เขียนโดย แฮนนาห์ โคเอน และทาเลีย แล็ตช์

พอได้ยินเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเตือนให้เธอระวังตัวไว้ ชาวบ้านผู้เป็นแม่คนคนหนึ่งก็หลุดหัวเราะมาจากหลังรถกระบะที่จอดอย่างลวกๆ ไว้กลางถนนดิน

“เว้าจังซี่มันขู่กันแม่นบ่ เป็นการขู่เด๊หนิ ข้อยย้านสิตายแล้ว บ่ต้องมาขู่เลย” เธอตวาดกลับ

ตรงหน้าด่านตรวจอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ ที่รถกระบะเข้าไปจอด นางนิตยา ม่วงกลางปฏิเสธที่จะปีนลงจากหลังรถเพราะไม่อยากจะเข้าใกล้นายสมศักดิ์ (นามสมมติ) ซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หลายครั้งหลายหนแล้วที่นิตยาและสมศักดิ์ปะทะคารมกันเรื่องการทวงคืนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านซับหวายซึ่งอยู่ในเขตอุทยาน

สตรีชาวไร่มันสำปะหลังวัย 33 ปีคนนี้เป็นผู้นำชุมชนในการร้องทุกข์แก่หน่วยงานรัฐเพื่อไม่ให้ทางเจ้าหน้าที่ขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน โดยในขณะนี้ ชาวบ้านสิบห้าคนอาจต้องติดคุก เพราะถูกตั้งข้อกล่าวหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หลังจากขัดคำสั่งไม่ยอมถอนมันและออกไปจากที่ทำกินของตนเอง

ตัวนิตยาเอง รวมถึงน้องสาว น้องชาย และมารดา ก็ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่อุทยานเช่นเดียวกัน เธอเชื่อว่า การที่เธอไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งอย่างเปิดเผยเป็นต้นเหตุให้ครอบครัวของเธอเป็นผู้ได้รับผลกระทบรายแรกของชุมชน

ตามเดิมแล้ว ทางตำรวจจะส่งเรื่องของนิตยาไปให้อัยการตั้งแต่วันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา แต่จนถึงวันนี้ทางตำรวจกลับยังประวิงเวลา ปล่อยให้ครอบครัวกังวลถึงชะตากรรมของตนในอนาคต

บ้านซับหวายก่อตั้งขึ้น 40 ปีที่แล้ว ในช่วงต้นทศวรรษ 2520–30 ซึ่งเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมตัดไม้เริ่มเข้ามาในพื้นที่เพื่อกอบโกยกำไรจากโครงการสัมปทานของรัฐ ในปัจจุบัน ชุมชนซึ่งทุกวันนี้ประกอบไปด้วยชาวไร่มันสำปะหลังรวม 85 ครัวเรือนตั้งอยู่ในตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ในภาคอีสานของประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2535 สิบปีหลังจากชาวบ้านซับหวายเข้ามาตั้งรกราก อุทยานแห่งชาติไทรทองก็ถูกสถาปนาขึ้น โดยอาณาเขตของอุทยานที่กำหนดไว้ครอบคลุมที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้านกว่าสามพันคนจากแปดชุมชนด้วยกัน

ในปี พ.ศ. 2557 รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เสนอแผนแม่บทป่าไม้ขึ้น ซึ่งภายใต้แผนแม่บทนี้ ใครก็ตามที่มีที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินอยู่ในอาณาเขตอุทยานแห่งชาติจะต้องถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตนเอง

แผนแม่บทป่าไม้ของ คสช. จะส่งผลกระทบกับ 8,148 ชุมชนทั่วประเทศ โดย 2,300 ชุมชนจากตัวเลขทั้งหมดนี้อยู่ในภาคอีสาน ศูนย์ประสานงานองค์กรพัฒนาสังคมเอกชน (NGO-CORD) ในภาคอีสาน ประมาณการณ์ไว้ในเดือนกรกฎาคม 2558 

ในปี พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเริ่มพากันมารบกวนชาวบ้านซับหวายระหว่างกำลังทำไร่เพื่อให้ลงชื่อยินยอมในเอกสาร โดยบอกกับทางชาวบ้านว่าเป็นเอกสารสำหรับการยินยอมโอนบางส่วนของที่ดินให้อุทยาน แต่ในที่ดินส่วนที่เหลือก็ยังมีสิทธิ์ทำการเกษตรได้เหมือนเดิม ทว่าในภายหลัง นิตยาเล่าว่าเอกสารนี้กลับถูกใช้เป็นหลักฐานว่าชาวบ้านยินยอมจะย้ายออกจากที่ดินของตน พร้อมทั้งจะหยุดใช้ที่ดินทั้งหมดสำหรับเกษตรกรรมด้วยความสมัครใจ

