วิกฤตราคาข้าวตกต่ำสุดในรอบสิบปี รัฐบาลโทษนักการเมือง-โรงสีทุบราคา, ออกมาตรการช่วยเหลือหลากหลาย ชาวนา-เอ็นจีโอสนับสนุนการสีข้าวขายเองและตั้งโรงสีชุมชน นักเศรษฐศาสตร์ชี้ไทยกำหนดราคาข้าวโลกไม่ได้ เชื่อการสีข้าวขายเองไม่ใช่คำตอบ
ฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีนี้ ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิลดต่ำลงถึง กก. ละ 6 บาท ข้าวเหนียว กก. ละ 7-8 บาท นับเป็นช่วงวิกฤตราคาข้าวในรอบ 10 ปี ที่ทำให้ชาวนาประสบกับปัญหาขาดทุนถึงเท่าตัว

ฤดูกาลเก็บเกี่ยวปีนี้ ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิลดต่ำลงถึง กก. ละ 6 บาท ข้าวเหนียว กก. ละ 7-8 บาท นับเป็นช่วงวิกฤตราคาข้าวในรอบ 10 ปี ที่ทำให้ชาวนาประสบกับปัญหาขาดทุนถึงเท่าตัว
ภาพ: วัชรพงศ์ วงษ์สิม
เนื่องจากชาวนาในปัจจุบันนี้ต้องลงทุนใช้เงิน ใช้เครื่องยนต์การเกษตร และปุ๋ยเคมีที่ราคาสูง เมื่อรวมกับค่าน้ำมัน ค่าแรงถอนกล้า ค่าปักดำ ค่าเกี่ยวข้าว ค่ามัดข้าว ค่าขนข้าว ค่าสีข้าว และอาหารคนงานด้วยอีก เฉลี่ยลงทุนไร่ละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ขณะที่ผลผลิตได้ไร่ละประมาณ 300 กก. ขาย กก.ละ 5 บาท ได้เงินเพียง 1,500 บาท จากรายงานสัมภาษณ์ชาวนาจังหวัดกาฬสินธุ์ของมติชน วันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
สาเหตุของปัญหา
ในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ว่าปัญหาราคาข้าวตกต่ำเกิดจากสองประเด็น คือหนึ่งการปรับโครงสร้างการเกษตรยังไม่สามารถดำเนินการได้ครบวงจร และสองคือมีการร่วมมือกันระหว่างนักการเมืองในพื้นที่ ร่วมกับโรงสีบางโรงสี ในการกำหนดราคาข้าวให้ต่ำลง
นั่นคือ รัฐบาลอ้างว่ามีการสร้างกลไกราคาข้าวเทียมในท้องถิ่น เพื่อหวังผลทางการเมืองให้เกิดการต่อต้าน
นายวิบูลย์ แช่มชื่น อดีต สส. บัญชีรายชื่อสังกัดพรรคเพื่อไทย จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวตอบโต้คำกล่าวหาข้างต้นของรัฐบาลว่า ไม่เป็นความจริง รัฐบาลเพียงแค่กล่าวหาคนอื่นเท่านั้น ไม่มองการทำงานของตัวเองจนไม่สามารถช่วยชาวนาได้
“ไม่อยากให้รัฐบาลไปกล่าวหาผู้อื่นหรือโยนความผิดให้ผู้อื่น ควรคิดและหาทางแก้ไขปัญหาระยะยาวและยั่งยืนกว่านี้” ดร.วิบูลย์ กล่าว
ด้านนายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน จังหวัดขอนแก่น ยืนยันว่านักการเมืองท้องถิ่นมีอิทธิพลต่อการบิดเบือนกลไกตลาดจริง
“ต้องพูดตรงๆ เลยก็คือ กลุ่มเพื่อไทยเนี่ย เขามีสมาชิกแนวร่วมทางการเมือง ก่อนหน้าตั้งแต่ปี 2543 มา เขาสร้างเครือข่ายของกลุ่มที่เรียกว่า SMEs (ธุรกิจขนาดย่อม) เป็นกลไกที่เขาสร้างมา พอผูกพันกัน เขาก็สามารถไปผูกกับเจ้าของโรงสีว่า จะชะลอการซื้อข้าวได้” นายตุลย์กล่าว
นายตุลย์ยังกล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันอิทธิพลของกลุ่มการเมืองดังกล่าวต่อประชาชนยังคงมีอยู่ อันจะเห็นได้จากการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในภาคอีสานและภาคเหนือในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่ากลุ่มการเมืองสามารถควบคุมกลไกตลาดในท้องถิ่นได้ “โรงสีขนาดเล็ก หรือแม้แต่ขนาดใหญ่เนี่ย เขาก็หวังผลจากนักเลือกตั้งเหมือนกัน” นายตุลย์กล่าว
