลาดพืชทางเลือกชาวบ้านบอกว่าต้องทำมาหากิน อีกทั้งโครงการอุดหนุนการทำนาไร่ละหนึ่งพันบาทก็ไม่ยุ่งยากเหมือนโครงการนี้

“เหตุผลหลักเพราะชาวนาทำนาปีจนข้าวจะตั้งท้อง จะออกรวงแล้ว โครงการนี้ค่อยออกมา” นายศักดากล่าว

%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a3-%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%a3%e0%b8%b01

นายพิเชียร ระวิระ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู แสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อบกพร่องของนโยบายปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสม

อีกหนึ่งข้อสังเกตที่ผู้ใหญ่บ้านหัวนาถึงกับงง คือหนังสือโครงการกำหนดพิกัดจีพีเอส (Global Positioning System – GPS) พื้นที่โซนนิ่งปลูกข้าวไม่เหมาะสม (ตามภาพคือพื้นที่สีแดง) มาในหลักเกณฑ์คำสั่ง แต่ความเป็นจริงของพื้นที่ทำกินของทั้ง 22 ครัวเรือนนั้นเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำทำนาปี เหมาะสมกับการทำนาข้าวทั้งหมด ชนิดที่ว่าจะแล้งขนาดไหน พื้นที่เหล่านี้ยังมีน้ำทำนาได้เก็บเกี่ยวข้าวทุกปี

และเมื่อนายศักดาได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ที่เกี่ยวข้องในที่ประชุมของอำเภอว่าข้อกำหนดพื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าว มีหลักเกณฑ์วัดจากอะไร ก็ไม่มีใครตอบได้ ชาวบ้านเองก็ไม่เคยรู้ ไม่เคยมีส่วนร่วมในการทำแผนที่ Agri-Map ที่มีรหัสพื้นที่อะไรเช่นนี้มาก่อนเลย

“ถึงแม้พื้นที่ที่ได้ถูกกำหนดมาให้ปรับเปลี่ยนไม่มีใครปรับเปลี่ยน แต่ก็มีลูกบ้านที่มีพื้นที่นาดอน นาโคก (พื้นที่ดอนสูง) อยากเข้าร่วมโครงการเพราะว่าพื้นที่ปลูกข้าวแล้วผลผลิตไม่ดี แต่เข้าร่วมโครงการไม่ได้ เพราะไม่ได้มีในรายชื่อที่กำหนดมาแต่แรก ได้ถามผู้ที่เกี่ยวข้องก็บอกว่าเปลี่ยนไม่ได้” ผู้ใหญ่บ้านหัวนาเล่าถึงปัญหาของโครงการนี้ทิ้งท้าย

นายพิเชียร ระวิระ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภูแสดงความเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า เป็นโครงการที่ “ล้มเหลว” อย่างมาก นอกจากข้อบกพร่องทางนโยบายที่มีเงื่อนไขจุกจิกยิบย่อยแล้ว ยังมีข้อบกพร่องในเชิงปฏิบัติ เช่นโครงการมีการร่วมกันทำงานหลายฝ่ายมากเกินไป ทำให้การประสานงานยากมาก เช่น กรมปศุสัตว์ กับ กรมเกษตร ควรแยกโครงการกันไปเลยเพื่อจะได้ทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สรุปแล้วตัวโครงการยุ่งยากมากเกินไป มีคนผ่านเกณฑ์จำนวนน้อยมาก

“ข้อกำหนดและเหตุผลข้างต้น ทำให้เกษตรกรผ่านเกณฑ์น้อยมาก จังหวัดหนองบัวลำภูส่งรายชื่อเกษตรกรเข้าไป 2,600 ครอบครัว 11,000 ไร่ เหลือที่ผ่านเกณฑ์แค่ 300 ครอบครัว 1,500 ไร่ ผมแทบไม่กล้าลงพื้นที่ไปเจอหน้าเกษตรกรเลย ถ้าอยากให้แนะนำโครงการต้องมาตั้งแต่ต้นปี ก่อนฤดูกาลทำนาปี และข้อบังคับควรน้อยกว่านี้” นายพิเชียรกล่าว

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ให้ข้อมูลกับเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า ขณะนี้มีพื้นที่นาที่เข้าร่วมโครงการ 3.9 แสนไร่ จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ 5.7 แสนไร่ ทำให้ยังไม่สามารถลดพื้นที่ทำนาตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ก็เตรียมยื่นเสนอคณะรัฐมนตรี ขยายเวลาและขอบเขตของพื้นที่โครงการเดิม จากเดิมที่กำหมด 40 จังหวัด ไปเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมทั้งประเทศ

ทั้งนี้ นายอนันต์กล่าวว่าทางคณะกรรมการข้าวก็ได้หารือกันถึงปัญหาราคาข้าวตกต่ำในฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยอาจต้องหาตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นหรือหามาตรการรองรับ ส่วนโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมก็ยังคงจะดำเนินการต่อไป เพราะถ้าปรับเปลี่ยนได้ก็จะเป็นผลดีต่อเกษตรกร

“ยอมรับว่าปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตชาวนายากมาก แต่ก็พยายามทำตามแผนให้ได้มากที่สุด อีกอย่างโครงการนี้ใช้วิธีการสมัครใจไม่ใช่บังคับแต่อย่างใด” นายอนันต์ทิ้งท้าย

ฤดูกาลผลิตข้าวนาปีที่กำลังจะมาถึงนี้ ปัญหาราคาข้าวจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไข คงต้องจับตาดูว่าจะมีมาตรการรองรับในเรื่องนี้อย่างไรในด่านต่อไปและจะเป็นมาตรวัดระดับความจริงใจต่ออาชีพ ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ ของรัฐบาลพิเศษ ที่เข้ามาหลังยุครัฐบาลพลเรือนที่มีโครงการอย่าง ‘ประกันรายได้เกษตรกร’ และโครงการ ‘จำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด’


ดลวรรฒ สุนสุข เป็นผู้เข้าร่วมอบรมนักข่าวภาคอีสานรุ่นที่ 1 (The Isaan Journalism Network Project) เป้าหมาย คือ เพื่อสร้างเครือข่ายคนทำงานด้านสื่อมวลชนในภาคอีสานให้กับเดอะอีสานเรคคอร์ด  โดยเริ่มดำเนินการอบรมตั้งแต่เดือน มิถุนายน ถึงเดือนธันวาคม 2559