สิริรวมแล้ว ชาวบ้านถึง 77 คน ทั้งจากบ้านซับหวายและจากชุมชนอื่นๆ ในอาณาบริเวณของอุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้ลงชื่อในเอกสารฉบับนี้ โดยชาวบ้านหลายคนอ้างว่าตนไม่ได้ลงชื่อด้วยความสมัครใจ

img_5160b

นางนิตยา ม่วงกลาง เข้ามาตรวจดูพื้นที่ไร่มันสำปะหลังที่อยู่ในข้อพิพาท โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทองอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตสงวนของอุทยาน

สัญญาลมปาก

เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมานี้ ชาวบ้านซับหวายรวม 11 คนได้รับคำสั่งแจ้งให้ย้ายออกจากที่ดิน รวมทั้งให้กู้มันสำปะหลังที่ปลูกไว้ออกให้หมดก่อนสิ้นเดือน เพราะที่ดินที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังอยู่นั้นถือเป็นเขตป่าสงวน

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้พบปะกับหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือถึงสามครั้งด้วยกัน หลังถูกตั้งข้อกล่าวหาบุกรุกพื้นที่อุทยาน

นิตยาจำได้ว่า นายนิพนธ์ สาธิตสมิตพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้สัญญาว่าจะแต่งตั้งกรรมการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ทั้งได้บอกเธอว่าไม่ต้องสนใจหนังสือจากทางอุทยานแห่งชาติ

แต่เมื่อถึงวันที่ 17 พฤษภาคม พอตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรีเดินทางมายังบ้านซับหวายเพื่อพูดคุยกับชาวบ้านพร้อมกับรองผู้ว่าฯ จังหวัดชัยภูมิ รองผู้ว่าฯ นิพนธ์กลับปฏิเสธว่าตนเคยบอกให้ชาวบ้านเพิกเฉยต่อคำสั่งที่ได้รับ

พอได้ยินคำปฏิเสธจากปากรองผู้ว่าฯ นิตยาและชาวบ้านคนอื่นๆ ก็ถึงกับตะลึงงัน เธอกล่าวภายหลังว่า “สิ่งที่รองผู้ว่าฯ เว้ามา คือสิ่งที่เฮ็ดให้ซุมเฮามีความมั่นใจว่าสิได้กลับไปเฮ็ดไฮ่เฮ็ดสวนคือเก่า”

“ถ้าไม่เซ็น จะกลับมาพร้อมหมายจับลูกชายทีหลัง”

หากชาวบ้านไม่ยอมลงชื่อในเอกสารให้ตามที่ขอ เจ้าหน้าที่ติดอาวุธก็ขู่ว่าจะเอาเข้าคุก พอขู่ไม่สำเร็จ ก็จะหันไปข่มขู่พ่อแม่ของเจ้าของที่ดินแทน ในกรณีของนิตยา เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเป็นสิบๆ คนแวะมาหามารดาชราของเธอตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อให้ลงชื่อในเอกสารข้อตกลงที่นำมาด้วย มารดาของนิตยาก็ไม่มีทางสู้เพราะอยู่บ้านคนเดียว จึงลงเอยด้วยการลงชื่อในเอกสารข้อตกลงเพื่อคืนที่ดินของทั้งลูกสาว ลูกชาว และตัวเธอเอง

แก้วฟ้า อาภรณ์แก้ว เป็นชาวบ้านซับหวายอีกคนหนึ่งที่ถูกบังคับให้ลงชื่อเอกสารเพื่อยกที่ดินให้ทางอุทยาน เธอเล่าว่า “มีเจ้าหน้าที่มาหา มากันสองสามปิ๊กอัพ เฮาย้านเลยต้องเซ็น เจ้าหน้าที่บอกซุมเฮาว่า ขั้นบ่เซ็น สิกลับมาพร้อมหมายจับลูกชาย กะเลยยอมเซ็น”