“เราคิดว่าเราเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่เพราะครอง 1 ใน 4 ของตลาดข้าวของโลก ซึ่งตามหลักทฤษฏีส่วนแบ่งตลาดมันควรหมายความว่าเรามีอำนาจเหนือตลาดข้าว แต่ทว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่” นายนรชิต จิรสัทธรรม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าว
นายนรชิตอธิบายว่า ตลาดข้าวโลกมีลักษณะพิเศษคือเป็น ตลาดบาง (thin market) คือเป็นตลาดที่มีผู้เล่นไม่มาก และสินค้าที่ผู้เล่นแต่ละรายส่งออกเป็นสัดส่วนที่เล็กมากเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตทั้งโลก หากตลาดข้าวขนาดใหญ่ในประเทศอื่นๆ เพิ่มปริมาณการส่งออกแม้ในสัดส่วนเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกผันผวนได้ ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ว่าผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง หรือหลายรายมารวมกลุ่มกัน จะสามารถกำหนดราคาตลาดโลกได้
เดือนพฤศจิกายนนี้ กระทรวงการเกษตร ประเทศสหรัฐอเมริกา (US Department of Agriculture) ได้คาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวทั่วโลกประจำปีเพาะปลูก 2559/2560 ไว้ที่ 483.8 ล้านตัน โดยประเทศไทยผลิตจำนวน 18.6 ล้านตัน คิดเป็นเพียงร้อยละ 3.8 ของผลผลิตโลก (ไม่นับเพียงแต่การส่งออก)
โดยกว่าครึ่งของกำลังการผลิตของทั้งโลกมาจากประเทศจีน (146.5 ล้านตัน) และอินเดีย (106.5 ล้านตัน) โดยผลิตไว้บริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ปริมาณส่งออกข้าวของไทยปีนี้ที่ 9 ล้านตัน เป็นมูลค่า 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 144,000 ล้านบาท) เท่ากับกระทรวงพาณิชย์ที่คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวประมาณ 9 ล้านตัน
ทางออกที่ยั่งยืน
ล่าสุด วันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่าทางรัฐบาลจะช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวทุกประเภทในการพักชำระหนี้เพื่อรอราคาข้าวเปลือกดีขึ้น พร้อมยังอุดหนุนค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกยุ้งฉางเพิ่ม 1,500 บาทต่อตัน จากเดิมช่วงต้นเดือนที่อุดหนุนค่า “จำนำยุ้งฉาง” 8,730 บาทต่อตัน นอกจากนี้ชาวนาก็จะได้รับค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว 2,000 บาทต่อตันทุกคนอีกด้วย
การชี้แจงดังกล่าวเป็นการเพิ่มเติมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวตามมติ ครม. วันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเห็นชอบ 4 โครงการ ให้ ธ.ก.ส. ช่วยเหลือชาวนา อันได้แก่ 1) โครงการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยผู้ที่กู้เงิน ธ.ก.ส. 2) โครงการอบรมชาวนาด้านการผลิตและการวางแผนการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย 3) โครงการประกันภัยข้าวนาปีโดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ รวมถึงศัตรูพืชและโรคระบาด และ 4) โครงการช่วยเหลือชาวนาเพื่อลดต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาลเพาะปลูกที่ผ่านมา นโยบายปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกก็เป็นนโยบายที่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยมีสาเหตุเกิดจากความล่าช้าและความยุ่งยากของเงื่อนไขเข้าร่วมโครงการ
