เขียนโดย มิ่งขวัญ ถือเหมาะ

ทุกเช้า “เด็กหญิงก้อง แก้วประเสริฐ” เด็กสาวชาวลาว วัย 15 ปี ปั่นจักรยานเลียบริมแม่น้ำโขงไปที่โรงเรียนบ้านหม้อเหนือ (หลวงปู่เหรียญอุปถัมภ์) ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เพื่อไปเข้าเรียนในระดับชั้น ป.6 โดยเธอเป็น 1 ใน 7 นักเรียนสัญชาติลาวของโรงเรียนนี้ เธอมีเรียนวันจันทร์ถึงวันศุกร์ แต่ในบางเสาร์อาทิตย์ก้องก็มาโรงเรียน เช่นในสุดสัปดาห์หนึ่งที่ก้องมาโรงเรียนเพื่อเข้ารับอบรมเรื่องการทำสื่อเพื่อชุมชน

แม้ก้องจะไม่ได้มีสถานะเป็นพลเมืองไทย มีเพียงรหัส 13 หลักที่ออกโดยทางโรงเรียน แต่ปัจจุบัน ก้องก็ได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังดำรงตำแหน่งเป็น “ประธานนักเรียน” ของโรงเรียนที่มีนักเรียน 110 คนแห่งนี้อีกด้วย

ในจำนวนเด็กต่างสัญชาติในประเทศไทยกว่า 300,000 คน ก้องเป็นคนส่วนน้อยซึ่งได้รับโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาแบบให้เปล่า แม้ว่ากรอบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายไทยกำหนดให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาแบบให้เปล่า 15 ปีโดยไม่เกี่ยงสถานะและสัญชาติก็ตาม ด้านเอ็นจีโอกังวลกฎหมายฯ ยังปฏิบัติไม่ได้ตามจริง ชี้บางสถานศึกษาปิดกั้นและติดเพดานที่ระดับม.ปลาย-อุดมศึกษา

%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b8%9a%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b7%e0%b8%ad

ในหมู่เด็กและเยาวชนต่างสัญชาติราวหนึ่งแสนคนที่อยู่ในระบบการศึกษาของไทย กว่าร้อยละ 97 อยู่ในระดับประถมศึกษาและก่อนประถมศึกษา มีเพียงร้อยละ 3 ที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และเพียงร้อยละ 1 ที่เรียนไปถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในขณะที่เด็กต่างสัญชาติส่วนใหญ่กว่าสองแสนคนยังอยู่นอกระบบการศึกษา

หากย้อนไปเมื่อ 6 ปีก่อน ก้องเคยเป็นเด็กนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในแขวงหลวงพะบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

โรงเรียนที่เธอเรียนอยู่ขณะนั้น เป็นโรงเรียนเล็กๆ ในชนบทแถบลาวเหนือ ที่คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกข้าว ฝ้าย และพืชผัก และยังไม่มีไฟฟ้าใช้ หากจะเข้าเมืองต้องอาศัยการสัญจรทางเรือ เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำโขง

ด้วยความยากจน ทำให้พ่อแม่ของก้องตัดสินใจมาทำงานในประเทศไทย เพื่อหารายได้เลี้ยงลูกๆ ทั้ง 3 คน โดยปล่อยให้เธอในฐานะพี่คนโตเป็นคนดูแลน้องๆ

ช่วงแรกพ่อแม่ของก้องไปหางานทำที่จังหวัดระยอง แต่เนื่องจากทั้งคู่จบการศึกษาเพียงระดับป.4 จากประเทศลาว ทำให้ไม่ค่อยมีงานให้ทำมากนัก จึงตัดสินใจย้ายไปหางานทำที่อื่น จนได้งานรับจ้างทำไร่สับปะรดที่จังหวัดหนองคาย และตัดสินใจที่จะรับก้องกับน้องๆ มาอยู่ด้วย

“ครั้งแรกพ่อกับแม่มารับบุญจีนซึ่งเป็นน้องชายคนรองไปก่อน จากนั้นค่อยมารับหนูกับแววดาว-น้องสาวอีกคน ทำให้บุญจีนได้เข้าเรียน ป.1 ก่อน” ก้องเล่าถึงความเป็นมาแปลกๆ ที่น้องชายได้เข้าเรียนในสถานศึกษาของประเทศไทยก่อน จนกลายเป็น “รุ่นพี่” ของเธอไปโดยปริยาย

