
ขอนแก่น – นางณัฏฐ์กฤตา พิจารโชติ แม่ค้าขายไส้กรอกสวมเสื้อยืดสีดำสกรีนข้อความ ‘ Reboot Democracy’ เดินขึ้นบันไดศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น เธอยิงฟันยิ้มพร้อมชูสองนิ้วอันเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะให้ช่างภาพถ่ายรูป แม้สามีของเธออาจถูกตัดสินโทษประหารชีวิต

นางณัฏฐ์กฤตา พิจารโชติ อายุ 50 ปี อาชีพขายไส้กรอกอีสาน สามีของเธอกำลังถูกศาลทหารจังหวัดขอนแก่นพิจารณาคดีข้อหาร่วมวางแผนก่อการร้าย
นางณัฏฐ์กฤตาคือหนึ่งในบรรดาญาติๆ ของผู้ต้องหา 26 คน ที่กำลังถูกพิจารณาคดีข้อหาก่อการร้ายและก่อการกบฏ ซึ่งเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนโดยเริ่มกระบวนการพิจารณาวันนี้
วันรุ่งขึ้นหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนำโดยทหารทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 กองกำลังความมั่นคงของรัฐได้บุกเข้าจับกุมนักเคลื่อนไหวเสื้อแดงในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอื่น ๆ มากกว่า 30 คน พร้อมยึดอาวุธ ระเบิดและกระสุน
หลังจากยึดอำนาจมาจากรัฐบาลแทบไม่ถึงวันเต็ม คสช. ก็ทำหน้าที่สามารถเปิดโปงแผนการลับก่อการร้ายที่เรียกกันว่า “ขอนแก่นโมเดล” และทำให้สามารถใช้เป็นเหตุผลในการล้มล้างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มาจากการเลือกตั้ง
ทว่าเมื่อปี 2557 ญาติของผู้ต้องหาให้สัมภาษณ์กับเดอะอีสานเรคคอร์ดว่า ขอนแก่นโมเดลไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการลุกฮือขึ้นต่อสู้ด้วยอาวุธที่มีการวางแผนไว้ตามที่ทหารกล่าวอ้าง แต่เป็นชื่อเรียกการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเพื่ออธิบายการรณรงค์เพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันทางสังคมในระดับที่กว้างขึ้น
ผู้ต้องหาถูกคุมขังในเรือนจำทหารเป็นเวลาสามเดือนก่อนถูกส่งตัวไปเรือนจำกลางขอนแก่น และถูกฟ้องอย่างเป็นทางการทั้งหมด 9 ข้อหา ข้อหาหนักได้แก่ การก่อการร้าย การกบฏและครอบครองอาวุธ โดยผู้ต้องหาหลายคนได้รับการประกันตัวออกมาช่วงปลายปี 2557 แต่มี 3 คนยังถูกคุมขังข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เมื่อเดือนธันวาคมปี 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาจำเลยคนหนึ่งว่าวางแผนก่อการร้ายในงานกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ (Bike For Dad) ในกรุงเทพฯ ทั้งที่จำเลยบุคคลนี้ถูกคุมขังอยู่ในคุกมาตั้งแต่ปี 2557 หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีประยุทธ จันทร์โอชา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงมีผู้บงการอยู่เบื้องหลัง
เนื่องจากรัฐบาลทหารได้ขยายขอบเขตอำนาจของศาลทหารเพื่อครอบคลุมความผิดอาญาต่อความมั่นคงของชาติ ฝ่าฝืนประกาศของรัฐบาล ครอบครองและใช้อาวุธ รวมทั้งหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลทหารได้รับอำนาจพิจารณาคดีขอนแก่นโมเดล
คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนสากล ระบุว่าตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา มีพลเรือนกว่า 1,800 คน ถูกพิจารณาคดีที่ศาลทหาร โดยมีแนวโน้มว่าอัตราการพิพากษาลงโทษของศาลทหารจะเพิ่มสูงขึ้นและทำให้การอุทธรณ์ยากมากขึ้น