นายประยงค์ สร้อยศรีหา สมาชิกสภา อบต. หมู่ 14 ต.โนน อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านกำลังกังวลเรื่องราคาข้าว หลายคนไม่พอใจที่โรงสีรับซื้อข้าวเปลือกในราคาที่ต่ำมากคือเพียงกิโลกรัมละ 6 บาท
นายประยงค์กล่าวว่า ตนและลูกบ้านพยายามพูดคุยหารือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาราคาข้าวและหาวิธีการลดต้นทุนการผลิต มีการเรียกประชุมหมู่บ้านเพื่อคิดหาวิธีการลดต้นทุนในการผลิตข้าวลง เพื่อให้ได้กำไรจากการขายมากขึ้น
“เสนอให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดสนับสนุนจัดตั้งสหกรณ์เพื่อคุณภาพชีวิตชาวนาในท้องถิ่นขึ้น โดยเสนอให้ทุก อบต. จัดสร้างโรงสีข้าวขนาดสีข้าวได้วันละ 30 เกวียน และแยกข้าวกล้อง, ข้าวขาวได้ด้วย” นายประยงค์กล่าว
ด้านนักเศรษฐศาสตร์ นายนรชิต จิรสัทธรรม ตั้งข้อสังเกตต่อกระแสการสีข้าวและขายตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางว่า อาจทำให้คุณภาพข้าวลดต่ำลง เนื่องจากข้าวที่ชาวนาสีเองโดยไม่มีเทคโนโลยีการสีข้าวที่ได้มาตรฐานอาจส่งผลให้ข้าวคุณภาพต่ำลง และข้าวคุณภาพต่ำเหล่านี้อาจจะไปรวมกันที่โกดังเก็บข้าวใหญ่สำหรับการส่งออกได้
นายนรชิต กล่าวต่ออีกว่า การสีข้าวและขายตรงนั้นอาจทำให้ชาวนาบางคนรวย แต่บางคนอาจยากจนลงได้ เพราะชาวนาที่ไม่มีความรู้ในเรื่องการจัดการ การตลาด หรือเครือข่ายตลาดเพื่อรองรับผลผลิตอาจจะเสียเปรียบเกษตรกรบางคนที่มีตลาดรองรับที่ใหญ่และทันสมัยกว่า
นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน อ.ค้อวัง จ.ยโสธร ไม่เห็นด้วยว่าการสีข้าวเองอาจทำให้คุณภาพข้าวไทยที่ส่งออกต่ำลง เนื่องจากข้าวที่ชาวนาสีขายเองน่าจะเป็นไปเพื่อการบริโภคภายในประเทศมากกว่า “หากคิดแค่ประมาณ 10 ล้านต้นไว้สำหรับบริโภคภายในประเทศ น่าจะไม่มีปัญหาต่อคุณภาพข้าวที่ส่งออก” นายอุบลกล่าว
เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รายงานผลการศึกษาเรื่องการบริโภคข้าวในประเทศไทยว่า ระยะยาวจะมีแนวโน้มบริโภคข้าวลดลง โดยปัจจุบันคนไทยบริโภคข้าวเฉลี่ย 100-104 กก. ต่อคนต่อปี ขณะที่ภาคครัวเรือนบริโภค 7 ล้านตันต่อปี ส่วนอีก 10 ล้านตันต่อปีถูกนำไปแปรรูปทางอุตสาหกรรมเป็น แอลกอฮอล์ แป้ง เส้นก๋วยเตี๋ยวสด รวมถึงอาหารสัตว์ จากรายงานข่าวของสำนักข่าวไทย
นายอุบลชี้ว่าปรากฏการณ์ชาวนาสีข้าวขายตรงเป็นเรื่องที่ดี ย้ำรัฐควรหนุนกระแสนี้ให้เกิดขึ้นระยะยาว เพื่อให้ชนชั้นกลางก้าวพ้นความสงสารชาวนา ให้กลายมาเป็นผู้บริโภคที่เชื่อมโยงกับผู้ผลิตข้าวโดยตรง
“ชนชั้นกลางผู้บริโภคในสังคมควรไปให้พ้นความสงสารเห็นใจชาวนา มันควรไปไกลกว่านั้นคือการเชื่อมโยงตัวเองในฐานะผู้บริโภคกับผู้ปลูกข้าว ไม่ใช่แค่สงสารแล้วมาซื้อข้าวเล็กๆ น้อยๆ” นายอุบลกล่าว