จากการสัมภาษณ์ ชาวบ้านหลายคนเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า เจ้าหน้าที่ได้แวะมาหาตนเพื่อบังคับให้ลงชื่อเอกสาร โดยทำไปเพื่อปกป้องบุตรของตนเช่นกัน ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับแค่นิตยาและแก้วฟ้าเท่านั้น

“คำสั่งจากเบื้องบน”

สมศักดิ์ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอายุ 36 ปี ซึ่งเป็นคนที่เตือนนิตยาหน้าด่านทางเข้าอุทยานก่อนหน้านี้ กล่าวว่าตนได้จับชาวบ้านที่มายิงกระรอกกับตัดต้นไม้ในบริเวณอุทยานไปหลายคนแล้ว

สมศักดิ์ทำงานเป็นสายตรวจป่าไม้ที่อุทยานแห่งชาติไทรทองมาได้แค่ปีเดียวเท่านั้น ตำแหน่งของเขาเป็นตำแหน่งชั่วคราวที่สามารถต่อสัญญาไปเรื่อยๆ ได้ แม้ในตอนแรกสมศักดิ์รับงานนี้เพราะว่ามีตำแหน่งว่าง แต่ก็ยอมรับว่าตนก็ชอบงานที่อุทยาน

เมื่อตอนที่เขาอายุเพียงแค่สิบขวบ ครอบครัวของเขาเองก็ถูกไล่ออกจากหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในบริเวณป่าไม้ของอุทยาน

“ฮู้สึกสองด้านครับ คนเคยโดนมาคือกัน ขั้นบ่มีที่ทำกินกะเสียใจนำคือกัน” สมศักดิ์กล่าว “แต่ว่าผมกะขัดคำสั่งจากเบื้องบนบ่ได้”

unnamed

เครื่องแบบเจ้าหน้าที่อุทยานของสมศักดิ์ ซึ่งเป็นเครื่องแบบที่เขาสวมใส่ยามออกตรวจป่าในพื้นที่อุทยาน สมศักดิ์มีถิ่นกำเนิดจากชุมชนหนึ่งในอุทยานแห่งชาติไทรทอง และครอบครัวของเขาเองก็ถูกขับไล่ออกจากที่ดินของตนเมื่อเขามีอายุได้แค่สิบขวบ

ทางอุทยานแห่งชาติไทรทองได้ออกแถลงการณ์ว่า มีความจำเป็นต้องขยายพื้นที่ป่าไม้แห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้ตามแผนแม่บทป่าไม้ของรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน โดยทางเจ้าหน้าที่แสดงความเป็นห่วงมาว่า การทำเกษตรของชาวบ้านทั้งในเขตพื้นที่ป่าและที่ดินทำกิน จะนำมาซึ่งการตัดไม้ทำลายป่าในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกลับเชื่อว่า จริงๆ แล้ว แรงจูงใจของรัฐบาลในการเสนอแผนอนุรักษ์ป่าไม้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่าการอนุรักษ์ ชาวบ้านอ้างว่า พอเวลาผ่านไป ต้นไม้ที่ปลูกไว้ก็จะเติบโตจนเหมาะสำหรับการตัดไม้เพื่อการค้า และในระหว่างนี้ ชาวบ้าวจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ในป่าได้

สำนักงานอุทยานแห่งชาติร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เพื่อพยายามขยายพื้นที่ป่า โดยโครงการปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ใหม่นี้ถูกเรียกว่า การปลูกป่าสำหรับใช้งานทั่วไป

ทว่าผู้นำชุมชนต่างออกมาคัดค้านความจำเป็นในการปลูกป่าตามที่เผยแพร่ หลายคนก็เชื่อว่า ในความเป็นจริงแล้ว ทางออกของปัญหาป่าไม้ถูกทำลายคือแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและการปลูกไม้ผล ไม่ใช่การปลูกแต่ไม้มีค่าเพียงอย่างเดียว

ไพโรจน์ วงงาน แกนนำชุมชนจากบ้านหินรู ซึ่งเป็นอีกชุมชนหนึ่งในอาณาบริเวณของอุทยานแห่งชาติไทรทองที่ได้รับผลกระทบ เชื่อว่ากรมป่าไม้มีความเข้าใจผิดๆ ว่าป่าจริงๆ แล้วคืออะไร

“คำว่า ‘ป่า’ บ่ได้จำกัดความอยู่แค่ไม้แค่พันธุ์เดียวท่อนั้น” ไพโรจน์กล่าว ก่อนจะเสริมว่า โครงการปลูกป่าที่ทำอยู่สนใจไม้มีค่าไม่กี่สายพันธุ์แต่เพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่นไม้พะยูงและไม้ประดู่ โดยไม่สนใจที่จะปลูกไม้พันธุ์อื่นเลย “ป่าเนี่ย มันรวมถึงว่าเฮาสิอาศัยพึ่งพิงป่าได้จังใด๋นำ ที่จริงแล้ว รัฐสามารถที่จะซ่อยชาวบ้านปลูกพืชเพื่อการบริโภค เพื่อความยั่งยืน รวมไปถึงเพื่อผลิตออกซิเจน เฮ็ดจังซี่ต่างหากมันจังตรงกับคำนิยามของระบบนิเวศที่มันควรสิเป็น” ไพโรจน์ให้เหตุผล

ถึงแม้ว่าชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานอาจเห็นไม่ตรงกันในเรื่องพันธุ์ไม้ที่จะปลูกและประโยชน์ของพันธุ์ไม้ในโครงการปลูกป่า แต่ไพโรจน์กลับเชื่อว่า ทางเดียวที่จะอนุรักษ์ป่าไม้ไว้ได้ คือต้องให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

“กรมป่าไม้บ่สามารถที่สิควบคุมคนได้เบิด คนภายนอกพื้นที่อาจสิเข้ามาถลุงเอาทรัพยากรจากป่าไปกะได้ ทางกรมบ่สามารถที่สิป้องกันบ่ให้คนเฮ็ดผิดกฏหมายได้ซูคนดอก” ไพโรจน์อธิบาย “ซึ่งอันนี้เป็นเหตุผลว่าเป็นหญังชาวบ้านเฮาถึงอยากสิเข้าไปมีส่วนร่วมนำ เพื่อที่สิให้แน่ใจว่าซูคนปฏิบัติตามกฎหมายสำหรับการปกป้องป่า”

สองมาตรฐาน

จากรายงานของศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (Thai Civil Rights and Investigative Journalism – TCIJ) ในหมู่คดีบุกรุกป่าจำนวนกว่า 500 คดี มีเพียงสิบคดีเท่านั้นที่เป็นการดำเนินคดีกับนักธุรกิจจากภายนอกพื้นที่ โดยที่เหลือเป็นการดำเนินคดีกับเกษตรกรรายย่อย และชาวบ้านที่อยู่อาศัยในบริเวณอุทยานแห่งชาติมาเป็นเวลานาน

ถึงแม้ว่ามีคำสั่งจาก คสช. ว่าแผนแม่บทป่าไม้ไม่ควรจะมีผลกระทบทางลบกับชาวบ้านยากจนที่อาศัยอยู่ในป่า แต่จากปากคำของชาวบ้าน ผู้ที่กำลังถูกไล่ออกจากที่ดินของตนเองเป็นเกษตรกรรายได้น้อยเกือบทั้งหมด ในขณะที่นักธุรกิจจากภายนอกกลับเล็ดลอดไปได้

สากล ประกิจ ชาวบ้านซับหวายวัย 39 ปี อ้างว่าตนต้องเสียพื้นที่ในโฉนดที่ดินไปบางส่วน เพราะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสองมาตรฐาน และการรังวัดของเจ้าหน้าที่มีข้อบกพร่อง

ที่ดินทำกินของสากลตั้งอยู่ติดกับที่ดินของแม่ยายของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคนหนึ่ง ซึ่งได้รับใบที่ดิน สปก. จากการอนุมัติของมติคณะรัฐมนตรีปี พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย หลังจากได้รับที่ดินตามที่อนุมัติแล้ว แม่ยายของเจ้าหน้าที่ผู้นี้ก็ถางป่าลงเพื่อปลูกไร่ข้าวโพด แต่เธอกลับไม่ถูกตั้งข้อหาใดๆ รวมถึงไม่ได้รับแจ้งให้ออกจากพื้นที่เหมือนกับชาวบ้านคนอื่นๆ ซึ่งที่ดินทำกินไม่ผ่าน สปก.

นอกจากนี้แล้ว ตามแผนที่ของเจ้าหน้าที่อุทยาน ที่ดินของครอบครัวสากลบางส่วนกลับตกอยู่ในอาณาเขตที่ดินของแม่ยายของเจ้าหน้าที่คนนี้

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอาศัยภาพถ่ายทางอากาศเพื่อสำรวจการใช้ที่ดินในอุทยาน แต่ชาวบ้านกล่าวว่าวิธีนี้มีข้อบกพร่อง เพราะชาวบ้านอาจไม่ได้ใช้ที่ดินสำหรับการเกษตรจริงๆ ตลอดทั้งปี

พอพื้นที่ทางการเกษตรปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศเหมือนว่าที่ไม่ได้ถูกใช้งาน เจ้าหน้าที่อุทยานจะถือว่าเป็นอาณาเขตป่า ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวบ้านที่เข้ามาทำการเกษตรที่พื้นที่ดังกล่าวถูกตั้งข้อหาบุกรุกในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจจากต่างจังหวัดก็ยังเข้ามาใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรในพื้นที่อยู่เรื่อยๆ โดยชาวบ้านเชื่อว่า นักธุรกิจจากภายนอกเหล่านี้ไม่ได้ถูกข่มขู่หรือได้รับแจ้งให้ออกจากพื้นที่เหมือนที่พวกตนได้รับแต่อย่างใด

นิตยาเล่าว่า เจ้าหน้าที่อุทยานปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่ามีผู้เข้ามาลงทุนทำการเกษตรในพื้นที่จากภายนอกพื้นที่ สำนักงานอุทยานแห่งชาติไทรทองปฏิเสธที่จะออกความเห็นเมื่อเดอะอีสานเรคคอร์ดติดต่อสอบถาม

มติครม. ปี พ.ศ. 2541 ให้คำจำกัดความนักธุรกิจไว้ว่าเป็นผู้ที่มีที่ดินมากกว่า 100 ไร่ ซึ่งในอาณาเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง นักธุรกิจส่วนใหญ่ก็มีที่ดินมากกว่า 100 ไร่ในครอบครอง แต่ชาวบ้านกล่าวว่านักธุรกิจเหล่านี้จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่จริงๆ แค่ไม่กี่เดือนต่อปีเท่านั้น โดยจะจ้างชาวบ้านมาดูแลที่ดินระหว่างที่ตนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่

เมื่อถามว่ารู้สึกโกรธหรือไม่ที่คนภายนอกเข้ามาหาลงทุนทำการเกษตรในเขตอุทยานแต่ไม่ได้รับแจ้งให้ย้ายออกเหมือนชาวบ้านคนอื่นๆ นิตยาตอบว่าไม่

“บ่โกรธ มันก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่สิครอบครองได้หลาย แต่เฮาอยากให้มันเป็นมาตรฐานเดียวกัน” นิตยากล่าว

อนาคตอันไม่แน่นอน

สากล และประเสริฐ ประกิจผู้เป็นสามี ได้เชิญชวนให้สมาชิกชุมชนเข้าร่วมวงสนทนาอย่างเป็นกันเอง ใต้ชายคาบ้านชั้นเดียวที่เพิ่งปลูกใหม่ ซึ่งทั้งคู่ได้ใช้เงินสะสมจากการขายมันสำปะหลังมาหลายสิบปีเพื่อซื้อวัสดุสำหรับก่อสร้างบ้านหลังใหม่นี้ หลังบ้านไม้หลังเก่าโดนปลวกแทะไป

ทองสุข แก้วกระโทก ผู้อาศัยอยู่ในบ้านซอกตะเคียน ซึ่งเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่กำลังถูกขับไล่จากที่ดินที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติไทรทอง ตั้งคำถามว่า “เฮากะทราบดีว่าบ้านเมืองต้องมีขื่อมีแป แต่คือต้องใช้กฏหมายมากดขี่ซุมเฮาด้วย” ภาพ: Andoni Almeida

ทองสุข แก้วกระโทก ผู้อาศัยอยู่ในบ้านซอกตะเคียน ซึ่งเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่กำลังถูกขับไล่จากที่ดินที่ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติไทรทอง ตั้งคำถามว่า “เฮากะทราบดีว่าบ้านเมืองต้องมีขื่อมีแป แต่คือต้องใช้กฏหมายมากดขี่ซุมเฮาด้วย” ภาพ: Andoni Almeida

ชาวบ้านจากบ้านซอกตะเคียน ซึ่งเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ใช้เวลาเดินทางกว่าสามชั่วโมงเพื่อมาร่วมวงสนทนา ในขณะที่ชาวบ้านซับหวายอาจจะต้องสูญเสียเพียงแค่ที่ดินทำกิน ชาวบ้านซอกตะเคียนอาจถึงต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย หากเจ้าหน้าที่อุทยานยังยืนยันที่จะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่

ชาวบ้านซอกตะเคียนไม่ได้ลงชื่อในเอกสารข้อตกลงที่ดินใดๆ เพราะคนในชุมชนต่างจำได้ว่าเคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นแล้วในช่วงกลางทศวรรษ 2530–2540 โดยรัฐบาลทหารชุดก่อนซึ่งครองอำนาจอยู่ในขณะนั้นพยายามที่จะย้ายชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตป่าไปยังที่อยู่อาศัยในเมืองที่รัฐบาลจัดสร้างขึ้น

หลังจากรัฐบาลได้มีนโยบายดังกล่าว ชาวบ้านทั้ง 70 ครัวเรือนก็จำต้องย้ายออกจากหมู่บ้านบนภูเขา แต่พอผ่านไปได้หนึ่งปี ชาวบ้าน 47 ครัวเรือนก็ย้ายกลับไปอาศัยบนภูเขาตามเดิม เพราะทำมาหากินข้างล่างแล้วไม่พอกิน ชาวบ้านเล่าว่า ในบ้านซอกตะเคียนทุกวันนี้ ไม่มีใครมีโฉนดที่ดินอย่างเป็นทางการแม้แต่คนเดียว

ทองสุข แก้วกระโทก ชาวบ้านซอกตะเคียนวัย 56 ปี เน้นถึงความจำเป็นในการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อที่พวกตนจะได้มีที่อยู่อาศัยต่อไป ทองสุขยอมรับว่ารัฐและเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องมาดูแลในส่วนนี้ แต่ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า “เฮากะเข้าใจว่าบ้านเมืองต้องมีกฎหมาย แต่บ่เข้าใจว่าเป็นหญังจั่งต้องใช้กฎหมายมากดขี่เฮา”

เล แก้วกระโทก ชาวบ้านซอกตะเคียนวัย 24 ปี เล่าว่า “เด็กน้อยสามสี่ขวบ เห็นป่าไม้มา มันกะด่าให้ลับหลัง เด็กมันย้าน เห็นสายตรวจถือปืนมา ทั้งเอ็ม-16 กลย.11”

ชาวบ้านซับหวายและชาวบ้านซอกตะเคียนเห็นตรงกันว่า พวกตนต้องต่อสู้กับสำนักงานอุทยานแห่งชาติต่อไป เพื่อว่าอย่างน้อยประชาชนทั่วไปจะได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านในบริเวณอุทยานแห่งชาติไทรทอง ถ้าหากไม่สู้ต่อ ความพ่ายแพ้ก็เป็นสิ่งที่แน่นอน แต่ถ้าสู้ต่อ ชาวบ้านก็เชื่อว่ายังมีโอกาสได้รับชัยชนะ

“เห็นคุกนั่นแหลว” ประเสริฐพูดติดตลกระหว่างตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่าเห็นสิ่งใดในอนาคต เขาหัวเราะ ก่อนกล่าวต่อเพื่อตอบอย่างจริงจังว่า “เป็นห่วงอนาคต ลูกหลานสิไปอยู่ใด๋”

บนรถกระบะที่วิ่งอยู่ นิตยารำลึกกลับไปตอนที่ได้เจอเจ้าหน้าที่ป่าไม้นายสมศักดิ์เมื่อก่อนหน้านี้ เธอก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมเจ้าหน้าที่อุทยานยังไม่ดำเนินคดีกับนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่สักที

ระหว่างที่กำลังนอนอยู่บนเปลที่แกว่งไปแกว่งมาตรงด่านตรวจที่ทางเข้าอุทยาน ซึ่งเป็นจุดที่มีฉากหลังเป็นไร่มันสำปะหลังแผ่เป็นระลอกๆ ออกไปสุดลูกหูลูกตาจนจรดพื้นที่ป่าสงวน สมศักดิ์กล่าวว่า “ยังบ่มีคำสั่งมาครับ ต้องท่าคำสั่งจากเบื้องบน”

แฮนนาห์ โคเอน เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน มีวิชาเอกคือสิ่งแวดล้อมศึกษา ทาเลีย แล็ตช์ เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทูเลนแห่งลุยเซียนา มีวิชาเอกคือสิ่งแวดล้อมศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ

image_pdfimage_print