1

แบ็งค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม: หมอลำกะคือๆ ศาสนานั่นหละ แต่เป็นศาสนาของเฮาคนเดียว

หลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพเมื่อไม่นานมานี้ นักแสดงหมอลำรายนี้ก็หัวเราะไประหว่างที่กำลังเล่าเรื่องราวชีวิต ซึ่งผสมปนเปไปด้วยอารมณ์ต่างๆ ทั้งแรงทะยานอยาก หวาดกลัว ผิดหวัง และมีหวังในวันข้างหน้า แต่เขาก็ยังเล่าเรื่องชีวิตของตัวเองอย่างภาคภูมิใจ ที่เคยเป็นทั้งนักแสดง นักโทษ นักบวช ไปจนถึงนักกิจกรรม

บทความรับเชิญ โดย ทาเลีย แล็ตช์ และไมค์ แอ็กเคิล

Molam performer Patiwat Saraiyaem, known as Bank, was ordained as a monk for his mother's sake after serving time for 2 years for a lese majeste violation. Now he laughs, “I am happy. I should be happy out of prison.”

หมอลำแบ็งค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม บวชเป็นพระตามความต้องการของแม่ หลังจากรับโทษหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเวลาสองปีกว่า เขากล่าวว่า “เฮาดีใจ เฮาควรสิดีใจที่ได้ออกจากคุกแล้ว”

ชายหนุ่มหัวเราะร่วนระหว่างร่ำสุราอยู่ในบาร์ซึ่งเป็นสถานที่นัดพบ ผมของเขาสั้นกุดหลังเพิ่งสึกจากการบวชเป็นพระมาไม่นาน เขายิ้มแย้มและดูผ่อนคลายคล้ายมานั่งคุยกับมิตรสหาย มากกว่าจะเป็นการมานั่งเล่าถึงความยากลำบากที่ผ่านมา หลังถูกจองจำเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อพ้นโทษออกมา เขาก็ตัดสินใจบวชตามความต้องการของแม่ ก่อนจะพบว่า สภาพในวัดทำให้เขารู้สึกไม่ต่างอะไรกับการอยู่ในคุก

ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือแบ็งค์ หนุ่มสกลนคร วัย 27 ปี ถูกศาลตัดสินให้จำคุกในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 จากการแสดงละครเวทีล้อเลียนการเมือง เรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” โดยก่อนเข้าคุก แบ็งค์เริ่มสนใจการเมือง เมื่อได้เข้าไปทำงานในสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

หลังยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารพยายามปิดกั้นการแสดงความเห็นจากฝ่ายตรงข้าม เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามตั้งข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับผู้แสดงละครเวทีเรื่องนั้นทุกคน แต่ท้ายที่สุดก็สามารถจับกุมได้เพียงแบ็งค์ กับผู้กำกับการแสดงหญิงอีกคนหนึ่ง ส่วนนักแสดงที่เหลืออีก 2 คน ตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเพื่อหนีการถูกดำเนินคดี

ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่กำหนดอัตราโทษไว้ค่อนข้างรุนแรง คือจำคุก 3-15 ปี เป็นมรดกตกทอดจากเหตุการณ์รัฐประหารภายหลังการล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผู้ที่มีความตามมาตรานี้ คือผู้ที่ดูหมิ่นบุคคลสำคัญในราชวงศ์ – และละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ก็ถูกตัดสินว่ามีเนื้อหาที่ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้อมูลจากสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล ระบุว่า นับแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จำนวนคดีพระบรมเดชานุภาพก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ มี 6 คนถูกจำคุกในคดีนี้โดยทันทีหลังการรัฐประหาร และจนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวนผู้ถูกจำคุกในคดีนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นเก้าเท่า คือ 53 คน ทั้งนี้ ระหว่างปี 2550-2558 มีจำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสูงถึง 544 คดี  โดย 162 คดียังอยู่ระหว่างการสอบสวน

เมื่อถูกดำเนินคดี แบ็งค์รับสารภาพเพื่อให้ได้รับการลดหย่อนโทษ แม้ในใจจะไม่รู้สึกว่าตัวเองผิด ความหวังว่าจะได้รับการลดหย่อนโทษก็ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายๆ คนตัดสินใจรับสารภาพ เขากล่าวว่า “คำว่ายุติธรรมคืออีหยัง มันบ่มีอยู่จริง เฮาบ่ฮู้ว่าความยุติธรรมมันเป็นจังใด๋ เพราะเฮาบ่เคยเห็น” เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงหัวเราะในระหว่างที่ตอบคำถามเรื่องความยุติธรรม แบ็งค์ตอบว่า “มันตลกที่เจ้ามาถามเรื่องความยุติธรรมจากคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม”