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลทหารประกาศว่าจะผ่อนคลายการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารที่ถูกสังคใวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่คดีพลเรือนกว่า 500 คดีที่ยังอยู่ในขั้นตอน รวมทั้งคดีขอนแก่นโมเดล จะคงถูกไต่สวนต่อไป
“พลเรือนจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารยังไม่ได้รับการเพิกถอน” กล่าว นายคิงสลีย์ แอบบอท เจ้าหน้าที่ปรึกษากฎหมายอาวุโสประจำคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ไอซีเจ) ซึ่งร่วมสังเกตการพิจารณาคดีขอนแก่นโมเดลวันนี้ที่จังหวัดขอนแก่น

จำเลยคดีขอนแก่นโมเดลขณะเดินเข้าศาลทหาร ค่ายศรีพัชรินทร จังหวัดขอนแก่น เพื่อร่วมไต่สวนมูลฟ้องครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557
“คดีนี้และคดีพลเรือนคดีอื่นๆ ที่ถูกพิจารณาในศาลทหาร ควรต้องส่งต่อไปยังศาลพลเรือนทันที” นายแอบบอทกล่าว โดยเสริมว่าศาลพลเรือนสามารถจัดการกับคดีความซึ่งแบ่งออกเป็นหลายส่วนและมีความซับซ้อนดีกว่าศาลทหาร
สามีของนางณัฏฐ์กฤตาเป็นหนึ่งในจำเลย 7 คนข้ อหาวางแผนก่อการกบฏ ซึ่งเป็นข้อหาที่มีความเป็นไปได้ที่จะถูกตัดสินโทษประหารชีวิต
นับตั้งแต่สามีของเธอถูกจับ นางณัฏฐ์กฤตาต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้มีรายได้เพียงพอเลี้ยงครอบครัว รายได้จากร้านขายไส้กรอกก็ลดลงอย่างมากเพราะลูกค้าที่เคยมาซื้อต่างกังวลว่าหากมาซื้อไส้กรอกจากเธอ พวกเขาจะถูกตีตราว่าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาล
“เค้าไม่กล้า ใครเค้าจะเสี่ยงล่ะ ขอนแก่นโมเดลดังจะตาย” นางณัฏฐ์กฤตากล่าว
นางณัฏฐ์กฤตาบอกว่า มีทหารประมาณ 3-4 คน คอยมาสอดส่องและเฝ้าดูร้านขายไส้กรอกแทบทุกวันตั้งแต่ปี 2557 ทำให้ขายไส้กรอกยิ่งยากขึ้น
หลังสามีของนางณัฏฐ์กฤตาถูกคุมขัง อาชีพชกมวยของลูกสาววัยรุ่นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ลูกสาวคนนี้เคยสร้างรายได้มาจุนเจือกับครอบครัวมากถึง 5,000 บาทต่อเดือน แต่ชื่อเสียงของครอบครัวถูกทำให้เสื่อมเสียทันทีหลังรัฐประหาร ไม่ว่าจะเดินทางไปแข่งชกมวยที่ไหนก็ตามกลับได้รับค่าชกแค่ 300 บาทต่อครั้ง เนื่องจากพ่อถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทำให้เธอและแม่ต้องยอมรับขึ้นชกราคาถูกโดยไม่มีใครช่วยพาเดินทางไปแข่งขัน
วันนี้ เจ้าหน้าที่ทหาร 2 คน ได้ให้การเป็นพยานของฝ่ายรัฐ โดยเป็นพยานแรกจากเกือบทั้งหมด 100 คนที่จะต้องให้การเป็นพยานในคดีนี้ แต่ศาลเลื่อนการพิจารณาออกไปในช่วงบ่าย ทำให้การไต่สวนจึงเสร็จสิ้นแค่พยานคนแรกคนเดียว โดยการไต่สวนครั้งต่อไปจะมีขึ้นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559
“ทั้งหมดโดยรวม คดีนี้ต้องใช้เวลาอีกหลายปีมาก” นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความฝ่ายจำเลยกล่าว พร้อมเสริมว่าวันนี้ทีมทนายพบจุดอ่อนหลายจุดของคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์
นางณัฏฐ์กฤตารู้สึกหวั่นกลัวคำตัดสินของศาล เพราะเธอไม่เชื่อว่าสามีของเธอจะได้รับความยุติธรรมจากการพิจารณาคดีในศาลทหาร
“ก็ตายนั่นแหลว” เธอกล่าวอย่างขมขื่นถึงความกลัวต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสามี
บทความนี้แปลจากบทความภาษาอังกฤษโดยเดอะอีสานเรคคอร์ด