รัฐบาลไทย เคยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เรื่องการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย โดยสาระสำคัญของมติ ครม. ดังกล่าว ก็คือการขยายโอกาสทางการศึกษาซึ่งเดิมจำกัดไว้เฉพาะกับผู้ที่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น เป็นเปิดกว้างให้บุคคลสัญชาติใดก็ได้ จะมีหรือหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่ก็ได้ เพียงแค่อยู่อาศัยในประเทศไทย สามารถเข้ารับการศึกษาของในสถานศึกษาของไทยได้ โดยไม่จำกัดประเภทหรือพื้นที่ พร้อมกันนี้จะมีการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับสถานศึกษาที่จัดการศึกษาให้แก่กลุ่มบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยดังกล่าวด้วย

นางวันวิสา กองแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหม้อเหนือ (หลวงปู่เหรียญอุปถัมภ์) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมติให้รับนักเรียนต่างสัญชาติเข้ารับการศึกษา ทางโรงเรียนก็ได้ปฏิบัติตามอย่างปกติ ไม่ได้มีการกีดกันแต่อย่างใด ได้ให้ความดูแลในการเรียนเทียบเท่ากับเด็กคนหนึ่งของไทย เขามีสิทธิในการศึกษาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่างบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัว ค่าเสื้อผ้า หนังสือ และอาหารกลางวัน แต่ตามระเบียบ เด็กต่างสัญชาติที่เข้ามาเรียนใหม่ จะต้องไปเริ่มเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1 ใหม่

“เด็กข้ามมาจากลาว เราก็ให้ความดูแลเช่นกันกับเด็กไทย เด็กจะมีความขยันเรียนหนังสือ  มีความตั้งใจสูง อยู่ในระเบียบ เราให้ความเท่าเทียม เขามีสิทธิเหมือนกันทุกอย่าง” นางวันวิสากล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR) ตั้งแต่ปี 2542 โดยมาตรา 14 ของกติกาดังกล่าว ได้กำหนดให้รัฐภาคีต้องจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาภาคบังคับแก่ทุกคนแบบให้เปล่า โดยสิทธินี้มิได้จำกัดเพียงแต่เฉพาะพลเมืองที่มีเอกสารตามกฎหมายเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญหลายฉบับที่รับรองสิทธิทางการศึกษาว่าเป็นสิทธิมนุษยชน  อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีตั้งแต่ปี 2491, อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีตั้งแต่ปี 2535 ฯลฯ

ซึ่งหมายถึงว่า การให้การศึกษาแก่มนุษย์ทุกสัญชาติโดยไม่เลือกปฏิบัติ ถือเป็น “หน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ” ที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติ

%e0%b8%81%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87-%e0%b9%81%e0%b8%81%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%90-%e0%b8%82%e0%b8%a7%e0%b8%b2

ก้อง แก้วประเสริฐ (ขวา) เข้าร่วมอบรมเรื่องสื่อเพื่อชุมชน ในค่ายเยาวชนนักสื่อสารสาธารณะ ที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2559 ที่โรงเรียนบ้านหม้อเหนือ (หลวงปู่เหรียญอุปถัมภ์) ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

สำหรับก้อง ระบบการศึกษาของประเทศไทยมีข้อดีเหนือระบบการศึกษาประเทศลาวคือมีสวัสดิการมากกว่า ที่ประเทศลาวไม่มีการเรียนฟรี ต้องซื้อทุกอย่าง ทำให้คนไม่มีเงินตัดสินใจไม่เรียนต่อ ในขณะที่ประเทศไทยหลายๆ อย่างแจกฟรี และมีเลี้ยงอาหารกลางวัน แต่นอกจากนั้นแล้วระบบก็ไม่ต่างกันมากนัก คือประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะมีเวลาเรียนรวมกัน 12 ปี (สำหรับประเทศไทย คือตั้งแต่ ป.1-6 และ ม.1-6 ส่วนของประเทศลาว คือตั้งแต่ ป.1-5 และ ม.1-7)

เธอและน้องอีก 2 คน คือ บุญจีนและแววดาว  เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านหม้อเหนือ (หลวงปู่เหรียญอุปถัมภ์) เหมือนกันหมด และสอบได้ที่ 1 ของชั้นเรียนทุกคน น้องชายของเธอ-บุญจีน เคยเป็นประธานนักเรียนเมื่อปีที่แล้ว ที่เข้าเรียนในโรงเรียนนี้ก่อน สอบเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในตัวอำเภอได้ ส่วนตัวก้องยังไม่มั่นใจว่าจะเรียนไปจนถึงชั้นไหน

นางสาวคำปิ่น อักษร ผู้ประสานงานกลุ่มคนฮักน้ำของ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับคนไร้สัญชาติ ให้ข้อมูลว่า เด็กไร้สัญชาติและเด็กต่างสัญชาติสามารถเรียนในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาได้ตามปกติ ตามที่รัฐบาลมีนโยบายออกมา ทุกสถานศึกษาจะต้องรับคนทุกประเภทเข้าศึกษา เพียงแต่ยังมีสถานศึกษาบางแห่งไม่เข้าใจ จนผู้เกี่ยวข้องต้องเข้าไปเจรจา แต่ผลสุดท้ายก็ทำให้เด็กต่างสัญชาตินั้นๆ ตัดสินใจไม่เข้าเรียน เพื่อตัดปัญหาเรื่องความยุ่งยาก

“จริงๆ จะเรียนถึง ป.โท หรือ ป.เอกเลยก็ได้ เด็กกลุ่มหนึ่งก็กำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง” คำปิ่นยืนยัน

นางสาวคำปิ่นยังกล่าวว่า เด็กต่างสัญชาติส่วนใหญ่จะเรียนแค่จนถึงชั้น ป.6 หรือไม่เกิน ม.3 เท่านั้น เนื่องจากแม้ประเทศไทยจะมีนโยบายเรียนฟรี แต่ก็ฟรีเฉพาะค่าเล่าเรียน ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ที่เด็กๆ เหล่านั้นไม่สามารถแบกรับได้

ในหมู่เด็กและเยาวชนต่างสัญชาติราวหนึ่งแสนคนที่อยู่ในระบบการศึกษาของไทย ส่วนใหญ่มากอยู่ในระดับประถมศึกษาและก่อนประถมศึกษา มีเพียงร้อยละ 3 ที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และเพียงร้อยละ 1 ที่เรียนไปถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากข้อมูลในบทความของจอห์น เดรเปอร์ และพีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ ใน The Bangkok Post

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิทางการศึกษาอีกคนหนึ่ง ระบุว่า ถึงแม้เด็กต่างสัญชาติสามารถเข้าเรียนได้เหมือนเด็กไทยทุกอย่าง จบมาก็ได้วุฒิการศึกษา แต่อาจไม่ได้สิทธิในการกู้ยืมจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นอกจากนี้ ยังอาจจะไม่มีโอกาสได้ทำงานที่ตรงกับสาขาที่เรียนจบมา

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์กรช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the Children) เปิดเผยออกมาช่วงกลางปี 2559 ระบุว่า มีเด็กอพยพต่างสัญชาติประมาณ 300,000 คนในประเทศไทย โดยกว่า 200,000 คนอยู่นอกระบบการศึกษาของไทย มีเพียง 34% เท่านั้นที่เข้าโรงเรียนที่ได้รับการรับรองโดยรัฐ ที่เหลือยังไม่สามารถเข้าถึงได้ และกลุ่มที่น่าห่วงที่สุดคือเด็กสัญชาติพม่า

นอกจากนี้ยังมีความกังวลถึงสิทธิต่างๆ ที่เด็กในสถานการณ์เช่นก้องจะถูกละเมิดในอนาคต ถึงแม้เธอจะได้รับโอกาสเข้าเรียน และมีรหัส 13 หลักที่ออกโดยทางโรงเรียน  ก็มิได้เป็นเครื่องประกันถึงสิทธิพลเมืองที่พึงมี  ซึ่งหากจะจัดประเภทให้เธอเป็นพลเมืองของประเทศลาว เธอเองก็ยังไม่มีบัตรประชาชนจากฝั่งลาว  การกลับไปทำบัตรประชาชนที่ สปป. ลาว เมื่ออายุครบเกณฑ์ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจมากนัก เพราะจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อเดินทางกลับและต้องใช้เวลาหลายวัน  อีกทั้งการมีสถานะเป็นนักเรียนในโรงเรียนก็คุ้มกันเธอจากการถูกตำรวจจับ หรือถูกส่งกลับในฐานะคนต่างด้าว

หลักจากค่ายอบรมนักสื่อสารสาธารณะจบลง ก้องและเพื่อนๆ ช่วยกันเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทำกิจกรรมเข้าไปยังที่เดิมของมัน ก่อนจะกลับบ้านไปพักผ่อนและช่วยพ่อแม่ทำงานเมื่อมีเวลา ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบนี้คงถูกเธอทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนับครั้งไม่ได้ แต่หากจะกล่าวไปถึงความรับผิดชอบต่ออนาคตของตัวเธอเองนั้น เธอก็ไม่มั่นใจว่าจะได้เรียนไปจนถึงชั้นไหน มีเพียงความฝันถึงการเป็นครูในอนาคต

“โตขึ้นหนูอยากเป็นครู แต่คิดว่าคงไม่ได้เป็นหรอก เพราะครอบครัวไม่ค่อยมีเงิน” ก้องกล่าว

 

มิ่งขวัญ ถือเหมาะ เป็นผู้เข้าร่วมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน เดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print