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ แบ็งค์ก็ยืนยันว่าจะแสดงละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” อยู่ดี แม้รู้ว่าจะทำให้ถูกจับ “เพราะเฮาเป็นนักแสดง ขั้นเฮาปฏิเสธสิ่งที่เจ้าของแสดง มันกะเท่ากับเฮาปฏิเสธโตเจ้าของไปนำ”

หลังกรงขัง

เมื่ออยู่ในเรือนจำ แบ็งค์และนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อีก 8 คน ถูกนำตัวไปอยู่รวมกับผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานลักขโมย ฆาตกรรม ไปจนถึงข่มขืน ในแดน 8 ซึ่งเป็นเขตที่มีการรักษาความมั่นคงอย่างเข้มงวด เหตุที่เขาถูกนำมาขังไว้ในแดน 8 เนื่องจากข้อกล่าวหาที่เขาโดนถือเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ เขารู้สึกโกรธที่ถูกนำมาขังไว้ในเรือนจำเดียวกับอาชญากร

ชีวิตในคุกแต่ละวันเป็นเรื่องซ้ำซาก “มื้อนี้กะเหมือนมื้อวาน มื้ออื่นกะเหมือนมื้อนี้” ความเบื่อหน่ายที่จะต้องทำอะไรซ้ำๆ รวมกับการถูกจับตาอยู่ตลอดเวลาทำให้แบ็งค์รู้สึกว่า “พวกมันเอาจิตวิญญาณเฮาไป ขังจิตใจเฮานำ”

กิจวัตรทุกวันของนักโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกคนจะถูกจับตาและบันทึก กรณีของแบ็งค์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรู้ถึงขนาดว่าเขาทำอะไรต่างไปจากวันก่อนๆ บ้าง

แต่การถูกจำคุกไม่สามารถทำลายจิตใจของแบ็งค์ได้อย่างราบคาบ วิธีต่อต้านการกดขี่ที่เขาใช้ คือการแต่งเพลงหมอลำและร้องมันอย่างภาคภูมิใจ หมอลำเป็นช่องทางแห่งการแสดงสิ่งที่คิดอยู่ในใจ “บ่มีผู้ใดที่สิพรากมันไปจากเฮาได้” แบ็งค์ปรารถนาเสรีภาพในการพูด คิด และเขียนอย่างสุดซึ้ง ซึ่งทุกสิ่งไม่ได้ทำไปเพื่อตัวเขาเอง แต่ทำไปเพื่อคนอื่นๆ ด้วย หมอลำเป็นเวทีที่เขาจะได้แสดงทั้งความคิดอันเสรีและความคลั่งไคล้ในศิลปะแขนงนี้

เมื่อแบ็งค์ถูกปล่อยตัวจากคุกในเดือนสิงหาคม 2558 ตอนแรก เขาตัดสินใจที่จะเก็บตัวและไม่สุงสิงกับใคร ไม่ว่าจะครอบครัวหรือเพื่อนๆ เพราะไม่อยากให้ใครต้องมาเดือดร้อนที่ต้องมามีปฏิสัมพันธ์กับเขา กระทั่งมีเพื่อนมาเตือนสติว่า สิ่งที่เขาตั้งใจทำมันเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเขาไม่พูดกับใคร เขาก็ไม่อาจมีชีวิตรอดได้เลย

ใต้ผ้าเหลือง

แบ็งค์ซึ่งถูกคาดหวังว่าจะบวชเป็นเวลา 15 วัน ตัดสินใจที่สึกก่อนกำหนด เพราะเปรียบเทียบกับสมัยที่อยู่ในคุก แม้จะไม่สามารถทำอะไรได้มากอย่างน้อยๆ ก็ยังได้เขียนเพลง แต่ในวัด เขากลับทำอะไรไม่ได้เลย พอฟังเขาบรรยายกิจวัตรประจำวันระหว่างการเป็นนักโทษกับพระแล้วพบว่าก็แทบไม่ต่างกันเลย

การอยู่ใต้ผ้าเหลืองทำให้เขารู้สึกเหมือนกลับไปอยู่ในคุกอีกครั้ง

หลายคนในภาคอีสานเชื่อว่า เมื่อไรก็ตามที่คุณเข้าคุก ถือเป็นเคราะห์เป็นกรรม ควรจะบวชเพื่อล้างเคราะห์นั้นไปเสีย แม่ของแบ็งค์เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพื่อยอมตามความต้องการของแม่รวมถึงต้องการล้างซวยให้ออกไปจากชีวิต เขาจึงตัดสินใจบวชเป็นพระ “เอาจริงๆ เฮาเฉยๆ กับการบวชพระเด๊ะ เพราะว่าเฮาเชื่อทุกศาสนา” สมัยอยู่ในเรือนจำ เขามีโอกาสได้ศึกษาคัมภีร์ของศาสนาคริสต์รวมถึงศาสนาอื่น เขาเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าสร้างทุกคนมาให้เท่าเทียมกัน

แต่แม้แบ็งค์จะนับถือทุกศาสนา แต่เขากลับไม่ยอมที่จะถูกบังคับให้อยู่ในสถานที่ซึ่งคล้ายกับคุกได้ เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากวัดช่วงกลางดึกวันที่ 9 กันยายน 2559 เพราะยิ่งอยู่ในนั้นต่อไปจะยิ่งทำให้ความคิดของเขาฟุ้งซ่านและไม่มีทางพบความสงบ เมื่อแม่ของเขารู้เรื่องก็โกรธมาก แต่เขาไม่อาจฝืนทนอยู่ในสภาพนั้นได้อีกแล้ว

ทิดแบ็งค์โน้มตัวลงมากล่าวเน้นๆ เหนือแก้วเบียร์ว่า “เฮาเป็นนักโทษมาสองปี แล้วเจ้าสิมาบังคับให้เฮาอยู่ในวัดอีกบ๊อ”

ศาสนาของเฮาคนเดียว

ช่วงแรกๆ หลังได้รับการปล่อยตัว แบ็งค์ไม่เคยข่มตานอนได้เลยสักคืน เพราะทุกครั้งที่เขาหลับตา เขาจะหวนไปนึกถึงสภาพในเรือนจำ แม้วันนี้เขาจะสามารถนอนหลับได้ตามปกติ แต่หลายครั้งก็ยังต้องอาศัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อทำให้จิตใจปลอดโปร่งเสียก่อน

แบ็งค์เริ่มรักการแสดงเมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมวงดนตรีโปงลางของโรงเรียนตอนอายุ 13 เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขาตัดสินใจเลือกคณะดนตรีและการแสดงพื้นเมือง ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีคณะเช่นนี้) เพื่อจะศึกษาเรื่องหมอลำโดยเฉพาะ ทว่าจนถึงตอนนี้ เขาก็ยังเรียนไม่จบเพราะต้องคดีนี้เสียก่อน และยังไม่แน่ว่าทางมหาวิทยาลัยจะรับเขากลับเข้าเรียนหรือไม่

เพลงที่แบ็งค์ใช้ในการแสดงหมอลำส่วนใหญ่เขาแต่งขึ้นเอง โดยสอดแทรกประเด็นทางการเมือง แบ็งค์เชื่อว่าผู้ชมของเขาสามารถเรียนรู้การเมืองผ่านเพลงเหล่านี้ได้ เขาหวังที่จะให้การศึกษากับคนอีสานเกี่ยวกับการเมืองเพื่อที่ชาวบ้านจะได้เข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น เขาทั้งต้องการที่จะพูดแทนเสียงของผู้คนที่ถูกกดขี่ในภาคอีสานและสนับสนุนให้คนเหล่านั้นออกมาส่งเสียงของตัวเอง

แบ็งค์ผิดหวังในกระบวนการยุติธรรม เขาไม่คิดว่าตัวเองควรจะถูกจำคุก ความผิดหวังนั้นได้แปรเปลี่ยนมาเป็นความอุกอั่งคั่งแค้น เขามักจะตั้งคำถามอยู่เสมอว่า “มันคือมาเป็นจังสี้กับเฮา” ด้วยอารมณ์อุกอั่งดังกล่าว ประกอบกับความปรารถนาที่จะแสดงออกเพื่อตอบโต้กับระบบเหล่านั้น ทำให้เขาผ่านวันเวลาภายในคุกมาได้ ถึงตอนนี้ เขาต้องการให้ประชาชนรู้ว่าโลกสามารถดีและงามกว่านี้ได้

เขายังคงเดินหน้าแสดงหมอลำเลี้ยงชีพตน ซึ่งเขาก็มิได้ลังเลที่จะสอดแทรกประเด็นการเมืองเข้าไปด้วยแม้จะสุ่มเสี่ยงจะทำให้ต้องกลับไปนอนคุกอีกรอบ
“นี่หละตัวตนของเฮา ชีวิตของเฮา มันคือสิ่งที่เฮาต้องยึดถือไว้ให้มั่น คือๆ ศาสนานั่นหละ แต่เป็นศาสนาของเฮาคนเดียว”

Bank in Bar

ทิดแบ็งค์ วัยยี่สิบเจ็ดปี ยังคงยึดถือศิลปินหมอลำเป็นอาชีพและความหมายของชีวิต สำหรับแบ็งค์แล้ว ศิลปะที่แท้จริงไม่ใช่เพียงความบันเทิง “ขั้นการแสดงบ่มีรสชาติทางการเมือง การแสดงนั้นกะบ่แม่นศิลปะ มันเป็นแค่เครื่องปลุกปลอบใจ”

 

ทาเลีย แล็ตช์ เป็นนักศึกษาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยทูเลน เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา
ไมค์ แอ็กเคิล เป็นนักศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยพิวจิตซาวด์ เมืองทาโคมา รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
ทั้งสองกำลังศึกษาประเด็นเรื่องการพัฒนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย